คำ ผกา | ชวน (ปวด) หัว

คำ ผกา

พักเรื่องการเมืองเครียดมาเรื่อง “ชวนหัว” บ้างสักวัน

สัปดาห์ที่มีการอภิปราย พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี มีประเด็นเล็กๆ ที่ดูเหมือนจะไม่เป็นประเด็น นั่นคือมีคนลงภาพ ส.ส.เดียร์-วทันยา วงษ์โอภาสี พรรคพลังประชารัฐติดบัตรป้ายชื่อที่บริเวณกระเป๋ากางเกงแทนการติดที่หน้าอก แล้วตั้งคำถามว่า “ทำแบบนี้เหมาะสมแล้วหรือ?”

ไม่ต้องพูดถึงว่าภาพนั้นเป็นการแอบถ่ายมาอย่างเสียมารยาท

ไม่ต้องพูดถึงว่าทั้งหมดของการอภิปรายทั้งสามวันมีประเด็นที่ทำให้สังคมไทยควรเอาตีนก่ายหน้าผากหนักๆ หลายเรื่องเมื่อเห็นสัดส่วนของงบประมาณ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงบฯ กลางที่มากเป็นประวัติการณ์

การจัดทำนโยบายที่บอกเป็นนัยๆ ว่าต่อจากนี้ไปปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาการรวมศูนย์อำนาจ ปัญหาความใหญ่โตแต่ไร้ประสิทธิภาพของระบบราชการจะทบเท่าทวีคูณ ฯลฯ

ไม่นับว่าสิ่งที่ ส.ส.วทันยา หรือเดียร์ ควรถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดคือประเด็นของการแก้ตัวว่าภาระหนี้สินของรัฐบาลปัจจุบันมาจากนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ – เอิ่ม ได้ข่าวว่า หลังจากยิ่งลักษณ์ รัฐบาล คสช.บริหารมาตั้งห้าปี ชาวบ้านร้านตลาดก็คงอยากจะถามแบบคนไม่รู้เรื่องเศรษฐศาสตร์ว่า ห้าปีนั้นเป็นห้าปีที่เข้ามานั่งแคะเล็บเล่นเหรอ ปัญหาอะไรๆ มันถึงตกค้างยาวนานมาจนถึงป่านนี้ บางรัฐบาลเขาเจอหนี้ไอเอ็มเอฟตั้งภูเขาเลากาเขายังปลดหนี้ได้เลย

เขียนมาตั้งยาวก็เพื่อจะบอกว่าเรื่องที่จะวิจารณ์ ส.ส.วทันยา มีให้วิจารณ์ได้ร้อยเรื่องพันเรื่อง ทำไมถึงหยิบเอาเรื่องไม่เป็นเรื่องมาโจมตีเธอ?

เมื่อฉันตั้งคำถามขึ้นมาว่า บัตรที่เป็นชื่อของเขา เขาจะเอาติดที่ไหนก็เรื่องของเขา

ก็ปรากฏว่ามีคนจำนวนไม่น้อยอ้างว่า “ถ้าเป็น ส.ส.ช่อ พรรคอนาคตใหม่ หรือเป็น ส.ส.เพื่อไทยทำอย่างนี้ต้องโดนด่าเละตุ้มเป๊ะแน่”

จากคำตอบในทำนองนี้เองที่ฉันเห็นว่า บาดแผลที่เกิดขึ้นในสังคมไทยนั้นลึก ร้าว และรุนแรงกว่าที่คิดไว้มาก

เพราะมันสะท้อนว่าภาวะแบ่งขั้วแบ่งข้างทางการเมืองที่เริ่มจาก เอากับไม่เอารัฐประหาร, สนับสนุนเผด็จการหรือประชาธิปไตย นำเราไปสู่การอยู่รวมกันแบบคนเชียร์บอลคนละอัฒจันทร์อยู่ฝั่งตรงกันข้าม

ถ้าคนที่ฝั่งเราทำอะไรก็ถูก ถ้าคนฝั่งตรงข้ามทำอะไรก็ผิด

และในประเด็นนี้คนที่ฉันอยากจะนั่งคุยด้วยมากเป็นพิเศษคือคนที่อยู่ในฟากฝั่งของการสนับสนุนประชาธิปไตย

ฉันเข้าใจว่าในภาวะความยุติธรรมสองมาตรฐานที่ฝ่ายเผชิญอย่างต่อเนื่องมานานนับทศวรรษ ทั้งในมิติกฎหมาย มิติสังคมในแง่ที่ว่าฝ่ายสนับสนุนเผด็จการในสังคมไทยนั้นโดยเป็นกลุ่มที่เสียง “ดัง” กว่า มีทุนทางสังคมสูงกว่า

เช่น เป็นผู้มีการศึกษา มีสกุลรุนชาติ มีความไฮโซร่ำรวย รวมทั้งครอบครองพื้นที่สื่อได้มากกว่า

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้เกิดภาวะที่ฉันอยากเรียกว่าภาวะ “ทุโภชนาการทางอารมณ์”

ในหมู่คนที่สนับสนุนประชาธิปไตย นั่นคือมีภาวะน้อยเนื้อต่ำใจสะสมตกตะกอน

จากนั้นก็นำไปสู่การนำตนเองไว้ในบทบาท “เหยื่อ” อย่างพร่ำเพรื่อ

มีแนวโน้มจะเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ในชีวิตด้วยวิธีคิดที่ว่า – เกิดเป็นเราแค่หายใจก็ผิด

ซึ่งภาวะทางอารมณ์แบบนี้ มันไม่ได้ช่วยให้เราชนะ ตรงกันข้าม มันบั่นทอนพละกำลังในตัวเราเอง

และจะรู้ตัวหรือเปล่าก็ไม่รู้ ภาวะเช่นนี้ทำให้ผู้สนับสนุนประชาธิปไตยจำนวนหนึ่ง หลีกเร้นตนเองไปหา comfort zone ไปหาที่พักพิงทางใจ ด้วยการพึ่งพิงชุมชนในโลกโซเชียลมีเดีย ของกลุ่มคนที่คิดเหมือนกัน

และเคราะห์ซ้ำกรรมซัดที่ระบบอะกอริธึ่มของโซเชียลมีเดียเหล่านี้ก็ดันคัดกรองสิ่งที่คิดเหมือนเรามาสนอง หรือ feed ส่งมาให้เราอ่านอยู่อย่างสม่ำเสมอจนเกิดเป็นภาวะที่เรียกว่า echo chamber เสียงเราสะท้อนกลับมาเหมือนเราเป๊ะ แต่เราคิดว่านั่นเป็นเสียงคนอื่นแล้วก็ ฮูเร่ ดูสิ คนนั้นคนนี้เขาคิดเหมือนฉันเปี๊ยบเลย

แปลว่า สิ่งที่ฉันคิดนั้นถูกแล้ว ดีแล้ว

นอกจากขังตัวเองไว้ใน echo chamber ของโซเชียลมีเดียแล้ว ยังพยายามเสาะแสวงหา “ปกาศก” ของคน “ฝั่งเรา” — ซึ่งนี่เป็นปัญหาที่สื่ออย่างตัวฉันเองประสบ นั่นคือแทนที่จะถูกมองว่าเป็นสื่อกลับถูกคาดหวังให้เป็น “ปกาศก” ของกองเชียร์ฝั่งประชาธิปไตยไป

เพราะเราเริ่มต้นจากการออกมายืนยันหลักการประชาธิปไตย

ต่อต้านรัฐประหารในยามที่สังคมส่วนใหญ่สนับสนุนรัฐประหาร หาคนดีมาปกครองบ้านเมือง และเราประกาศว่าเราเป็นนักเขียนเลือกข้าง เราไม่เป็นกลาง เพราะถ้าให้เลือกระหว่างเผด็จการกับประชาธิปไตย

เราจะเป็นกลางระหว่างสองสิ่งนี้ไม่ได้ ยังไงเราต้องเลือกข้างประชาธิปไตยอยู่แล้ว

แต่การที่เราไม่เป็นกลางและยืนอยู่ข้างสิ่งที่ถูกต้องนั้นมันย่อมต้องมาพร้อมกับเหตุผล หลักการ และความถูกต้องเช่นเดียวกัน ไม่ใช่เข้าข้าง “คน” ฝ่ายประชาธิปไตยตะพึดตะพือ

เพราะการเลือกข้างของเรา เราเลือกข้างที่หลักการ ไม่ใช่ตัวบุคคล ไม่ใช่นักการเมือง ไม่ใช่เสื้อแดง ไม่ใช่นาย ก. นาย ข. ที่ไหนด้วยตัวของเขาเอง แต่เลือกข้างพรรคการเมืองนี้เพราะเขาทำในสิ่งที่ถูกต้อง เพราะเขายังอยู่ในหลักที่ถูกต้อง – อย่างนี้ต่างหาก

ถ้าฝ่ายที่ครองอำนาจนำในสังคมไทยตอนนี้เสพและผลิตสื่อมาโดยอิงอยู่กับการปลุกเร้าความเกลียดชังอย่างต่อเนื่อง

ภาวะทุโภชนาการทางอารมณ์อันเกิดจากการถูกกระทำซ้ำซ้อนของฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยก็ทำให้การเสพสื่อของเราบิดเบี้ยวจากการเสพเพื่อรับรู้ข้อมูล ข่าวสารที่ถูกต้อง แง่มุมการวิเคราะห์ วิจารณ์ที่เป็นชิ้นเป็นอัน (constructive) ไปสู่การเสพสื่อเพื่อเป็นที่พักใจ เพื่อระบายอารมณ์โกรธ น้อยใจ เสียใจ เพื่อรอฟังใครสักคนมาพูดความน้อยใจ ความโกรธนั้นแทนเรา

หรืออาจจะหนักถึงขั้นถักทอเนื้อข่าวให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเผด็จการง่อนแง่นแล้วเจ้าข้าเอ๊ย

หรือพาดหัวข่าวเอาใจแม่ยกประเภท ฝั่งเราเป็นดาวจรัสแสง ฝั่งเขาเป็นดาวดับกลางสภา อะไรทำนองนั้น

การเสพสื่อเพื่อเป็นที่พักใจนั้นไม่ผิด แต่มันควรเป็นที่สองรองจากการเสพเพื่อ “ข้อมูล” – ข้อมูลและความถูกต้องต้องมาก่อน การเป็นที่พักใจนั้นขอให้มันเป็นแค่ผลพลอยได้เถอะ

กลับมาที่ประโยคที่ว่า “ถ้าเป็น ส.ส.เพื่อไทย หรืออนาคตใหม่ ทำแบบนี้เละตุ้มเป๊ะไปแล้ว” หรือบางคนถึงกับบอกว่า “ทางเราต้องชิงเล่นก่อน เรื่องอะไรจะปล่อยให้ฝ่ายนั้นเล่นเราอยู่ฝ่ายเดียว” – เดี๋ยว นี่เรากำลังจะยกพวกตีกับใครหรือ?

การสนับสนุนหลักการประชาธิปไตยไม่ใช่การยกพวกตีกัน

และสิ่งยากที่สุดสำหรับการเป็นผู้สนับสนุนประชาธิปไตยคือการที่เราต้องสู้กับคนที่ไม่ได้พูดภาษาเดียวกับเรา

นั่นคือ เผด็จการไม่สนใจความยุติธรรม, เผด็จการไม่สนใจเสรีภาพ, เผด็จการไม่สนใจเรื่อง sexist, racist

พูดง่ายๆ ว่าเผด็จการและผู้สนับสนุนเผด็จการไม่สนใจไม่แคร์อะไรสักเรื่องที่เราสนใจ

ดังนั้น เผด็จการจึงจะพูดจาดูหมิ่นเหยียดหยาม ดูถูกคน เหยียดเพศ เหยียดศาสนา ความเชื่อ เป็นพวกมือถือสากปากถือศีล ดัดจริต โหดร้าย ฯลฯ หรืออะไรได้อีกร้อยแปดอย่าง

แต่สิ่งที่ผู้สนับสนุนหลักการประชาธิปไตยต้องยึดถือไว้ให้แน่นแฟ้นคือ

เราต้องดันทุรังยืนยันหลักการประชาธิปไตย และสิ่งที่ตรงกันข้ามเผด็จการไปเรื่อยๆ อย่างไม่ท้อแท้

เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่ฝั่งประชาธิปไตยไปใช้วิธีการสกปรกเหมือนเผด็จการ นั่นคือข้อยืนยันว่าเราแพ้อย่างราบคาบ

เพราะเรากลายเป็นเผด็จการด้วยตัวของเราเอง

ทั้งนี้ ฝ่ายที่สนับสนุนประชาธิปไตยต้องตระหนักและคอยหยิกตัวเองอยู่เสมอว่า ประชาธิปไตยไม่ได้มีแค่ “การเลือกตั้ง” (แน่นอน ถ้าไม่มีการเลือกตั้งเลยย่อมไม่ใช่ประชาธิปไตย)

แต่ประชาธิปไตยมาพร้อมกันเป็นแพ็กเกจใหญ่ นั่นคือ มนุษย์มีสิทธิและเสรีภาพ มีศักดิ์ศรีเสมอภาคกัน (ดังนั้น เราจึงให้ทุกคนเลือกตั้งโดยไม่เลือกปฏิบัติไง) คำว่า มีสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค

มันหมายถึงการไม่เสือกในชีวิตคนอื่น ตราบเท่าสิ่งที่เขาทำมันไม่ผิดกฎหมาย

และไม่ว่าฝ่ายที่ไม่เอาประชาธิปไตยจะพยายามหักล้างหลักการนี้ด้วยความพยายามมาเสือกในชีวิตเราตลอดเวลา หน้าที่ของเรามีแค่บอกว่าการไม่เสือกนั้นดีกว่าการเสือก และพิสูจน์ให้โลกเห็นว่าการไม่เสือกนั้นดีกว่าอย่างไร เพื่อวันหนึ่งคนไม่เสือกจะมีมากกว่าคนเสือก อันแปลว่า วันนั้นหลักการประชาธิปไตยได้รับชัยชนะ

สำหรับฉันมันน่าเวทนามากถ้าฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยจะแบกเอาความโกรธแค้นตอนที่อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์โดนด่าแบบเหยียดเพศ หรือตอนที่ ส.ส.พรรณิการ์ พรรคอนาคตใหม่โดนโจมตีเรื่องรูปร่าง หน้าตา การแต่งตัวมาทดไว้ในใจแล้วนั่งรอจังหวะว่า เดี๋ยวเถอะมึ้ง อย่าให้พวกมึงพลาดบ้างนะ อีเอ๋ อีเดียร์ กูจะ “เล่น” มึงบ้าง?

เจอแบบนี้ ยังไงฉันก็ต้องร้องกรี๊ดออกมาดังๆ แล้วบอกว่า “มันไม่ใช่ มันไม่ถูกต้อง”

ฉันยืนยันว่าในสังคมภายใต้เผด็จการที่ทุกมาตรฐานถูกฉุดให้ต่ำลงทุกวี่ทุกวันมี new low หน้าที่ของฝ่ายสนับสนุนและฝันจะสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยขึ้นมาอีกครั้งในสังคมไทยนั้น เรามีหน้าที่ทำทุกอย่างสวนทางความต่ำ นั่นคือพยายามดึงสังคมให้สูงขึ้น

ถ้าเราไม่ชอบในสิ่ง ส.ส.ปารีณาทำแล้วไยเราจะทำตัวแบบปารีณา?

แล้วอย่าลืมว่า ความเป็นประชาธิปไตยนั้นย่อมไม่ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของใครด้วยเรื่องศาสนา ศรัทธา

ความเชื่อ สีผิว ชาติพันธุ์ เพศ ไม่ละเมิดสิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกายของผู้อื่น

ไม่เพียงเท่านั้น ประชาธิปไตยมุ่งหมายที่ขยายขอบเขตของเสรีภาพออกไปให้ไกลที่สุดเท่าที่จะไกลได้

แล้วไฉนผู้สนับสนุนประชาธิปไตยจะมาฉุดรั้งตัวเองด้วยการไปหมกมุ่นเรื่อง ส.ส.วทันยาติดป้ายของเธอไว้ที่ตรงไหนบนเนื้อตัวร่างกายของเธอเล่า??????

นี่เป็นเรื่องน่าอาย น่าเวทนา ไร้ซึ่งปัญญา

สะท้อนความท้อแท้ อับเฉา ต่ำตมของฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยอย่างที่สุด

ตลกกว่านั้นมีคนมาพยายามอธิบายว่า ก็เป็น ส.ส.ฝั่งอนุรักษนิยม ทำไมไม่ทำตัวให้สมกับเป็นอนุรักษนิยม

เขาสั่งให้ติดป้ายตรงหน้าอกก็ติดที่หน้าอกสิ จะไปติดที่อื่นทำไม?

เอาละ ฉันอยากจะบอกผู้สนับสนุนประชาธิปไตยทั้งหลายว่า โปรดอย่าคิดเราพ่ายแพ้ การที่เราลุกขึ้นยืนยันว่าอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์, อดีต ส.ส.มัลลิกา

หรือนักการเมืองหญิงคนใดก็ตามไม่พึงถูกโจมตีจากความเป็นหญิงของเธอ

แม้ว่ามัลลิกาจะโจมตีศัตรูทางการเมืองของเธอด้วยกรอบเรื่องเพศ เรื่องพฤติกรรมทางเพศอย่างสม่ำเสมอ

เรื่อยมาถึงที่เรายืนยันตามสิ่ง ส.ส.พรรณิการ์พูดในสภาว่า ไม่พึงมีใครเรียก ส.ส.หญิงว่า “คนสวย” หรือ “หนู”

เรื่อยมาถึงการที่เรายืนยันว่า ส.ส.ทุกเพศสภาพมีสิทธิแต่งตัวตามที่ตนเห็นว่าเหมาะสม

(ส่วนการวิจารณ์ก็ทำได้ แต่ต้องไม่ใช่การวิจารณ์ที่อยู่บนฐานของการไปเสือกเรื่องนม เรื่องก้น เรื่องจิ๋ม เช่น ฉันเห็นว่า การที่ ส.ส.พรรณิการ์แต่งชุดออเจ้าไม่เหมาะ เพราะมันเป็นชุดที่พ่วงเอาอุดมการณ์แอนตี้ประชาธิปไตยมาในตัว เหมือนเราวิจารณ์แบบของรัฐสภาใหม่ว่ามัน “ไทย” เกินไป นั่นเอง)

ฉันคิดว่าในระยะเวลานานที่เราได้สร้างบทสนทนากับสังคมไทย สถานการณ์ sexist รวมไปถึงการเผือกเรื่องนม ก้น จิ๋ม เน็กไท กางเกงขาสั้นของ ส.ส. อะไรต่อมิอะไรได้ทุเลาลงไปมาก หรืออาจพูดได้ว่า ดีขึ้นมาก อย่างเลวที่สุดก็คือสังคม และโดยเฉพาะสื่อก็มีความพยายามที่จะพีซีเรื่องนี้กันมากขึ้น

ดังนั้น มันพิสูจน์ให้เห็นว่าอะไรที่มันต่ำ เราก็ได้ดึงมันขึ้นมาสูงแล้ว

และอีเพียงแค่ ส.ส.วทันยาติดป้ายชื่อเธอไว้ที่กางเกงนั้น เราที่ฝ่ายประชาธิปไตยจะดึงประเด็นนี้ให้ลงต่ำไปอีกทำไม

มิพักเรื่องนี้จะส่อถึงนัยการดูถูกเครื่องเพศผู้หญิงว่าเป็นของต่ำ ป้ายชื่อไม่พึงเอาไปแขวนติดจิ๋ม ตอกย้ำความคิดโบราณเรื่องอย่าตากผ้าถุงผ้านุ่งผู้หญิงให้สูงเกินสิ่งอื่น

จนฉันงงว่าป้ายชื่อนั้นกลายเป็นของศักดิ์สิทธิ์ไปตั้งแต่เมื่อไหร่ถึงเอาไปติดต่ำกว่าขอบเอวกางเกงไม่ได้?

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า อยากดึงสังคมให้มีมาตรฐานสูงขึ้นก็อย่าทำตัวต่ำเสียเอง