นิธิ เอียวศรีวงศ์ : อดีตและอนาคตของมหาวิทยาลัย

นิธิ เอียวศรีวงศ์

หนังสือเล่มใหม่ของ คุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ชื่อ “ปัญญาอนาคต” ตั้งคำถามสำคัญแก่ชีวิต การดำเนินชีวิต และเป้าหมายของชีวิต แก่คนซึ่งจะมีอนาคตกับความเปลี่ยนแปลงของโลกข้างหน้า

คนที่ไม่มีอนาคตอยู่ในความเปลี่ยนแปลงเช่นผม มองปัญญาอนาคตของคุณภิญโญแล้ว อดคิดถึงความเป็นมาในอดีตไม่ได้

เท่าที่ผมเข้าใจ คุณภิญโญชี้ให้เห็นว่า เทคโนโลยีทำให้ความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันอยู่ในอัตราเร่ง เร่งเสียจนพ่อแม่กำหนดอนาคตการศึกษาให้ลูกไม่ได้ ไม่ว่าจะเอาผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ, การเมือง หรือสังคมเป็นเป้าหมายทางการศึกษา ก็ไม่มีใครสามารถล่วงรู้อนาคตได้ว่า ทักษะชนิดใดจึงจะนำบุคคลไปสู่ความสำเร็จทางเศรษฐกิจหรือทางอื่นๆ ได้

คุณภิญโญยกตัวอย่างวิชาที่ตนเรียนมาคือนิเทศศาสตร์ ซึ่งเพียงไม่กี่ปีมานี้เองเป็นคณะยอดฮิตที่ใครๆ ก็อยากสอบติด เพราะอย่างน้อยค่าตอบแทนของคนในอาชีพนี้ค่อนข้างสูง ซ้ำยังนำตนเข้าไปสู่เส้นสายเครือข่ายที่อาจให้โอกาสด้านอื่นๆ อีกมาก

แต่ก็อย่างที่รู้ๆ กัน บัณฑิตด้านนี้กำลังตกงาน เพราะโลกของสื่อได้เปลี่ยนไปหมดแล้วด้วยเทคโนโลยีสื่อสังคม ทักษะของนักสื่อสารมวลชนกำลังกลายเป็นทักษะของการซักผ้าด้วยมือ สะอาดอยู่หรอก แต่ไม่จำเป็น

ดังนั้น โลกข้างหน้า (ซึ่งก็แลเห็นได้ในปัจจุบันแล้ว) ที่คุณภิญโญมองเห็น จึงแทบจะไม่เหลือทักษะอะไรที่จำเป็นในการผลิตสินค้าและบริการอีกแล้ว เพราะเทคโนโลยีสามารถเข้ามาทำแทนได้หมด

การศึกษาสำหรับโลกอนาคต จึงเป็นการศึกษาเพื่อการค้นพบตัวเอง นับตั้งแต่เราชอบอะไร ไม่ชอบอะไร เก่งเรื่องอะไรและไม่เก่งเรื่องอะไร ไปจนถึงด้านที่เป็นจิตวิญญาณ

เมื่อผู้คนค้นพบตัวเอง พัฒนาสิ่งที่ตัวเองมีและเป็นขึ้นตามวิถีทางที่ได้ผลมากที่สุด โลกอนาคตจึงเป็นโลกที่หลากหลายด้วยอัตลักษณ์ คนจำนวนมาก (หรือคนส่วนใหญ่ผมก็ไม่ค่อยแน่ใจนัก) ทำมาหากินกับอัตลักษณ์ของคน ฉะนั้น ไม่มีตลาดใหญ่มหึมาที่คลุมทุกคนทั้งชาติหรือทั้งโลกอีกแล้ว (หากยังมีเหลืออยู่ บริษัทใหญ่ที่คุมเทคโนโลยีย่อมคุมตลาดส่วนนี้หมด) เราต่างต้องแหวกลงไปหาตลาดเฉพาะ ช่องว่างที่กระจายอยู่ในตลาดเต็มไปหมด จะแหวกลงไปได้ก็ต้องค้นพบตนเองเพื่อพัฒนาความเก่งเป็นเลิศของตนเอง และสร้างอัตลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครเข้าไปในสินค้าและบริการของตนเอง

โลกของลูกจ้างจบลงแล้ว

จากนั้นหนังสือ “ปัญญาอนาคต” ก็พาผู้อ่านไปรู้จักคนทั้งในปัจจุบันและอดีต ที่ค้นพบตัวเอง ค้นพบความเลิศทางฝีมือและจิตวิญญาณ ที่มีลักษณะเฉพาะของตนเองอีกหลายคน นับตั้งแต่เจ้าของร้านบาแก็ตในปารีส ซึ่งได้รับรางวัลประจำปี ซึ่งเสนอบาแก็ตที่กินเปล่าๆ ก็อร่อยแล้ว หรือเจ้าของห้องเสื้อชาวอังกฤษที่บุกเบิกแฟชั่นเรียบง่ายขึ้นในเมืองปารีส ให้แตกต่างจากแฟชั่นหรูหราและแฟชั่นเรียบง่ายทั้งหมด, มุซาชิ, ปีเตอร์ ดรักเกอร์ ฯลฯ

นอกจากคุณภิญโญแล้ว ยังมีคนฉลาดๆ ในโลกนี้อีกหลายคนที่คิดอะไรทำนองนี้ แต่คงไม่มีหนังสือของใครที่อ่านง่ายและอ่านเพลินได้เท่าหนังสือของคุณภิญโญ

ส่วนจะจริงหรือไม่นั้นผมไม่ทราบ แต่ที่สำคัญกว่าจริงหรือไม่จริงก็คือ จริงแค่ไหน? ซึ่งผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน เพียงแต่ด้วยเหตุผลตามตรรกะพื้นๆ ก็ต้องยอมรับว่าอย่างน้อยก็จริงบ้างแน่ๆ

และเพราะยอมรับความจริงบ้างนี่แหละ ที่ทำให้ผมอดนึกถึงมหาวิทยาลัยในอนาคตไม่ได้ ความที่เป็นครูเลี้ยงชีพมาทั้งชีวิต
หากเราไม่นิยามมหาวิทยาลัยตามความหมายทางภาษา แต่นิยามตามหน้าที่ มหาวิทยาลัยคือการศึกษาชั้นสูง (ขอย้ำอีกทีนะครับว่าคือการศึกษา ไม่ใช่สถาบันการศึกษา) ที่เรียกว่าชั้นสูงนี้หมายความว่า ทำหน้าที่ยกระดับความรู้รูปธรรมที่ได้จากประสบการณ์มนุษย์ ขึ้นมาสู่ระดับที่เป็นนามธรรม

ในสังคมเผ่ายุคดึกดำบรรพ์ พฤติกรรมการหลบหนีของฝูงกวางฝูงหนึ่ง ทำให้ “มหาวิทยาลัย” (ซึ่งในที่นี้อาจเป็นคนแก่ที่จัดเจนการไล่ต้อนล่ากวางมาก) จับได้ว่า กวางฝูงอื่นๆ ก็มีพฤติกรรมเดียวกัน ภายใต้เงี่อนไขเดียวกัน เกิดความรู้ที่เป็นนามธรรมที่เผ่าเอาไปใช้ประโยชน์ได้ในการอพยพเคลื่อนย้าย

ความรู้ที่ถูกยกระดับขึ้นเป็นนามธรรมให้ประโยชน์ทั้งในทางปฏิบัติ และในการแสวงหาความรู้เพิ่มเติมมากขึ้น ด้วยเหตุดังนั้นผมจึงเชื่อว่าการศึกษาชั้นสูงหรือมหาวิทยาลัยมีมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ในทุกสังคม และจะยังคงมีอยู่สืบไปในอนาคต แม้ว่ามหาวิทยาลัยในรูปสถาบันอาจไม่มีอีกแล้วก็ตาม

ถึงจะพูดถึงมหาวิทยาลัยในรูปสถาบัน ก็ต้องไม่ลืมมหาวิทยาลัยในความหมายเชิงหน้าที่ดังที่กล่าวแล้วด้วย

มหาวิทยาลัยทำหน้าที่คือการยกระดับความรู้ขึ้นเป็นนามธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่า หากจัดองค์กรในรูปสถาบันรูปแบบต่างๆ เช่น เป็นห้องสมุดอย่างห้องสมุดอเล็กซานเดรีย, เป็นสำนักอาจารย์ของหมู่สงฆ์อย่างพุทธศาสนาโบราณ, หรือเป็นวัดใหญ่ของสายอาจารย์แบบไทย, เป็นสำนักอาจารย์แบบกรีก, เป็นระบบการสอบที่ต้องไต่เต้าไปทีละขั้นแบบจีน ฯลฯ

มีข้อน่าสังเกตสองสามประการ เมื่อการศึกษาชั้นสูงถูกจัดให้เป็นสถาบันในรูปต่างๆ กระชับขึ้น

ประการแรก มหาวิทยาลัยจะกลายเป็นสถาบันขึ้นมาได้ต้องอาศัยกำลังของรัฐหรือองค์กรศาสนาอุดหนุน โดยตรงหรือโดยอ้อมก็ตาม ไม่ใช่กำลังทรัพย์เพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องอาศัยกำลังเพื่อรักษาระเบียบภายในของสถาบันด้วย

มหาวิทยาลัยจึงไม่เคยเป็นอิสระจริงหรอกครับ แต่อิสรภาพมีประโยชน์ทั้งแก่มหาวิทยาลัยและแก่ผู้อุดหนุน มหาวิทยาลัยใช้เพื่อสร้างความรู้ใหม่โดยไม่ถูกขัดขวาง ผู้อุดหนุนอ้างความรู้ของมหาวิทยาลัยไปสร้างความชอบธรรมให้แก่อำนาจของตน จะอ้างได้ดีก็ต่อเมื่อทำให้คนทั่วไปเห็นว่ามหาวิทยาลัยเป็นอิสระ

ฉะนั้น มโนภาพว่ามหาวิทยาลัยเป็นอิสระจึงต้องช่วยกันจรรโลงไว้ตลอดไป
ประการต่อมา ลายลักษณ์อักษรกลายเป็นเครื่องมือที่ขาดไม่ได้ของการทำงาน ทั้งนี้เพราะลายลักษณ์อักษรช่วยให้เก็บรวบรวมและถ่ายทอดความรู้ได้ดีกว่า

ธรรมชาติของความรู้ที่ถูกเก็บในรูปลายลักษณ์อักษร มักเป็นความรู้ที่ยอมรับกันแล้ว (ผมทราบว่ามหาวิทยาลัยมักเก็บหนังสือต้องห้ามด้วย แต่ความรู้ในหนังสือต้องห้ามไม่ถูกต่อยอด จนกว่าจะถูกทำให้เชื่องเสียก่อน)

ดังนั้น ธรรมชาติของมหาวิทยาลัยที่ถูกทำเป็นสถาบันแล้ว จึงมักมีลักษณะอนุรักษนิยมไปพร้อมกัน ช่วยผดุงระบบให้อยู่ต่อไปได้

 

ประการต่อมา หนึ่งในการผดุงระบบคือผลิตบุคลากรให้แก่องค์กรศาสนา หรือรัฐ หรือระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ สถาบันมหาวิทยาลัยผลิตลูกจ้างในรูปแบบต่างๆ มาตั้งแต่โบราณ ยิ่งหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมซึ่งทำให้เกิดเศรษฐกิจแบบใหม่ หน้าที่ผลิตบุคลากรของมหาวิทยาลัยป้อนความต้องการของธุรกิจก็ยิ่งมีน้ำหนักมากขึ้น และทำให้ครูมหาวิทยาลัยได้ค่าตอบแทนสูงขึ้นอย่างมาก

Thomas Piketty จัดให้ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยอยู่ในกลุ่มสิบบนของสถานภาพทางเศรษฐกิจในสังคมตะวันตก (Capital in the Twenty-First Century)

มหาวิทยาลัยจึงเป็นป้อมปราการที่รักษาผลประโยชน์ของคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งไม่ต่างจากกองทัพ ไม่ว่านิเวศทางการเมืองและสังคมจะเปลี่ยนไปอย่างไร ก็ต้องรักษากองทัพและมหาวิทยาลัยเอาไว้

แต่อนาคตที่คุณภิญโญวาดให้เห็นบอกว่า ปราการสถาบันมหาวิทยาลัยกำลังล่มสลายแล้ว ถ้าความรู้ที่ผู้คนพึงแสวงหา คือความรู้ที่มีลักษณะเฉพาะตน นับตั้งแต่ความรู้จักตนเอง และรู้เงื่อนไขเฉพาะของตน หนทางพัฒนาตนเองซึ่งไม่เหมือนกับการพัฒนาคนอื่น ต่างคนต่างต้องค้นหาวิถีทางที่เหมาะแก่ตนเอง การยกระดับความรู้รูปธรรมเป็นนามธรรม ก็ยังมีความจำเป็นอยู่ แต่เป็นความรู้นามธรรมเฉพาะตน

ความรู้เช่นนี้ต้องเรียนเอง โดยไม่มีใครสอนใครได้ จริงอยู่ความรู้นามธรรมที่เป็นสากล เช่นศาสตร์ต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ก็ยังเป็นความรู้ที่มีประโยชน์ในการค้นหาตนเอง แต่หากต้องการกระจายความรู้เช่นนั้นให้ทุกคนเข้าถึงได้สะดวกและเสรี ก็น่าจะจัดในรูปอื่นๆ อีกหลายอย่าง แทนที่จะจัดในรูปมหาวิทยาลัยซึ่งสิ้นเปลืองและอาจมีประสิทธิภาพน้อยกว่าสถาบันอื่น เช่น ทุ่มทุนไปกับ “มิวเซียมสยาม”, (หรือระบบหอสมุดแห่งชาติ, พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ต่างๆ, โรงหนังดูฟรี, ฯลฯ) มิได้ผลดีกว่าหรอกหรือ

ส่วนการสร้างความรู้ใหม่ ทำผ่านสถาบันวิจัยตรงไปตรงมาเลยก็ได้ เพียงแต่สร้างอำนาจการเผยแพร่ผลงานวิจัยให้ได้ผล และได้อย่างกว้างขวาง มิง่ายกว่าทำมหาวิทยาลัยหรอกหรือ

 

มหาวิทยาลัยที่เป็นสถาบันอย่างที่เรารู้จักในปัจจุบันอาจเป็นสิ่งพ้นยุคสมัยไปแล้ว เพราะการผลิตในโลกข้างหน้าต้องการลูกจ้างจำนวนไม่มากนัก โรงเรียนช่างชั้นสูงสำหรับผลิตวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์อาจต้องทำต่อไป (จนกว่าเทคโนโลยีจะสามารถผลิตตัวเองให้ซับซ้อนขึ้นกว่าตัวเองได้) เพื่อจรรโลงเทคโนโลยีให้อยู่ต่อไป และพัฒนาขึ้นมากกว่านี้

แต่ลูกจ้างชนิดอื่น เทคโนโลยีเข้ามาทำแทนหมดแล้ว

การศึกษาของคนรุ่นใหม่ไม่จำเป็นต้องทำในสถาบันการศึกษา แต่อาจทำในวงสนทนาประเภทต่างๆ มีการกำกับบ้าง ไม่มีบ้าง และทำได้ในทุกสถานที่นับตั้งแต่ในโซเชียลมีเดีย, ไปจนถึงร้านกาแฟ, ใต้ร่มไม้, ป้ายรถเมล์, ฯลฯ ทำให้ต้องกลับมาค้นคว้าหาข้อมูลและความคิดให้กว้างขวางขึ้น ผ่านการอ่านหนังสือ, ดูหนัง, การสนทนา หรือการทดลองทำ

มหาวิทยาลัยก็ยังมีอยู่ แต่เป็นมหาวิทยาลัยไร้รูปแบบอย่างที่เคยมีมาในสมัยก่อนจะมีสถาบันที่เรียกว่ามหาวิทยาลัย