จัตวา กลิ่นสุนทร : เรื่องเล่าเก่าๆของ “หนังสือพิมพ์สยามรัฐ” ณ ราชดำเนิน

ก่อนจะเดินขึ้นไปบนสำนักงานหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” เมื่อเฉียด 5 ทศวรรษที่ผ่าน กระทั่งหลงใหลกับอาชีพ “หนังสือพิมพ์” ผมวนเวียนศึกษาเล่าเรียนอยู่ในพื้นที่เขตพระนคร บริเวณ “เกาะรัตนโกสินทร์” อยู่เกือบ 10 ปี

ไม่ได้สนใจเรื่อง “หนังสือพิมพ์” มากไปกว่างาน “ศิลปะ”

จึงเพิ่งได้อ่านหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ, สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” และนิตยสาร “ชาวกรุง” ขณะเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยปีท้ายๆ

กระทั่งได้มารับงานพิเศษเขียนภาพประกอบ (Illustrate) เรื่องสั้น ใน “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์”

ซึ่งสิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ ที่เอ่ยมานั้นคนรุ่นใหม่ทุกวันนี้ร้อยทั้งร้อยไม่รู้จักเหมือนกับที่เขาไม่คุ้นชินกับการเรียกนักหนังสือพิมพ์ เพราะจะคุ้นกับชื่อ “สื่อมวลชน” โซเชียลมีเดีย สื่อออนไลน์มากกว่า

 

เมื่อเดือนตุลาคมของทุกๆ ปีเดินทางมาถึง ทำให้ความจำเรื่องเก่าๆ ชัดเจนขึ้น เนื่องจากบริเวณถนนสายประวัติศาสตร์ ถนนราชดำเนิน เกิดเรื่องสำคัญๆ ที่จะต้องบันทึกไว้มากมายตลอดมา เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ “14 ตุลาคม 2516” ซึ่งนิสิต นักศึกษา อาจารย์ รวมตัวกันเรียกร้อง “รัฐธรรมนูญ” สุดท้ายก็มาจบบนถนนสายนี้ด้วย

ผมล้มลุกคลุกคลานอยู่แถวๆ ถนนราชดำเนิน ไม่ไกลสำนักงานหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” ซึ่งฝั่งตรงข้ามเป็นสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล

คืนวันนั้น (14 ตุลาคม 2516) กำลังมีไฟลุกไหม้ ผมยืนอยู่ชั้นล่างของสำนักงานเหม่อมองดูเปลวไฟด้วยความหดหู่หัวใจ

เพราะเพิ่งเหน็ดเหนื่อยวิ่งกลับมาจากบริเวณถนนข้างพระราชวังสวนจิตรลดา

อีก 3 ปีต่อมาเติบโตขึ้นมา อีกทั้งตัวเลขอายุ ความรับผิดชอบในหน้าที่การงาน แต่ก็ยังไม่เข้าใจลึกซึ้งกับเหตุการณ์ทาง “การเมือง” ไทยสักเท่าไร?

ได้ยินแต่เรื่องซ้ายๆ ขวาๆ เรื่อง “คอมมิวนิสต์” ซึ่งเป็นข้อกล่าวหานิสิต-นักศึกษาหัวก้าวหน้าที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงในบ้านเมืองที่มีแต่ “รัฐบาลทหาร” ไปสู่การปกครองในระบอบ “ประชาธิปไตย”

แต่จนแล้วจนรอดผมก็ไม่เคยได้รู้จักหน้าตาของลัทธิการปกครองแบบ “คอมมิวนิสต์” ซึ่งประเทศไทยทั้งเกลียดทั้งกลัวมายาวนานแต่อดีต

 

ถึงวันที่ผมมีตัวเลขอายุถึงหลัก 7 กลับมาได้ยิน ได้ฟังว่ามีการปลุกผีลัทธิการปกครองที่มันน่าจะล่มสลายไปนานแล้ว โดยเฉพาะจากความนิยมของคนรุ่นใหม่ๆ ในประเทศเรา เอามาโยนใส่ประชาชนในยุคโลกของเครือข่ายสังคมออนไลน์ ที่ต้องการรู้อยากเผยแพร่แชร์ต่อก็เพียงแค่สัมผัสด้วยปลายนิ้ว

ไม่คาดคิดว่าจะยังมีมนุษย์โบราณหลงเหลืออยู่ แถมได้ดิบได้ดีกลายมาเป็นผู้นำคนบางกลุ่มอีกต่างหาก

คืนวันที่ 5 ตุลาคม 2519 เมื่อ 43 ปีก่อน ด้วยสามัญสำนึกบางสิ่งบางอย่าง รวมทั้งหน้าที่การงาน บวกกับความอยากรู้อยากเห็น ความสนใจเป็นส่วนตัวจึง เฝ้าเกาะติดข่าวการชุมนุมของนักศึกษาตลอดมา ขณะเดียวกันสำนักงานหนังสือพิมพ์ที่ประจำทำงานอยู่ อยู่ไม่ห่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ครึ่งวิ่งครึ่งเดินตัดข้ามท้องสนามหลวงด้านทิศเหนือไปเพียงไม่กี่นาทีก็ถึง “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ผมจึงไม่ได้กลับบ้าน แอบนอนพักเพื่อติดตามเหตุการณ์อยู่ที่สำนักงาน

จึงได้เห็นเหตุการณ์ตั้งแต่ค่ำคืนของวันที่ 5 ตุลาคม ต่อกับเช้าตรู่วันที่ 6 ตุลาคม 2519 เพียงบางมุมเศษเสี้ยวจากการมองเข้าไปในมหาวิทยาลัย

ได้เห็นการ “ฆ่ากันกลางเมือง” แถวๆ นั้นและบริเวณท้องสนามหลวงอย่างสนุกสนานจากฝ่ายกระทำ และฝ่ายล้มตายที่ได้ชื่อว่าเป็น “คอมมิวนิสต์” ต่างชาติ

ซึ่งทุกปีของวันดังกล่าวนี้วนเวียนเดินทางมาถึง ก็ได้ถ่ายทอดประสบการณ์จากความทรงจำแชร์ไปเกือบทุกปี

 

สํานักงานหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” ตั้งอยู่เลขที่ 12 อาคาร 6 ถนนราชดำเนิน เขตพระนคร กรุงเทพฯ มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2493 โดยคุณ (พี่) สละ ลิขิตกุล (เสียชีวิต) นักหนังสือพิมพ์รุ่นใหญ่ เป็นผู้ดำเนินการตามความประสงค์ของท่านอาจารย์ “หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช” (เสียชีวิต) อดีต “นายกรัฐมนตรี” คนที่ 13 “ศิลปินแห่งชาติ” และ “บุคคลสำคัญของโลก”

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เช่าอาคาร 6 ริมถนนราชดำเนิน ซึ่งเป็นอาคารสูง 3 ชั้นของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ตั้งแต่ปี พ.ศ.2493 เป็นสำนักงานเป็นต้นมา

โดยมีเพื่อนบ้านห้องถัดไปเป็นสำนักงานกฎหมายของท่านอาจารย์ “หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช” (เสียชีวิต) อดีต “นายกรัฐมนตรี” (4 สมัย) ซึ่งศิษย์ของท่านได้สืบทอดเจตนารมณ์ใช้เป็นสำนักงานทนายความมาจนกระทั่งทุกวันนี้

ท่านใช้ชั้นล่างสุดสำหรับตั้งแท่นพิมพ์ (เรียกกันว่าแท่นฉับแกละ) ชั้นที่ 2 สำหรับกองบรรณาธิการ ทั้งสยามรัฐรายวัน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ และชาวกรุง โดยแบ่งส่วนหนึ่งเป็นห้องทำงานส่วนตัวของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ (ท่านเขียนหนังสือที่ห้องนี้จำนวนมาก) ส่วนชั้นที่ 3 สำหรับพนักงานเรียงพิมพ์

ซึ่งต่อมาก็ปรับเปลี่ยนไปตามช่วงเวลา

 

ความเปลี่ยนแปลงคือความไม่เปลี่ยนแปลง โลกของการสื่อสารพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว การรับรู้เรื่องราวข่าวสารตลอดจนภาพ เสียง สามารถสื่อถึงกันได้เพียงเสี้ยววินาทีไม่ว่าจะอยู่จุดไหนของโลก สื่อออนไลน์สามารถเข้ามาแทนที่สื่อสิ่งพิมพ์ รวมทั้งโทรทัศน์ ทำให้หนังสือพิมพ์ นิตยสารต่างๆ รวมทั้งโทรทัศน์ย่อมต้องปรับตัวเองให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงเพื่อความอยู่รอด

แต่จนถึงวันนี้ มีความรู้สึกว่าอาการถดถอยหมดความนิยม จนถึงสลายหายไปของสื่อสิ่งพิมพ์ค่อยๆ ถึงจุดหยุดนิ่ง

นักอ่านรุ่นเก่า (แก่) ยังให้ความนิยมอยู่พอสมควร ขณะเดียวกันหนังสือเล่มยังสามารถยืนหยัดอยู่ได้ด้วยเนื้อหา และการออกแบบจัดทำด้วยความคลาสสิค ไม่ถึงกับล้มหายตายจากไปทันทีเสียทีเดียว

แอบคิดกันว่าสื่อสิ่งพิมพ์จะสามารถยืนอยู่ได้ตามสภาพ ไม่ถึงกับหายไปจากโลกนี้จนหมดสิ้น

ขณะเดียวกันมีรายงานข่าวจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น เขาพยายามที่จะอนุรักษ์ เก็บรักษาสื่อสิ่งพิมพ์ไว้ให้ได้มากที่สุด เพราะยังชื่นชมหลงใหลกลิ่นกระดาษและหมึกพิมพ์อยู่อย่างไม่เสื่อมคลาย

ซึ่งคงต้องใช้คำว่าเพราะการจัดทำอันเป็นศิลปะ ความคลาสสิคของสิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ หนังสือเล่ม

 

หนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตัวเองหลายสิ่งหลายอย่างมาตลอดระยะเวลา 69 ปี ทั้งรุ่งเรือง เป็นสื่อที่ทรงอิทธิพลทางความคิด สามารถชี้นำสังคมได้ ต่อสู้กับ “เผด็จการทหาร” ได้ และล้มลุกคลุกคลานบ้างตามสภาพ ตามกาลเวลา แต่นิตยสาร “ชาวกรุง” รายเดือนได้หยุดตีพิมพ์ไปนานกว่า 40 ปี ก่อนที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์จะสิ้นบุญ (เสียชีวิต พ.ศ.2538) แต่ “สยามรัฐ” และ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ยังคงยืนหยัดอยู่กระทั่งปัจจุบัน

หนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” เรียกได้ว่าเป็นตำนานของวงการหนังสือพิมพ์ไทย บางทีเรียกกันว่าเป็นมหาวิทยาลัยสำหรับคนทำหนังสือพิมพ์ นักคิด นักเขียน นักข่าวหลายยุคสมัยจำนวนมากแจ้งเกิดที่นี่ คนหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียงจำนวนมากได้หมุนเวียนกันเข้ามา พร้อมกับล้มหายตายจากไปตามอายุขัย

เรียกว่าสิ้นชีวิตก่อนผู้ก่อตั้งก็มีไม่น้อย

 

ผมบังเอิญมีโอกาสได้เข้าไปสัมผัสอาชีพ “สื่อมวลชน” กับหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ (ระหว่างปี พ.ศ.2513-2534) โดยเริ่มต้นกับ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ก่อนตัดสินใจฝากชีวิตกับอาชีพนี้ พร้อมศึกษาเรียนรู้กับอาชีพและการเมืองของประเทศนี้โดยมีท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นครูบาอาจารย์นอกมหาวิทยาลัย

ระหว่างปี พ.ศ.2519 ได้รับความไว้วางใจจากผู้บริหาร โดยเฉพาะอาจารย์คึกฤทธิ์ ให้ทำการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ซึ่งขณะนั้นไม่ได้มีปก 2 สี เป็นสีฟ้า-ดำ เหี่ยวเฉาตกต่ำกลายเป็นหนังสือขนาดแท็บลอยด์ไซซ์ ถ้าจำไม่ผิดมีราคาขายเพียง 3 บาท

ค่าย “สยามรัฐ” ทำการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงด้านการตลาด ได้ผู้จัดการคนใหม่เข้ามาบริหาร ซึ่งก็ไม่วายจะขัดแย้งกันพอสมควร เรียกว่าไม่ค่อยราบรื่นกับคนหนังสือพิมพ์ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมดา แต่สภาพทางเศรษฐกิจของสยามรัฐกลับดีขึ้นมากชนิดผิดหูผิดตา

แต่เกิดมีข่าวมาจาก “กรุงเทพมหานคร” มาเป็นระยะๆ ว่าจะปรับปรุงเส้นทางด้วยการตัดถนนด้านหลัง อาคาร 6 ยาวไปจนถึงยังโรงแรมรัตนโกสินทร์ เพราะฉะนั้น ผู้บริหารสยามรัฐจึงต้องวางแผนเตรียมขยับขยายหาที่ทางเอาไว้ก่อน จึงได้ข้ามฟากไปซื้อที่ดินไว้แถวๆ หลังโรงเหล้าบางยี่ขัน ฝั่งธนบุรี ซึ่งเป็นสำนักงานของหนังสือพิมพ์สยามรัฐปัจจุบัน

หนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” จะทำการโยกย้ายสำนักงานทั้งหมดภายในสิ้นปีนี้ เนื่องจากอาคาร 6 ถนนราชดำเนิน หมดสัญญาเช่า ซึ่งดูเหมือนจะต้องเปลี่ยนแปลงยกย้ายกันไปจำนวนมาก รวมทั้งสำนักงานกฎหมายของท่านอาจารย์ “หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช” และเพื่อนบ้านข้างเคียง

ต้องขออนุญาต (เก็บของเก่า) เล่าต่ออีกในสัปดาห์ถัดไป