ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3 - 9 กุมภาพันธ์ 2560 |
---|---|
คอลัมน์ | หนึ่งคำถามล้านคำตอบ |
เผยแพร่ |
1วิกฤตทำให้เราสงสัย
ข้อข้องใจหลายอย่างระหว่างวิกฤตผุดขึ้นในหัวสมองของผู้คนร่วมสถานการณ์ คำถามอย่าง อะไรคือรากของความขัดแย้ง ทำไมผู้คนจึงกระทำรุนแรงต่อกัน สงครามเป็นธรรมชาติของมนุษย์หรือแก้ไขได้ ไล่เลยมาถึงคำถามแห่งความหวังอย่าง-ทำอย่างไรเราจึงจะออกไปจากวงจรความขัดแย้งนี้ได้
แต่ละคนต่างหาคำตอบกันไปตามช่องทาง ทักษะ และแขนงวิชาของตนเอง ในวิกฤตจึงก่อเกิดความคิดขึ้นเสมอ ผู้ขบคิดคือผู้ที่ใส่ใจกับปัญหา และอย่างน้อยก็ยังมองโลกอย่างมีความหวัง
อีริค ฟรอมม์ ก็เป็นคนหนึ่งที่มีข้อข้องใจต่อความเป็นไปของโลกในยุคที่เขาเป็นหนุ่มสาว ช่วงชีวิตระหว่าง ค.ศ.1900-1980 ทำให้เขาได้พบเห็นความขัดแย้งและความรุนแรงระดับสงครามโลกถึงสองครั้ง การเป็นคนยิวในประเทศเยอรมนีทำให้เขาได้สัมผัสถึงความเกลียดชังระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์อันน่าสยดสยอง ท่ามกลางบรรยากาศเช่นนี้ เด็กหนุ่มอย่างเขาอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า-ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากอะไร
ฟรอมม์เกิดในครอบครัวที่นับถือศาสนายิวอย่างเคร่งครัด กระทั่งแก่ตัวเขาจึงตัดขาดจากศาสนายิวที่เป็นสถาบัน และเรียกตัวเองว่านักอเทวนิยม
ช่วงวัย 14 ปี (ค.ศ.1914) เขาได้เห็นคนทั้งประเทศเยอรมนีระเบิดความบ้าคลั่งออกมาในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ได้เห็นความเกลียดชังแผ่ลามไปทั่วประเทศ อันเนื่องมาจากประชาชนถูกการโฆษณาชวนเชื่อปลุกเร้า
เขาได้เห็นญาติมิตร ครูอาจารย์เปลี่ยนไป จึงเกิดความสงสัยว่า “ทำไมคนดีๆ มีเหตุมีผลเหล่านี้ถึงได้กลายเป็นบ้าไปได้อย่างรวดเร็วเพียงนี้”
ในตอนนั้นฟรอมม์ต้องการหาคำตอบ และเริ่มชัดเจนในสิ่งที่ตนเองสนใจ นั่นคือรากลึกของพฤติกรรมมนุษย์ ซึ่งเขาเชื่อว่า น่าจะได้รับผลกระทบจากสภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และพลังทางประวัติศาสตร์อย่างล้ำลึก
สังคมที่เจ็บป่วยต้องสร้างผู้คนที่เจ็บป่วยขึ้นมาด้วยเป็นแน่
2ฟรอมม์เข้าเรียนจิตวิเคราะห์ที่มิวนิก เพิ่มพูนความรู้ รวมทั้งเขียนหนังสือออกมาหลายเล่ม
ผลงานของเขาติดอันดับหนังสือขายดี หลายเล่มยังคงเป็นหนังสือคลาสสิคจนถึงทุกวันนี้ อาทิ Escape from Freedom และ The Art of Loving
ฟรอมม์ได้รับการยกย่องเป็นนักจิตวิทยาที่มีอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่ง ความสำคัญของเขาคือการมองปัจจัยภายนอกเพื่อทำความเข้าใจที่มาของบุคลิกของคนคนหนึ่งด้วย
ฟรอมม์เสนอว่า ตามประวัติศาสตร์อารยธรรมตะวันตกนั้น สังคมเดินทางไปสู่สังคมที่ผู้คนมีเสรีภาพมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งนี้เริ่มเห็นเด่นชัดตั้งแต่ยุคเรเนอซองส์ เมื่อมนุษย์เริ่มเชื่อมั่นในพลังของตนมากขึ้น สวนทางกับพลังของศาสนจักรที่เคยเข้มแข็งในยุคกลางค่อยๆ ลดน้อยถอยลง
จากนั้นโลกก็ค่อยๆ เดินหน้าไปสู่ “เสรีภาพ” มากขึ้นเรื่อยๆ คำว่าเสรีภาพนั้นฟังดูดี แต่สำหรับฟรอมม์แล้ว เสรีภาพก็มีด้านมืดของมันอยู่ด้วยเช่นกัน
หากเทียบกับสัตว์ มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่กระทำสิ่งต่างๆ โดยผูกติดกับสัญชาตญาณน้อยที่สุด เราใช้ความคิดและเหตุผลในการเลือกกระทำหรือไม่กระทำสิ่งต่างๆ เรามีสำนึกรู้ว่านี่คือตัวเรา นั่นคือโลก เราเล่าเรียนผ่านอดีตได้ และมีจินตนาการถึงอนาคตที่ไม่เหมือนปัจจุบัน
ลักษณะเช่นนี้ทำให้เราเป็นอิสระจากโลกและธรรมชาติ ไม่ได้รู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับโลกและธรรมชาติเหมือนสัตว์ทั้งหลาย แต่อันที่จริงเราก็ยังต้องพึ่งพาธรรมชาติ และเป็นส่วนหนึ่งของมัน เพียงแค่เราอยากใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ
เมื่อแยกขาดจากธรรมชาติได้แล้ว เราสามารถใช้ความคิดค้นหาทางเลือกได้ไม่มีที่สิ้นสุด มนุษย์จึงเป็นสิ่งมีชีวิตที่แปลกแยก เหินห่างธรรมชาติ และไม่มีทางทำให้ตัวเองปลอดความคิด ปลอดความรู้ หรือกลับไปเป็นเหมือนสัตว์ได้อีกแล้ว
เราจึงเป็นสิ่งมีชีวิตที่โดดเดี่ยว
ในยุคแรก มนุษย์พยายามหลีกหนีความรู้สึกแปลกแยกจากธรรมชาติด้วยการมอบชีวิตจิตใจให้กับเผ่าหรือชุมชน มีความเชื่อในตำนาน ศาสนา พิธีกรรมประเพณีของเผ่าร่วมกัน มีกฎเกณฑ์ร่วมกัน
เมื่อได้รับการยอมรับอยู่ในสังกัดในกลุ่ม มนุษย์ก็รู้สึกโดดเดี่ยวน้อยลง ประกอบกับในยุคนั้น สิ่งที่มนุษย์บูชามักจะเป็นสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติ เช่น ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ไฟ สัตว์ หรือพืช ทำให้ยังรู้สึกเชื่อมโยงกับธรรมชาติรอบตัว
แต่ยิ่งสังคมมนุษย์ทำให้ผู้คนเกิดความรู้สึกเป็นปัจเจกมากขึ้น มีเสรีภาพมากขึ้น ก็ทำให้พวกเขาต้องสูญเสียความเกี่ยวพันเดิมๆ ซึ่งให้ความมั่นคงและความรู้สึกเป็นหมู่คณะไป พร้อมๆ กับที่ในหัวค่อยๆ เต็มไปด้วยความสงสัยเรื่องความหมายของชีวิต และรู้สึกว่าตัวเองไร้ความสำคัญ
ว่าง่ายๆ คือ มนุษย์แยกขาดจากธรรมชาติและความเป็นชุมชนมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมๆ กันกับที่เราได้เสรีภาพในชีวิตมากขึ้น เราก็รู้สึกไม่มั่นคงและแปลกแยกมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญ เสรีภาพที่ว่านี้ไม่ได้เป็นเสรีภาพที่เราจะได้พัฒนาศักยภาพของตัวเองอย่างแท้จริง แต่เราถูกครอบงำไว้ด้วยการสอนสั่ง ค่านิยมหลักของสังคม กฎเกณฑ์จากผู้มีอำนาจ วัฒนธรรมแบบตลาด ฯลฯ
ถึงที่สุดแล้วเราจึงเป็นเพียงร่างกายและสมองที่เชื่อว่าตัวเองมีเสรีภาพที่จะเลือก ทั้งที่ความคิดและการตัดสินใจของเราถูกครอบงำเอาไว้ด้วยสิ่งอื่น เราไม่กล้าที่จะออกนอกเส้นที่ถูกตีไว้
จึงเหมือนอยู่ระหว่างเขาควาย คือทั้งรู้สึกโดดเดี่ยว และรู้สึกว่าหนีไปจาก “เสรีภาพ” ที่ตัวเองมีก็ไม่ได้
3ฟรอมม์บอกว่า หนทางที่จะหาความหมายให้กับชีวิตและทำให้เกิดความรู้สึกมีหมู่มีคณะนั้นโดยพื้นฐานมีอยู่สองทางด้วยกัน
ทางแรกคือ เสรีภาพในเชิงบวก คือการพยายามเข้าไปผสานกับคนอื่นๆ อีกครั้งหนึ่ง โดยไม่ละทิ้งศักยภาพที่เป็นเอกลักษณ์ของตน แบบนี้คือการสัมพันธ์กับผู้อื่นในสังคมด้วยการทำงานสร้างสรรค์และใช้ความรัก ทำในสิ่งที่ตนเองอยากทำโดยไม่ถูกครอบงำจากอย่างอื่นหรือคนอื่น ซึ่งก็คือการแสดงออกทางอารมณ์และปัญญาอย่างเปิดเผยจริงใจ ฟรอมม์เรียกสังคมแบบนี้ว่า สังคมมนุษยนิยม เป็นสังคมที่ผู้คนไม่รู้สึกโดดเดี่ยว ไร้ความสำคัญ เพราะทุกคนต่างเป็นพี่เป็นน้องกัน
ทางที่สองคือ การหาความมั่งคงใหม่ด้วยการ ละทิ้งเสรีภาพ ละทิ้งความเป็นปัจเจกของตัวเองไปให้หมดสิ้น ซึ่งหมายความว่าเป็นทางเลือกที่ไม่ได้พัฒนาตนเองไปตามศักยภาพและความต้องการส่วนบุคคล ไม่แสดงออกถึงตัวเองอย่างเต็มที่ แต่หลอมรวมกับสิ่งที่ใหญ่กว่าเพื่อขจัดความกังวลเรื่องความโดดเดี่ยวไร้ความสำคัญไปได้ นี่เป็นคำอธิบายว่า ทำไมคนจำนวนมากจึงเต็มใจยอมรับระบบเผด็จการอย่างนาซี
เช่นนี้แล้ว เมื่อเสรีภาพทำให้เรารู้สึกไร้ความสำคัญและแปลกแยกจากผู้คนอื่นๆ หากสังคมใดยังไม่สามารถมีบรรยากาศของความเป็นพี่เป็นน้อง เคารพในความคิด ความเชื่อ ตัวตน และศักยภาพที่แตกต่างกันของคนในสังคม ก็มีโอกาสที่ผู้คนจำนวนมากในสังคมจะเดินหน้าไปสู่ทางเลือกที่สอง คือยอมละทิ้งเสรีภาพของตนเองไป เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจที่ยิ่งใหญ่ เพื่อรู้สึกมีความสำคัญ มีอำนาจขึ้นอีกครั้ง
ราวกับเป็นภารกิจของมนุษย์ ที่จะต้องเกิดมาเพื่อหาทางหนีไปจากเสรีภาพ ซึ่งสภาพสังคมที่หุ้มห่อตัวเขาไว้มีผลอย่างมากต่อการตัดสินใจเลือกว่าจะเลือกทางใด
เลือกเป็นพี่เป็นน้องกับคนร่วมสังคม
หรือเลือกเป็นส่วนหนึ่งของเผด็จการ