มุกดา สุวรรณชาติ : แบ่งแยกแล้วปกครองมา 10 ปี และจะอยู่แบบนี้ต่อไป

มุกดา สุวรรณชาติ

บรรดาติ่งและกองเชียร์ทั้งหลาย หนักแน่นเข้าไว้

อย่าได้หลงตามน้ำไปเด็ดขาด

คุณมีเพื่อนมิตรที่มีอำนาจไม่มากนัก

องค์กรที่มีกำลัง มีอำนาจยังอยู่กับเขาทั้งหมด

 

ประชาชนแตกเป็นสองฝ่าย
ปกครองง่าย ใช้งบฯ เพลิน

ย้อนดูอดีตการต่อสู้กับอำนาจเผด็จการที่สามารถชนะได้ แม้ประชาชนไม่มีอาวุธเพราะประชาชนมีความสามัคคี มีความเห็นแบบเดียวกัน มองอำนาจที่ปกครองอยู่ว่าเป็นเผด็จการไม่ถูกต้อง มีการรวมตัวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่มุ่งไปต่อต้าน จึงเป็นพลังที่แหลมคม มีความเข้มแข็งและได้รับการหนุนช่วยจากหลายฝ่าย จนได้รับชัยชนะ

ตัวอย่างคือเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535

แต่ปัจจุบันฝ่ายอำนาจเก่าวางแผนแบ่งแยกกำลังฝ่ายประชาชนได้สำเร็จ

พวกเขาอาศัยความแตกแยกของสีเหลือง สีแดง แม้การปลุกให้คนกลัวทักษิณเริ่มเสื่อมลง แต่ก็ยังกระตุ้นพวกหัวอนุรักษ์ได้เสมอ ตอนนี้เพิ่มให้คนกลัวคอมมิวนิสต์ กลัวการแบ่งแยกดินแดน ข้ออ้างเพื่อปกป้องสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ยังคงถูกนำมาใช้

ใครที่มีความเห็นต่างกลายเป็นพวกหนักแผ่นดิน

การตั้งรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ที่ใครๆ คิดว่าต้องมีปัญหาและไปไม่รอด ถ้ามองลึกลงไปจะพบว่า รัฐบาลได้มองเห็นช่องทางในการเอาตัวรอด ที่เป็นช่องใหญ่ของความแตกแยก

ดังนั้น การบริหารงานราชการ การใช้งบประมาณเป็นหมื่นล้านแสนล้าน จึงยังทำได้สบายมาก แต่ประชาชนจะลำบากไปอีกนาน

การแบ่งแยกแล้วปกครองเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้คนจำนวนหนึ่งออกมาหนุนอำนาจเผด็จการ ส่งผลให้กลุ่มอำนาจเก่ายังรักษาฐานะของชนชั้นปกครอง ร่างกฎหมาย สร้างกำลังในฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ สืบทอดอำนาจ และกำจัดคู่แข่งทางการเมืองได้

ถ้าย้อนกลับไปดูในรอบ 10 ปีนี้จะพบว่ากลุ่มอำนาจเก่าสามารถบรรลุแผนการแบ่งแยกได้สำเร็จ

และกำลังจะเข้าสู่ขั้นที่ 2-3

 

1.การแบ่งแยกประชาชน…

ตลอด 10 ปีมานี้ประชาชนแบ่งเป็น 2 ฝ่าย เริ่มจากการมีกลุ่มพันธมิตรเสื้อเหลืองเรียกร้องการรัฐประหารตั้งแต่ปี 2549 และแสดงบทบาทเข้มข้นที่สุดในปี 2551 โดยการยึดทำเนียบ ยึดสนามบิน ร่วมกับกระบวนการตุลาการภิวัฒน์ โค่นรัฐบาลจากการเลือกตั้งได้สำเร็จ ทำให้ฝ่ายที่แพ้เลือกตั้งกลับขั้วมาเป็นรัฐบาลได้

ในปี 2552 ก็มีกลุ่มคนเสื้อแดงขึ้นมาต่อต้านจนถูกปราบในปี 2553 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

หลังพฤษภาคม ปี 2553 ความแตกแยกจึงได้ขยายกว้างและลึก ไม่เพียงแค่เห็นเป็นสีเสื้อ แต่มันซึมเข้าสู่ความคิด ผ่านสายเลือดลงถึงกระดูก

การเลือกตั้งในปี 2554 พวกเสื้อแดงหนุนเพื่อไทยเลือกตั้ง ส.ส.ได้ 265 คน เกินครึ่งสภา อีกฝ่ายก็เป็นฝ่ายค้านไป การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ปี 2556 เพื่อไทยพ่ายแพ้ ปชป. แม้คะแนนถึงล้านทั้งคู่ แต่ต่างกันไม่ถึง 200,000 คะแนน

ความแตกร้าวในหมู่ประชาชนยิ่งถูกตอกย้ำด้วยการเคลื่อนไหวขับไล่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ของม็อบ กปปส. และต่อต้านการเลือกตั้งใหม่ ตามด้วยตุลาการภิวัฒน์ ปลดนายกฯ จากตำแหน่ง สุดท้ายก็ตามด้วยการรัฐประหาร 2557

จากนั้นรัฐบาลทหารปกครองประเทศต่อ 5 ปี นี่เป็นการลากถ่วงเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความคิดในหมู่ประชาชน มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่คิดว่าได้เปรียบที่สุด

แต่เมื่อเลือกตั้งใหม่ 2562 ผลก็ยังเป็นเหมือนเดิมคือคนส่วนใหญ่ที่เคยเลือกข้างไหนก็เลือกข้างนั้น อาจมีการเปลี่ยนแปลงเพียงแค่เลือกพรรคอีกพรรคหนึ่งที่มีอุดมการณ์คล้ายกัน อยู่ข้างเดียวกัน แต่คะแนนที่ข้ามฟากข้ามฝั่งมีน้อยมาก

คะแนนที่ข้ามไปเพราะมีการดึง ส.ส.และหัวคะแนนของอีกฝ่ายหนึ่งโดยใช้ทฤษฎีเลี้ยงกล้วยลิง และบัตรเลือกตั้งไม่มีให้เลือกพรรค ให้เลือกบุคคลเพียงบัตรเดียว

ถึงกระนั้น ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยก็ยังมาเป็นอันดับ 1 ทั้งที่ไม่ได้ส่งลงอีก 100 เขตเลือกตั้ง

ส่วนของคู่แข่งสำคัญคือพรรคพลังประชารัฐ ได้อันดับ 2

อันดับ 3 เป็นอนาคตใหม่ซึ่งก็เป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์ของเพื่อไทย ถ้าแบ่งแยกคะแนนกัน ทั้งสองฝ่ายถือว่าได้คะแนนสูสีกันคนละครึ่ง โดยมีพรรคเล็กพรรคน้อยเป็นตัวประกอบแต่ก็เป็นตัวตัดสินให้มี ส.ส.เกินครึ่งสภาและตั้งรัฐบาลได้

ถ้าประเมินคะแนนตามอุดมการณ์พรรคฝ่ายประชาธิปไตยจะมีคะแนนประมาณ 16 ล้านเท่าเดิม ฝ่ายที่ได้เป็นรัฐบาลถือว่าสืบทอดอำนาจสำเร็จ มีประมาณ 17 ล้าน นอกนั้นเป็นคะแนนของพรรคที่เปลี่ยนไปตามผลประโยชน์และการต่อรองทางการเมือง

ในที่สุดความพยายามแบ่งแยกประชาชนก็เกิดผลที่เห็นชัดจนได้นับจากปี 2553 เป็นต้นมา แต่ผู้ที่แบ่งแยกไม่สามารถสร้างชัยชนะที่เด็ดขาดในการเลือกตั้งปี 2562 จึงต้องใช้การแบ่งแยกขั้นต่อไป

 

2.การแบ่งแยกภายในพรรคการเมืองต่างๆ (แบ่งแยก แจกกล้วย)

นี่เป็นวิธีที่จะอยู่รอดเมื่อคะแนนเสียงในการจัดตั้งรัฐบาลไม่ถึง ขาดไปเล็กน้อย หรือเสียงปริ่มน้ำ จะต้องหาคะแนนมาจากลิงและงูเห่า ไม่ว่าจะอยู่ในพรรคการเมืองใหญ่หรือเล็ก

ยุทธวิธีลิงและงูเห่านี้เคยใช้กันมานาน คนรุ่นใหม่อาจไม่รู้รายละเอียด

ตำนานงูเห่า

เมื่อ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคความหวังใหม่ ตัดสินใจลอยตัวค่าเงินบาท และประกาศลาออกเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2540 ทำให้ต้องหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ในสภา ฝั่งรัฐบาลเดิมประกอบด้วย ความหวังใหม่ ชาติพัฒนา กิจสังคม ประชากรไทย เสรีธรรมและมวลชน 221 เสียง

ฝ่ายค้านคือ ประชาธิปัตย์ ชาติไทย เอกภาพ ไท และพลังธรรม ที่ได้ 172 เสียง พรรคร่วมรัฐบาลประกาศชู พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ กลับมาเป็นนายกฯ อีกสมัย

ขณะที่ฝ่ายค้านชูนายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กระแสสังคมเชียร์ฝ่ายค้าน (มีการต่อรองตำแหน่งด้วยกันทุกพรรค) ทำให้เสรีธรรม 4 เสียงและกิจสังคม 20 เสียงเปลี่ยนขั้ว กลายเป็นรัฐบาลเดิมมี 197 – ฝ่ายค้านมี 196 เสียง พรรครัฐบาลเดิมยังไงก็ชนะ…แต่

พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เลขาฯ ปชป. ดูดลูกพรรคประชากรไทยของนายสมัคร สุนทรเวช ที่มีอยู่ 18 คน มาได้ 12 คน ทำให้เสียงในสภาพลิกกลับ ฝ่ายสนับสนุนนายชวนรวมเสียงได้ 208 ชนะ 185 ของรัฐบาล

ส.ส. 12 คนของประชากรไทย ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีใน ครม.ชวนถึง 4 คน คือ นายวัฒนา อัศวเหม เป็น รมช.มหาดไทย, นายยิ่งพันธ์ มนะสิการ เป็น รมว.วิทยาศาสตร์ฯ, พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ เป็น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายประกอบ สังข์โต เป็น รมช.แรงงาน…

นายสมัครจึงเปรียบเทียบให้สื่อมวลชนฟังว่า เหมือนชาวนากับงูเห่า เพราะก่อนการเลือกตั้ง นายวัฒนาตกเป็นข่าวว่าอยู่ในแบล็กลิสต์ผู้พัวพันกับขบวนการค้ายาเสพติดของทางการสหรัฐจนไม่มีพรรคไหนยอมให้เข้าร่วม แต่นายสมัครก็รับมา

แต่แล้วกลับมาแว้งกัดหัวหน้า พาลูกพรรคแหกมติไปลงคะแนนให้อีกฝ่าย

นี่คือที่มาของงูเห่าในสภา

 

กรณีการดึงเนวิน ชิดชอบ และกลุ่มงูเห่าออกจากพรรคพลังประชาชน เกิดขึ้นอีก 11 ปีต่อมา

คือปี 2551 เมื่อตุลาการภิวัฒน์ได้ปลดนายกฯ สมัคร สุนทรเวช และนายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ใช้ตุลาการภิวัฒน์ตัดสินยุบพรรคถึง 3 พรรค ทั้งใช้กำลังอำนาจมากดดัน และเสนอผลประโยชน์ที่จะให้กระทรวงต่างๆ แบบเต็มที่ ชนิดที่ไม่เคยมีใครให้กันได้

งานนี้เรียกว่าขุดงูเห่าออกจากรู จับเอามาแสดงปาหี่ขายยา ทำให้อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จาก ปชป.ได้เป็นนายกฯ

 

ส่วนการเลี้ยงลิง ถือเป็นปกติที่ทำกันมานานมาก เช่น การเลือกตั้ง พ.ศ.2512 พรรคสหประชาของจอมพลถนอม กิตติขจร ได้ ส.ส.จำนวน 75 คนจาก 219 คน แม้จะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ด้วยเสียงที่ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสภา จึงทำให้ต้องหาเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.อิสระที่ไม่สังกัดพรรคที่มีจำนวนถึง 56 คน จึงทำให้เกิดการต่อรองเรื่องผลประโยชน์ของ ส.ส. โดยเฉพาะในการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2515 หลังจากเบื่อที่จะใช้กล้วย จอมพลถนอมแก้ปัญหาด้วยการทำรัฐประหารตนเองในวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2514

การเลือกตั้ง 22 เมษายน 2522 พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ก็กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ทั้งที่ไม่ได้ลงเลือกตั้งด้วย แต่ด้วยเพราะกลไกให้วุฒิสภา (ส.ว.) ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วยรัฐธรรมนูญตอนนั้นคล้ายปี 2562 คือ การโหวตนายกรัฐมนตรีจะต้องใช้เสียงครึ่งของรัฐสภา ส.ส. 301 คน และ ส.ว. (แต่งตั้ง) 225 คน รวม 526 คน ผู้จะเป็นนายกฯ ต้องได้เกินครึ่งคือ 264

ผลการเลือกตั้ง จากจำนวน ส.ส. 301 คน ไม่มีกลุ่มการเมืองใดได้เสียงเกินครึ่ง ตอนนั้นยังไม่มีกฎหมายพรรคการเมืองแทนฉบับเดิมที่ถูกยกเลิก กลุ่มกิจสังคมได้ 82 คน / กลุ่มอิสระ 63 คน / กลุ่มชาติไทยได้ 38 คน / กลุ่มประชาธิปัตย์ 32 คน / กลุ่มประชากรไทย 32 คน / กลุ่มสยามประชาธิปไตย 31 คน นายกฯ เกรียงศักดิ์มี ส.ส.หนุนแค่ 86 คน รวมกับกลุ่ม ส.ว. 225 คน ในขณะที่ ส.ส.ที่มาจากการเลือกของประชาชนส่วนใหญ่อีก 215 เสียง ต้องกลายไปเป็นฝ่ายค้าน

รัฐบาลเกรียงศักดิ์อยู่ได้ 9 เดือน ไม่สามารถแจกกล้วยให้ทั้ง ส.ว. และ ส.ส.ได้พอเพียงจึงถูกโค่นล้ม ถูกหักหลังจากทั้ง ส.ว. และ ส.ส. ระบบ ส.ส.อิสระจึงไม่เป็นที่วางใจของประชาชน ซึ่งหวังจะให้ระบบพรรคคุม ส.ส.อีกชั้นหนึ่ง

ปัจจุบันการแบ่งแยก แจกกล้วยแบบนี้ สร้างความหวาดระแวงไปทั่ว ตอนนี้ประชาชนก็เริ่มพอมองเห็นแล้ว ลิงแอบอยู่ตรงไหน

 

3.แบ่งแยกแนวร่วม

ถ้าฝ่ายค้านมีลักษณะ เป็นพรรคแนวร่วมหลายพรรคการเมือง ฝ่ายตรงข้ามจะทำการแบ่งแยกให้แตกกันเพื่อจะให้ไร้พลังในการคัดค้าน ต่อต้าน

ถ้ามองดูยุคปัจจุบัน โอกาสที่ใช้กล้วยก็มีอยู่แต่ทำได้กับบางคนเท่านั้น พวกที่มีอุดมการณ์มีจุดยืนทำไม่ได้ ดังนั้น การยุยงให้แตกแยกระหว่างพรรคและภายในพรรคจึงยังเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการต่อไป

กองเชียร์ของพรรคต่างๆ ควรมองภาพรวมของการต่อสู้ ไม่ควรมองเฉพาะผลประโยชน์ของพรรคเท่านั้น มิฉะนั้นจะเข้าทางฝ่ายตรงข้าม

ในสภาพเช่นนี้ฝ่ายประชาธิปไตยเหมือนไก่ชนหลายตัวที่ถูกต้อนมาไว้ในกรงเดียวกัน เลือดนักสู้ทั้งนั้น ถ้าต่างคนต่างเก่ง ตายหมดแน่นอน มีแต่การสามัคคีกันจึงจะสามารถทลายกรงนี้ออกไปได้

ที่ต้องเจอคือ การยุแหย่ให้แตกแยก การทำสงครามจิตวิทยาของฝ่ายตรงข้าม โดยการใช้ Social Media ยุผ่านกองเชียร์ ตอนนี้มีมือปืนรับจ้างกำลังทำกันอยู่ มีภาพหรือคำพูดใดที่เปิดช่อง จะถูกกระหน่ำ หรือขยายรอยแยกทันที ตั้งแต่ผู้บริหารพรรค ส.ส. จนถึงกองเชียร์

การเห็นแก่ประโยชน์เฉพาะส่วนทำให้เกิดความขัดแย้งได้ไม่ยาก เพราะตำแหน่งทางการเมืองมีน้อยกว่าคนที่อยากเป็น ดังนั้น ใครจะได้ลง ส.ส. ใครจะได้ลงนายก อบจ. นายกเทศบาล ก็ต้องแข่งขันกัน แต่ยังไม่ทันแข่งระหว่างพรรค ก็ต้องมาแข่งรอบคัดเลือกกันเอง จึงทำให้เกิดการแตกแยกได้

จุดยืนของคนและความแน่วแน่ในอุดมการณ์ของพรรคจะเป็นตัววัดว่าจะสามารถฟันฝ่าอุปสรรคเหล่านี้ไปแก้ปัญหาให้ประชาชนได้หรือไม่ การแสดงออกต่างๆ จะปรากฏให้เห็นทุกช่วงที่มีแรงกดดันทางด้านลบที่จะมีผลทำให้พรรคลำบาก หรือในช่วงที่รุ่งโรจน์ที่คนแย่งชิงกันเข้าหาพรรคเพื่อตำแหน่ง

แม้ผู้บริหารพรรคจะยินยอมประนีประนอมกับแนวร่วม เพื่อการต่อสู้โดยรวม บางเขตส่งสมัคร บางเขตไม่ส่ง แต่นักการเมืองที่อยู่ในพื้นที่จะไม่ค่อยยอม เพราะกลัวเสียอำนาจ เสียหัวคะแนน เสียมวลชน จึงเป็นเรื่องที่แก้ไม่ง่าย และจุดอ่อนตรงนี้ฝ่ายตรงข้ามจะเข้ามาตอกลิ่มทันที

 

ฝ่ายค้านตกอยู่ในวงล้อม ต้องสามัคคี

แม้ฝ่ายค้านเปิดเกมรุกในสภา แต่อีกฝ่ายใช้กฎหมาย ศาล องค์กรอิสระ บีบทั้งคนและพรรค

อนาคตใหม่กำลังเผชิญปัญหาหลายด้าน เพราะเป็นพรรคดาวรุ่งที่เกิดใหม่ไฟแรง (จนมีคนกลัวไฟช็อต) เป็นแบบอย่างของแนวคิดใหม่ มีวิธีต่อสู้ใหม่ เป็นที่นิยมของเยาวชนคนหนุ่มสาว

การดำรงอยู่ของพรรคอนาคตใหม่จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในทางยุทธศาสตร์ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นพรรคอนาคตใหม่จะต้องอยู่ให้ได้ จะเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนหัวเปลี่ยนคนก็ต้องพยายามดำรงฐานะและอุดมการณ์ของตนเองไว้

สิ่งที่เคยเกิดกับพรรคเพื่อไทยที่มีเสียงเกินครึ่งสภา อาจจะเกิดกับอนาคตใหม่ได้เช่นเดียวกันทั้งในด้านบวกและด้านลบ

สิ่งที่ฝ่ายตรงข้ามกำลังทำอยู่ก็คือการใช้สื่อ ใช้อำนาจทางกฎหมายและตุลาการภิวัฒน์ องค์กรอิสระ จัดการขยายจุดอ่อน ให้เป็นปัญหาให้ได้

ความอ่อนเยาว์และอ่อนไหวของผู้สนับสนุนอาจจะสร้างปัญหาเพิ่มได้

ดังนั้น ความหนักแน่นของคนทั้งพรรคเป็นเรื่องที่มีความจำเป็น

สถานการณ์วันนี้-ชี้ว่าการต่อสู้แบบมีแนวร่วมหลายพรรคดีกว่าพรรคเดียว แนวตั้งรับที่แข็งแกร่งจะต้องมีพรรคเพื่อไทย อนาคตใหม่และพรรคแนวร่วม รวมทั้ง 7 พรรคจึงจะประกอบกันเป็นกำแพงที่แข็งแรงได้

ฝ่ายตรงข้ามก็รู้ จึงพยายามเจาะแนวกำแพงนี้ ทั้งช่องระหว่างพรรค และช่องว่างของคน ภายในพรรคต่างๆ

เช่นขณะนี้ พรรคอนาคตใหม่กำลังคัดตัวคนลงสมัครเลือกตั้งท้องถิ่น ตามหลักการ ทั้งที่ไม่รู้ว่าจะมีเลือกตั้งเมื่อใด ในขณะที่คนที่ไม่ได้รับคัดเลือกก็ไม่พอใจ ออกไปตั้งป้อมถล่มพรรค

ทำไมต้องหนักแน่น… เพราะวันนี้ ถ้ามีใครใช้ปลายนิ้วโพสต์ข้อความลงไปในสื่อ Social Media เพียงพริบตา จะกระจายเหตุผล คำชม คำตำหนิ อารมณ์ของผู้โพสต์ไปทั่ว อาจมีทั้งคนพอใจ และไม่พอใจ จะเกิดการตอบโต้ จะไปกระทบความสัมพันธ์ต่างๆ ความสามัคคีในแนวร่วมจึงเป็นเรื่องอ่อนไหว

ถ้าลองเหลียวมองไปรอบๆ จะรู้สึกได้ว่า ฝ่ายประชาธิปไตยถูกกระชับพื้นที่แล้ว เพียงแค่ไม่กี่เดือนที่อีกฝ่ายตั้งรัฐบาลได้ สถานการณ์กลับไปคล้ายเดิม ทางเดียวที่จะยกระดับฝ่ายแนวร่วมประชาธิปไตยได้ คือต้องรวมกำลังให้ชนะในการเลือกตั้งทุกชนิดให้มากที่สุด