นงนุช สิงหเดชะ : โดนัลด์ ทรัมป์ ผลผลิต “ประชาธิปไตยเน่าเสื่อม”

ทําพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 45 ของอเมริกาไปเรียบร้อยแล้วสำหรับ โดนัลด์ ทรัมป์

อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ได้สร้างประวัติศาสตร์ที่ไม่น่าปลื้มอีกเช่นกันในวันสาบานตน

เพราะนี่คงเป็นครั้งแรกที่มีผู้ชุมนุมหลากหลายกลุ่ม จำนวนหลายพันคน ไม่ได้มาร่วมพิธีเพื่อแสดงความยินดี แต่มาเพื่อประท้วงไม่ยอมรับทรัมป์

อาจกล่าวได้ว่าในประวัติศาสตร์ปัจจุบัน ไม่มีประธานาธิบดีสหรัฐคนไหน ถูกคนออกมาประท้วงในวันทำพิธีสาบานตน ประท้วงถึงระดับก่อจลาจลย่อยๆ เช่น ทุบทำลายร้านค้า เผารถลิมูซีนคันยาว

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์เช่นว่านี้คาดหมายได้ล่วงหน้าอยู่แล้วว่าจะเกิดขึ้น เพราะตั้งแต่ช่วงที่เขาเดินสายหาเสียงไปจนถึงผลการเลือกตั้งออกมาก็มีผู้ประท้วงเขาอย่างต่อเนื่อง

ผู้ประท้วงกว่า 500,000 คน แสดงพลังต้านทรัมป์ในกรุง วอชิงตัน ดี.ซี. / AFP PHOTO / Joshua LOTT

ประเด็นที่ทรัมป์ถูกประท้วงนั้น ก็อย่างที่ทราบกันดีคือ เขาถูกมองว่าเป็นพวกขวาจัดซึ่งไปคนละทางกับคุณค่าหลักที่คนอเมริกันยึดถือมายาวนาน

เพราะเขาประกาศว่าจะขับไล่ผู้อพยพหลายล้านคนออกนอกประเทศ จะห้ามมุสลิมเข้าประเทศ จะสร้างกำแพงกั้นชายแดนกับเพื่อนบ้านอย่างเม็กซิโก ดูถูกเพศหญิง ปลุกความเกลียดชัง อันล้วนแต่ขัดกับค่านิยมของคนอเมริกันที่ยึดมั่นและเคารพในความหลากหลายของเชื้อชาติ ศาสนา และเปิดกว้าง ใจกว้าง

หากชำแหละลงไปให้ลึก แนวคิดของทรัมป์ ไม่มีสิ่งใดสะท้อนถึงหัวใจสำคัญของประชาธิปไตย ไม่มีเนื้อแท้ที่เป็นประชาธิปไตย

ประชาชนเป็นอย่างไร ก็ย่อมเลือกผู้นำแบบนั้น สิ่งนี้เป็นจริงเสมอ

และว่าไปแล้วก็น่าจะสะท้อนว่าคนที่เลือกทรัมป์เป็นผู้นำ เอาเข้าจริงก็น่าจะเป็นพวกที่ไม่ได้รักประชาธิปไตยโดยเนื้อแท้ นอกเหนือจากการเลือกตั้งแล้วไม่ได้รู้จักแก่นแท้ที่เป็นจิตวิญญาณประชาธิปไตยที่มีคุณค่ามากกว่าการเลือกตั้ง

ทรัมป์คงเป็นผลผลิตจากคนอเมริกันกลุ่มนั้น กลุ่มที่ถูกหล่อหลอมจากประชาธิปไตยเน่าๆ เสื่อมๆ จึงได้ของเน่าเสื่อมทางประชาธิปไตยชื่อประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ออกมา

กลุ่มประชาธิปไตยเน่าเสื่อม คงได้มีโอกาสปะทะกับกลุ่มประชาธิปไตยดั้งเดิมของแท้อีกกลุ่ม

เพราะเพียง 1 วันหลังพิธีสาบานตนมีกลุ่มที่ใช้ชื่อ Women”s March เป็นผู้นำในการประท้วงทรัมป์ มีผู้ร่วมชุมนุมนับล้านคนในหลายเมืองของอเมริกา โดยไม่ได้มีเพียงผู้หญิง แต่ผู้ชายก็ร่วมชุมนุมด้วย

และที่สำคัญคนดังในวงการบันเทิงอเมริกา เช่น มาดอนนา, แอชลีย์ จัดด์, เอลิเชีย คีย์ เข้าร่วมเช่นกัน

เท่านั้นยังไม่พอ การประท้วงทรัมป์ยังเกิดขึ้นในหลายประเทศรวมแล้ว 600 กว่าจุด

ประเมินกันว่าผู้มาประท้วงทรัมป์มีจำนวนมากกว่าผู้มาร่วมยินดีในพิธีสาบานตนของทรัมป์เสียอีก

AFP PHOTO / Timothy A. CLARY

สุนทรพจน์ของทรัมป์ที่กล่าวในวันสาบานตน ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ทรัมป์ไร้สปิริต ไม่สามารถละเว้นละวาง “การเมือง” ไว้ชั่วขณะในพิธีสำคัญ เพราะเขากล่าวสุนทรพจน์เสมือนกำลังหาเสียง โดยเฉพาะการเสียมารยาทด้วยการโจมตีในทำนองว่ารัฐบาลก่อนๆ ละทิ้งประชาชน ซึ่งถึงแม้ทรัมป์จะไม่เอ่ยชื่อรัฐบาลใดโดยตรง แต่คนที่ตกเป็นเป้าหมายอันดับแรกย่อมไม่พ้นรัฐบาลโอบามา หรือพรรคเดโมแครต

ทรัมป์ไม่สนใจว่า โอบามาและภรรยารวมทั้งสมาชิกพรรคเดโมแครต โดยเฉพาะ ฮิลลารี คลินตัน ที่เป็นคู่แข่งของเขา อุตส่าห์ให้เกียรติมาร่วมในพิธีและนั่งฟังอยู่ตรงนั้น ซึ่งเขาควรให้เกียรติแขกที่มาร่วมพิธี ด้วยการละเว้นไม่พูดในเชิงโจมตีฝ่ายตรงข้าม เพราะแขกเหล่านั้น โดยเฉพาะ บารัค โอบามา และฮิลลารี ต้องพยายามฝืนสีหน้ากล้ำกลืนมาร่วมพิธี พยายามยิ้มแย้ม

แต่เมื่อมาเจอคำพูดแบบนี้ของทรัมป์ เชื่อว่าคงทำใจยากและคงเอือมทรัมป์เต็มทน (สื่อมีการจับภาพและสังเกตสีหน้าของ มิเชล โอบามา ที่ทำหน้ามุ่ยตอนมองทรัมป์)

หนทางเดียวที่จะทำใจก็คือ คิดเสียว่ากำลังนั่งฟังคำพูดของเด็ก 6 ขวบ ไม่มีอะไรต้องถือสาหรือควรค่าแก่การเชื่อถือ (สื่อบางแห่งแนะนำไว้อย่างนี้จริงๆ ว่าต้องทำอย่างไรเมื่อต้องทนฟังทรัมป์ทุกวันไปอีกหลายปี)

AFP PHOTO / Derek R. HENKLE

ผลสำรวจ (โพล) พบว่าทรัมป์ได้รับคะแนนนิยมก่อนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเพียง 40% น้อยที่สุดในรอบ 40 ปี ต่างจาก บารัค โอบามา ที่ได้รับคะแนนนิยมก่อนเข้ารับตำแหน่ง 84% สูงที่สุด โดยมี บิล คลินตัน รองลงมาที่ 67% จอร์จ ดับเบิลยู. บุช 60%

นอกจากนี้ โพล (สำรวจระหว่าง 12-15 มกราคม 2560) พบอีกว่าโอบามาได้รับคะแนนนิยมในโอกาสอำลาตำแหน่ง 60% ถือว่าสูงในอันดับต้นๆ ใกล้เคียงกับ บิล คลินตัน 66% โรนัลด์ เรแกน 65% พร้อมกันนี้คนอเมริกัน 50% เห็นว่าโอบามาทำให้อเมริกาดีขึ้น 57% เห็นว่าทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น

ทางด้านผลสำรวจของพิว รีเสิร์ช บอกว่าคนอเมริกัน 86% เห็นว่า ตอนนี้อเมริกากำลังแตกแยกทางการเมือง สอดคล้องกับความเห็นของนักสังเกตการณ์ทางการเมืองที่ระบุว่า บรรยากาศการเมืองในยุคทรัมป์คล้ายกับปี 1968-1969 ยุคประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน (รีพับลิกัน-พรรคเดียวกับทรัมป์) ที่ประชาชนเกิดความแตกแยกเรื่องสงครามเวียดนาม

ดูท่าแล้วความตึงเครียดทางการเมือง-สังคมอเมริกัน จะพุ่งสูงขึ้นโดยลำดับ โดยเฉพาะเมื่อดูจากท่าทีของทีมโฆษกทำเนียบขาวหรือแม้แต่ทรัมป์เองที่ออกมาตอบโต้สื่อแบบยิบๆ ย่อยๆ ทุกประเด็น

AFP PHOTO / Nicholas Kamm

ประเดิมวันแรก โฆษกทำเนียบขาวก็ออกมาตำหนิสื่อที่เสนอข่าวเรื่องจำนวนคนที่ไปร่วมพิธีสาบานตนว่าลำเอียง ข้อมูลผิดพลาด น่าละอาย เรื่องของเรื่องก็คือสื่อทีวีนำภาพ (ภาพวิดีโอ) เปรียบเทียบจำนวนคนที่ไปร่วมพิธีสาบานตนของทรัมป์และโอบามา หลังจากทรัมป์โอ้อวดเรื่องจำนวนคนที่ไปร่วมงาน

ภาพนี้เป็นการถ่ายจากมุมเดียวกัน ในระยะและพื้นที่เท่ากัน ซึ่งเมื่อเทียบกันแล้วไม่ต้องมีคำบรรยาย ก็ทำให้ทราบว่าคนมาร่วมงานทรัมป์น้อยกว่าโอบามาอย่างเห็นได้ชัด

เท่านั้นเองที่ทำให้โฆษกทำเนียบขาวโกรธ ออกมาแถลงตอบโต้ แถลงเสร็จก็เดินหนีไป ไม่ยอมให้นักข่าวถาม คล้ายกับกลัวอะไรบางอย่าง ผิดวิสัยของโฆษกรัฐบาลประชาธิปไตย เผลอๆ นึกว่ากำลังฟังโฆษกเกาหลีเหนือแถลงข่าว

ขณะเดียวกัน รายงานของสำนักงานเทศบาลกรุงวอชิงตันระบุว่า ประชาชนที่เข้าร่วมพิธีสาบานตนสมัยแรกของโอบามาเมื่อ 8 ปีที่แล้ว อยู่ที่ประมาณ 1.8 ล้านคน มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนสถิติการใช้ระบบรถไฟใต้ดินในช่วงพิธีสาบานตนของโอบามา อยู่ที่ 513,000 คน แต่ของทรัมป์ในช่วงเวลาเดียวกันอยู่ที่ 193,000 คน

ทรัมป์เองกำลังอยู่ในอาการเสพติดมัวเมาชัยชนะจนเหลิง (แบบเดียวกับที่เคยเกิดกับนักการเมืองประชานิยมของไทยคนหนึ่ง) ซึ่งผู้สังเกตการณ์ทำนายว่านี่จะเป็นปัญหาที่ทำให้เขาไม่สามารถบรรลุสิ่งที่เขาโม้เอาไว้

มันน่าขัน น่าหัวเราะ น่าเสียดาย และเสียของที่การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ได้คนที่ไม่มีคุณสมบัติประชาธิปไตยมาเป็นผู้นำ และคนที่เลือกเขามายังหลงคิดว่าตัวเองสังกัดอุดมการณ์ประชาธิปไตย