จิตต์สุภา ฉิน : ปล่อยหัวและใจไปกับ ‘เสียง’

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

คุณผู้อ่านเคยมีความรู้สึกไหมคะว่าช่วงเวลาหลังเลิกงานตอนที่ได้กลับมาถึงบ้าน ทันทีที่ทิ้งตัวลงบนโซฟา ปัญหาที่โผล่มาให้ต้องครุ่นคิดตัดสินใจคือวันนี้จะทำกิจกรรมอะไรเพื่อเป็นการผ่อนคลายดี

จะเบราซ์อินเตอร์เน็ต แชตเม้าธ์กับเพื่อน เพลิดเพลินกับหนังสือเล่มโปรด เปิดโทรทัศน์ดูเน็ตฟลิกซ์แบบน็อนสต็อป ใส่หูฟังดื่มด่ำกับเสียงเพลงบนแอปเปิ้ล มิวสิก หรือจะเปิดเพลย์สเตชั่นเล่นเกมออนไลน์แข่งกับเพื่อน

เนื่องจากเรามีเวลากันเพียงแค่ 5-6 ชั่วโมง (หรือน้อยกว่านั้น) ก่อนจะเข้านอน แต่คอนเทนต์ที่จะต้องเสพนั้นมีมากมายมหาศาลเหลือเกิน

การจะเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งช่างดูเป็นการใช้เวลาไปอย่างไม่คุ้มค่าเอาเสียเลย

เพราะการที่เราอยากทำได้หลายๆ อย่างพร้อมๆ กันนี่แหละค่ะ ที่ทำให้มีเดียบางประเภทกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง

และหนึ่งในนั้นก็คือ พ็อดคาสต์ (Podcast)

หรือบรรดาหนังสือเสียง (Audio books) ทั้งหลายนั่นเอง

ครั้งหนึ่งเมื่อนานหลายปีมาแล้ว มีเดียประเภทเสียง ไม่ว่าจะเป็นพ็อดคาสต์หรือหนังสือเสียงเคยได้รับความนิยมสูงมาก

แต่พอเวลาผ่านไปเราเริ่มมีความคุ้นเคยกับการเสพคอนเทนต์ผ่านทางการใช้ตาดูมากขึ้น ความนิยมของไฟล์ประเภทเสียงต่างๆ จึงถดถอยลง

เพราะเราตื่นเต้นกับการได้เห็นทั้งภาพและเสียงพร้อมๆ กันมากกว่า

แต่เมื่อไม่นานมานี้หากคุณผู้อ่านสังเกตก็จะเห็นว่าเริ่มมีสำนักข่าวหรือเว็บไซต์ประเภทผลิตคอนเทนต์ออนไลน์จำนวนไม่น้อยที่หยิบเอาไอเดียของการทำรายการเสียงประเภทพ็อดคาสต์มาปัดฝุ่นและโปรโมตใหม่ให้เข้ากับยุคโซเชียลมีเดียมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นสื่อในประเทศหรือต่างประเทศ

อย่างค่ายที่หันมารุกตลาดพ็อดคาสต์จริงจังก็เช่น The Momentum ที่มีคุณเคน นครินทร์ คอลัมนิสต์ที่เขียนอยู่ห่างจากซู่ชิงไปไม่กี่หน้านี่แหละค่ะที่เป็นบรรณาธิการอยู่

ความนิยมในหนังสือเสียงก็เช่นกัน เมื่อไม่กี่ปีมาแล้วนี่เองที่เราสามารถซื้อหนังสืออิเล็กทรอนิกส์มาใส่เอาไว้ในคินเดิลแล้วเปิดฟังก์ชั่นให้มันอ่านออกเสียงให้เราฟัง

ซึ่งเสียงที่ได้ก็จะเป็นเสียงประดิษฐ์แบบเสียงเวลาคอมพิวเตอร์พูด แต่ตอนนี้คินเดิลเครื่องใหม่ของซู่ชิงกลับตัดฟังก์ชั่นนี้ไปแล้ว และปล่อยให้คนที่อยากฟังหนังสือเสียงหันไปซื้อหนังสือประเภทที่มีการใช้มืออาชีพตัวจริงเสียงจริงมาพากย์เสียงได้อย่างน่าฟังแทน

ซึ่งสถิติการซื้อหนังสือเสียงหรือออดิโอ บุ๊ก แบบนี้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

อย่างในปี 2015 มียอดขายหนังสือเสียงสูงถึง 35,574 เล่ม

ซึ่งดูแบบนี้เหมือนจะไม่เยอะ

แต่ถ้าเทียบกับเมื่อห้าปีที่แล้วก็ถือว่าเพิ่มสูงขึ้นมาถึงแปดเท่าเลยทีเดียว

ขยับมาที่สถิติเดือนมกราคมปี 2016 เว็บไซต์อะเมซอนทำยอดขายหนังสือเสียงได้มากถึง 119,000 เล่มต่อวัน!

ผู้เล่นเจ้าใหญ่ๆ ในตลาดหนังสือเสียงรายแรกที่ซู่ชิงคิดชื่อขึ้นมาได้ก็คือ ออดิเบิล (Audible) ซึ่งอะเมซอนก็ซื้อไปเรียบร้อยแล้ว

อันนี้มีบริการสมัครสมาชิกรายเดือนแถมหนังสือให้ฟรีเดือนละหนึ่งเล่ม

เล่มไหนฟังแล้วไม่ชอบใจก็เอาไปขอเปลี่ยนโดยที่ยังเก็บเล่มเก่าไว้ได้ด้วยอีกต่างหาก

ทั้งหมดนี้สมัครกันอยู่ที่ราคาเดือนละ 14.95 ดอลลาร์ หรือประมาณ 530 บาทค่ะ

 

พ็อดคาสต์เองก็กลับมาเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน

ผลการเก็บรวบรวมข้อมูลของ comScore พบว่าร้อยละ 20 ของผู้ใหญ่อายุ 18-49 ปีในสหรัฐได้ฟังพ็อดคาสต์อย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อเดือน

ขณะที่ Edison Research เก็บข้อมูลช่วงกลางปีที่แล้วและพบว่าผู้ใหญ่ชาวอเมริกันกว่าร้อยละ 21 ฟังพ็อดคาสต์ในเดือนก่อนหน้าการเก็บข้อมูล ซึ่งเทียบกับปีที่แล้วถือว่ามากขึ้นร้อยละ 17

สาเหตุที่ทั้งพ็อดคาสต์และหนังสือเสียงกลับมาได้รับความนิยมนั้นก็เป็นเพราะว่าไลฟ์สไตล์อันแสนจะยุ่งวุ่นวายของเราทุกวันนี้นี่แหละค่ะ

เนื่องจากตาทั้งสองข้างของเราต้องทำหน้าที่เก็บข้อมูลอย่างอื่นไปด้วยตลอดเวลา

อย่างเช่น การต้องคอยจ้องหน้าจอสมาร์ตดีไวซ์อยู่เรื่อยๆ ทำให้ตาไม่ว่าง แต่อีกอย่างที่ยังว่างและเก็บข้อมูลได้พอๆ กันก็คือหูค่ะ ดังนั้น การนั่งฟังพ็อดคาสต์หรือหนังสือเสียงก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้เราสามารถ Multitask

หรือทำอะไรอย่างอื่นไปด้วยพร้อมๆ กันได้

สถานที่ที่คนนิยมฟังไฟล์เสียงเหล่านี้มากที่สุดก็คือบนรถยนต์ขณะกำลังขับรถไปไหนสักแห่ง

รายงานจากสำนักข่าวเอเอฟพีระบุเอาไว้ว่าในสหรัฐอมริกาหนังสือเสียงได้รับความนิยมสูงเพราะคนใช้เวลาอยู่บนถนนกันมากมายเหลือเกิน (ของบ้านเค้าน่าจะเป็นเพราะว่าสถานที่แต่ละแห่งอยู่ไกลห่างจากกันพอสมควร คนละเหตุผลกับในกรุงเทพฯ บ้านเราที่แต่ละแห่งอยู่ไม่ไกลมากแต่ใช้เวลาเดินทางนานจนรากงอก)

รถยนต์เป็นสถานที่ที่คนมักจะเริ่มต้นการฟังพ็อดคาสต์จริงจังเป็นครั้งแรก หลังจากนั้นก็จะค่อยๆ แผ่ขยายสถานที่และโอกาสในการฟังให้มากขึ้นเรื่อยๆ อย่างเช่น ฟังตอนออกไปช็อปปิ้ง วิ่งออกกำลังกาย หรือฟังในระหว่างทำงานบ้านหรือทำงานฝีมือ เป็นต้น

ยิ่งเนื้อเรื่องหนังสือเข้มข้น หรือผู้พากย์พากย์ได้เร้าใจสมจริงสมจังมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้ผู้ฟังถูกดูดให้ดำดิ่งเข้าไปในเนื้อเรื่องได้พอๆ กับการอ่านหนังสือที่น่าตื่นเต้นสักเล่มอยู่ในห้องเงียบๆ

หนึ่งในองค์ประกอบที่ทำให้หนังสือเสียงเดี๋ยวนี้น่าฟังมากขึ้นกว่าสมัยก่อนก็คือการที่บรรดา “ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการใช้เสียง” อย่างเช่นเหล่าเซเลบบริตี้ทั้งหลาย หันมาให้ความสนใจในการมาอ่านหนังสือเสียงกันมากขึ้น

ความโดดเด่นของการฟังหนังสือเสียงของเซเลบบริตี้คือนอกจากแอ๊กติ้งของเสียงพวกเขาเหล่านี้จะสมจริงน่าฟังแล้ว ก็ยังทำให้เราพอจะนึกหน้าของคนที่กำลังอ่านให้เราฟังออก

ยิ่งเป็นดาราที่เราชอบอยู่แล้วก็ยิ่งเคลิ้มตามไปได้ง่ายขึ้น

ตัวอย่างของเซเลบที่มาพากย์หนังสือเสียงก็อย่างเช่น แอนน์ แฮธอะเวย์ ในเรื่อง The Wonderful Wizard of Oz นิโคล คิดแมน เรื่อง To The Lighthouse ไดแอน คีตัน เรื่อง Slouching Towards Bethlehem และ จอห์นนี่ เด็พพ์ ในเรื่อง Life เป็นต้น

ในขณะที่มีเซเลบหลายคนที่เขียนหนังสืออัตชีวประวัติและก็ยังเสนอตัวบันทึกเสียงให้กับหนังสือเวอร์ชั่นเสียงของตัวเองด้วย

โดยปกติแล้วยอดขายของหนังสือเสียงจะคิดเป็นร้อยละ 10 ของหนังสือในเวอร์ชั่นที่ตีพิมพ์

แต่สำหรับหนังสือบางประเภทยอดขายของเวอร์ชั่นเสียงก็จะสูงกว่านั้น

อย่างเช่น หนังสือนิยายวิทยาศาสตร์ แฟนตาซี และหนังสือประเภทพัฒนาตัวเองทั้งหลาย ซึ่งฟังดูก็เป็นเหตุเป็นผลดีนะคะ

หนังสือแนวแฟนตาซีเวลามีคนมาอ่านให้ฟังเราจะมีสมาธิในการจินตนาการตามเนื้อเรื่องได้มีประสิทธิภาพมากกว่า

ส่วนหนังสือแนวพัฒนาตัวเอง ซู่ชิงคิดว่าการเสพด้วยการใช้หูฟังมันคงให้ผลลัพธ์คล้ายๆ เวลาเราฟังเทปสะกดจิตหรือการได้คุยกับจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญอะไรแบบนั้น

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคขั้นแรกของการทำออดิโอบุ๊กขายก็คือต้องขายได้อย่างน้อยๆ 1,000 ก๊อบปี้จึงจะเริ่มทำกำไรได้ เพราะหนังสือประเภทนี้ต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง แต่ถ้าอัตราการเติบโตของหนังสือเสียงเพิ่มขึ้นแบบนี้เรื่อยๆ สักวันหนึ่งการจะทำยอดให้ถึงปริมาณการขายขั้นต่ำได้ก็คงไม่ได้ยากอะไร

ประสบการณ์ส่วนตัวของการฟังหนังสือออดิโอหรือพ็อดคาสต์ของซู่ชิงส่วนใหญ่คือเหมาะที่สุดในตอนขับรถค่ะ

เพราะฟังเวลาอื่นทีไรซู่ชิงจะผล็อยหลับไปทุกที

จนพักหลังๆ เริ่มใช้หนังสือเสียงมาช่วยให้นอนหลับแทนได้แล้ว

แต่ก็ยอมรับจริงๆ ว่ามันเป็นอีกรูปแบบความบันเทิงที่น่าสนใจมาก

และซู่ชิงคิดว่าไหนๆ ช่วงเวลาว่างๆ ของวันอย่างในระหว่างการนั่งรถสาธารณะ การเดินไปไหนมาไหน หรือในตอนนั่งจิบกาแฟ การจับหูฟังใส่เข้าไปในรูหูแล้วเปิดพ็อดคาสต์ที่มีประโยชน์ฟังเพื่อเอาความรู้ใส่เข้าไปในหัวให้ได้มากที่สุด

ก็ดูเป็นการใช้เวลาได้อย่างมีประโยชน์ดีนะคะ