แบน “3 สารเคมีกำจัดวัชพืช” จบที่การเมือง 7 ปีแห่งการต่อสู้ “ปลอดสารพิษ”

หลังจากที่ต่อสู้กันมาอย่างยาวนานถึง 7 ปี คณะกรรมการวัตถุอันตรายก็ยินยอมที่จะลงมติ “แบน” สารเคมีกำจัดวัชพืชอันตรายร้ายแรง ได้แก่ พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส เมื่อวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา

โดยคณะกรรมการวัตถุอันตราย (26 คน ขาดประชุม 3 คน) ได้ลงมติแบบเปิดเผย (แต่ไม่แจ้งว่า กรรมการแต่ละท่าน ใครยกมือสนับสนุน ใครยกมือคัดค้าน) ให้ปรับสารเคมีทั้ง 3 ชนิดจากวัตถุอันตรายประเภทที่ 3 ให้เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 กล่าวคือ ห้ามผลิต ห้ามนำเข้า ห้ามส่งออก และมีไว้ในครอบครอง มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562

คณะกรรมการได้ลงมติให้พาราควอตยกเลิกการใช้ภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 จำนวน 20 คน ยกเลิกการใช้ในวันที่ 1 ธันวาคม 2564 1 คน จำกัดการใช้จำนวน 5 คน, ไกลโฟเซต ให้ยกเลิกการใช้จำนวน 19 คน จำกัดการใช้ 7 คน และคลอร์ไพริฟอส ให้ยกเลิกการใช้จำนวน 22 คน จำกัดการใช้จำนวน 4 คน

พร้อมกันนี้ได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตร ดำเนินการให้ 2 เรื่องคือ การยกร่างประกาศกระทรวงว่าด้วยบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายแล้วจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น กับให้ไปพิจารณาระยะเวลาความเหมาะสมในการบริหารจัดการสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ยังคงเหลืออยู่หลังวันที่ 1 ธันวาคม จะดำเนินการอย่างไร โดยให้มีผลกระทบต่อเกษตรกรและร้านจำหน่ายสารเคมีทางการเกษตรให้น้อยที่สุด

อย่างไรก็ตาม การลงมติให้ “แบน” พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส ด้านหนึ่งนับเป็น “ชัยชนะ” ของเครือข่ายภาคประชาสังคมที่ต่อต้านการใช้สารเคมีอันตรายในการทำการเกษตรมาโดยตลอด

 

อีกด้านหนึ่งกลับเป็นความ “พ่ายแพ้” ของกลุ่มเกษตรกรที่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้สารเคมีอันตรายเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นชาวไร่อ้อย-ยางพารา-ข้าวโพด-มันสำปะหลัง-ปาล์มน้ำมัน และไม้ผล รวมไปถึงสมาคมอารักขาพืช และสมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย ในฐานะผู้ประกอบการค้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชและสารเคมีทางการเกษตร

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทั้งกลุ่มผู้สนับสนุนการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชกับกลุ่มผู้ต่อต้านและให้แบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ล้วนแล้วแต่ใช้วิธีการ “ล็อบบี้” และ “เคลื่อนไหวทางการเมือง” มาตั้งแต่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้ออกมติครั้งที่ 5/2555 ในเดือนธันวาคม 2555 ว่าด้วยความปลอดภัยทางอาหารและการแก้ไขปัญหาจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช

โดยพุ่งเป้าไปที่การขอให้กรมวิชาการเกษตร “ทบทวน” การอนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ใช้ในกระบวนการผลิตภาคการเกษตร และกำหนดหลักเกณฑ์ในการ “ยกเลิก” การใช้วัตถุอันตรายที่มีผลกระทบรุนแรงและหลายประเทศห้ามใช้ไปแล้ว (โดยเฉพาะพาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส) ของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ด้วยการปรับให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4

ทว่าการ “ล็อบบี้” และ “กดดัน” กรมวิชาการเกษตรกับคณะกรรมการวัตถุอันตรายตลอด 7 ปีที่ผ่านมากลับ “ไร้ผล” ในทางปฏิบัติ

ทั้งๆ ที่ข้อมูลเชิงประจักษ์ทางวิชาการจากฟากฝั่งกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรฯ เองพบว่า พาราควอตมีทั้งพิษเฉียบพลันถึงตายและพิษเรื้อรัง ตลอดจนส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อม และยังพบการตกค้างในสัตว์น้ำและมนุษย์ (ทารกแรกเกิด)

ซึ่งข้อเท็จจริงเหล่านี้เป็น “ความจริง” ที่ทุกฝ่ายไม่อาจปฏิเสธถึงพิษภัยร้ายแรงที่เกิดขึ้นได้ โดยคณะกรรมการวัตถุอันตรายกลับไม่ยอมให้มีการ “แบน” แต่ใช้วิธี “จำกัด” การใช้ในพืชหลัก 6 ชนิด (อ้อย-ยางพารา-ข้าวโพด-ปาล์ม-มันสำปะหลัง-ไม้ผล) โดยอ้างว่ายังไม่มีสารเคมีการเกษตรที่สามารถ “ทดแทน” พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส ในแง่ของประสิทธิภาพและราคาที่ใกล้เคียงกับสารเคมีตัวเดิมได้

จากมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายครั้งสุดท้าย (27 พฤษภาคม 2562) ที่ว่า “ให้คงมติจำกัดการใช้และให้ติดตามและประเมินผลและกำหนดให้มีการ “ทบทวน” มาตรการจำกัดการใช้ภายใน 2 ปีนับจากวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 แต่หากมีสารทดแทนก็สามารถออกประกาศห้ามใช้โดยไม่ต้องรอถึง 2 ปี”

แปลว่าเจตนารมณ์เดิมของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ตั้งใจที่จะ “ยื้อ” การใช้พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอสต่อไปอีกจนถึงปี 2564 หรือเข้าทางการล็อบบี้ของกลุ่มผู้สนับสนุนการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ออกมาเคลื่อนไหวผ่านมวลชนเกษตรกรอย่างคึกคัก

 

สถานการณ์กลับพลิกผัน เมื่อหัวข้อการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอันตรายร้ายแรงอย่าง “พาราควอต” ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคภูมิใจไทย ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ประกอบกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ กำกับกรมวิชาการเกษตร

กลายเป็นการ “สอดประสาน” กระบวนการ “แบน” พาราควอตทางการเมืองร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคม สามารถ “กดดัน” กรรมการวัตถุอันตรายที่เคยมี “จุดยืน” สนับสนุนการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอันตรายให้ “กลับมติ” จำกัดการใช้เปลี่ยนมาเป็นแบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ทั้งๆ ที่ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของสารเคมีการเกษตรตัวใหม่ที่จะนำมา “ทดแทน” พาราควอต-ไกลโฟเสต-คลอร์ไพริฟอส ทั้งในแง่ของประสิทธิภาพในการใช้ฆ่าวัชพืชและราคาที่จะจำหน่ายให้กับเกษตรกร

ที่สำคัญที่สุดก็คือ สารเคมีกำจัดวัชพืชตัวใหม่ที่กรมวิชาการเกษตร “แย้ม” ออกมาไม่ต่ำกว่า 16 ตัว และ “อุบ” ไว้ไม่ยอมให้มีการแถลงข่าวในการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายนั้น เป็นที่ “สงสัย” ว่า ได้ผ่านการรับรองความปลอดภัยทั้งในแง่ผู้ใช้และผู้บริโภคจากกระทรวงสาธารณสุข หรือไม่อย่างไร

 

ความคลุมเครือของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ในการกลับมติจึงกลายเป็น “จุดอ่อน” ให้กับกลุ่มผู้สนับสนุนการใช้พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส ดำเนินการฟ้องศาลปกครอง ขอรับการคุ้มครองชั่วคราว

และขอให้ศาลสั่งให้มีการยกเลิกมติสาธารณสุขที่ให้แบนสารเคมีก่อนที่จะถึงเส้นตายการห้ามใช้ ห้ามจำหน่าย ห้ามมีไว้ในครอบครอง ในอีก 1 เดือนข้างหน้า (1 ธันวาคม 2562)

เท่ากับสงครามการ “แบน” พาราควอตในครั้งนี้ยังทวงสิทธิไม่จบที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย แต่จะไปจบที่ศาลปกครอง เมื่อเกษตรกรผู้นิยมใช้สารกำจัดวัชพืชร้ายแรงออกมา “ทวงสิทธิ” ของเกษตรกร

เฉกเช่นเดียวกับที่ผู้บริโภคออกมาใช้ “สิทธิของประชาชน” ในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพจากการบริโภคอาหารที่ปลอดภัยนั้นเอง