จรัญ พงษ์จีน : ลงนามสัญญา รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน โปรดติดตามตอนต่อไป….

จรัญ พงษ์จีน

ว่าด้วย “ไฮสปีดเทรนตอนที่ 3”

…จริงดังว่า ปัญหามีไว้แก้ ในที่สุด “โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา” คู่สัญญาระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กับกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ในนาม “CPH” ที่ทำท่าจะเกิดประเด็นดราม่า มีรายการเหยียบตาปลา จนไม่สามารถลงนามในสัญญากันได้

จึงต้องขยับขยายโปรแกรมลงนามจากวันที่ 15 ตุลาคม เป็น 25 ตุลาคม 2562 แต่ล่าสุด โมเมนตัมม่วนชื่น จบลงแบบแฮปปี้เอ็นดิ้ง มีการนัดจรดปากกากันเป็นที่เรียบร้อย เร็วกว่ากำหนดที่วางไว้ซะอีก โดย “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โต้โผใหญ่ออกมายืนยันแล้วเมื่อวันวานว่า

จะมีการลงนามในสัญญาก่อสร้างระหว่างกัน ในวันที่ 24 ตุลาคม ซึ่งทาง “ซีพีเอช” แจ้งว่ามีความพร้อมแล้ว ที่เลื่อนลงนามเร็วกว่าเดิมหนึ่งวัน เพราะซีพีเอชบอกว่าเป็นวันมงคล ฤกษ์งามยามดี โดยพิธีลงนามถูกกำหนดขึ้นที่ห้องสีฟ้า อาคารภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล เวลา 13.30 น.

ผู้ลงนามระหว่าง “นายศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานคณะผู้บริหารบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ฝ่ายหนึ่ง กับ “นายวรวุฒิ มาลา” รักษาการผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. อีกฝ่ายหนึ่ง

นักสังเกตการณ์วิเคราะห์ว่าสาเหตุที่ทำให้ “กลุ่มซีพีเอช” กลับลำ 360 องศา ศิโรราบ ยอมลงนามในสัญญาก่อสร้างไฮสปีดเทรนแบบไม่ลังเลอะไรเลย แถมยังเลื่อนโปรแกรมลงนามในสัญญาก่อนถึงเส้นตาย 1 วัน เพราะได้ออปชั่นสำคัญ นั้นก็คือในพิธีดังกล่าวนั่นน่ะ

ทาง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เบอร์หนึ่งตึกไทยคู่ฟ้า ยอมรับเงื่อนไขตามที่คู่สัญญาฝั่งซีพีเอชพึงประสงค์ นั่นก็คือ “บิ๊กตู่” ต้องนั่งแท่นเป็นประธานในพิธีลงนาม

ฟังอีกครั้งว่า “ต้อง พล.อ.ประยุทธ์คนเดียวเท่านั้น” เพื่อเป็นหลักประกัน ป้องกันความเสี่ยง เกี่ยวกับการส่งมอบพื้นที่

โดยพื้นที่ส่งมอบที่ ร.ฟ.ท. หรือ “การรถไฟไทยแห่งประเทศไทย” ไม่ใช่ “รถไฟไอ้เท่ง” รับผิดชอบในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ให้กับ “ซีพีเอช” รวมทั้งสิ้น 4,421 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ก่อสร้าง 3,151 ไร่ และพื้นที่เวนคืน 850 ไร่

การส่งมอบตามเอกสารแนบท้ายร่างสัญญา ที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เห็นชอบให้ส่งมอบแบ่งเป็น 3 คาบช่วง คือ

1. ช่วงสถานีพญาไท-สุวรรณภูมิ รวมระยะทาง 28 กิโลเมตร สามารถส่งมอบได้ทันทีหลังลงนาม

2. ช่วงสถานีสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ระยะทาง 170 กิโลเมตร กำหนดส่งมอบพื้นที่ภายใน 1 ปี 3 เดือนหลังลงนามในสัญญา

และ 3. ช่วงสถานีพญาไท-ดอนเมือง ระยะทาง 22 กิโลเมตร จะส่งมอบพื้นที่ได้ภายใน 2 ปี 3 เดือนหลังลงนามในสัญญา

ทาง ร.ฟ.ท.รับประกันด้วยความชัวร์ว่า พื้นที่ส่งมอบทั้งหมดมีความพร้อมส่งมอบทั้งหมด 3 พันกว่าไร่ ดีดลูกคิดออกมาเป็นร้อยละ 88 ที่เหลือมีอุปสรรคต้องให้เคลียร์ แต่ที่ลำบากมากคือ กรณีของผู้บุกรุกกว่า 200 ไร่ ราว 520 ราย กับพื้นที่เช่า 80 สัญญา

และจุดที่หนักอกที่สุด คือพื้นที่สาธารณูปโภคสำคัญๆ ช่วงระหว่างมักกะสัน-สนามบินดอนเมือง ต้องรื้อถอน ขนย้าย ทั้งเสาไฟฟ้าแรงสูง ระบบบำบัดน้ำเสียใต้คลองบางซื่อ ท่อน้ำมัน-ท่อก๊าซ บริเวณคลอง ถนนพระราม 6 ท่อน้ำมันท่อส่งปิโตรเลียมไทย ท่อก๊าซ ปตท.-หน้าวัดเสมียนนารี-ท่อระบายน้ำบริเวณสามเสน และรางรถไฟสายตะวันออก ซึ่งเป็นช่วงส่งมอบพื้นที่ล็อตที่ 3 ใช้เวลา 3 ปี

 

ปัญหาทั้งหมดเป็นความรับผิดชอบของบอร์ดการรถไฟฯ ชุดใหม่ ที่เพิ่งแต่งตั้งแทนชุดเก่าเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

มีข่าวคลุกวงในระบุว่า หัสเดิมทางรัฐบาลหรือกระทรวงคมนาคมมีความพยายามที่จะเร่งรัดให้มีพิธีลงนามในสัญญาก่อนวันที่ 15 ตุลาคม ให้เสร็จสรรพภายใต้ร่มเงาของบอร์ด ร.ฟ.ท.ชุดที่แล้ว

แต่บอร์ดชุดเก่า มากด้วยความระมัดระวัง กลัวว่าจะมีปัญหาตามมาหลังพ้นตำแหน่ง เพราะมีความเสี่ยงหลายจุด ช่วงท้ายปลายเหตุ “บอร์ด” ป้องกันความเสี่ยงให้กับตัวเอง จึงชงคำถามที่มีความคลุมเครือ ไม่กระจ่างชัดไป 5 ประเด็นใหญ่

แต่ผู้เกี่ยวข้องระดับสูง ไขข้อข้องใจมาให้เพียง 2 ข้อ ซึ่งส่วนใหญ่ข้อเคลือบแคลงสงสัยอยู่ในพื้นที่ส่งมอบช่วงที่ 3 จากมักกะสัน-สนามบินดอนเมือง ที่บางจุดแก้ไขยาก ต้องขุดอุโมงค์ เป็น “คลองบก”

ด้วยประการดังกล่าว เมื่อเนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง เห็นท่าว่าจะไม่ดีแน่ ทาง “บอร์ด ร.ฟ.ท.ชุดเก่า” เลยไขก๊อกกันทั้งคณะ เหมือนยกภูเขาออกจากอก

ตามสัญญาโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน กำหนดกรอบไว้ว่า จะต้องก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในเวลา 5 ปี ระยะทางรวม 220 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุนกว่า 2.24 แสนล้านบาท โดยกำหนดเปิดให้บริการในปี 2567

ตามเงื่อนไขสัญญาโครงการนี้ ใช้รูปแบบการร่วมทุน รัฐบาลจะเข้าร่วมวงไพบูลย์ช่วง 6 ไปแล้ว ต่อเนื่องถึง 10 ปี โดยจะแบ่งจ่ายเป็นเงินอุดหนุน 1.5 แสนล้านบาทตามที่กลุ่มซีพีเอชเสนอ พร้อมดอกเบี้ย ตกปีละ 1.5 หมื่นล้านบาท

เท่ากับว่าคาบช่วง 5 ปีแรกแห่งการก่อสร้างทางเอกชน หรือซีพีเอชต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด

มีการประเมินกันว่า โครงการไฮสปีดเทรน เอกชน ผู้ร่วมลงทุนมีความเสี่ยงมากที่สุดหลายจุด โอกาสจะเข้ารกเข้าพงได้ในอนาคต

“ซีพีเอช” ไม่ได้กินแกลบ รู้แจ้งแทงทะลุเพดานได้ทุกจุด ก็เลยแสดงอาการยึกยัก ไม่ยอมลงนามในสัญญาในเบื้องต้น

จน “เสี่ยหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้กำกับดูแลกระทรวงคมนาคม ถึงกับทุบโต๊ะ ขู่จะขึ้น “บัญชีดำ” และริบเงินประกันซอง 2 พันกว่าล้านบาท

และยกประโยชน์โครงการรถไฟเชื่อม 3 สถานี ให้กับผู้ประมูลในลำดับที่ 2

“ซีพีเอช” เลยยอมยกธงขาว

แต่ยี่ห้อ “เจ้าสัว” ก็ไว้ลายได้สมราคา เมื่อสามารถจับ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นตัวประกันมานั่งเป็นประธานในพิธีลงนามได้สำเร็จ

“เสี่ยง” แต่ “คุ้ม” ละงานนี้