ต่างประเทศอินโดจีน : ชุมชนเมืองของเวียดนาม

เวียดนามกำลังอยู่ในช่วงระหว่างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว โครงสร้างพื้นฐานหลายอย่างหลายประการถูกเร่งรัด บีบคั้นให้ก้าวไปข้างหน้า อย่างน้อยที่สุดก็ให้ทันท่วงทีกับการรองรับจังหวะก้าวทางเศรษฐกิจที่รุดหน้าไปอย่างไม่หยุดหย่อน

นั่นหมายความว่า รัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบในการพัฒนาเมืองกำลังถูกเร่งเร้าให้ขยายตัวเมืองออกไปโดยมีเวลาสำหรับคิด วางแผน กำหนดระเบียบน้อยที่สุด หรือไม่ก็ไม่มีเอาเลย

ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนที่สุดในกรณีของเวียดนามคือการพัฒนาแบบก้าวกระโดดของเมืองใหญ่อย่าง “ฮานอย” เมืองหลวง ศูนย์กลางการปกครองทางตอนเหนือ และ “โฮจิมินห์ซิตี้” ชุมทางธุรกิจ การเงิน ทางตอนใต้ของประเทศ

เมืองใหญ่อีกหลายเมืองของเวียดนามก็กำลังพัฒนาไปในแนวทางที่ไร้แผน ไร้นโยบายกำกับในทำนองเดียวกันนี้

อาคารตึกสำนักงานสูงเสียดฟ้า อพาร์ตเมนต์ราคานับล้านดอลลาร์ ผุดสะพรั่ง ตอบสนองความต้องการที่มีมากขึ้นควบคู่ไปกับกำลังซื้อที่มากขึ้น

ปัญหาก็คือ แม้แต่บนถนนสายเดียวกันนั้น ยังคงมีบ้านหลังเล็ก มุงหลังคาและบุฝาด้วยสังกะสีแซมอยู่ให้เห็นกระจะแก่ตา

เป็นภาพขัดแย้งที่เยาะเย้ยถากถางไปพลาง ตั้งคำถามไปพลางต่อผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนา และผู้รับผิดชอบในการวางผังเมืองทั้งหลาย

สะเทือนไปถึงใครก็ตามที่ดูแลความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคม

 

ที่น่าสนใจสำหรับเวียดนามในยามนี้ก็คือ ภาวะต่ำสุดโต่งกับสูงสุดขีดดังกล่าวนี้ เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของปัญหาเท่านั้น

อีกปัญหาที่ใหญ่โตไม่แพ้กันกับปัญหาของคนกลุ่มใหญ่ที่อยู่ตรงกลางระหว่างจุดสูงสุดและต่ำสุดดังกล่าวนั้น นั่นคือชนชั้นกลาง และชนชั้นใช้แรงงาน ที่เติบใหญ่ขยายตัวอย่างรวดเร็วควบคู่ไปกับความต้องการเพื่อรองรับพัฒนาการทางเศรษฐกิจ

คนเหล่านี้ถีบตัวเองขึ้นมาจากระดับล่างสุดของสังคม หลุดพ้นจากความยากจนและพ้นจากภาวะว่างงานได้สำเร็จ มีรายได้ในระดับหนึ่ง และมีรายจ่ายในระดับหนึ่ง ตอบแทนกับความสำเร็จในการไต่บันไดทางสังคม

ถึงจุดหนึ่ง คนเหล่านี้ต้องการบ้านที่อยู่อาศัย ต้องการสร้างครอบครัว แสวงหาความมั่นคงให้กับชีวิตของตัวเองและคนใกล้ชิดรอบข้าง

ยิ่งชนชั้นกลางขยายตัวมากขึ้น ความต้องการบ้านที่อยู่อาศัยยิ่งเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ

ความเสี่ยงก็คือ ปัญหาจะเกิดขึ้นตามมาหากความต้องการดังกล่าวไม่ได้รับการตอบสนอง

ปัญหาที่เกิดขึ้นในเวียดนาม เป็นรูปแบบของปัญหาที่อยู่อาศัยในชุมชนเมืองแบบคลาสสิค ที่เคยเกิดขึ้นให้เห็นกันมาแล้วในประเทศอย่างบราซิล หรือไอร์แลนด์

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ไม่ใช่ว่าจะไม่มีที่อยู่อาศัยให้ซื้อหา ปัญหาอยู่ที่ที่อยู่อาศัยเหล่านั้นมีอยู่ แต่ “ไม่สามารถซื้อหา” ได้ ด้วยกำลังซื้อของชนชั้นกลางและชนชั้นแรงงาน

 

โจนส์ แลง ลาซาลล์ อิงค์. บริษัทให้บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ในเวียดนาม ให้ข้อมูลจากการสำรวจที่แสดงให้เห็นว่า ที่อยู่อาศัยเท่าที่มีอยู่ให้เลือกซื้อหาในนครโฮจิมินห์ซิตี้ ล้วนแต่เป็นที่อยู่อาศัยในระดับลักชัวรี่, ระดับพรีเมียม และระดับราคาปานกลาง ซึ่งทั้งหมดล้วน “เกินกำลัง” ในการซื้อหามาเป็นเจ้าของสำหรับชนชั้นกลาง “ส่วนใหญ่” แม้จะไม่ทั้งหมดก็ตามที

นอกจากนั้น สภาพสังคมเมืองค่อยๆ กัดกร่อนขนบดั้งเดิมของเวียดนามลงทีละเล็กทีละน้อย

วัฒนธรรมดั้งเดิมของเวียดนาม การสร้างบ้านก็คือส่วนหนึ่งของการสร้างครอบครัว เริ่มต้นจากศูนย์เสมอ

“บ้าน” ของชาวเวียดนาม เริ่มจากที่ดินเปล่าๆ ที่ซื้อหามา หลังจากนั้นก็เริ่มก่อร่างสร้างที่อยู่อาศัยตามใจชอบ ตามความต้องการและกำลังแรงกำลังทรัพย์ของตัวเองและครอบครัว

ธรรมเนียมที่ไม่มีให้เห็นแล้ววันนี้ที่โฮจิมินห์ซิตี้!