ต่างประเทศ : สกุลเงินดิจิตอล “ลิบรา” กับเส้นทางที่มีแต่อุปสรรค

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก ประกาศเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาถึงแผนการเปิดตัวสกุลเงินดิจิตอลที่มีชื่อว่า “ลิบรา” หวังจะให้เป็นสกุลเงินดิจิตอลทางเลือกใหม่ เป็น “สเตเบิลคอยน์” ที่มีความมั่นคง ปลอดภัย และใช้ง่ายกว่าสกุลเงินดิจิตอลที่ไม่ได้มีการกำกับดูแลอื่นๆ ในตลาด

เวลานั้นเฟซบุ๊กประกาศแผนการก่อตั้ง “สมาพันธ์ลิบรา” องค์กรไม่แสวงผลกำไร ประกอบไปด้วยบริษัทยักษ์ใหญ่เข้าร่วมเป็นสมาชิกจำนวน 28 บริษัท ไม่ว่าจะเป็นมาสเตอร์การ์ด, วีซ่า, สปอติฟาย, เพย์พาล, อีเบย์, อูเบอร์, โวดาโฟน รวมไปถึงองค์กรไม่แสวงผลกำไรอย่างวีเมนส์เวิลด์แบงกิ้ง โดยตั้งเป้าจะรวบรวมสมาชิกให้ได้ถึง 100 บริษัทในวันเปิดใช้จริงในปี 2020

เวลานั้น “ลิบรา” ถูกมองเป็น “ความหวังใหม่” แห่งวงการสกุลเงินดิจิตอล มองไปถึงความทะเยอทะยานของเฟซบุ๊กในการสร้างภูมิศาสตร์ทางการเงินระดับโลกขึ้นใหม่ ด้วยจำนวนผู้ใช้งานเฟซบุ๊กทั่วโลก จำนวนมากกว่า 2 พันล้านคน

 

ทว่าเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังการประกาศแผนสกุลเงินใหม่ดังกล่าว สภาคองเกรสสหรัฐก็ออกมาเบรกเฟซบุ๊กให้ชะลอแผนดังกล่าวลงเป็นการชั่วคราว โดยประธานคณะกรรมาธิการด้านการเงินของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐได้ออกมาแสดงความกังวลต่อปัญหาของเฟซบุ๊กที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ อย่างการจัดการข้อมูลผู้ใช้งานที่รั่วไหลออกไปอย่างไม่เหมาะสม

หลังจากนั้น ลิบรายังเผชิญกับการแสดงความกังวลจากหลายๆ ชาติ ไม่ว่าจะเป็น “มาร์ก คาร์นีย์” ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ ที่แม้จะเห็นด้วยว่าสกุลเงินลิบรานั้นจะช่วยลดต้นทุน และมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ก็จำเป็นต้องมีการกำกับดูแล เพื่อป้องกันความเสี่ยงเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวของข้อมูล รวมถึงการฟอกเงิน เป็นต้น

ด้าน “นายบรูโน่ เลอ แมร์” รัฐมนตรีคลังฝรั่งเศส ก็แสดงความกังวลเกี่ยวกับสกุลเงินใหม่ของเฟซบุ๊กเช่นกัน ถึงกับประกาศว่าจะไม่เปิดทางให้มีการพัฒนาลิบราในเขตแดนยุโรปเลยทีเดียว

“ลิบราเป็นตัวแทนของความเสี่ยงเชิงระบบตั้งแต่คุณมีผู้ใช้งาน 2 พันล้านคนแล้ว การเกิดความผิดพลาดในการทำงานของสกุลเงินนี้ หรือความผิดพลาดในการจัดการเงินทุนสำรอง อาจส่งผลให้เกิดความวุ่นวายทางการเงินครั้งใหญ่ขึ้นได้” นายเลอ แมร์ ระบุ

ยังไม่หยุดแค่นั้น บริษัทยักษ์ใหญ่ที่เคยแสดงท่าทีจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาพันธ์ลิบรา ต่างค่อยๆ ถอนตัวกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นมาสเตอร์การ์ด, วีซ่า, อีเบย์, สไตรป์, เพย์พาล, เมอร์คาโด ปาโก รวมถึงบริษัทบริการจองโรงแรม อย่างบุ๊กกิ้ง โฮลดิ้งเองก็ถอนตัวในนาทีสุดท้าย

 

ล่าสุด ลิบราเจอกับอุปสรรคอีกระลอกเมื่อกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก 7 ประเทศ หรือจี 7 ออกรายงานเกี่ยวกับสกุลเงินใหม่ของเฟซบุ๊ก ยืนยันชัดเจนว่า ลิบราจะต้องชะลอการเปิดตัวไปก่อน จนกว่าจะสามารถพิสูจน์ได้ว่ามีความมั่นคงปลอดภัย

รายงานของจี 7 จัดทำโดยคณะทำงานที่เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากธนาคารกลาง, กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) รวมถึงคณะกรรมการดูแลเสถียรภาพทางการเงิน (เอฟเอสบี) หน่วยงานที่กำกับดูแลความร่วมมือของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้ากับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ หรือจี 20 เตือนว่า ลิบรานั้นส่งผลให้เกิดความเสี่ยงกับระบบการเงินโลก

แม้รายงานจะไม่เอ่ยชื่อ “ลิบรา” มาตรงๆ แต่พูดถึง “สเตเบิลคอยน์” ที่มีความสามารถในการเพิ่มมูลค่าอย่างรวดเร็วจะส่งผลให้เกิดปัญหาได้มากมาย

รายงานระบุว่า แม้ลิบราจะถูกออกแบบมาโดยป้องกันการเกิดสถานการณ์ไร้เสถียรภาพแล้ว แต่อาจเกิดปัญหาขึ้นได้กับผู้ออกนโยบายในการกำหนดอัตราดอกเบี้ย

นอกจากนี้ ยังเตือนว่า ลิบราจะปิดทางเติบโตของคู่แข่ง รวมไปถึงเป็นภัยคุกคามกับเสถียรภาพทางการเงิน หากผู้ใช้ “สูญเสียความเชื่อมั่น” ในสกุลเงินอย่างทันทีทันใด

พร้อมกับระบุว่า “จี 7 เชื่อว่ายังไม่ควรมีโครงการสเตเบิลคอยน์ใดๆ ที่จะเริ่มดำเนินการได้ จนกว่าจะมีการวางกรอบกฎหมาย กำกับดูแล และแก้ปัญหาความท้าทายและความเสี่ยงต่างๆ อย่างเหมาะสมก่อน”

 

แรนดัล ควอร์เลส ประธานเอฟเอสบี ระบุในจดหมายถึงรัฐมนตรีคลังกลุ่มประเทศจี 20 เตือนให้แก้ปัญหาข้อห่วงกังวลนี้โดยให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก ขณะที่เอฟเอสบีเอง ในเวลานี้กำลังทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกหาช่องว่างในระบบกำกับดูแล และจะมีการเผยแพร่รายงานในปีหน้า

แม้จะมีหลายฝ่ายออกมาแสดงความห่วงกังวล แต่เฟซบุ๊กก็ยังคงเดินหน้าโปรเจ็กต์ยักษ์ใหญ่นี้ต่อไป ล่าสุดประกาศบริษัทร่วมก่อตั้งอย่างเป็นทางการ 21 บริษัท ที่ร่วมลงนามใน “กฎบัตรลิบรา” ในการประชุมครั้งแรกที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยโฆษกสมาพันธ์ลิบรา ยังคงแสดงความมั่นใจว่าลิบรายังคงอยู่ในเส้นทางเปิดตัวตามแผนในปี 2020 นี้

พร้อมทั้งเปิดเผยว่า มีองค์กรจำนวนมากถึง 1,500 แห่งที่แสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมสมาพันธ์ลิบรา แม้ว่าจะมีอุปสรรคมากมายในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาก็ตาม ส่วนสมาพันธ์ลิบรายังคงเดินหน้าตั้งคณะกรรมการจาก 5 บริษัทสมาชิก และเตรียมสรรหาประธานเจ้าหน้าที่บริหารต่อไปในเร็วๆ นี้

ขณะที่มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ก็จะเข้าชี้แจงกับคณะกรรมาธิการสภาคองเกรสสหรัฐในวันที่ 23 ตุลาคมนี้ เพื่อให้ความชัดเจนและตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับลิบราด้วย

ลิบราจะมีอนาคตเป็นอย่างไร ท่ามกลางอุปสรรคและข้อกังวลที่ผุดขึ้นมามากขึ้นเรื่อยๆ จะสามารถเปิดตัวตามกำหนดได้หรือไม่ และจะเป็นนวัตกรรมที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมการทำธุรกรรมของคนทั่วโลกได้หรือไม่

คงต้องติดตามกันต่อไป