รายงานพิเศษ / ส่องอนาคต ‘บิ๊กแดง’ ส่องมุมมองการเมือง หลังขึ้นชั้น ‘ว่าที่นายกฯ’ ทายาท ‘บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม’ กับคนพิเศษ และมิชชั่นพิเศษ

รายงานพิเศษ

 

ส่องอนาคต ‘บิ๊กแดง’

ส่องมุมมองการเมือง

หลังขึ้นชั้น ‘ว่าที่นายกฯ’

ทายาท ‘บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม’

กับคนพิเศษ และมิชชั่นพิเศษ

แม้ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ บิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ที่จะเกษียณกันยายน 2563 นี้ จะไม่อาจเป็นนายกรัฐมนตรี หรือร่วมคณะรัฐมนตรีได้ เพราะการเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จะต้องเว้นวรรคทางการเมือง 2 ปีเสียก่อนก็ตาม

แต่ พล.อ.อภิรัชต์ก็ยังคงถูกจับตามอง “อนาคต” และยังคงถูกมองว่า อาจจะเป็นนายกรัฐมนตรีในอนาคต

แม้ พล.อ.อภิรัชต์จะประกาศว่า “ผมไม่เล่นการเมือง” และ “ผมไม่เล่นกับนักการเมือง” ก็ตาม

แต่บิ๊กทหารหลายคนในอดีตก็พูดแบบนี้มาทั้งนั้น แม้แต่บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เคยยืนยันหนักแน่นตอนเป็นหัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรีใน 3 ปีแรก

แต่ในที่สุด ก็มีการตั้งพรรคพลังประชารัฐ และส่งนายทหารที่ใกล้ชิดและเพื่อนร่วมรุ่น ตท.12 เข้าไปช่วยงาน โดยมีบิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่ เป็นผู้จัดการ สู้ศึกเลือกตั้งจนชนะ ด้วยรัฐธรรมนูญที่ถูกออกแบบมาโดยเฉพาะ

จนมาถึงวันนี้ ที่ พล.อ.ประวิตรเป็นสมาชิกพรรคและประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พลังประชารัฐ มาดูแลพรรคพลังประชารัฐด้วยตนเอง

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม

แต่ พล.อ.ประยุทธ์จะไม่ใช้คำว่า “เล่นการเมือง” แต่ใช้คำว่า “ทำงานการเมือง”

พล.อ.อภิรัชต์ก็กำลังถูกจับจ้องเช่นกัน…

 

เขากำลังก้าวสู่ทางสองแพร่งในชีวิต ในอีก 11 เดือนข้างหน้า เมื่อเกษียณราชการ แม้ในทางปฏิบัติเชื่อว่าเขาจะไม่ได้เกษียณราชการก็ตาม

โดยเชื่อกันว่า เขาอาจมีตำแหน่งสำคัญรองรับ ในฐานะนายทหารรักษาพระองค์ และเป็นนายทหารพิเศษ ประจำกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ทม.รอ.)

อีกทั้งยังเป็น ผบ.หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 (ผบ.ฉก.ทม.รอ.904) ที่คุมกำลัง “ทหารคอแดง” ในส่วนที่เป็นของกองทัพบกทั้งหมดที่ไปถวายงาน

อาจเรียกได้ว่าเป็น ผบ.ทบ.ที่เป็น “คนพิเศษ” ที่ทำหน้าที่เป็น ผบ.ทบ.ซ้อน ผบ.ทบ.อยู่ด้วย

และต้องไม่ลืมว่า พล.อ.อภิรัชต์เป็นบอร์ดคณะกรรมการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อีกด้วย

ด้วยความที่เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย และถึงขั้นที่ได้เป็นผู้บังคับแถวแซงเสด็จในกระบวนต่างๆ ที่ได้ใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ทำให้ถูกคาดเดาอนาคตได้ไม่ยากนัก

แต่ก็ไม่มีใครหยั่งรู้ชะตาฟ้าดิน ว่าในอนาคต ในสถานการณ์หนึ่ง พล.อ.อภิรัชต์ต้องเข้าสู่สนามการเมืองหรือไม่ ไม่ว่าจะมาเป็น รมว.กลาโหม หรือแม้แต่จะกลายเป็นนายกรัฐมนตรีในที่สุด

 

หากเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยที่ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ที่รวมถึงบิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ในนาม 3 ป. ลงสู่สนามการเมือง ด้วยการตั้งพรรคพลังประชารัฐ และเข้ามาอยู่ในรัฐบาล

หากเป้าหมายของ พล.อ.ประยุทธ์ คือต้องเป็นรัฐบาลคุมอำนาจรัฐให้ได้ยาวนานอย่างน้อย 2 สมัย คือ 4 ปีจากนี้ และอีก 4 ปีในสมัยหน้า

รวมอยู่ยาว 8 ปี อย่างที่หมอดูเคยทำนายทายทักว่า พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นประดุจป๋าเปรม ที่เป็นนายกฯ นาน 8 ปี แต่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ในยุค คสช.มาก่อนแล้ว 5 ปี รวมจะเป็นนายกฯ นานต่อเนื่องถึง 13 ปี

แต่ทว่ากำลังมีข้อถกเถียงกันว่า ตามกฎหมายแล้ว พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกฯ ได้แค่อีก 6 ปีเท่านั้น จริงหรือไม่

แต่เพื่อความไม่ประมาท พล.อ.ประยุทธ์อาจจะต้องมองหา “ทายาท” เพื่อมาคุมอำนาจรัฐต่อไปในอนาคตแทน

เพราะในเวลา 6-8 ปีข้างหน้านั้น พล.อ.ประยุทธ์ก็จะมีอายุกว่า 70 ปีแล้ว แม้จะยังไม่แก่มากนัก และ พล.อ.ประยุทธ์ก็พร้อมนั่งต่อไป แต่ในอีกทางหนึ่ง ก็อาจจะวางมือทางการเมืองได้ หากเห็นว่ามีทายาทที่ไว้วางใจได้อย่าง พล.อ.อภิรัชต์ ที่ถือว่าเป็นน้องรักมายาวนาน

นี่จึงอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ พล.อ.ประวิตรรับลูกกระแส “นายกฯ คนต่อไป คือ ผบ.ทบ.” ของนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.พรรคเพื่อไทย ด้วยการบอกว่า “ถ้าเป็นได้ก็ดี”

แม้ในที่สุดจะระบุว่า เป็นการพูดเล่นๆ ก็ตาม

 

แต่เชื่อได้ว่า เมื่อมีชื่อ พล.อ.อภิรัชต์ถูกจับตามองว่าจะเป็นนายกฯ ในอนาคตนั้น จะเห็นได้ว่า ไม่มีใครติติงเรื่องความไม่เหมาะสม หรือคุณสมบัติ อาจด้วยเพราะเป็นทหาร และเป็นถึง ผบ.ทบ. แต่แค่ว่าจะต้องมาตามระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น ไม่ใช่การปฏิวัติรัฐประหาร เข้ามาแบบ “พี่ตู่”

เสียงเชียร์ของ พล.อ.ประวิตร จึงอาจเป็นความรู้สึกที่เห็นว่า พล.อ.อภิรัชต์เป็นนายกฯ ได้ ตามประสาที่เป็นพี่ใหญ่ และตอนนี้เข้ามาคุมพรรคพลังประชารัฐ และอาจกำลังเป็นแมวมองทางการเมือง

แต่สำหรับ พล.อ.อภิรัชต์แล้วนั้น ยังคงยืนยันที่จะไม่เล่นการเมือง ยิ่งหากจะต้องมาเป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ มาสังกัดพรรคการเมืองเช่นพรรคพลังประชารัฐด้วยแล้ว ยิ่งไม่ใช่แนวทาง

แต่อาจจะเป็นนายกฯ คนนอก นายกฯ รับเชิญในอนาคตก็เป็นได้ เพราะวันนี้เมื่อพูดถึงแคนดิเดตนายกฯ แล้ว ก็มีชื่อ พล.อ.อภิรัชต์ขึ้นชั้นอยู่ในลิสต์ด้วยไปแล้ว

ก่อนหน้านี้ เคยมีการจับตามองว่า หลังเกษียณในปลายปีหน้า พล.อ.อภิรัชต์จะรับตำแหน่ง รมว.กลาโหม แทน พล.อ.ประยุทธ์ แต่ตามรัฐธรรมนูญ พล.อ.อภิรัชต์เป็น ส.ว. จะต้องเว้นวรรค 2 ปี

แต่หลังจากนั้น 2 ปี คือในปลายปี 2565 อะไรก็เกิดขึ้นได้ ทั้งการมาร่วม ครม.ของ พล.อ.ประยุทธ์ หรือการเป็นตัวเลือกนายกรัฐมนตรีคนนอก หรือแม้แต่การเข้าร่วมงานทางการเมืองกับ พล.อ.ประยุทธ์

นั่นคืออนาคตที่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์

 

แต่โอกาสความเป็นไปได้สูงสุดคือ เมื่อเกษียณแล้ว พล.อ.อภิรัชต์ก็จะทำหน้าที่ในการถวายงานต่อไปในตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง

กระนั้น กระแส “บิ๊กแดงว่าที่นายกฯ” ที่เกิดขึ้น กำลังถูกฝ่ายตรงข้ามมองว่าเป็นการโยนหินถามทาง

ทั้งๆ ที่ ส.ส.เพื่อไทยเป็นคนพูดดักคอเองไว้ก่อนว่า “นายกฯ คนต่อไปคือ ผบ.ทบ.” รวมถึงการอภิปรายงบประมาณในสภา เหน็บแนม พล.อ.ประยุทธ์ ว่าจัดงบประมาณแบบเกรงใจบิ๊กแดง

ก่อนที่นักข่าวจะนำมาถาม พล.อ.ประวิตร ที่ก็รับลูกว่า “ถ้าเป็นได้ก็ดี”

แต่สำหรับ พล.อ.อภิรัชต์แล้วมองว่ากระแสที่เกิดขึ้น เป็นเพราะนักข่าวไปป้อนคำถาม พล.อ.ประวิตรเท่านั้น เพราะฉะนั้น อย่าไปซีเรียส

สำหรับสังคมไทยแล้ว ดูจะกลายเป็นความเคยชินที่ ผบ.ทบ.จะมาเป็นนายกฯ นั่นหมายถึงการรัฐประหาร

จนมีการวิจารณ์เชิงเหน็บแนมว่า โรงเรียนนายร้อย จปร. ไม่ใช่แหล่งผลิตนายทหารหรือผู้นำทหารเท่านั้น แต่กลายเป็นแหล่งผลิตนายกรัฐมนตรีไปแล้วหรือไร

แต่ในอีกนัยหนึ่งก็เหมือนกับว่า ระบบกองทัพได้คัดมาแล้ว จนได้ขึ้นมาเป็น ผบ.ทบ. ก็ถือว่าไม่ธรรมดา

 

แม้ พล.อ.อภิรัชต์จะปฏิเสธข่าวการจะมาเป็นนายกฯ ในอนาคตและไม่เล่นการเมืองก็ตาม แต่ความหวาดหวั่นว่า พล.อ.อภิรัชต์จะก่อการรัฐประหารก็ยังคงมีอยู่ ไม่ว่าจะปฏิวัติซ้ำ เพื่อช่วยหาทางออกให้ พล.อ.ประยุทธ์ หรือการรัฐประหารซ้อน หากเกิดความวุ่นวายขึ้น

“ถ้าการเมืองไม่เป็นต้นเหตุของการจลาจล มันก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น” คำพูดของ พล.อ.อภิรัชต์ ตั้งแต่รับตำแหน่ง ผบ.ทบ.วันแรกๆ ที่ไม่การันตีว่าจะไม่มีการรัฐประหารเกิดขึ้น

โดยเฉพาะหลังจากที่ พล.อ.อภิรัชต์ขึ้นเวทีบรรยายพิเศษเรื่อง “แผ่นดินของเราในมุมมองด้านความมั่นคง” ที่มีเนื้อหาดุเดือด ด้วยท่าทีที่ดุดัน

สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์แล้ว แม้จะสนิทสนมกับ พล.อ.อภิรัชต์อย่างมากก็ตาม แต่ในบางครั้งก็อดเหน็บแนมค่อนขอดไม่ได้

โดยเฉพาะเมื่อครั้งที่สื่อเสนอข่าว พล.อ.อภิรัชต์ได้ขึ้นเป็น ผบ.ทบ.กันอย่างใหญ่โตครึกโครม ด้วยเพราะเป็นนายทหารคนดัง และมีบทบาทในทางการเมืองมาตลอด ตั้งแต่ยังเป็นนายพัน

“เสนอข่าวกันอย่างกับได้เป็นนายกรัฐมนตรี” บิ๊กตู่ระบุ

ในความสนิทสนมกันมากแค่ไหน แต่ในบางภวังค์ก็เหมือนมีเส้นบางๆ กางกั้นในความเป็นพี่น้องของ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.อภิรัชต์ ด้วยเพราะ พล.อ.อภิรัชต์มีสถานะพิเศษ ที่บางครั้ง พล.อ.ประยุทธ์อาจจะเดาทางเดาใจไม่ถูก

แม้ว่าที่ผ่านมา พล.อ.อภิรัชต์จะทำหน้าที่ผู้พิทักษ์ปกป้อง ช่วยเหลือ พล.อ.ประยุทธ์ในทางการเมืองมาตลอดก็ตาม

โดยเฉพาะบทบาทการเป็น “หัวหมู่ทะลวงฟัน” กับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลและฝ่ายค้าน แบบที่ยอมเอาตัวเข้าแลก ยอมถูกด่า ทุกๆ ครั้งที่ออกมาให้สัมภาษณ์ หรือพูดอะไรที่ส่งผลกระทบทางการเมือง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการบรรยายพิเศษ ประกาศศึกกับพวกคอมมิวนิสต์ฝังชิพ พวกซ้ายจัดดัดจริต และพรรคอนาคตใหม่

จนทำให้ถูกมองว่า งานนี้แตกหักแน่นอน

 

แต่ พล.อ.อภิรัชต์กลับเล่นได้หลายบทบาท แม้แต่การเดินไปสภา เข้าสู่ดงนักการเมือง ที่ส่วนใหญ่ก็เป็น ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ด้วยการไปพูดคุยกับคณะกรรมาธิการความมั่นคงฯ ที่มี พล.ท.พงศกร รอดชมภู รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เป็นประธาน

แม้จะด้วยความจำเป็น หลังจากที่ พล.ท.พงศกรไม่ยอมให้บิ๊กนัย พล.อ.สุนัย ประภูชเนย์ ผช.ผบ.ทบ. ที่ พล.อ.อภิรัชต์ส่งไปเป็นตัวแทนเข้าไปชี้แจงแทน โดยยืนยันว่าเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล พล.อ.อภิรัชต์ต้องมาด้วยตนเอง โดยจะเลื่อนการประชุมออกไป รอจนกว่า พล.อ.อภิรัชต์จะว่างมา

เพราะในเช้าวันที่ 22 ตุลาคมนั้น พล.อ.อภิรัชต์นั่งเฮลิคอปเตอร์ไป พล.ร.9 กาญจนบุรี แต่เช้าตรู่ เพื่อไปตรวจความพร้อมของหน่วยพร้อมเคลื่อนที่เร็ว และมีกำหนดจะไปชายแดนไทย-เมียนมา ด้าน อ.สังขละบุรี เพื่อไปตรวจเยี่ยม ฉก.ลาดหญ้า

แต่ในที่สุด พล.อ.อภิรัชต์ก็ยกเลิกกำหนดการที่ 2 ด้วยการนั่ง ฮ.กลับมากรุงเทพฯ และเปลี่ยนเสื้อผ้าจากเครื่องแบบทหารชุดพรางมาเป็นสูท เพื่อมากับคณะกรรมาธิการด้วยตนเอง

ท่ามกลางความเซอร์ไพรส์ของฝ่ายกรรมาธิการ ฝ่ายนักการเมืองเอง ที่ พล.อ.อภิรัชต์ยอมมาด้วยตนเองในที่สุด

ประการหนึ่ง เพราะ พล.อ.อภิรัชต์ต้องการรักษาหน้าตาของกองทัพบก ที่ส่ง ผช.ผบ.ทบ.มาแล้ว แต่กลับไม่ให้เข้าชี้แจง เนื่องจาก พล.อ.อภิรัชต์เองเป็นผู้มอบหมายให้ พล.อ.สุนัยมา

อีกประการหนึ่งคือ มาพบปะพูดคุยกันจะได้จบๆ ไป และเพื่อสยบคำปรามาสที่ว่า ไม่กล้ามาเจอนักการเมือง

ด้วยความเป็นทหาร ความเป็นผู้นำ การเดินเข้ามาครั้งนี้ ไม่ใช่ในฐานะ ส.ว. เช่นที่เคย แต่ทว่าในฐานะ ผบ.ทบ. จึงมีความมาดมั่น รวมถึงลีลาท่าทาง คำพูดในที่ประชุม จนกลายเป็นผู้นำในการประชุมเสียเอง จนถึงขั้นที่จะส่งที่ปรึกษามาร่วมประชุมกับ กมธ.ทุกครั้งตามคำเชิญ

โดยเฉพาะเมื่อประธานคือ พล.ท.พงศกร เตรียมทหารรุ่นพี่ ที่ก็มีความยำเกรง และให้เกียรติ พล.อ.อภิรัชต์ แม้จะเป็นรุ่นน้อง แต่ก็เป็น ผบ.ทบ.

จึงไม่แปลกที่ พล.อ.อภิรัชต์จะเผยว่า ในที่ประชุม ส.ส.หลายคนบอกว่า ผมดุ แต่มาเจอตัวจริง ก็ไม่เห็นเป็นอย่างนั้นเลย

เช่นกัน พล.อ.อภิรัชต์เองเคยเห็น ส.ส.หลายคนในทีวี วิจารณ์ดุเดือด แต่มาเจอวันนี้ คนละรูปแบบเลย

“ผมเป็นเพื่อนกับนักการเมืองดีกว่า” พล.อ.อภิรัชต์จึงตอบเช่นนี้ เมื่อถูกถามว่าจะเล่นการเมืองหรือไม่

ก่อนสำทับว่า “ผมไม่เล่นการเมือง” และประโยคสำคัญที่ว่า “ผมไม่เล่นกับนักการเมือง”

นั่นเป็นเหตุผลที่ พล.อ.อภิรัชต์ตอบเมื่อถูกคนใกล้ชิดถามเรื่องการเล่นการเมือง การเป็นนายกฯ ว่า “No Way”

 

อาจเป็นเพราะ พล.อ.อภิรัชต์มีทัศนคติต่อนักการเมืองไทยไม่ค่อยดีนัก ตามประสาของทหาร

ก่อนหน้านี้ พล.อ.อภิรัชต์เคยเปรยๆ ถึงนักการเมืองว่า เป็นพวกที่ชอบพูดว่า เราสัญญา ว่าจะทำตามสัญญาในทุกอย่าง “We promise to promise you everything.”

หรือแม้แต่บนเวทีบรรยายพิเศษ พล.อ.อภิรัชต์ก็แสดงออกถึงทัศนคติที่ไม่ดีนักต่อนักการเมือง “นักการเมืองที่ทำเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง”

จนถึงการให้คำนิยามการเมือง จากที่เคยกล่าวกันว่า “การเมืองไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร” กลับกลายมาเป็น “การเมืองในยุคนี้ หากเปรียบเทียบกับ ‘สลาก’ การเมืองยุคใหม่ เหมือน ‘สลากกินรวบ’ แต่การเมืองแบบเก่า เหมือน ‘สลากกินแบ่ง’ อาจมีมิตรแท้น้อย แต่ไม่มีศัตรูถาวร”

หลังการไปพูดคุยกับ พล.ท.พงศกร และ กมธ.ความมั่นคงฯ อันเป็นการสะท้อนแนวคิดของ พล.อ.อภิรัชต์ ที่มองนักการเมืองในยุคเก่าดีกว่าในยุคนี้ ที่ทั้งผลประโยชน์และอำนาจ ถูกกินรวบ และทำให้มีศัตรูถาวรมาก

“ผมพูดแบบนี้ เพื่อให้นักการเมืองเข้าใจได้ดี จะได้เลือกได้ว่า ชอบแบบไหน” พล.อ.อภิรัชต์ระบุ

การมองนักการเมืองในแง่ลบ จึงอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ พล.อ.อภิรัชต์ยืนยันว่าจะไม่เล่นการเมือง

            แต่สถานการณ์ในอนาคต และมิชชั่นพิเศษ จะเป็นตัวกำหนดอนาคตของ พล.อ.อภิรัชต์ ที่บางครั้งตัวเขาเองอาจไม่สามารถชี้ชะตาตัวเองได้ เพราะทุกอย่างล้วนเป็นชะตาฟ้าลิขิต