กรองกระแส / สีสัน อนาคตใหม่ ‘ทำลาย’ อย่าง ‘สร้างสรรค์’ ต่อการเมืองไทย

กรองกระแส

 

สีสัน อนาคตใหม่

‘ทำลาย’ อย่าง ‘สร้างสรรค์’

ต่อการเมืองไทย

 

จากกรณี “ถวายสัตย์ปฏิญาณตน” เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม มาถึงกรณี “ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ” ระหว่างวันที่ 17-19 ตุลาคม ได้สะท้อนให้เห็น “พลวัต” อันแหลมคมยิ่งในทางการเมือง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายใน 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่าง 1 พรรคอนาคตใหม่ กับอีก 6 พรรคอันประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคเพื่อชาติ พรรคพลังปวงชนไทย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายในพรรคอนาคตใหม่เอง

เราเห็นมติ “ร่วม” อันเป็นเอกภาพระหว่าง 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านต่อกรณี “ถวายสัตย์ปฏิญาณตน” เราเห็นมติ “ต่าง” ภายในพรรคอนาคตใหม่ และระหว่างพรรคอนาคตใหม่กับ 6 พรรคร่วมฝ่ายค้านต่อกรณี “พระราชกำหนด”

เราเห็นการปะทุขึ้นมาของ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ในการแตกแถวออกไปรับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณร่วมกับรัฐบาล อันเท่ากับแหกจากมติของ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน มติของพรรคอนาคตใหม่ ที่งดออกเสียง

พลวัตจากการเคลื่อนไหวจากเดือนกรกฎาคมมายังเดือนตุลาคมมีความแหลมคม

สะท้อนให้เห็นจุดร่วมบางประการระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้าน สะท้อนให้เห็นจุดต่างบางประการระหว่างภายในพรรคอนาคตใหม่ และระหว่างพรรคอนาคตใหม่กับฝ่ายค้านด้วยกัน

นี่คือสีสันในทางการเมือง

 

จากถวายสัตย์ปฏิญาณ

ถึงพระราชกำหนด

 

กรณี “ถวายสัตย์ปฏิญาณตน” อันเริ่มจากเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม และได้รับการตั้งข้อสังเกตในสัปดาห์ต่อมาโดยพรรคอนาคตใหม่ กระทั่งนำไปสู่การยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านมีความเป็นเอกภาพในทางความคิด

แม้มีคำวินิจฉัยในแบบไม่วินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญอันรัฐบาลถือเป็นไม้เด็ดในการสยบต่อฝ่ายค้านให้ยอมจำนน แต่ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านยังเดินหน้า

ยืนยันหลักการแบ่งแยกอำนาจระหว่าง “บริหาร” กับ “นิติบัญญัติ” แน่วแน่

แต่พอมาถึงกรณี “พระราชกำหนด” ในวันที่ 17 ตุลาคม ขณะที่พรรคอนาคตใหม่ยืนหยัดหลักการเดิมเหมือนที่เคยยืนหยัดในกรณี “ถวายสัตย์ปฏิญาณ” นั่นก็คือ เป้าหมายการปฏิเสธต่อพระราชกำหนดอยู่บนหลักแห่งรัฐธรรมนูญ อยู่บนหลักแห่งอำนาจระหว่างบริหารกับนิติบัญญัติ

กระนั้น มติของพรรคอนาคตใหม่ก็ไม่เพียงแต่เกิดการสวนมติจากภายในพรรคอนาคตใหม่เอง หากแต่ยังแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับมติของ 6 พรรคร่วมฝ่ายค้านด้วยกัน

และที่สุดก็มาถึงปรากฏกาณ์ “งูเห่าสีส้ม” ขึ้นในการลงมติจะรับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณหรืองดออกเสียงในวันที่ 19 ตุลาคม

ปรากฏการณ์เหล่านี้สะท้อนความเป็นจริงของการเมืองไทย

 

บทบาทอนาคตใหม่

สิ่งใหม่ พรรคการเมือง

 

การเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่ถือได้ว่าเป็นปรากฏการณ์สำคัญกระทั่งมีผู้เปรียบเทียบกับการเกิดขึ้นของพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย พรรคพลังใหม่ พรรคแนวร่วมสังคมนิยม ภายหลังสถานการณ์เดือนตุลาคม 2516

แต่นั่นก็เป็นผลสะเทือนจากสถานการณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2516 และก็จะจบสิ้นอย่างรวดเร็วไปกับสถานการณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2519

ขณะที่การเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่ถือได้ว่าเป็นปรากฏการณ์จากผลสะเทือนของรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 และจากผลสะเทือนของรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เหมือนกับจะก้าวตามรอยและความสำเร็จของพรรคไทยรักไทย

แต่จากก่อนการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 กระทั่งมาถึงเดือนตุลาคม 2562 ก็แจ่มชัดว่าเวลา 1 ปีของพรรคอนาคตใหม่ได้ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่หลายอย่าง ขณะเดียวกัน ก็ส่งผลสะเทือนไม่เพียงแต่พรรคการเมืองอื่น หากแม้กระทั่งต่อพรรคอนาคตใหม่เองก็ปรากฏขึ้นตลอดเวลา

ความมีชีวิตของพรรคอนาคตใหม่จึงเกิดขึ้นและดำรงอยู่ในท่วงทำนองอย่างที่เรียกว่าเป็น “ตัวป่วน” ในทางการเมือง

 

ต่างในความเหมือน

จากอนาคตใหม่

 

เหมือนกับพรรคอนาคตใหม่จะต่อยอดความสำเร็จของพรรคไทยรักไทย ต่อยอดจากนวัตกรรมอันนายทักษิณ ชินวัตร ได้ก่อให้เกิดขึ้น

แต่พรรคอนาคตใหม่ก็ส่งผลสะเทือนต่อพรรคเพื่อไทยอันเป็นผลผลิตของพรรคไทยรักไทย

อาจมีความเห็นร่วมในกรณี “ถวายสัตย์ปฏิญาณตน” แต่ก็มีความเห็นต่างจากกรณี “พระราชกำหนด” อย่างเด่นชัด

อาจส่งผลสะเทือนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในรัฐสภาอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะระหว่างการแถลงนโยบายของรัฐบาล ไม่ว่าจะระหว่างการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ไม่ว่าจะในกระบวนการหาเสียงเพื่อสร้างคะแนนนิยม

แต่การเคลื่อนไหวของพรรคอนาคตใหม่ก็ส่งผลสะเทือนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแม้กระทั่งภายในพรรคอนาคตใหม่เองอย่างมีนัยสำคัญ

   นี่จึงเป็นพรรคการเมืองที่มีลักษณะทั้ง “สร้างสรรค์” และ “ทำลาย” ไปในขณะเดียวกัน