เศรษฐกิจ / ส่องงบฯ ก.ท่องเที่ยวฯ…สาละวันเตี้ยลง ฟันเฟืองทดแทนส่งออกเข็นไม่ขึ้น ความหวังใหม่ดัน ศก.โต 3%…ได้หรือ

เศรษฐกิจ

 

ส่องงบฯ ก.ท่องเที่ยวฯ…สาละวันเตี้ยลง

ฟันเฟืองทดแทนส่งออกเข็นไม่ขึ้น

ความหวังใหม่ดัน ศก.โต 3%…ได้หรือ

 

เข้าสู่โค้งสุดท้ายของปี 2562 กับความหวังของรัฐบาลที่อยากจะดันเศรษฐกิจให้จีดีพีโต 3% ท่ามกลางซากเศรษฐกิจโลกที่เผชิญกันมาตั้งแต่ต้นปี จนสะบักสะบอมไปตามๆ กัน

ไม่เว้นประเทศเล็กๆ อย่างไทย ที่นอกจากกระทบทางตรงคือออเดอร์สินค้าหดหายเพราะประเทศคู่ค้ากรอบเต็มที

ยังเจอผลกระทบทางอ้อมจากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเงินสกุลหลักของโลกอย่างดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลง

กระทบถึงความสามารถการแข่งขันของสินค้าไทยซ้ำเติมให้ส่งออกยากขึ้นไปอีก

และยังเป็นผลพวงจากการมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งช้า ทำให้ไร้หัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจในไตรมาส 2

ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยจะไปต่อหรือทรุดลง มักขึ้นกับการส่งออก เพราะเกือบ 70% ที่พึ่งพาฟันเฟืองหลักตัวนี้

แต่ปัจจุบันอยู่ในอาการ “ง่อยเปลี้ย” ภาคการท่องเที่ยวก็ถูกเอ่ยถึง กลายเป็นพระเอกตัวใหม่ทดแทนภาคส่งออก รวมถึงการมุ่งเน้นการบริโภคในประเทศเป็นหลัก

เป็นอีกฟันเฟืองที่หวังพยุงให้เศรษฐกิจไปต่อได้แบบไม่ทุลักทุเลในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้

 

ปี2561 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้รายงานตัวเลขภาคการท่องเที่ยว สร้างรายได้รวมกว่า 2.94 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.49% หากเทียบกับปี 2560 แบ่งเป็นรายได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 38.17 ล้านคน สร้างรายได้ 1.87 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.46% จากปี 2560 ส่วนรายได้จากไทยเที่ยวไทย อยู่ที่ 1.07 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.26% จากปี 2560

เห็นได้ว่าเติบโตขึ้นมาก จึงกลายเป็นความหวังในการสร้างรายได้ให้ประเทศ ในภาวะที่ภาคส่งออกเจอมรสุมสงครามการค้าประเทศยักษ์ใหญ่ระหว่างสหรัฐและจีน

หากถอดไส้ในของรายได้ของการท่องเที่ยว ตัวเลขและรายได้เกิดจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก จึงถือได้ว่าการท่องเที่ยวไทยอิงการเติบโตจากต่างชาติสูงมาก

จนเมื่อเกิดเหตุการณ์เรือนักท่องเที่ยวจีนล่มที่จังหวัดภูเก็ต ทำให้นักท่องเที่ยวจีนหายไป สร้างผลกระทบให้กับการท่องเที่ยวไทยสูงมาก

ผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยว ทั้งทัวร์นำเที่ยว ร้านค้าตามแหล่งท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบไปตามๆ กัน เพราะนักท่องเที่ยวจีนถือเป็นนักท่องเที่ยวอันดับ 1 ที่มาเที่ยวประเทศไทยมากที่สุด รองลงมาเป็นอินเดียและอาเซียน

จึงต้องออกมาตรการ “ตระกูลแซ่” หวังให้นักท่องเที่ยวจีนกลับมาเที่ยวไทยมากขึ้น

และยังมีมาตรการกระตุ้นด้านการท่องเที่ยวอีกรวม 18 มาตรการมารองรับช่วงไฮซีซั่น และแก้ปัญหาเรื่องบาทแข็งที่เป็นปัจจัยหนึ่งทำให้ต่างชาติหนีไปเที่ยวประเทศอื่นแทน โดยมาตรการมีทั้งระยะสั้น 11 มาตรการ และมาตรการระยะกลาง-ยาว 5 มาตรการ

และยังมีมาตรการลดค่าธรรมเนียมการลงจอดของสายการบินเช่าเหมาลำ (ชาร์เตอร์ไฟต์) เข้ามาเพิ่มเติม ซึ่งอยู่ระหว่างหารือกับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ให้ลดค่าธรรมเนียมให้

 

ส่วนการมุ่งเน้นการบริโภคในประเทศ ที่ดำเนินการแล้วก็คือ มาตรการชิมช้อปใช้ เปิดให้ลงทะเบียนรับเงิน 1,000 บาท กำหนดไว้ 10 ล้านคน หวังให้คนไทยไปเที่ยวเมืองรองมากขึ้น มีคนลงทะเบียนล้นหลาม

แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นการใช้สิทธิ์ในการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคมากกว่าไปเที่ยว จึงออกชิมช้อปใช้เฟส 2 ต่อ ด้วยการเพิ่มเงินคืน (แคชแบ็ก) มากขึ้นจากเฟส 1 ได้รับคืน 15% เป็น 20%

ตามด้วยมาตรการของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ จากไอเดียของเจ้ากระทรวง นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงใหม่ป้ายแดง อยากให้มีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปี 2562 โดยมอบหมายให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เป็นผู้จัดทำแผนการและรายละเอียดทั้งหมด ซึ่งออกมาเป็นแคมเปญ “ถึงเวลาทัวร์ให้ทั่วไทย” ที่มีมาตรการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ 2 มาตรการหลักคือ “ร้อยเดียวเที่ยวทั่วไทย” และ “เที่ยววันธรรมดาราคาช็อกโลก” ซึ่งถือเป็นมาตรการที่จะเข้ามาเสริมการใช้จ่ายของมาตรการชิมช้อปใช้ที่ออกมาก่อนหน้านี้

รวมถึงกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายผ่านกระเป๋าที่ 2 ของแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง เพื่อแลกรับเงินคืน (แคชแบ็ก) 15% โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เชื่อมั่นว่าหาก 2 มาตรการนี้ออกมาแล้ว จะสามารถสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศกว่า 400 ล้านบาท

 

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ทั้ง 2 มาตรการ “ร้อยเดียวเที่ยวทั่วไทย” และ “เที่ยววันธรรมดาราคาช็อกโลก” เมื่อรวมกับมาตรการชิมช้อปใช้ จะสามารถกระตุ้นกระแสการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศให้เกิดความต่อเนื่อง และเป็นไปตามเป้าหมายจำนวน 180 ล้านคนครั้ง เพิ่มขึ้นจาก 160 ล้านคนครั้งในปี 2561 ที่ผ่านมา

และคาดการณ์ว่าทั้ง 2 มาตรการนี้จะกระตุ้นให้คนไทยเกิดกระแสการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศเพิ่มขึ้น 10-20% สร้างรายได้เกิดขึ้นกับประเทศเพิ่มขึ้นอีกราว 5-10% หรือมีรายได้จากตลาดท่องเที่ยวภายในประเทศหรือไทยเที่ยวไทย ในปี 2562 นี้ ที่ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท จากเป้าหมายเดิมที่วางไว้ที่ 1.05 ล้านล้านบาท

และทำให้ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมดรวม 3.16 ล้านล้านบาทได้

 

หากประเมินผ่านมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวที่ออกมานั้น ก็จะเห็นว่าภาคการท่องเที่ยวไทยมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจในประเทศสูงมาก ทั้งรายได้ที่นำเข้ามาจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ และรายได้ที่เกิดจากการใช้จ่ายของคนในประเทศผ่านการท่องเที่ยว

แต่หากกางงบประมาณล่าสุด งบประมาณ 2563 ที่เพิ่งผ่านสภา รับหลักการวาระแรก กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ที่กลายเป็นกระทรวงความหวังของรัฐบาลในการผลักดันเศรษฐกิจประเทศก้าวผ่านภาวะเศรษฐกิจโลกที่ง่อนแง่นไปได้ ได้รับจัดสรรงบประมาณเพียง 6,071 ล้านบาท

ไม่ต้องเปรียบเทียบกับกระทรวงอื่นๆ ว่าต่างกันมากน้อยแค่ไหน เปรียบเทียบกับตัวเองที่เคยได้รับจัดสรรงบประมาณที่ผ่านมาแต่ละปี ก็ชวนให้น้อยเนื้อต่ำใจได้ ไล่ช่วงใกล้ๆ กัน งบประมาณ 2561 ได้รับจัดสรรอยู่ 6,794 ล้านบาท ขยับมาปี 2562 ได้รับจัดสรรลดลง อยู่ที่ 6,413 ล้านบาท แต่ก็ยังสูงกว่างบประมาณ 2563

ช่างสวนทางกับที่รัฐบาลต้องการให้ภาคการท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจประเทศขยับไปได้ สู่เป้าหมายจีดีพี 3% ตามที่รัฐบาลตั้งธงไว้ ทดแทนเครื่องมือหลักอย่างภาคการส่งออกที่แน่นอนว่าไปไม่ถึงฝั่งฝัน กระทรวงพาณิชย์ออกมายอมรับแล้วว่าปีนี้ทั้งปี ภาคส่งออกดีที่สุดคือโต 0% แต่แนวโน้มที่เป็นไปได้คือ ติดลบ 1%

ขณะที่งบประมาณของกระทรวงที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ กลับถูกตัดทอนลดลงในทุกปี แต่กระทรวงใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงกลับได้งบประมาณเพิ่มสูงขึ้นจนน่าเป็นกังวลว่า จะใช้ให้หมดได้อย่างไรกัน

     คงต้องติดตามกันต่อไปว่าประเทศไทยจะสามารถเดินหน้าต่อไปในทิศทางใด ผ่านเครื่องยนต์หลักตัวใด ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัวและมีแนวโน้มเสี่ยงถดถอยยาวถึงปีหน้า!