นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ : เคล็ดลับความสำเร็จของจิ้งจอกสยาม (จบ)

AFP PHOTO / ADRIAN DENNIS

3.เชื่อในข้อมูล ไม่ใช่ความรู้สึก

ปัจจัยแห่งความสำเร็จอย่างหนึ่งที่นักวิเคราะห์ฟันธงเหมือนกันคือนักเตะเลสเตอร์ ซิตี้ ที่เป็นเกรดธรรมดา แต่กลับเล่นได้อย่างสุดยอดและเข้าขากันมาก

นักเตะบางคนเป็นดาวรุ่ง บางคนเป็นสตาร์ของลีกเล็กๆ บางคนเป็นไม้ใกล้ฝั่ง บางคนพูดชื่อมายังไม่รู้จัก แต่พวกเขากลับระเบิดฟอร์มหักปากกาเซียน เช่น Demarai Gray, Riyad Mahrez, Shinji Okazaki, Robert Huth, N”Golo Kant?, Jamie Vardy

ฤดูกาลล่าสุดพวกเขาลงทุนกับการซื้อนักเตะไป 27.3 ล้านปอนด์ ถือเป็นตัวเลขที่สูงเมื่อเทียบกับทีมขนาดย่อม แต่หากดูจากเหตุผลของผู้บริหารแล้วก็นับว่าน่าสนใจ

อัยยวัฒน์บอกถึงกลยุทธ์การซื้อตัวนักเตะกับมติชนทีวีว่า

“การซื้อนักเตะขึ้นกับนโยบายแต่ละสโมสร บางทีมอยากได้นักเตะดัง เก่ง ซื้อมาแล้วเล่นได้เลย แต่สำหรับผมการซื้อตัวเหมือนการลงทุน ต้องดูข้อมูลชัดมาก ว่าจะทำให้เล่นดีได้จริงไหม และเขามีช่องว่างให้เติบโตหรือพัฒนาหรือเปล่า ในการตัดสินใจผมใช้ข้อมูลมากกว่าความรู้สึก ถ้าผู้จัดการบอกว่าคนนี้เก่ง ผมจะให้เขาเอาตัวเลขมาดู”

นักเตะที่เป็นข่าวมากที่สุดคือ เจมี่ วาร์ดี้ สุดยอดกองหน้าที่เป็นตัวแปรสำคัญอย่างยิ่งในฤดูกาลนี้

แต่ตอนที่เลสเตอร์ ซิตี้ ตัดสินใจซื้อในปี 2012 นั้น วาร์ดี้เป็นเพียงกองหน้าจากนอกลีกที่ไม่มีใครรู้จัก และพวกเขาก็ซื้อมาด้วยค่าตัวที่เป็นสถิติถึง 1 ล้านปอนด์

“ผมต้องเป็นเจ้าของทีมที่โง่ที่สุดในโลกแน่ๆ” อัยยวัฒน์กล่าวกับ a day

“ผมถาม Nigel Pearson (ผู้จัดการทีมขณะนั้น) และ Steve Walsh (แมวมองของทีม) อยู่สัปดาห์นึง เอาข้อมูลมานั่งอ่านมันก็โอเค แต่ว่ามันเสี่ยง ผมจะตอบสังคม ตอบแฟนบอลยังไงว่าทำไมซื้อนักเตะนอกลีกตั้ง 1 ล้านปอนด์ ผมก็เลยถามทั้งสองคนว่า ถ้าผมมีงบฯ ให้ 1 ล้านเพื่อไปซื้อนักเตะฤดูกาลหน้า คุณจะซื้อใคร เขาบอกว่าซื้อวาร์ดี้ ผมเลยบอกว่าถ้าอย่างนั้นซื้อเลย”

และนั่นก็เป็นการซื้อตัวที่คุ้มค่าที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ฟุตบอลอังกฤษ เพราะตอนนี้วาร์ดี้กลายเป็นกองหน้าที่ฮ็อตที่สุดคนหนึ่งในยุโรป มีทีมยักษ์ใหญ่พร้อมจะทุ่มซื้อตัวมากมาย

จุดที่ทำให้พวกเขามั่นใจ และตัดสินใจทำในสิ่งที่ดูค้านสายตาคนทั่วไปก็เพราะพวกเขา “เชื่อในข้อมูล” นั่นเอง

Leicester City's English striker Jamie Vardy (C) celebrates with teammates after scoring during the English Premier League football match between Leicester City and Everton at King Power Stadium in Leicester, central England on May 7, 2016. / AFP PHOTO / ADRIAN DENNIS / RESTRICTED TO EDITORIAL USE. No use with unauthorized audio, video, data, fixture lists, club/league logos or 'live' services. Online in-match use limited to 75 images, no video emulation. No use in betting, games or single club/league/player publications. /
AFP PHOTO / ADRIAN DENNIS

4.เลือกหัวหน้าทีมให้ถูก

การเลือกหัวหน้าที่มาบริหารนั้นสำคัญมาก หลังจากที่เลสเตอร์ ซิตี้ ปลด Sven-G?ran Eriksson ผู้จัดการทีมที่ทำงานได้อย่างย่ำแย่ในปี 2010/2011 พวกเขาก็ดึงตัว Nigel Pearson ผู้จัดการทีมคนเก่าที่เคยพาทีมขึ้นชั้นมาเดอะแชมเปี้ยนชิพมาสู่ทีมอีกครั้ง

“ทันทีที่ปลด สเวน-โกรัน อิริกสัน ออกจากตำแหน่งตอนปี 2011 ช่วงนั้นทีมแกว่งมาก การตัดสินใจเลือกผู้จัดการทีมคนใหม่จึงยากมาก เพราะถ้าเปลี่ยนแล้วทีมยังไม่ดีขึ้นคราวนี้มีปัญหาแน่ๆ เพราะหลายคนเริ่มไม่แน่ใจกับเจ้าของแล้ว ดังนั้น คนที่เข้ามาจึงต้องมีเพาเวอร์ สามารถเปลี่ยนความคิดนักเตะและสตาฟฟ์ได้ สอง ต้องทำทีมที่มิกซ์ระหว่างตัวเก๋าและดาวรุ่งได้ จนกระทั่งมาเจอกับไนเจลที่มีแคแร็กเตอร์ตรงกับใจเราทุกอย่าง”

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ แม้ว่าเพียร์สันจะทำผลงานได้สุดยอด พาทีมขึ้นชั้นพรีเมียร์ ลีก ได้ และพาทีมหนีรอดตกชั้นได้ แต่เมื่อเขามีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ทางสโมสรก็พร้อมที่จะลงโทษ

ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของเพียร์สันร่วมกับเพื่อนอีกสองรายถูกเผยแพร่คลิปฉาว ขณะกำลังมีเพศสัมพันธ์พร้อมเหยียดเพศหญิงในประเทศไทยเมื่อครั้งที่มาเยือนเมืองไทย ผลจากความฉาวในครั้งนั้นทำให้คนไทยไม่พอใจอย่างมาก คุณวิชัย ศรีวัฒนประภา ประธานสโมสรเองก็ยังออกมาประณามการกระทำในครั้งนี้จนเพียร์สันซึ่งเป็นพ่อแท้ๆ ต้องประกาศแยกทาง

และพวกเขาก็สร้างเซอร์ไพรส์ด้วยการเรียก Claudio Ranieri ผู้จัดการทีมที่ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จมากนักมาคุมบังเหียน แต่ผลลัพธ์กลับเป็นตรงกันข้าม

รานิเอรี่ใช้จุดเด่นของตัวเองในเรื่องเกมรับสไตล์อิตาเลียนมาผสมผสานกับความสามารถนักเตะที่มีได้อย่างลงตัว แถมยังไม่สร้างความกดดันให้กับนักเตะด้วยการปล่อยให้มีเวลาพักผ่อนอย่างเต็มที่ และสร้างขวัญกำลังใจให้พวกเขาวิ่งสู้ฟัดไม่มีเหนื่อย

นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ ผู้สื่อข่าวเนชั่นทีวีที่ปัจจุบันศึกษาต่ออยู่ที่อังกฤษ วิเคราะห์ถึงประเด็นนี้ว่า

“ผมคิดว่าคุณวิชัยให้ความสำคัญกับบุคลิกนอกสนามมาก รานิเอรี่เป็นสุภาพบุรุษมาก ไม่เคยแสดงอาการโกรธ ฉุนเฉียว หรือบ่นกรรมการ แม้ว่าจะตัดสินได้แย่แค่ไหน ความเป็นสุภาพบุรุษสำคัญมาก ทำให้สื่อรัก ไม่หมั่นไส้ ตรงนี้น่าจะเป็นตัวอย่างเรื่องการเลือกผู้นำได้ดีของคุณวิชัย”

สิ่งที่ตอกย้ำว่ารานิเอรี่เป็นจิ๊กซอว์ที่ถูกต้องก็คือ คำพูดของเขาก่อนได้แชมป์ที่ว่า

“In an era when money counts for everything, I think we give hope to everybody.”

“ในยุคที่เงินซื้อได้ทุกอย่าง ผมคิดว่าเรากำลังให้ความหวังกับทุกคน”

Leicester City's owner Vichai Srivaddhanaprabha (R) looks on as his son and vice-chairman Aiyawatt "Top" Srivaddhanaprabha (C) holds the Premier League trophy while posing for pictures ahead of a parade in an open-bus with the club's football players through Bangkok on May 19, 2016. Newly crowned English Premier League champions Leicester City received a royal seal of approval on May 19 at Bangkok's Grand Palace, with the Thai-owned team presenting its trophy to a portrait of the king before a bus parade through the capital. / AFP PHOTO / CHRISTOPHE ARCHAMBAULT
AFP PHOTO / CHRISTOPHE ARCHAMBAULT

5.บริหารแบบ Thai Style

โดยปกติแล้วเจ้าของทีมฟุตบอลมักมีระยะห่างกับนักฟุตบอล พวกเขาจะไม่ค่อยลงมาใกล้ชิดกับนักเตะสักเท่าไรนัก แต่สำหรับอัยยวัฒน์ เขาให้ความสนิทสนมกับลูกทีมเป็นอย่างมาก เหมือนเป็นครอบครัว ชนิดที่ว่านักเตะบางคนสารภาพว่าไม่เคยพบเคยเจอมาก่อนในชีวิต

“ผมบริหารเหมือนเป็นครอบครัว ปกติแล้วเจ้าของจะไม่ค่อยลงมาเจอกับนักฟุตบอล ไม่ใส่ใจกับนักฟุตบอล มองเป็นโปรดักต์ เจอน้อยมาก แต่กับผมมองเป็นสตาฟฟ์ เล่นเพื่อครอบครัว เดินไปข้างหน้าด้วยกัน ลงมาใช้เวลาด้วยบ่อย อาทิตย์หนึ่งเจอ 2 ครั้ง สนิทกันเหมือนเพื่อน ตอนมาทัวร์เมืองไทยก็ไปเที่ยวกัน พอบรรยากาศสบายๆ รีแลกซ์ นักเตะเขาก็เปิดเผยความในใจ เล่าให้ฟังว่ารู้สึกอย่างไร ต้องการอะไร พอมีนักเตะใหม่ๆ เข้ามาสู่ทีมก็จะเกิดเคมีตรงกัน คลิกกัน เขาเหมือนได้เพื่อนใหม่ ได้เล่นฟุตบอลกับเพื่อน”

การบริหารแบบใกล้ชิดมากนี้ทำให้ลูกน้องรู้สึกสบายใจ ไว้ใจ และมีแรงจูงใจที่อยากจะทำงานด้วย คล้ายกับที่ เนวิน ชิดชอบ ทำกับบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด จนประสบความสำเร็จมาแล้ว

“ผมบริหารเหมือนเพื่อน เล่นกันตลอด เพราะพ่อผมวางตัวเป็นบอสอยู่แล้ว ผมก็จะเป็นประเภทเอายังไงก็บอกนะ”

คำว่า “เอายังไงก็บอกนะ” เป็นถึงขั้นที่นักเตะเลสเตอร์เคยมาขอเครื่องบินส่วนตัวของบอส ซึ่งอัยยวัฒน์ก็บอกว่า ให้ชนะสัก 3 เกมติด แล้วจะขอให้ ทำให้นักเตะสู้ยิบตา ถวายหัวเตะ

หรืออีกกรณีที่บ่งบอกว่า อัยยวัฒน์ให้ความสำคัญกับนักเตะเหมือนเพื่อน คือตอนที่เขาพูดกับ เจมี่ วาร์ดี้ ตรงๆ

ช่วงนั้นวาร์ดี้เพิ่งถูกซื้อตัวมา จากนักเตะนอกลีกรายได้น้อย พอได้จับเงินมหาศาลก็ทำให้เขาใช้ชีวิตอย่างหลงแสงสีและลืมตัว วาร์ดี้เมาทุกวัน เมามาซ้อมเลยด้วยซ้ำ แทนที่อัยยวัฒน์จะสั่งลงโทษ เขากลับเดินไปหาและเตือนเหมือนเพื่อนสนิท

“ผมบอกเขาว่า คุณอยากจะจบชีวิตนักเตะแบบนี้ใช่ไหม จะอยู่แบบนี้ใช่ไหม เราจะปล่อยสัญญาจนจบแล้วคุณก็ไปจากทีมนะ อย่าคิดว่าจะได้โตขนาดนี้” เขาเผยความลับกับ a day

“เขาก็บอกว่า เขาไม่รู้จะทำตัวยังไง เพราะไม่เคยได้เงินขนาดนี้ ผมก็ถามว่าแล้วคุณฝันอะไร คุณอยากจะให้ชีวิตเป็นยังไง ผมลงทุนกับคุณ คุณต้องทำอะไรคืนหรือเปล่า หลังจากนั้นเขาก็เลิกกินเหล้าเลย ตั้งใจซ้อม เริ่มปรับตัว เข้าฟิตเนส ทำตัวใหม่หมดเลย แล้วมันก็ดีขึ้น

“พอวันต่อสัญญาใหม่ เขาเดินมาซึ้งๆ บอกผมว่า เขาไม่มีทางลืมสิ่งที่ผมลงทุนกับเขาเลย แล้วก็ขอบคุณมากที่ให้โอกาสกับชีวิตเขา เขาจะทำทุกอย่างให้ทีมประสบความสำเร็จ และจะทำทุกทางให้ติดทีมชาติอังกฤษ”

อัยยวัฒน์เรียกการบริหารแบบนี้ว่า “บริหารแบบไทยสไตล์”

น่าภูมิใจนะครับที่การบริหารแบบไทยสไตล์มีส่วนทำให้ จิ้งจอกสยาม ประสบความสำเร็จได้ขนาดนี้