“เชือดสังเวย-เซ่นไหว้-ปันกันกิน” ผ่านมากี่พันปี ทำไมเซ่นไหว้ด้วยของเหล่านี้

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

สมัยเด็กๆ ผมมีคำถามกับวันตรุษจีนที่บ้านจังหวัดระนองว่า เราเปลี่ยนอาหารบ้างได้ไหม เบื่อหมูเบื่อไก่ ขนมเข่งขนมเทียน หรือกับข้าวเดิมๆ ที่เราทำทุกปี อย่างหมี่ฮกเกี้ยนผัด หมูค้อง ตับผัดต้นกระเทียม ฯลฯ ไรงี้

ซึ่งสุดท้ายก็ไม่พ้นแปรรูปเป็นไก่รวนและต้มจับฉ่าย ที่กินกันได้อีกหลายวันแบบเอียนๆ

ปีถัดมามีการประชุมญาตินำโดยเตี่ยผม เสนอว่าเรามาเปลี่ยนอาหารไหว้กันไหม (ยังไหว้ที่บ้านบรรพชนรวมกัน) สุดท้ายญาติเอาด้วย ปีนั้นจึงมีอาหารแปลกๆ เช่น สลัดแบบฝรั่ง ไก่อบ สปาเก็ตตี้ฯลฯ แต่ทำได้ปีเดียวก็เลิก เพราะไม่ค่อยชิน

ยอมกินเลี่ยนๆ แต่คุ้นเคยดีกว่า

ทางจีนบ่าบ๋าอย่างเรา ข้อกำหนดเรื่องอาหารไหว้บรรพชนมีเพียงต้องทำกับข้าวสิบสองอย่าง หรือหกอย่างแบ่งใส่สิบสองถ้วย ที่เรียกว่าจับยี่อั๊วเท่านั้น ส่วนอาหารก็พลิกแพลงได้บ้าง แต่มักทำอย่างเดิมๆ ที่สืบกันมา นัยว่าเป็นอาหารมงคล แสดงความสมบูรณ์

ส่วนโหงวเส้งหรือซาเส้ง ซึ่งหมายถึงเนื้อสัตว์ห้าหรือสามอย่างนั้น ผู้ใหญ่ท่านว่า สมัยก่อนปกติเราไม่ค่อยเอาไหว้บรรพชน ทำแต่กับข้าวไหว้ โหงวเส้นซาเส้งเอาไว้ไหว้เจ้า เว้นแต่เป็นโอกาสสำคัญจึงมีเพิ่มเข้ามา แต่เดี๋ยวนี้เขาเอาไหว้กันหมดแล้ว

โหงวเส้งหรือซาเส้งบ้านผมมีหลายเวอร์ชั่น เตี่ยเล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนมีหมูบะถาวหรือหมูสามชั้นต้ม งานใหญ่ๆ เช่น ไหว้ “ออกศพ” (เอาศพไปเผาหรือฝัง) จึงจะเป็นหัวหมู “ไก่ไหว้” ซึ่งหมายถึงไก่ที่มีอวัยวะครบและมีชุดเครื่องใน ปลาหมึกแห้ง บางเวอร์ชั่นมีไข่ไก่ย้อมสีแดง เส้นหมี่ฮกเกี้ยนสด เป็ดไม่ค่อยได้ใช้ เพิ่งจะมานิยมกันในภายหลัง บางครั้งก็มีปู มีกุ้งมังกรหรือกุ้งใหญ่ ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบในท้องถิ่นนั้นๆ

ขอให้เป็นสัตว์ “ทั้งตัว” ละกัน

ในพิธีไหว้ครูดนตรีไทย เวลาท่านไหว้หัวหมู ตำราว่าต้องมีตีนหมูสี่ตีนหางและลิ้น ด้วย เสมือนจำลองหมูมาทั้งตัว และระหว่างจะสังเวยต้องเชือดและทาน้ำจิ้มเป็นกิริยาอาการพอเป็นพิธี

เหตุใดจะผ่านมากี่ร้อยกี่พันปีเรายังคงต้องเซ่นไหว้ด้วยของเดิมๆ ซ้ำๆ เหล่านี้

ผมคิดว่า การไหว้ด้วยเนื้อสัตว์ “ทั้งตัว” เช่นที่ว่านี้ ที่จริงคือการบวงสรวงหรือบูชายัญจากสมัยโบราณล่ะครับ เพียงแต่ในปัจจุบัน เราไม่ต้อง “ฆ่าสังเวย” เองแล้ว แต่เอาแค่ตัวผลคือเนื้อสัตว์มาเซ่นไหว้

ในบรรพกาล การบวงสรวงสังเวยไม่ได้เน้นแต่ตัวผลผลิต (สัตว์ ผลหมากรากไม้ธัญญาหาร) จากการเกษตรของเราเท่านั้น แต่เน้น “กระบวนการ” คือการฆ่า “บูชายัญ” ด้วย

แนวคิดโบราณของการเซ่นสรวงสังเวย ไม่ได้มีระบบศีลธรรมแบบในปัจจุบัน “การฆ่าและกิน” นำมาสู่ความหมายใหม่ๆ ของการมี “ชีวิต” หลักการที่ตรงไปตรงมาคือ ชีวิตย่อมแลกมาด้วยชีวิต และความตายย่อมไปสู่ชีวิต

ความตายของสัตว์สังเวยจึงนำมาสู่ชีวิตใหม่ทั้งของเราและธรรมชาติ เราจึงฆ่าสังเวยในเทศกาลต่างๆ ซึ่งธรรมชาติกำลังตายลงหรือมีชีวิตใหม่ เช่น ตรุษจีน (โลกธรรมชาติกำลังจะเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ)

คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ เคยค้นคว้าไว้ว่า คนอุษาคเนย์บางกลุ่มเลี้ยงหมา เคารพมันในฐานะสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวพันกับบรรพบุรุษ และสุดท้ายฆ่ามันกินในพิธี เพื่อจะรวมเป็นหนึ่งและรับพลังจากบรรพบุรุษด้วย

การกินสัตว์สังเวย ในทางหนึ่งคือกระบวนการของการหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันกับสิ่งนั้น รับพลังชีวิตมาจากสิ่งนั้น

เช่นเดียวกันกับพิธีกรรมของชาวคริสต์ การรับแผ่นปังศีลมหาสนิทและเหล้าองุ่น ในฐานะ “พระกายและพระโลหิตของพระเจ้า” หากไม่พูดถึง “รหัสธรรมล้ำลึก” ซึ่งตีความตามจารีตคริสต์ศาสนาแล้ว นี่คือ “การทอน” พิธีบูชายัญมนุษย์และการปันสิ่งบูชายัญกันกินจากโลกอดีต

พระแท่นในโบสถ์ ที่จริงแล้วคือพระแท่นบูชายัญของชาวยิว ซึ่งสอดคล้องกับการบูชายัญของชาวโรมัน รูปแบบเช่นนี้จึงไปกันได้พอดิบพอดี แต่เครื่องบูชายัญและปันกันกินคือเลือดเนื้อของมนุษย์ (พระเจ้า) ที่ถูกทำให้เป็นเชิงสัญลักษณ์

ในปัจจุบันการกินมนุษย์เป็นเรื่องต้องห้าม (Taboo) แทบทุกสังคม แต่เราก็ทราบว่าในอดีตมีหลายสังคมที่สังเวยชีวิตมนุษย์เป็นพิธีกรรมสำคัญและเปลี่ยนมาใช้สัตว์สังเวยหรือไม่ก็ใช้สัญลักษณ์อะไรบางอย่างแทน จนถึงปัจจุบัน

นี่ทำให้ผมสงสัยบทบาทของ “ขนมเข่งขนมเทียน” ในพิธีไหว้เจ้าตรุษจีนเลยล่ะครับ หรือว่าจริงๆ แล้วเจ้านี่อาจมีความหมายมากกว่าที่เล่าๆ กัน เช่นว่ามันเหนียวหวานช่วยปิดปากเทพไม่ให้ฟ้องเรื่องไม่ดีของเรา หรือมันเป็นของกินยามยากของคนจีนอพยพจึงต้องไหว้สำนึกคุณ

ในบรรดาขนมไหว้นั้น ขนมเข่งขนมเทียนดูจะเป็นของโบราณที่สุดบนโต๊ะไหว้ เพราะส่วนประกอบ กรรมวิธีและสีสันหน้าตาเรียบง่ายสุด

ผมคิดว่าความสำคัญของมันประการแรก เพราะมัน ทำจาก “ข้าว” ซึ่งเป็นของสูงค่าและศักดิ์สิทธิ์ในวัฒนธรรมข้าว (เหล้าถึงพลอยเป็นสิ่งสูงค่าในพิธีเซ่นไหว้ด้วย เพราะต้องมีข้าวเหลือมากพอจึงจะหมักเล้าได้)

ลูกศิษย์ผมไปค้นคว้าว่า ที่เกาหลีใช้ “ขนมต๊อก” หรือขนมจากข้าวหลายรูปแบบในพิธีเซ่นไหว้ และฉลองนั้น เหตุผลง่ายๆ อย่างหนึ่ง ก็เพราะมันทำจากข้าวนี่แหละ

รูปร่างของขนมเข่งและขนมเทียนแทบจะเหมือนกันหมดทุกที่ ผมคิดว่ารูปร่างมันคล้ายๆ ขนมของคนจีนอีกชนิดนึงครับ คือ ขนมจู๋ขนมจิ๋ม (เจี๊ยลิ้วก๊วยและซากั๊กเล่าก๊วย) ซึ่งใช้ไหว้แม่ซื้อของเด็กจีน อันนึงจะกลมๆ มีปลาย อีกอันจะเป็นสามเหลี่ยม เหมือนจู๋กับจิ๋มของเด็กๆ

โดยปราศจากการค้นคว้าอย่างจริงจัง แต่ผมคิดว่า ขนมเข่งและขนมเทียนนั้น คือเครื่องพลีกรรม คล้าย “สิ่งแทนคน” อย่างขนมจู๋ขนมจิ๋มนั่นแหละครับ โดยทอนคนให้อยู่ในรูปสัญลักษณ์ทางเพศหรืออะไรแบบนั้น มันจึงต้องคู่กันในพิธีเสมอ ขาดไม่ได้

ที่สำคัญ ไหว้เสร็จก็ต้องปันกันกินนะครับ คือแจกจ่ายกันไป ทีแรกผมคิดว่าการปันกันนั้นเป็นธรรมเนียมเพราะความอารีอารอบเฉยๆ

แต่คิดไปคิดว่า การปันกันกินนั้นเป็น “พิธีกรรม” อย่างหนึ่งทีเดียว อย่างในศาสนาฮินดู เวลาไหว้เทพเจ้าแล้ว ถึงกับมีกำหนดว่าของไหว้นั้นจะต้องแบ่งปันกันเรียกว่า “เทวประสาท” คือเทพประทานให้ ไม่แบ่งปันกันนับว่าเป็นบาปโทษทีเดียว

การปันอาหารในทางหนึ่งก็เพื่อที่ชุมชนจะมีส่วนร่วมในความศักดิ์สิทธิ์เสมอกัน (แต่มีชนชั้นนะครับ เพราะหัวหน้าเผ่า พราหมณ์หรือเจ้านายจะได้รับส่วนแบ่งก่อน) ในขณะเดียวกันมันก็สัมพันธ์กับการผลิตอาหารที่มีจำนวนจำกัด ไม่เหมือนอย่างปัจจุบันที่มีอาหารเหลือเฟือ

การปันอาหารจึงช่วยให้ชุมชนมีโอกาสมากขึ้นที่จะรอด และนำมาสู่การทำให้การปันอาหารเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์หรือพิธีกรรม

แต่ในปัจจุบันที่อาหารเหลือเฟือแล้วนั้น เราคงไม่ได้ปันอาหารเพราะมันสำคัญต่อชุมชนอีกแล้ว แต่หลายครั้งเราคงปันเพื่อผลประโยชน์หรือเอาหน้าด้วย