โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ/เหรียญ ‘พระแก้วมรกต’ หลังพระปรมาภิไธย ภปร ฉลองรัตนโกสินทร์ 200 ปี

พระแก้วมรกต

โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ [email protected]

เหรียญ ‘พระแก้วมรกต’

หลังพระปรมาภิไธย ภปร

ฉลองรัตนโกสินทร์ 200 ปี

 

ในปี พ.ศ.2525 เป็นปีมหามงคล “กรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี” ได้มีการตระเตรียมการจัด “งานฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี” อย่างยิ่งใหญ่

และหนึ่งในภารกิจสำคัญคือ การบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน

ในการนี้ คณะกรรมการได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานจัดสร้าง “เหรียญพระแก้วมรกตหลัง ภปร” ขึ้นเป็นการเฉพาะ เพื่อเป็นที่ระลึกและสมนาคุณแก่ผู้ที่ต้องการร่วมบริจาคสมทบทุนโดยเสด็จพระราชกุศลในการบูรณะครั้งนี้

“เหรียญพระแก้วมรกต ภปร ฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี พ.ศ.2525” ลักษณะเหรียญเป็นแบบกลมแบน มีขอบ

ด้านหน้า เป็นรูปพระแก้วมรกต ประทับนั่งบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย มีผ้าทิพย์ห้อย ใต้ฐานบัวมีหอยสังข์ ด้านข้างองค์พระมีพานพุ่มทั้งสองด้าน

ด้านหลัง ตรงกลางเป็นตราสัญลักษณ์พระปรมาภิไธยย่อ “ภปร” ขอบรอบเหรียญ เขียนคำว่า “ฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พ.ศ.๒๕๒๕”

เมื่อการจัดสร้างเหรียญแล้วเสร็จสมบูรณ์ ประกอบพระราชพิธีพุทธาภิเษก วันที่ 13 กรกฎาคม 2524 ณ พระอุโบสถวัดพระแก้ว โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จฯ มาเป็นองค์ประธาน

เหรียญพระแก้วมรกต ภปร (หน้า-หลัง)

 

สําหรับพระเกจิอาจารย์ที่เข้าร่วมพิธีปลุกเสกที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามเมื่อปี พ.ศ.2524 ล้วนแต่เป็นพระเถระผู้ใหญ่ชื่อเสียงโด่งดังในยุคนั้น

อาทิ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร เมื่อครั้งยังทรงดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวัฑฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ, พระมงคลราชมุนี (สุพจน์ โชติปาโล) วัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพฯ, พระราชสังวรญาณ (สนิท ถิรสินิทโธ) วัดศีลขันธาราม อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง, หลวงพ่อถิร วัดป่าเลไลยก์ อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี, หลวงพ่ออุตตมะ อุตฺตมังกโร วัดวังก์วิเวการาม อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าเหรียญที่จัดสร้างจำนวน 1,000,000 เหรียญ ถูกจองหมดอย่างรวดเร็ว

ประชาชนถึงเรียกร้องให้คณะกรรมการดำเนินงานการจัดสร้างเพิ่มเติมอีก

คณะกรรมการจึงต้องกราบบังคมทูลขอพระราชทานสร้างชุดที่ 2 ขึ้น ทั้งนี้ พระองค์พระราชทานพระราชวินิจฉัยโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มข้อความ “พระราชศรัทธา” ไว้ใต้ตราสัญลักษณ์พระปรมาภิไธยย่อ “ภปร” เพื่อจำแนกระหว่างการสร้าง “ครั้งแรก” กับ “ครั้งที่สอง” และประกอบพระราชพิธีพุทธาภิเษก วันที่ 9 ธันวาคม 2524

จากการสร้าง “เหรียญพระแก้วมรกต ภปร” ทั้งสองครั้งนี้ ทำให้เหล่าพสกนิกรชาวไทยร่วมสมทบทุนโดยเสด็จพระราชกุศล เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้นถึง 220 ล้านบาทเศษ ส่งผลให้งานบูรณปฏิสังขรณ์ “วัดพระศรีรัตนศาสดาราม” สำเร็จลุล่วงทัน “งานเฉลิมฉลองสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี” ที่มีขึ้นในปีต่อมา

นับเป็นความภาคภูมิใจอย่างหาที่สุดมิได้

 

“พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร” หรือ “พระแก้วมรกต” เป็นพระประธานคู่บ้านคู่เมืองปางสมาธิ ทำด้วยมณีสีเขียวเนื้อเดียวกันทั้งองค์ หน้าตักกว้าง 48.3 เซนติเมตร สูงตั้งแต่ฐานถึงยอดพระเศียร 66 เซนติเมตร ประดิษฐานอยู่ในบุษบกทองคำ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพฯ

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พอรวบรวมได้ว่า องค์พระแก้วมรกตสร้างขึ้นในประมาณปี พ.ศ.500 โดยพระนาคเสนเถระ เมืองปาฏลีบุตร อินเดีย เข้ามาสู่ดินแดนของไทยครั้งแรกในอาณาจักรอโยธยา

จากนั้นอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดพระแก้วเมืองชากังราว หรือกำแพงเพชร จากกำแพงเพชรได้อัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดพระแก้วเชียงรายเป็นเวลา 45 ปี จากนั้นก็อัญเชิญลงมาประดิษฐานที่ลำปางอีก 32 ปี จากลำปางอัญเชิญขึ้นเหนือไปประดิษฐานที่วัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่ เป็นเวลา 85 ปี

จากเชียงใหม่ไปประดิษฐานที่เมืองเวียงจันทน์ 225 ปี แต่เก่าก่อนตอนปลายสมัยอยุธยา เมืองเวียงจันทน์ตกเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยา ครั้งเมื่อกรุงศรีอยุธยามีศึกหนักกับพม่าจนตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า ทางเวียงจันทน์ถือโอกาสแข็งเมืองแยกตัวเป็นอิสระ

จนกระทั่งพระเจ้าตากกอบกู้เอกราชและตั้งราชธานีใหม่ จึงได้ส่งเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกไปตีเมืองเวียงจันทน์ให้กลับมาเป็นเมืองขึ้นเหมือนเดิม ศึกครั้งนั้นทัพของเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้รับชัยชนะโดยเด็ดขาด ก่อนได้อัญเชิญพระแก้วมรกตกลับคืนสู่แผ่นดินไทย

ครั้งแรกเมื่ออัญเชิญพระแก้วมรกตกลับมายังประเทศไทยในสมัยกรุงธนบุรี อัญเชิญประดิษฐานไว้ที่วิหารน้อยวัดอรุณราชวราราม ประดิษฐานอยู่ที่วัดอรุณฯ เป็นเวลา 5 ปี

เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เมื่อชนะศึกเมืองเวียงจันทน์ อัญเชิญพระแก้วมรกตกลับมาก็เกิดความยินดี ดั่งว่าพระแก้วมรกตเป็นพระคู่บารมีคู่บ้านคู่เมือง ครั้นเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ได้สำเร็จ และตั้งเมืองขึ้นใหม่มีชื่อว่ากรุงรัตนโกสินทร์

รวมระยะเวลาที่องค์พระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ.2321 จนถึงปัจจุบันนี้เป็นเวลา 227 ปี