ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 25 - 31 ตุลาคม 2562 |
---|---|
คอลัมน์ | มองบ้านมองเมือง |
ผู้เขียน | ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ |
เผยแพร่ |
มองบ้านมองเมือง/ปริญญา ตรีน้อยใส
โรงแรมศาลเจ้า
พาไปมองโรงแรมมาแล้วหลายแห่ง ทั้งริมนาริมน้ำ ทั้งริมดอยริมทะเล ทั้งในเมืองนอกเมือง แต่ก็ยังไม่เคยมองศาลเจ้าที่กลายมาเป็นที่พักแรม
แน่นอน โรงแรมศาลเจ้าแห่งนี้ไม่ได้อยู่ในบ้านเรา หากอยู่ไกลไปถึงสิงคโปร์ ชื่อ อมอยโฮเต็ล Amoy Hotel ([email protected]) เป็นโรงแรมเล็กๆ อยู่ในย่านไชน่าทาวน์ ติดกับศูนย์กลางธุรกิจใหม่
เจ้าของโรงแรมคงจะเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ ที่มีโครงการคอนโดมิเนียม สำนักงาน หรือศูนย์การค้า รวมทั้งโรงแรมขนาดใหญ่หลายแห่งในบริเวณใกล้เคียง โรงแรมเล็กๆ ไม่ถึงสามสิบห้องแห่งนี้คงเป็นภาคบังคับ เพราะอยู่ในย่านตึกแถวรุ่นเก่า ที่เขากำหนดให้เป็นย่านอนุรักษ์
สถาปนิกจึงหาวิธีปรับปรุง ต่อเติม ดัดแปลงใช้ประโยชน์
โรงแรม คือตึกแถวสูงสองสามชั้น หลายคูหา ทางเข้าโรงแรมหลัก เลยต้องเดินผ่านศาลเจ้าโบราณ เลยไม่ต้องทำซุ้มทำศาลาเหมือนโรงแรมบ้านเรา เพราะอย่างไรก็สวยงามแปลกตาอยู่แล้ว
ส่วนทางเข้าอีกด้านหนึ่ง คือทางเดินระหว่างตึกแถวที่มีอยู่เดิม เพียงแค่มุงหลังคากระจกใสเพิ่ม แต่เมื่อเป็นทางสาธารณะ จึงมีใครต่อใครเดินผ่านไปผ่านมา โรงแรมเลยดูคึกคักมากขึ้น
ที่นั่งพักรอและเคาน์เตอร์ต้อนรับ จะอยู่ตรงพื้นที่ว่างหลังตึกแถว ที่ด้านหน้าจะหันออกถนนคนละด้าน ใช้วิธีมุงหลังคากระจกสูงเพื่อให้โปร่งโล่ง ยังมีร้านอาหารญี่ปุ่นและลิฟต์โดยสารรวมอยู่ในพื้นที่เดียวกัน
ห้องพักที่อยู่ชั้นบนของตึกแถวหลายคูหา ทำให้ทางเดินวกวนไปมา ต่างไปจากโรงแรมมาตรฐานทั่วไป คนที่มาพักเลยสนุก เพราะต้องจำให้ได้ว่า เลี้ยวซ้าย-ขวากี่ครั้ง กว่าจะถึงห้องพัก
ภายในห้องพักยังมีลักษณะพิเศษคือ จากระดับทางเดินหน้าห้อง จะต่อเนื่องเข้าไปในห้องส่วนที่เป็นห้องอาบน้ำ ห้องส้วม และอ่างล้างหน้า แล้วค่อยลงบันไดสองชั้น ไปถึงส่วนนอน ที่ตั้งเตียงชิดติดหน้าต่างบานเดียว เพราะห้องมีขนาดกว้างเพียงสองเมตรเท่านั้น
นั่นหมายความว่า ตึกแถวหนึ่งคูหา แบ่งเป็นห้องพักสองห้อง และที่ต้องเป็นห้องต่างระดับ ก็เพราะต้องยกพื้นสูงเพื่อเดินงานระบบน้ำ-ไฟนั่นเอง
จึงกลายเป็นว่า ด้วยข้อจำกัดต่างๆ เลยทำให้ห้องพักเล็กกะทัดรัด น่าสนใจ โดยเฉพาะห้องพักต่างระดับ ดูแปลกตา
ห้องพักแต่ละห้องยังมีขนาดและรูปร่างแตกต่างไป ตามสภาพของตึกแถวเดิม
แต่ด้วยวิธีการก่อสร้าง การออกแบบระบบประกอบอาคาร ทั้งแสงสว่าง ระบบกันเสียง กันไฟ ทำให้ห้องพักเงียบสงบ สะดวกสบาย ปลอดภัย ทั้งๆ ที่ชั้นล่างเป็นร้านค้า และบนถนนมีรถยนต์วิ่งวุ่นวายทั้งวันทั้งคืน
นอกจากห้องอาหารญี่ปุ่นอยู่ชั้นล่าง ชั้นล่างๆ ที่เป็นห้องแถวริมถนน ก็จะเป็นร้านค้า ร้านอาหาร เหมือนตึกแถวริมถนนทั่วไป
ดังนั้น สำหรับอาหารเช้า แทนที่ผู้พักแรมจะต้องทานอาหารเช้าแบบมาตรฐานในโรงแรม ด้วยจำกัดเรื่องพื้นที่ จึงมีโอกาสออกไปลิ้มรสอาหารเช้าจากร้านอาหารชื่อดัง Dean & Deluca ที่ตั้งอยู่ใกล้กัน ที่กลายเป็นอีกหนึ่งจุดขายสำคัญ ด้วยเป็นที่พอใจของผู้พักแรม
ขณะเดียวกันยังเป็นเรื่องประหยัดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการเรื่องอาหารเช้า
โรงแรมหลังศาลเจ้า ในตึกแถว นอกจากจะสวยงาม ยังแปลกต่างไปจากโรงแรมทั่วไป ทั้งตัวห้องพักและการบริการ
จึงเป็นอีกกรณีศึกษา ที่แสดงให้เห็นว่า ถ้าสถาปนิกและผู้บริหารมีฝีมือแล้ว วิกฤตจะกลายเป็นโอกาสทันที