ภาพยนตร์/นพมาส แววหงส์/OFFICIAL SECRETS ‘สงคราม’

นพมาส แววหงส์

ภาพยนตร์/นพมาส แววหงส์

OFFICIAL SECRETS

‘สงคราม’

 

กำกับการแสดง Gavin Hood

นำแสดง Kiera Knightley Matthew Goode Matt Smith Rhys Ifans Ralph Fiennes Jeremy Northam Adam Bakri

 

เตือนความจำกันด้วยการเกริ่นนำถึงภูมิหลังและความเป็นมาของหนังเรื่องนี้อย่างย่นย่อก่อนนะคะ

ภูมิภาคตะวันออกกลางร้อนระอุจนกระทั่งลุกเป็นไฟ โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์วันที่ 11 กันยายน ค.ศ.2001 หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า 9-11 ซึ่งมีการโจมตีบนแผ่นดินสหรัฐด้วยเครื่องบินที่ถูกบังคับให้บินชนตึกระฟ้าเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์และอีกหลายเหตุการณ์

ภาพเครื่องบินโดยสารบินเข้าชนตึกสูงในวันนั้นยังติดตาผู้คนทั่วโลกที่ตกตะลึงตาค้างกับข่าวล่ามาเร็วที่เล่นซ้ำแล้วซ้ำอีกนับครั้งไม่ถ้วน

ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช จับมือกับพันธมิตรหลายประเทศ โดยเฉพาะสหราชอาณาจักรภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีโทนี่ แบลร์ ประกาศท่าทีแข็งกร้าวและจุดยืนชัดเจนที่จะกำจัดภัยคุกคามความมั่นคงของโลกเสรี

ซัดดัม ฮุสเซน ประธานาธิบดีของอิรัก ก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นคนสำคัญในโลกที่กำลังร้อนเป็นไฟนี้

อิรักถูกกล่าวหาว่าครอบครองอาวุธมหาประลัย โดยเฉพาะอาวุธชีวภาพที่สามารถทำลายล้างผู้คนจำนวนมาก แบบที่เรียกว่า weapon of mass destruction (WMD)

และมหาอำนาจของโลกเสรีผู้ตั้งตัวเป็นผู้ป้องปรามและปราบปรามอันตรายที่กำลังคุกคามโลกอยู่ มีประธานาธิบดีบุชและนายกรัฐมนตรีแบลร์ผนึกกำลังกันหว่านล้อมพันธมิตรและขอมติของสมัชชาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เพื่อเข้ารุกรานอิรักในต้นปี ค.ศ.2003

มติของสหประชาชาติจะทำให้การส่งกองกำลังเข้ารุกรานประเทศใดประเทศหนึ่งกลายเป็นเรื่องที่ถูกกฎหมาย

และผู้นำอเมริกันและอังกฤษกำลังหาหนทางทำให้สมัชชาความมั่นคงลงมติสนับสนุนการใช้แสนยานุภาพครั้งนี้

 

เหตุการณ์ในหนัง Official Secrets มีท้องเรื่องเกิดในอังกฤษ โดยมีจุดเริ่มต้นอยู่ที่พนักงานแปลตัวเล็กๆ คนหนึ่งในหน่วยงานข่าวกรองของอังกฤษที่ชื่อว่า Government Communications Headquarters

เป็นหน่วยงานสอดส่องและรวบรวมข่าวกรองจากการสื่อสาร

พูดง่ายๆ คือแอบฟังการสื่อสารทางโทรศัพท์ของบุคคลที่ตกเป็นเป้า

นี่คือหน่วยงานจารกรรมรูปแบบหนึ่งของรัฐ วันๆ พนักงานผู้มีความเชี่ยวชาญในภาษาต่างๆ ลอบฟังเสียงพูดคุยทางโทรศัพท์ ภายใต้คำสั่งของผู้บังคับบัญชา

และพนักงานตกอยู่ใต้ข้อกำหนดของพระราชบัญญัติว่าด้วยความลับของราชการ ซึ่งห้ามการรั่วไหลของข้อมูลข่าวสารไปสู่การล่วงรู้ของสาธารณชน

แคเธอรีน กัน (เคียรา ไนต์ลีย์) เป็นนักแปลภาษาในสังกัดหน่วยงานข่าวกรองนี้

วันหนึ่งเธอกับเพื่อนร่วมงานได้รับบันทึกช่วยจำซึ่งลงนามโดยเจ้าหน้าที่ระดับหัวหน้าของหน่วยงานความมั่นคงของสหรัฐให้คอยดักฟังเสียงสนทนาของบุคคลที่เป็นสมาชิกของสมัชชาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

เพื่อหาข้อมูลส่วนตัวหรือความลับทางการ ที่จะนำไปใช้แบล็กเมลประเทศเล็กๆ ที่เป็นสมาชิกที่มีสิทธิออกเสียงลงมติในสมัชชาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

พูดง่ายๆ คือ อังกฤษให้ความร่วมมือกับอเมริกา เพื่อขอมติของสหประชาชาติให้ส่งทหารเข้ารุกรานอิรักเพื่อประโยชน์สุขของชาวโลกได้โดยถูกต้องตามกฎหมายและกติกาสากล

เพื่อขับไล่หรือขจัดซัดดัม ฮุสเซน ผู้นำอิรัก ศัตรูตัวยงของมหาอำนาจฝ่ายโลกเสรี ออกไปให้พ้นทาง

แคเธอรีนซึ่งรู้สึกอย่างรุนแรงว่าประมุขของประเทศตนกำลังใช้วาทกรรมหลอกลวงประชาชนเพื่อสร้างความชอบธรรมในการทำสงครามอันจะสร้างความสูญเสียแก่ชีวิตผู้คนบริสุทธิ์จำนวนมากที่ต้องตกเป็นเหยื่อของสงครามจากเหตุอันไม่มีมูลครั้งนี้

ทั้งๆ ที่ตระหนักในข้อผูกมัดของหน้าที่การงานภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยความลับของราชการ ซึ่งกำหนดห้ามการรั่วไหลของข้อมูลในทุกรูปแบบ แคเธอรีนก็ไม่อาจต้านจิตสำนึกด้านมนุษยธรรมของตน และแอบเอาคำสั่งลับสุดยอดอันไม่ชอบธรรมนี้ไปเปิดเผยต่อสื่อมวลชน

จุดประสงค์คือเพื่อหยุดยั้งการสูญเสียเลือดเนื้อของเพื่อนร่วมโลก

พระราชบัญญัติว่าด้วยความลับของราชการที่ปรับปรุงแก้ไขใน ค.ศ.1989 ไม่ได้ยกเว้นการรั่วไหลของความลับแม้ด้วยจุดประสงค์ที่กระทำไปเพื่อสาธารณประโยชน์

แถมแคเธอรีนก็ยังเป็นบุคคลที่มีเรื่องส่วนตัวที่เป็นจุดอ่อนให้ถูกโจมตีฐานเป็นภัยต่อชาติได้ เนื่องจากเธอแต่งงานกับชาวมุสลิมผู้ลี้ภัยมาจากตุรกี

 

ข่าวที่รั่วไหลจากแคเธอรีนนี้เริ่มแพร่กระจายจากหนังสือพิมพ์ ดิออบเซอร์เวอร์ ซึ่งมีทัศนะสนับสนุนสงครามในทีแรก จากนักข่าวชื่อ มาร์ติน ไบรต์ (แมตต์ สมิธ) ซึ่งพยายามอย่างหนักที่จะยืนยันข้อมูลที่ตกมาถึงมือเขา และคลำทางไปจนพบว่าบุคคลที่เขียนบันทึกช่วยจำฉบับนั้นมีตัวจริงเสียงจริงอยู่ในองค์กรความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐ

และผลพวงจากการแฉเรื่องนี้ให้สาธารณชนรับรู้ คือแคเธอรีนได้ชื่อว่าเป็น “คนเป่านกหวีด” หรือ whistle blower ซึ่งทำให้เธออาจต้องถูกอัยการสูงสุดส่งฟ้องโทษฐานคนขายชาติ

หนังซึ่งเริ่มเปิดเรื่องที่ฉากแคเธอรีนถูกกล่าวหาในศาล และกำลังถูกถามว่าเธอจะอ้างอย่างไร มีความผิดหรือไม่มีความผิด

กล้องจับที่ใบหน้าของแคเธอรีนก่อนที่เธอจะอ้าปากตอบประเด็นที่ถูกถามนี้ และหนังย้อนกลับไปเล่าเหตุการณ์ที่เป็นมาก่อนหน้า

นี่คือเรื่องราวของแคเธอรีนที่กำลังถูกดำเนินคดีข้อหากบฏ

แต่อย่างไรก็ตาม หนังยังขยายไปครอบคลุมประเด็นที่น่าสนใจอื่นๆ ในเรื่องนี้

นั่นคือ เรื่องของนักหนังสือพิมพ์ที่แฉโพยการกระทำของหน่วยงานรัฐที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน เพื่อเจตนาจะขู่กรรโชกบุคคลแบบที่เป็นการกระทำที่น่ารังเกียจและน่าขายหน้าอย่างยิ่ง

รวมทั้งประเด็นการต่อสู้ของทนายความเพื่อแก้ต่างแก่ลูกความที่กระทำการที่ขัดต่อข้อกำหนดในตัวบทกฎหมายอย่างชัดเจน โดยชูประเด็นว่าสงครามที่รัฐประกาศต่อประเทศอื่นนั้นเป็น “สงครามที่ผิดกฎหมาย”

เนื่องจากเนื้อหาเบี่ยงเบนทิศทางไปพอสมควร จึงทำให้เรื่องราวการต่อสู้ของแคเธอรีนอ่อนกำลังลงพอควร กว่าจะดึงกลับมาสรุปแบบหักมุมในฉากสุดท้ายซึ่งเป็นฉากที่ปูไว้ตอนเปิดเรื่อง

 

นอกจากเคียรา ไนต์ลีย์ ซึ่งเป็นตัวเดินเรื่องแล้ว หนังใช้นักแสดงระดับแถวหน้าของอังกฤษหลายคน

รวมทั้งเรฟ ไฟน์ส ซึ่งเล่นเป็นทนายขอแรงที่เป็นตัวแทนของแคเธอรีน

เจเรมี นอร์ธัม ซึ่งเล่นเป็นอัยการที่เป็นนักการเมืองที่เลือกจุดยืนโดยไม่คำนึงถึงความบริสุทธิ์ยุติธรรม

แมตธิว กู๊ด แมตต์ สมิธ และริส ไอฟานส์ ซึ่งเล่นเป็นสื่อมวลชน

แต่ความมากหน้าหลายตานี้ทำให้ต้องเฉลี่ยบทบาทกันไปคนละนิดคนละหน่อย

ถ้าจะว่าไปแล้ว หนังเรื่องนี้มีเนื้อหามากพอที่จะแยกทำเป็นหนังได้ถึงสามเรื่องที่อาจจะเน้นหนักไปในทิศทางต่างๆ กัน

ประเด็นที่ก่อให้เกิดความรู้สึกน่าเสียดายที่สุดคือ เรื่องราวของ “คนเป่านกหวีด” ออกมาแฉให้เห็นแผนการน่าขยะแขยงในระดับสูงนี้ แทบไม่ส่งผลทางรูปธรรมใดเลย

การส่งทหารไปรุกรานอิรักก็ยังเกิดขึ้นอยู่ดี แม้จะไม่มีมติรับรองจากสหประชาชาติ และการไม่พบอาวุธมหาประลัยในการครอบครองของอิรัก ก็ไม่ส่งผลเป็นรูปธรรมเหมือนกัน เว้นแต่จะทำให้สหรัฐและอังกฤษหน้าแตกไปโดยไม่มีใครออกมารับผิดชอบ