หลังเลนส์ในดงลึก /ปริญญากร วรวรรณ /’ปัจจุบัน’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
กระทิง - ปลายฤดูฝน ก่อนเข้าสู่ฤดูแล้ง กระทิงส่วนใหญ่ใช้เวลาอยู่ไม่ไกลจากโป่งที่มีน้ำ

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘ปัจจุบัน’

ครั้งหนึ่ง ผมมีโอกาสร่วมงานกับทีมศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก ส่วนภาคใต้

พื้นที่ทำงานอยู่บริเวณทิวเขาบูโด

เป็นปีที่เหตุการณ์ความไม่สงบค่อนข้างรุนแรง “ความไม่สงบ” เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับผม นั่นไม่ใช่ปัญหาหรอก

ปัญหาจริงๆ ที่ทำให้ผมหวาดหวั่นทุกครั้ง คือเมื่อต้องเดินลุยป่าพรุตามหานกเงือกดำ ซึ่งมีสถานภาพหายากยิ่ง

การเดินในป่าพรุ ทำให้ผมบอกใครๆ เสมอว่า ตั้งแต่วินาทีแรกที่ก้าวเท้าลงไป ประสบการณ์การเดินป่าร่วม 20 ปีใช้ไม่ได้เลย

ขณะที่น้าพุด ชายวัยกลางคน ที่มีอาชีพหาของป่าในป่าพรุ เดินล่วงหน้าไปอย่างคล่องแคล่วว่องไว

นั่นคือครั้งที่สอง ซึ่งผมรู้สึกได้ว่า

สิ่งที่เราคิดว่ารู้ดี ชำนาญ มีประสบการณ์พอ เมื่อมาพบบางสถานการณ์ เราอาจไม่ต่างจากทารก

ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นครั้งแรก ครั้งที่ปีนหน้าผาตามบังอิด ชายผู้มีอาชีพเก็บรังนก ซึ่งนำผมไปตามหานกโจรสลัด

เมื่อมาทำงานในป่าทุ่งใหญ่

ป่าที่พื้นที่ มีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะสมกับการอยู่อาศัยของพืชและสัตว์

เป็นแหล่งอยู่อาศัยอันเหมาะสม แต่ไม่ได้หมายความว่าการพบตัวสัตว์ป่าจะง่ายดาย

ป่ากว้างใหญ่ แหล่งอาหารมีทั่วไป สัตว์ป่ากระจายไปทั่ว เฝ้ารอตามแหล่งอาหารของพวกมัน ต้องใช้เวลายาวนาน

เป็นอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งป่าแห่งนี้สอนผมว่า สิ่งที่ผม “รู้” มีไม่มากนัก…

 

นอกจากหลังช่วงเวลาไฟไหม้ทุ่งหญ้า และหญ้าระบัด เริ่มเขียวชอุ่ม อันเป็นช่วงเวลาที่การพบเจอฝูงกระทิงในทุ่งไม่ยาก

นี่เป็นโอกาสที่จะพบสัตว์ป่าโดยไม่ต้องซ่อนตัว

ช่วงเวลาอื่นๆ ผมใช้เวลาเฝ้ารอสัตว์ป่าอยู่บริเวณโป่งเล็กๆ

รออยู่กับความว่างเปล่า

เพื่อไม่ให้ในซุ้มบังไพรแคบๆ ว่างเปล่าเกินไป

จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใส่ความหวังไว้ข้างในนั้น…

 

บางวันผมจดบันทึกอย่างละเอียด

09.12  นาฬิกา คือเวลาที่นกกกสองตัวบินมาเกาะกิ่งแห้งต้นไม้

แสงอาทิตย์ในเดือนธันวาคมแรงจัด ช่วยให้อุณหภูมิ 12 องศาเซลเซียสในตอนเช้าเพิ่มขึ้นบ้าง

ตำแหน่งที่นกกกสองตัวนั้นอยู่ มีดวงอาทิตย์อยู่ด้านหลัง ผมปรับรูรับแสงกล้องให้แคบลง อีกเจตนาเพื่อให้ได้รูปนกกกเป็นเงาดำ

ในสถานการณ์ที่เหล่าสัตว์ป่ากำลังเผชิญ “วันพรุ่งนี้” ของพวกมันไม่สดใสหรอก อนาคตของสัตว์ป่าคือภาพขาวดำ

นกทั้งสองตัวกางปีกไซร้ขนทำความสะอาดร่างกาย ส่งเสียง “กก! กก!” ก่อนบินถลาออกไป

มีต้นไทรกำลังออกลูกสุกอยู่ใกล้ๆ ที่นั่นคล้ายเป็นศูนย์รวม

เสียงนกกกกึกก้องเมื่อพวกมันบินออกจากต้นไทรพร้อมๆ กัน เสียงปีกแหวกอากาศดังราวพายุ

 

09.40 นาฬิกา

รอบบริเวณเงียบเชียบ เสียงชะนีร้องไกลๆ สลับเสียงนกโพระดก นานๆ จึงมีเสียงนกกางเขนดงแทรกมา

เงยหน้ามองผ่านช่องเล็กๆ มองเข้าไปในโป่งที่ว่างเปล่า วันนี้ทั้งวันอาจพบกับสภาพนี้

มีเสียงกระรอก แต่เป็นท่วงทำนองปกติ ไม่ใช่สำเนียงการร้องเตือนว่ามีสัตว์ผู้ล่า หรือสัตว์ใหญ่เข้ามาใกล้ๆ

ชะนีเงียบเสียงไปแล้ว

อีกหลายชั่วโมงฟ้าถึงมืด

ดูเหมือนพื้นที่ในซุ้มบังไพรแคบๆ จะมีความว่างเปล่าเพิ่มขึ้น

 

ใกล้ถึงสิ้นปี ฤดูกาลเปลี่ยนจากฤดูฝนเป็นฤดูหนาวแล้ง แล้วอากาศเย็นจัด ช่วงเช้าตรู่ สภาพเส้นทางในป่าแห่งนี้ หลายช่วงแห้ง แต่หลายช่วงยังเป็นปลักโคลน

และคล้ายจะยากยิ่งขึ้น เพราะโคลนเริ่มแห้ง หรือที่เรียกว่า “กำลังหนืด”

นี่คืออุปสรรคอันเป็นบทเรียน

เจ้านิค พาหนะผมจอดอยู่ที่หน่วยพิทักษ์ป่า ในสภาพลูกปืนล้อและเพลาหน้าชำรุด ผ้าเบรกหมด ยางแก้มฉีกสองเส้น

สัปดาห์หน้าจะมีรถจากสำนักงานเขตเข้ามา อะไหล่รถจะเข้ามาตอนนั้น

คนทุ่งใหญ่หลายคนมีทักษะทางช่าง เกือบทุกคนดูแลและซ่อมแซมรถได้

“ขอให้มีอะไหล่เถอะ” จิตติ หัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่า เขาเกษียณในปีนี้บอก

“ถ้าไม่มีจริงๆ ก็หาจนได้แหละ” นั่นหมายถึง รถคันอื่นที่จอดใกล้ๆ อาจถูกขอยืมชิ้นส่วนไปใช้ก่อน

หลายครั้งเขาใช้ไม้แทนแหนบ รวมทั้งผ้าเบรก

“เอารถออกจากป่าไปก่อน อย่างอื่นค่อยว่ากัน” เขาบอกผม

ว่าตามจริง ผมกังวลกับการทำงาน เพราะก่อนเข้าป่า ผมสะสางต้นฉบับได้ไม่ดีนัก

รถเสียคืออุปสรรคอย่างหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ภายในสองวันนี้ ผมต้องออกไปที่สำนักงานเขตให้ได้ เพื่อส่งงาน

 

10.06 นาฬิกา

รายล้อมผม คือความเงียบ สถานการณ์ค่อนข้างแตกต่างจากเดือนที่แล้วมาก

ตอนนั้น ตลอดวัน กระทิงฝูงแวะเวียนเข้ามา

แม่กระทิงส่งเสียงร้องเรียกลูกเสียงดังได้ยินไปไกล พวกมันอยู่ในโป่งจนมืด ผมเฝ้าดูพวกมันจากความสว่างของคืนข้างขึ้น 14 ค่ำ

ผมเดินกลับแคมป์ไปตามด่านเล็กๆ

ป่าถูกห่มคลุมด้วยแสงจันทร์นวล

 

10.39 นาฬิกา

ผมหยุดเขียนไปราว 10 นาที มีเก้งตัวผู้และตัวเมียเข้ามาในโป่ง

มันคลอเคลีย ก้มลงกินน้ำอย่างไม่ระแวง ตัวผู้สีที่หลังคอและโคนขาเป็นสีคล้ำ นี่เป็นฤดูแห่งความรัก ตัวผู้ย่อมดูดีเป็นพิเศษ

ต้องทำตัวให้ดูดี แข็งแรง เพื่อให้ตัวเมียเลือก ไม่ใช่งานสบายนักหรอก

11.34 นาฬิกา เก้งเดินหางกระดก หันหน้า หันหลัง จากไปช้าๆ

นกหกเล็กปากแดง 2-3 ตัว ก็บินจากไปด้วย

โป่งตกอยู่ในความว่างเปล่า

 

12.30 นาฬิกา

ผมเปิดวิทยุสื่อสาร ได้ยินเสียงสถานีวิทยุแม่ข่ายแจ้งว่า พรุ่งนี้จะมีรถจากหน่วยพิทักษ์ป่าที่อยู่ไกลสุด จะออกไปสำนักงานเขต

ถ้าการเดินทางราบรื่น รถจะผ่านหน่วยพิทักษ์ป่า ผมจะติดรถออกไปที่เขตเพื่อส่งงานด้วย

แต่อีกหลายชั่วโมงจึงจะถึงพรุ่งนี้

ผมดูนาฬิกา 12.39 นาฬิกา

นี่คือเวลาปัจจุบัน

โป่งจะว่างเปล่า หรือมีตัวอะไรอยู่ อาจไม่ใช่สาระ

พรุ่งนี้ยังมาไม่ถึง เมื่อวานก็ผ่านไปแล้ว

ความสำคัญคงอยู่ที่การอยู่ ณ เวลานี้

และ “ความหวัง” จะช่วยทำให้ซุ้มบังไพรใน “ปัจจุบัน” ไม่ว่างเปล่าเกินไป