การชี้นิ้วของ “นัตโบโบยี” กับพระเจ้าชี้นิ้วที่เชียงตุง

เพ็ญสุภา สุขคตะ

การที่ดิฉันนำเรื่องราวของสองสิ่งนี้ (นัตโบโบยียืนชี้นิ้ว กับพระชี้นิ้วที่เชียงตุง) มาเปรียบเทียบกันนั้น ก็เนื่องมาจากในช่วงไม่เกิน 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ได้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ในวงการทัวร์พม่า ด้วยการอุปโลกน์เอาเรื่องผีเรื่องพระที่ทำสัญลักษณ์ชี้นิ้วคล้ายกัน (แต่มีที่มาต่างกัน) มาสร้างเป็น “จุดขาย” ให้คนแห่แหนเดินทางไปกราบไหว้ขอพรได้ ไม่แตกต่างกันเลย

เทรนด์ของการแห่ไปสักการะ “เทพทันใจ” หรือการไปยืนใต้เงาพระพุทธรูปสูงตระหง่านให้ศีรษะของเราตรงกับจุด “ปลายนิ้วชี้” นี้ เกิดขึ้นมาได้อย่างไร

 

จากนัตโบโบยี กลายเป็นเทพทันใจ

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในฉบับก่อนว่า “นัต” (วิญญาณที่ตายเฮี้ยน) แต่ละตนนั้นต้องมีการสร้างรูปลักษณ์หรือสัญลักษณ์ให้แตกต่างเพื่อง่ายต่อการจดจำ นัตโบโบยีก็เช่นกัน มีสัญลักษณ์พิเศษด้วยการถือไม้เท้าและ “ยืนชี้นิ้ว”

ไม้เท้า (ธารพระกร) เป็นหนึ่งในเครื่องราชกกุธภัณฑ์ สัญลักษณ์ของพระจักรพรรดิราช ซึ่งในทางธรรมก็คือ พระพุทธเจ้า นัตโบโบยีถือเป็นผู้อาวุโสที่ได้รับมอบหมายให้เฝ้าดูแล

ส่วนการชี้นิ้วก็มิใช่เพื่อประทานพรผู้คนให้ร่ำให้รวย หากแต่เป็นการชี้บอกทางไปยัง “ดอยสิงกุตตระ” สถานที่ที่จะสร้างพระมหาธาตุชเวดากองนั่นเอง

เพราะพระมหาธาตุชเวดากอง เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าทั้ง 5 ในภัทรกัป โดยที่นัตโบโบยี ต้องช่วยทำหน้าที่คอยบอกทางไปสู่สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ให้แก่ผู้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาทั้ง 5 ครั้ง

ดังนั้น ชาวมอญ-พม่าจึงสร้างรูปนัตตนนี้ไว้ก่อนถึงพระมหาธาตุชเวดากอง จุดนี้เองกระมังที่เมื่อนักท่องเที่ยวชาวไทยไหลหลั่งไปกราบนมัสการพระมหาธาตุชเวดากองเสร็จแล้ว ก็ต้องผ่านพบนัตโบโบยีด้วย

แทนที่จะมองนัตโบโบยีเป็นวิญญาณของ “พ่อปู่” หรือ “เสื้อวัด” กลับไปให้คำนิยามการชี้นิ้วนั้นใหม่ จากนิ้วชี้สถานที่สร้างพระมหาธาตุ กลายเป็น “นิ้วประทานพร” ให้โชคให้ลาภ ให้ร่ำให้รวยไปเสียนี่

ซ้ำยังไม่ยอมให้เรียก “นัต” ซึ่งหมายถึงวิญญาณหรือ “ผีอารักษ์” อีกด้วย แต่ใช้วิธีเปลี่ยนชื่อใหม่ให้เป็น “เทพทันใจ” โดยไปหยิบเอาคำว่า “ทันใจ” มาจาก “พระเจ้าทันใจ” ของวงการพุทธศิลป์ล้านนามาผสมกันด้วยอีกชั้นหนึ่ง

ซึ่งคำว่า “พระเจ้าทันใจ” เอง ผู้คนก็ไขว้เขวกันมาเปลาะหนึ่งแล้ว คือคิดว่าสร้างขึ้นเพื่อให้คนขอพรมุ่งหวังความสำเร็จแบบปุบปับฉับพลัน ทันตาทันใจ

ทั้งๆ ที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้อธิบายไว้แก่ศิษยานุศิษย์อย่างละเอียดแล้วว่า การสร้างพระเจ้าทันใจก็เพื่อใช้เป็นกุศโลบาย “ทดสอบความสามัคคี” ของคนในชุมชนว่าจะสามารถทำสิ่งเล็กๆ ร่วมกันสำเร็จหรือไม่ ก่อนที่จะคิดทำการใหญ่

ครูบาเจ้าศรีวิชัยจึงกำหนดให้ช่วยกันหล่อพระพุทธรูปขึ้นองค์หนึ่ง ระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก หากหล่อสำเร็จก็สะท้อนว่า อุปสรรคแม้จักหนักหนาเพียงไรก็ไม่พ้นความพยายามของคนในชุมชนที่จะช่วยกันฟันฝ่า

ไม่ว่าใครจะนิมนต์ให้ครูบาเจ้าศรีวิชัยไปช่วยเป็นประธาน “นั่งหนัก” สร้างวัดในที่ใดก็แล้วแต่ ก่อนที่ท่านจะลงมือสร้าง ท่านมักใช้กุศโลบายทดสอบความสามัคคีของหมู่คณะด้วยการขอให้ช่วยกันทดลองสร้างพระเจ้าทันใจสัก 1-3 องค์ขึ้นก่อนเสมอ

จนกระทั่งตัวท่านครูบาเจ้าศรีวิชัยเองก็ได้รับฉายาว่า “ครูบาทันใจ” ด้วยอีกนามหนึ่ง

ในเมื่อ “พระเจ้าทันใจ” ที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยบัญญัติขึ้น มีความหมายว่า “คนขยัน รู้รักสามัคคีเท่านั้น จึงจะทำการใหญ่ได้สำเร็จ” ฉะนี้แล้ว จู่ๆ จะให้ “เทพทันใจ” ที่เพิ่งถูกอุปโลกน์กันขึ้นมาไม่เกิน 20 ปี มีความหมายว่าอย่างไรล่ะหรือ

รู้ทั้งรู้ว่า “นิ้วที่ชี้” นั้น คือสัญลักษณ์แห่งการเชื่อมโยง “พุทธันดร” ระหว่างพระพุทธเจ้าองค์ต่างๆ ในภัทรกัปเข้าไว้ด้วยกัน แต่ก็ไม่วายไปตีความว่า นิ้วของเทพทันใจนั้นหมายถึง การดลบันดาลโชคลาภ และการประทานความสำเร็จให้ผู้กราบไหว้

 

ปางชี้อสุภ หรือการสาปแช่ง?

ในเชียงตุง รัฐฉาน ประเทศพม่า มีหนองน้ำขนาดใหญ่กลางเมืองเรียกว่า “หนองตุง” ใกล้กับหนองตุงมีวัดแห่งหนึ่งชื่อจอมสัก ถือเป็น 1 ใน 3 จอม ที่นักท่องเที่ยวต้องไปนมัสการให้ครบ ประกอบด้วย วัดจอมมน บ้างเรียกจอมมอญ วัดนี้มีต้นไม้หมายเมืองคือต้นยางใหญ่, วัดจอมคำ และวัดจอมสัก

วัดจอมสักเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวทุกคนต้องไปชมด้วยความตื่นตะลึงเพราะมี “พระเจ้าชี้นิ้ว” ดูแปลกตา ด้วยขนาดของพระพุทธรูปที่สูงใหญ่ มองเห็นโดดเด่นแต่ไกล นักท่องเที่ยวมักไปยืนอยู่ให้ศีรษะของตนอยู่ในตำแหน่งพอดีกับนิ้วมือที่ชี้ตกลงมา โดยได้ข้อมูลจากไกด์ชาวไทยมาว่า การทำเช่นนี้จะได้รับพรจากองค์พระแบบเต็มๆ

ทำให้ต่างคนต่างมะรุมมะตุ้มยืนต่อคิวกันแน่น ต่างคนต่างพยายามขยับตัวไปมาเพื่อหาจุดที่จะให้นิ้วของพระพุทธรูปชี้ลงบนหัวของตนพอดิบพอดี จากนั้นก็จะได้ยินเสียงกดชัตเตอร์จากมือถือ

ในขณะที่ไกด์พม่าไม่ค่อยชอบใจนัก อธิบายว่าแท้ที่จริงแล้วนิ้วมือที่ชี้นั้น เป็นสัญลักษณ์แห่งการสาปส่งชาวเชียงตุง (ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทขึน คนละชาติพันธุ์กับพม่า) ให้ตกอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของพม่านิรันดร์ไป

ไกด์พม่ากระซิบบอกว่า พระชี้นิ้วเป็นพระพุทธรูปที่ทหารพม่าเพิ่งสร้างขึ้นใหม่ได้ไม่กี่ปีนี้เอง นิ้วที่ชี้นั้นพุ่งเล็งเป้าไปยังโรงแรมกลางเมือง ซึ่งครั้งหนึ่ง 100 ปีก่อนเคยเป็น “หอคำ” ของเจ้าฟ้าเชียงตุงองค์สุดท้าย คือเจ้าฟ้าก้อนแก้วอินทร์แถลง หอคำหลังนี้สร้างในยุค Colonial หรือยุคล่าอาณานิคม แต่ต่อมาได้ถูกทหารพม่าเผาทำลาย แล้วสร้างเป็นโรงแรมครอบทับสถานที่เดิม เสมือนทำลายความศักดิ์สิทธิ์และย่ำยีจิตวิญญาณของชาวเชียงตุง

เมื่อเราได้พูดคุยกับชาวเชียงตุงในพื้นที่แล้ว ทุกคนบอกว่า ไม่ชอบพระเจ้าชี้นิ้วองค์นี้เลย คงหลอกขายได้เฉพาะแต่นักท่องเที่ยวชาวไทยเท่านั้น

แล้วไฉนดิฉันจึงโปรยหัวเรื่องตอนนี้ว่าเป็น “ปางชี้อสุภ” (อ่านว่า อะ-สุ-ภะ) แปลว่า สิ่งไม่งาม สิ่งที่มองแล้วชวนให้สังเวชใจ

เนื่องจากดิฉันเห็นว่าท่ายืนชี้นิ้วดังกล่าว พ้องกับพระพุทธรูปปางหนึ่ง ที่สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส ได้ทรงบัญญัติ “มุทรา” หรือปางของพระพุทธรูปไว้ว่ามีทั้งสิ้น 66 ปาง นั่นคือ “ปางชี้อสุภ” โดยอธิบายว่า

เป็นพระอิริยาบถยืน พระกรซ้ายห้อยข้างพระวรกาย พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอบั้นพระองค์ ชี้ดัชนี (นิ้วชี้) เป็นกิริยา “ชี้อสุภ” โดยมีการยกเอาพุทธประวัติตอนหนึ่งขึ้นมาประกอบว่า

“ในกรุงราชคฤห์มีหญิงนครโสเภณีรูปงามชื่อ สิริมา เป็นน้องสาวของหมอชีวกโกมารภัจจ์ ครั้นนางได้เฝ้าพระพุทธองค์จึงเลิกอาชีพโสเภณี ฝักใฝ่ในบุญกุศล ต่อมานางเจ็บป่วยเป็นโรคปัจจุบันตอนเช้า ตายในตอนค่ำ พระพุทธองค์โปรดให้ปล่อยศพนั้นไว้ 3 วันก่อนเผา เพื่อให้ผู้คนเห็นว่า เมื่อตายเป็นศพขึ้นอืด น้ำเหลืองไหลจากทวารทั้งเก้า กลิ่นศพเหม็นคลุ้งตลบสุสาน แสดงให้เห็นถึงความไม่ยั่งยืนแห่งสังขารของสรรพสัตว์ทั้งปวง”

กล่าวโดยสรุปก็คือ เป็นปางที่พระพุทธเจ้ายืนชี้ไปที่ซากศพของหญิงงาม เพื่อให้เกิดการปลงอสุภกรรมฐาน

แล้วในเมืองไทยมีการทำพระพุทธปฏิมาปางชี้อสุภกันมากน้อยเพียงใด เท่าที่ตรวจสอบพบว่ามีน้อยมาก ไม่ใช่ปางที่นิยม ผิดกับการแสดงเรื่องราวทำนองเดียวกันนี้ด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนัง พบเห็นบ่อยครั้งกว่า

แล้วพระชี้นิ้วที่วัดจอมสัก เชียงตุง จะเรียกว่า ปางชี้อสุภ ได้หรือไม่ ในเมื่อเจตนาของผู้สร้าง (ทหารพม่า) ตั้งใจจะย่ำยีคนไทขึนเมืองเชียงตุงให้โงหัวไม่ขึ้นมิใช่หรือ?

อีกทั้งการที่เราไปยืนอยู่ใต้นิ้วชี้นั้นจะเป็นมงคลหรือไม่ ไม่ว่าจะตีความว่านี่คือปางชี้อสุภ หรือตีความว่าเป็นปางสาปแช่งชาวเชียงตุง ก็ล้วนแล้วแต่สื่อความหมายไปในทางไม่ค่อยดี

ในความเป็นจริงนั้น เราต่างก็ไม่มีใครทราบถึงเจตนาของผู้สร้างพระชี้นิ้วองค์ดังกล่าว ว่าตั้งใจจะให้เป็นปางอะไรแน่ หากต้องการให้เป็นปางชี้อสุภจริง ก็ต้องถามต่อไปอีกว่า “อสุภ” ที่ว่านั้นคือสิ่งไร อยู่ที่ไหน ในเมื่อนิ้วชี้ไปยังทิศที่เคยเป็นหอคำ ย่อมอดไม่ได้ที่จะให้ชาวไทขึนเมืองเชียงตุงหวาดระแวงเรื่องการสาปแช่งพวกเขา

เห็นได้ว่ารูปเคารพเพียงองค์เดียว สามารถให้นิยามได้หลายความหมาย ขึ้นอยู่กับการตีความของผู้คนแต่ละกลุ่ม แล้วนำมาสร้างคำอธิบายหาเหตุผลประกอบให้ผู้ฟังเกิดอาการคล้อยตาม

มุมหนึ่งก็เห็นใจคนทำงานในสายท่องเที่ยว ท่ามกลางยุคสมัยที่เศรษฐกิจตกต่ำย่ำแย่ขั้นขีดสุด จนบริษัททัวร์แทบจะปิดกิจการไปตามๆ กัน คงจำเป็นต้องหาเกร็ดแปลกๆ หามุขพิสดารใหม่ๆ ที่พอจะเห็นแววว่าขายได้แน่ๆ สำหรับคนไทย

ทั้งๆ ที่ในสายตาของชาวพม่าเจ้าของประเทศ มองนัตโบโบยีเป็นผีอารักษ์ตนหนึ่งที่มีคุณูปการในด้านการทำหน้าที่บอกทางไปพระมหาธาตุชเวดากอง พวกเขาไม่เคยรู้จักคำว่า “เทพทันใจ” ตามที่คนไทยตั้งชื่อให้มาก่อนเลย

ไม่ต่างไปจากชาวไทขึนที่มิอาจไว้วางใจในนิ้วชี้อสุภของพระปฏิมาที่หนองตุงนั่น เหตุที่สร้างโดยทหารสลอร์กของพม่า

คงมีแต่พี่ไทย (บางท่าน) ชาติเดียวกระมัง ที่ยินดีกราบไหว้ได้ทุกอย่าง โดยที่ไม่จำเป็นต้องตั้งคำถามต่อสิ่งนั้นๆ