วิกฤติศตวรรษที่21 | การปฏิวัติดิจิตอลกับการต่อสู้ทางเศรษฐกิจการเงิน : สงครามการค้าสหรัฐ-จีน

สงครามการค้าสหรัฐ-จีน : สู่ขั้นใช้ยาแรง (20)

การปฏิวัติดิจิตอลกับการต่อสู้ทางเศรษฐกิจการเงิน

การเงินเป็นภาคที่ว่องไวในการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้สร้างนวัตกรรม ขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจภาคนี้ก้าวขึ้นมามีบทบาทนำในด้านการผลิต การค้าและการลงทุน

เทคโนโลยีล่าสุดที่ภาคการเงินนำมาใช้คือเทคโนโลยีดิจิตอล ขณะเดียว กันเทคโนโลยีดิจิตอลก็ได้มีส่วนแปรโฉมภาคการเงินอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

ราวกับว่าเศรษฐกิจการเงินและเศรษฐกิจดิจิตอลเป็นเหมือนคู่แต่งงานใหม่ ที่กำลังแข่งขันกันว่าใครจะมีอำนาจเหนือกว่ากัน

การแต่งงานนี้เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1980 และ 1990

ที่ด้านหนึ่งมีการผ่อนคลายกฎระเบียบที่ทำให้สถาบันการเงินสามารถทำธุรกิจได้คล่องตัวหลายด้านขึ้น

เช่น ในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยและการปล่อยสินเชื่อ เป็นต้น

อีกด้านหนึ่งเป็นการพัฒนาทางเทคโนโลยีข่าวสารและการสื่อสาร ซึ่งพื้นฐานได้แก่ การแปรเป็นดิจิตอล

กระบวนการนี้ได้สร้างสิ่งที่ปัจจุบันเรียกว่า เทคโนโลยีการเงินหรือฟินเทค ทำให้สถาบันการเงินใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสารได้มีประสิทธิภาพขึ้นมาก สร้างนวัตกรรมการเงิน เกิดการควบรวมและซื้อกิจการ การสร้างพันธมิตรทางยุทธศาสตร์อย่างกว้างขวาง

กิจการด้านการเงินนั้นให้บริการสำคัญคือการชำระเงิน การแนะนำและวางแผนการเงิน การลงทุนและการค้า การให้กู้และการระดมทุน การประกันความปลอดภัย ปฏิบัติการ และการสื่อสาร

ในนี้มีการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลเพื่อให้บริการชำระเงินมากที่สุด เทคโนโลยีสำคัญที่ใช้ทางการเงินได้แก่ เทคโนโลยีบล็อกเชน บางทีเรียกเทคโนโลยีบัญชี ธุรกรรมดิจิตอลแบบกระจาย (Distributed Ledger Technology-DLT) และเทคโนโลยีข้อมูลใหญ่ เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากหลากหลายและไหลทะลักเข้ามาอย่างปะปนกัน

พบว่าในทั้งสองเทคโนโลยีนี้ภาคการเงินเป็นส่วนที่ลงทุนในการพัฒนาและทำธุรกิจมากที่สุด นอกจากนี้ ภาคการเงินยังใช้เทคโนโลยีดิจิตอลอื่นช่วยเสริม ได้แก่

ก) เทคโนโลยี อินเตอร์เน็ตในสรรพสิ่งที่ช่วยให้เข้าใจพฤติกรรมของลูกค้าและผู้คน เช่น ใช้ในการประกันภัย

ข) คลาวด์คอมพิวติงช่วยลดค่าใช้จ่ายและความสะดวกในการให้บริการ

ค) ปัญญาประดิษฐ์ที่ช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลใหญ่

ง) เทคโนโลยีข้อมูลทางชีวภาพ เพื่อยืนยันอัตลักษณ์ของลูกค้า เช่น การชำระเงินปัจจุบันใช้เทคโนโลยีจำใบหน้า ไม่ต้องใช้บัตรเครดิต หรือโทรศัพท์มือถือ

จ) ความจริงเสมือน

(ดูเอกสารชื่อ Financial Markets, Insurance and Private Pension : Digitalisation and Finance ใน oecd.org 2018)

ในภาคการเงินและฟินเทคนี้ สหรัฐยังคงนำหน้า

เช่น เทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูลใหญ่ สหรัฐเป็นผู้ลงทุนและทำธุรกิจรายใหญ่ บางแห่งกล่าวว่าสูงกว่าครึ่งหนึ่งของโลก

แต่ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกก็มีสัดส่วนการลงทุนและการทำธุรกิจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการเคลื่อนไหวภาคการเงินโลกควรจับตาที่สะท้อนการต่อสู้แข่งขันระหว่างสหรัฐ-จีน

ทางการเงินได้แก่ การสร้างสังคมไร้เงินสด ซึ่งรวมถึงการออกเงินดิจิตอลแบบเป็นทางการ

การสร้างสังคมไร้เงินสดเป็นความพยายามของธนาคารกลางและรัฐบาลหลายประเทศทั่วโลก เริ่มจากประเทศพัฒนาแล้ว ที่มีการใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์อย่างแพร่หลาย ผ่านบัตรเครดิต บัตรเดบิต และต่อมาผ่านแอพพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือ

หลังจากนั้น ขยายสู่ประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่

ซึ่งปรากฏว่าจีนได้ก้าวมาสู่การเป็นสังคมไร้เงินสดในอันดับต้นๆ อย่างคาดไม่ถึง

ก่อความตระหนกแก่สถาบันการเงิน-การธนาคารของตะวันตกไม่น้อย

“การปฏิวัติไร้เงินสด” เริ่มต้นที่สหรัฐหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ปรากฏชัดขึ้นเมื่อธนาคารแห่งอเมริกาในปี 1958 ออกบัตรธนาคารอเมริกา เป็นบัตรแรกที่สร้างสินเชื่อหมุนเวียนขึ้น เป็นสินเชื่อที่ต้องชำระดอกเบี้ยและเงินต้น คือเมื่อใช้วงเงินกู้นั้น และเมื่อชำระเงินแล้วก็จะสามารถใช้วงเงินกู้นั้นได้อีก

บัตรได้รับความนิยมและขยายตัวออกตั้งแต่ปี 1961 มีการดำเนินการหลายประการเพื่อให้ใช้บัตรอเมริกันได้ทั่วโลก

รวมทั้งการตั้งบริษัทบัตรธนาคารระหว่างประเทศขึ้นในปี 1976

เปลี่ยนชื่อบัตรธนาคารอเมริกันเป็นบัตรวีซ่า ซึ่งใช้ได้ทั่วโลก

ในทศวรรษ 1970 นี้ มีการนำประดิษฐกรรมแถบแม่เหล็กของบริษัทไอบีเอ็มของสหรัฐมาใช้ในบัตรเครดิต ทำให้บัตรเครดิตกลายเป็นแบบดิจิตอลเต็มที่ ใช้ได้สะดวก รวดเร็ว

ในปี 1983 วีซ่าตั้งเครือข่ายตู้เอทีเอ็มสนองเงินสดในทุกแห่งทุกเวลาทั่วโลก ปี 1995 มีการใช้บัตรเดบิตอย่างกว้างขวาง ปี 2001 ยอดผู้ใช้บัตรวีซ่าสูงถึง 1 พันล้านใบ พร้อมกับมีระบบป้องกันการปลอมแปลงได้ดี

ปี 2007 มีการเปลี่ยนแปลงในการจัดการบริษัทให้มีลักษณะเป็นสากล

สหรัฐยังมีผู้ให้บริการการชำระเงินผ่านบัตรเครดิตรายใหญ่อีกรายหนึ่งได้แก่มาสเตอร์การ์ด ที่เกิดจากการรวมตัวของธนาคารที่ออกบัตร ตั้งเป็นสมาคมผู้ออกบัตรระหว่างธนาคาร ร่วมกันออกบัตรเรียกว่า “มาสเตอร์เชนจ์” ในปี 1969 เพื่อแข่งกับบัตรวีซ่า

ต่อมาเปลี่ยนเป็นมาสเตอร์การ์ด และได้ขยายกิจการไปทั่วโลก มีทั้งการควบรวมและซื้อกิจการ ไปจนถึงสร้างพันธมิตร เช่น ร่วมกับแอปเปิลสร้าง “กระเป๋าเงินดิจิตอล” ขึ้นเพื่อรักษาตลาด

จากแบบอย่างของสหรัฐ การปฏิวัติไร้เงินสด มาจากนวัตกรรมสินเชื่อหมุนเวียน บวกเทคโนโลยีแถบแม่เหล็ก และต่อมาเป็นชิพการ์ดซึ่งทำให้การเงินเป็นแบบดิจิตอล สร้างบัตรเครดิตและบัตรเดบิตขึ้นใช้แทนเงินสด

แต่ต่อมาได้เกิดเทคโนโลยีใหม่ได้แก่ โทรศัพท์มือถือที่มีแอพพลิเคชั่นทางการเงินจำนวนมากสามารถใช้ชำระเงินออนไลน์ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว

โทรศัพท์มือถือรุ่นแรกเป็นระบบอะนาล็อก ที่เป็นข่าวดังเป็นของโมโตโรลามีขนาดใหญ่และหนักถึง 2 กิโลกรัม

จนถึงปี 1991 จึงมีการออกโทรศัพท์มือถือรุ่นที่สอง หรือจี 2 มีการพัฒนาสำคัญคือเปลี่ยนไปใช้ระบบดิจิตอล

ในรุ่นนี้ยังมีการติดกล้องถ่ายภาพด้วย ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว

ต่อมาในปี 2001 มีการพัฒนาโทรศัพท์รุ่น 3 จี ที่มีความเร็วสูงขึ้น เป็นที่สังเกตว่าพัฒนาการโทรศัพท์มือถือตั้งแต่รุ่นแรกถึงรุ่นที่สาม ประเทศญี่ปุ่นและในยุโรปเหนือมีบทบาทสำคัญ เคียงคู่กับของสหรัฐ แต่การปฏิวัติโทรศัพท์มือถือจริงจังเกิดขึ้นเมื่อบริษัทแอปเปิลของสหรัฐออกโทรศัพท์ไอโฟนที่เป็นบรอดแบนด์หน้าจอกว้างและใช้ระบบสัมผัส เป็นทั้งโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ เครื่องเล่นเกม กล้องถ่ายภาพความคมชัดสูง ปรุงแต่งได้ และอื่นๆ อีกมาก

แต่ชาติอื่นก็ไม่ได้ปล่อยให้สหรัฐนำหน้าได้นาน ต่างออกสมาร์ตโฟนของตนเป็นจ้าละหวั่น

ในขณะนี้ผู้นำในการผลิตสมาร์ตโฟนของโลกได้แก่ ซัมซุง หัวเว่ย และแอปเปิล ตามลำดับ

เทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือ ยังมีการพัฒนาต่อไปถึงรุ่นจี 5 ที่พบว่าจีนกลับขึ้นเป็นผู้นำ และต้องทำสงครามเทคโนโลยีกับสหรัฐที่ไม่ต้องการให้จีนวิ่งล้ำหน้าไปในขณะนี้

จีนสร้างสังคมไร้เงินสดอีกแบบหนึ่ง โดยใช้เทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือที่ขยายตัวและมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว สร้างอีคอมเมิร์ซขนาดใหญ่ที่สุดของโลก และแพลตฟอร์มการชำระเงินที่ครอบคลุมประชากรจำนวนมาก และขยายสู่ประเทศอื่น พบว่าร้อยละ 98 ของการจราจรหรือการเคลื่อนที่ของข้อมูลผ่านอินเตอร์เน็ตในจีนมาจากโทรศัพท์มือถือ เมื่อเทียบกับราวร้อยละ 40 ในสหรัฐ (ในสหรัฐการจราจรทางอินเตอร์เน็ตจำนวนมากผ่านคอมพิวเตอร์และแท็บเล็ต)

ระบบชำระเงินผ่านโทรศัพท์ของจีน เพิ่งเริ่มไม่นาน จากการเปิดตัวอาลีเพย์ (ในจีนเรียกว่า เถาเป่าในปี 2003) ด้วยการใช้กลยุทธ์ทางการตลาด สามารถสกัดการขยายตัวของอีเบย์ บริษัทอีคอมเมิร์ซขนาดใหญ่ของสหรัฐที่เปิดกิจการในจีนเป็นผลสำเร็จภายในเวลาเพียงสองปี

ทางการจีนยังให้การสนับสนุน โดยในปี 2009 ธนาคารประชาชนจีน หรือธนาคารกลางจีนออกใบอนุญาตการประกอบการให้

หลังจากนั้นในปี 2013 อาลีเพย์สามารถแซงขึ้นหน้าเพย์พาล ที่เป็นแพลตฟอร์มชำระเงินผ่านโทรศัพท์ใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นปีที่ระบบชำระเงินผ่านโทรศัพท์ของจีนได้เริ่มยืนขึ้น แต่นั่นก็เป็นเพียงเหมือนเด็กน้อยเมื่อเทียบกับการรุดหน้าของสังคมไร้เงินสดของจีนในปี 2019

ผู้นำในระบบชำระเงินผ่านโทรศัพท์อีกรายของจีนได้แก่วีแชตเพย์ (อยู่ในกลุ่มบริษัทเทนเซ็นต์) วีแชตเพิ่งเปิดตัวในฐานะเป็นแอพพลิเคชั่นในการส่งข่าวสาร คล้ายเฟซบุ๊กของสหรัฐ ในปี 2011 นี้เอง ถึงปี 2019 กลายเป็นแอพพ์ในการชำระเงินใหญ่ควบคู่กับอาลีเพย์ อาลีเพย์และวีแชตเพย์ครอบงำการชำระเงินผ่านโทรศัพท์ในจีนถึงราวร้อยละ 95 เป็นอาลีเพย์ร้อยละ 54 และวีแชตเพย์ร้อยละ 40

ชาวจีนใช้สองแอพพ์นี้เนื่องจากปลอดภัย สะดวกและใช้ง่าย มีการวิเคราะห์ว่า เหตุใดจีนจึงสามารถสร้างระบบชำระเงินออนไลน์และสังคมไร้เงินสดผ่านหน้าสหรัฐไปอย่างรวดเร็วและง่ายดาย

โดยชี้ให้เห็นภาพในสองกรณีคือ

1)ในช่วงที่บริษัทวอลมาร์ทเปิดห้างสรรพสินค้าแบบไร้เงินสดได้ 8 แห่งในสหรัฐ อาลีบาบาสามารถเปิดห้างแบบเดียวกันในจีนได้ถึง 100 แห่ง (เรียกว่า เหอหม่า) ซึ่งสามารถยืนยันการชำระเงินได้โดยลูกค้าให้สแกนใบหน้า หรือสแกนนิ้วมือ และยังสามารถสั่งซื้อออนไลน์ได้อีก โดยให้สัญญาว่าจะส่งของถึงบ้านภายในเวลาครึ่งชั่วโมงในรัศมีสามกิโลเมตร เชื่อมทั้งระบบดิจิตอลและระบบโลจิสติกส์เข้าด้วยกัน ประเมินกันว่าการช้อปปิ้งจากออนไลน์ถึงออฟไลน์ในจีนจะเป็นอนาคตของการค้าปลีกของโลก

2) ระบบชำระเงินออนไลน์ของสหรัฐ เช่น แอปเปิลเพย์ใช้ได้เฉพาะกับไอโฟนตั้งแต่รุ่น 6 ขึ้นไป และกับสินค้าบางตัวมีแอปเปิลวอทช์ เป็นต้น และต้องอิงกับเครดิตการ์ดของตนซึ่งทำได้ยากกว่าในจีน ผู้ขายต้องติดตั้งเครื่องสำหรับใช้รับเงิน แต่ของอาลีเพย์ ผู้ค้าเพียงแต่พิมพ์รหัสคิวอาร์ก็ใช้รับเงินได้ นอกจากนี้ อาลีเพย์ใช้กับสมาร์ตโฟนเกือบทุกแบบ และรุ่นเชื่อมกับเดบิตการ์ดซึ่งออกได้ง่ายกว่า ผู้ถือเครดิตการ์ดในจีนมีเพียง 0.5 ใบต่อคน ส่วนในฮ่องกงมีเครดิตการ์ด 2.6 ใบต่อคน (คนหนึ่งมีบัตรเครดิตมากกว่าหนึ่งใบ) คล้ายกับในตะวันตกที่ใช้บัตรเครดิตในการซื้อของและบริการเกือบทุกอย่าง

แต่เรายังสามารถอธิบายลึกลงไปถึงเหตุปัจจัยพื้นฐานได้ว่า ปรากฏการณ์นี้เกิดการจัดการการเงินของประเทศ ที่ต่างกันระหว่างสหรัฐกับจีน

นั่นคือสหรัฐมีประเพณีการขยายสินเชื่อเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ตั้งแต่เริ่มสถาปนาประเทศ มีการปล่อยเงินกู้แก่เกษตรกรขนานใหญ่เพื่อขยายการผลิต ทั้งยังมีการให้เงินเชื่อเพื่อส่งเสริมการบริโภค

จนชาวอเมริกันติดนิสัยการบริโภคและบัตรเครดิตไปพร้อมกัน

ในปัจจุบันประมาณว่าผู้ใช้บัตรเครดิตสหรัฐมียอดหนี้รวมกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ อาศัยการมีบัตรเครดิตหลายใบในการถ่ายเทหนี้ ไม่สามารถทิ้งบัตรเครดิตไปได้ง่ายๆ

ส่วนประเทศจีนใหม่เริ่มต้นพัฒนาเศรษฐกิจด้วยการสะสมทุน การลงทุนจากภายนอกและภายใน การออมในอัตราสูง และการค้าระหว่างประเทศที่ได้ดุล การชำระเงินผ่านโทรศัพท์จึงตอบโจทย์การทำธุรกิจของจีนในทุกระดับ

นอกจากนี้ ร้านค้าของจีนก็เพิ่งฟื้นมาหลังยุคประธานเหมา ไม่ได้ตั้งมั่นคงแบบร้านค้าปลีกที่เรียกว่า “ร้านค้าดั้งเดิมแบบก่ออิฐถือปูน” ในสหรัฐที่จะต้องทิ้งความเคยชินเดิม และใช้ระบบชำระเงินแบบออนไลน์แทน

การนำหน้าในระบบชำระเงินนี้สร้างความมั่นใจแก่นักธุรกิจจีนไม่น้อย รองประธานบริษัทอาลีบาบากล่าวว่า “จีนมักถูกโจมตีว่าเลียนแบบหรือขโมยสิทธิบัตรทางปัญหา แต่ในด้านอินเตอร์เน็ต จีนได้สร้างนวัตกรรมใหม่ และระบบชำระเงินออนไลน์ ได้แสดงว่าประเทศนี้เป็นผู้นำโลกได้อย่างไร” (ดูบทความของ Zigor Aldama ชื่อ Going cash free” why China is light years ahead in the online payment revolution ใน scmp.com 09/09/2017)

ทางภาครัฐบาลเองได้เดินหน้าขยายสังคมไร้เงินสดในเมืองใหญ่ อย่างเช่น ปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ ไปยังชนบท โดยตั้งเป้าให้ประชากร 4 ใน 10 คนในชนบทหันมาใช้ระบบนี้ รวมทั้งผู้สูงอายุของจีนยังติดในการใช้เงินสดอยู่

ที่สำคัญ ธนาคารประชาชนจีนยังประกาศแผนว่าจะออกเงินหยวนที่เป็นดิจิตอลออกมาใช้ในอีกไม่นาน ซึ่งคาดว่าจะใช้เทคโนโลยีหลายอย่างผสมกัน ไม่เป็นแบบบิตคอยน์ที่รู้จักกันดี

การออกเงินหยวนดิจิตอลนี้วิเคราะห์ได้ว่าจะทำให้ธนาคารกลางของจีนสามารถดูแลจัดการการหมุนเวียนเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพจนถึงระดับบุคคล

ในทางสากลส่งเสริมให้มีการใช้เงินหยวนในประเทศต่างๆ ได้อย่างสะดวกรวดเร็วและปลอดภัย

เป็นเหมือนทางลัดที่ทำให้เทคโนโลยีการชำระเงินออนไลน์ของจีนได้เป็นที่ยอมรับในการกำหนดมาตรฐานของโลก ทั้งช่วยให้เงินหยวนขึ้นมาเทียบชั้นเงินดอลลาร์ได้เร็วขึ้น

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงการปฏิวัติดิจิตอลและการแข่งขันทางทหารและความมั่นคงระหว่างสหรัฐ-จีน