การต่อสู้กับความทุกข์ด้วยการทำงานศิลปะ ของ ประดิษฐ์ ตั้งประสาทวงศ์

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ก่อนหน้านี้เราเล่าถึงงานศิลปะแบบแปลกๆ แหวกแนวมาก็หลายตอนแล้ว

ในตอนนี้ขอเล่าถึงงานศิลปะที่ดูง่าย เข้าใจไม่ยาก อย่างภาพเขียนเหมือนจริงกันบ้างอะไรบ้าง เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมาเราก็เพิ่งได้ไปดูนิทรรศการที่แสดงงานแบบที่ว่ามาหมาดๆ

นิทรรศการนี้มีชื่อว่า

“บนเส้นทางการทำงานศิลปะของประดิษฐ์ ตั้งประสาทวงศ์”

โดยศิลปินชาวไทย ประดิษฐ์ ตั้งประสาทวงศ์

ประดิษฐ์เป็นศิลปินผู้จบการศึกษาจากคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

นอกจากจะเป็นอาจารย์ประจำวิทยาลัยช่างศิลปแล้ว เขายังเป็นศิลปินที่ได้รับรางวัลจากการประกวดทางศิลปะมาอย่างมากมาย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การประกวดการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ที่เขาได้รางวัลประกาศนียบัตรเกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทองสองครั้ง, รางวัลประกาศนียบัตรเกียรตินิยมอันดับ 2 เหรียญเงินสามครั้ง และรางวัลประกาศนียบัตรเกียรตินิยมอันดับ 3 เหรียญทองแดงสามครั้ง

ส่งผลให้เขาได้รับตำแหน่งเป็นศิลปินชั้นเยี่ยมคนที่ 24 ของประเทศไทย

พุทธคําสอน
จากคําสอนพระพุทธ

นิทรรศการในครั้งนี้เป็นนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกหลังจากที่เขาได้รับตำแหน่งอันทรงเกียรตินี้ โดยแสดงผลงานจิตรกรรมเหมือนจริงเชิงศาสนาและสะท้อนสังคม ทั้งภาพเขียนที่แสดงสังขารอันร่วงโรย เต็มไปด้วยริ้วรอยของหญิง/ชายชรา

ภาพหญิงสาวใบหน้าเปื้อนสีและภาพเหมือนของเหล่าบรรดาพระอริยสงฆ์ประกอบวัตถุจัดวางแฝงปริศนาธรรม ที่สร้างสรรค์ขึ้นจากฝีไม้ลายมืออันจัดจ้านของศิลปินผู้นี้

โดยประดิษฐ์เล่าถึงที่มาของนิทรรศการครั้งนี้ของเขาว่า

“นิทรรศการนี้เริ่มต้นจากการที่ผมไม่ได้แสดงงานหลายปีแล้ว ด้วยความที่เอาเวลาไปส่งงานประกวดศิลปกรรมอยู่พักใหญ่ ก่อนหน้านี้ผมส่งแทบทุกงาน โดยเฉพาะการประกวดการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ พอบรรลุเป้าหมาย ได้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยม ผมก็ตัดสินใจยุติการส่งประกวด

หลังจากนั้นผมก็ตัดสินใจหันมาสร้างงานเพื่อแสดงในนิทรรศการนี้เป็นงานแรกหลังจากห่างหายไปหลายปี เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้ลูกศิษย์ลูกหา หรือแม้แต่คนที่ไม่จำเป็นต้องเป็นคนเรียนศิลปะก็ตามที ว่าถึงแม้ในเวลาที่ความเจ็บป่วยเข้ามาสู่ร่างกาย หรือเวลาที่เผชิญกับความพลัดพราก หรือความทุกข์ เรายังสามารถแปรเปลี่ยนสิ่งเหล่านั้นออกมาเป็นการทำงานศิลปะได้

ผมอยากเป็นตัวอย่างให้ลูกศิษย์เห็นว่า ถึงแม้อาจารย์จะป่วย ก็ยังทำงานได้ แล้วพวกเขาไม่ได้ป่วย ทำไมจะทำงานไม่ได้?”

“ตัวผมป่วยเป็นโรคสารเคมีในสมองไม่สมดุลมาตั้งแต่เมื่อ 25 ปีที่แล้ว ผมต่อสู้กับโรคนี้มาโดยตลอด ถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนผมถูกความทุกข์เข้ามาถาโถมชีวิต เราก็ต่อสู้ด้วยธรรมะ ชนะบ้าง แพ้บ้าง ทุกวันนี้ก็ยังอยู่ในสนามรบอยู่ ตอนนี้ผมใช้สามสิ่งคือ ยา ธรรมะ และการทำงานศิลปะ เป็นเครื่องมือช่วยในการเยียวยารักษาตัวเอง

สิ่งเหล่านี้ผมได้ตัวอย่างจากครูบาอาจารย์ของผมคือ อาจารย์อิทธิพล ตั้งโฉลก ที่ถึงแม้ท่านจะป่วยเป็นโรคพาร์กินสัน แต่ท่านก็ยังทำงานอย่างต่อเนื่องไม่เคยหยุด

ผมก็เอาอย่างท่าน ถึงแม้ผมจะป่วย ผมก็พยายามทำงานไม่หยุด ถึงจะทำได้น้อยลง แต่ก็ยังคงทำอยู่

ช่วงไหนสภาพจิตเราตกเยอะๆ เราก็จะใช้ฝีแปรงรุนแรงหน่อย

ช่วงไหนสภาพจิตเราคงที่ ฝีแปรงก็จะละมุนละไม เป็นไปตามสภาวะ

ทุกวันนี้ผมเพิ่งอ่านออกว่าตัวเองเป็นศิลปินที่ทำงานตามอารมณ์ความรู้สึกล้วนๆ น่ะ

การทำงานศิลปะทำให้เราสามารถระบายสิ่งที่อยู่ในความคิด อยู่ในอารมณ์ความรู้สึกของเราออกมาในทุกครั้งที่เราปาดป้ายสี เปรียบเทียบง่ายๆ ว่า ถ้าเรามีความทุกข์ จะเป็นความทุกข์จากการเจ็บป่วย การพลัดพราก หรืออะไรก็ตามแต่ โดยปกติเราก็มักจะเข้าวัดเข้าวา ปฏิบัติธรรม

แต่สำหรับผม การทำงานศิลปะก็เป็นสิ่งเดียวกับการเข้าวัด ปฏิบัติธรรมนี่แหละ ตอนที่ตัวเราป่วย เราสังเกตเห็นสังขารเรากำลังร่วงโรย ท้ายที่สุดร่างกายของเราก็จะกลายเป็นขี้เถ้า

ผมก็สื่อออกมาตรงๆ ด้วยการใช้เทคนิคโรยขี้เถ้าปนไปกับสีที่เขียนภาพ ซึ่งผลงานชุดนี้เป็นชุดที่ได้เหรียญทองจากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ

การงานคือการปฎิบัติธรรม

หรือภาพวาดในชุดพระสงฆ์ ก็ทำขึ้นในยามที่เราเริ่มเข้ามาต่อสู้ในสนามรบกับความทุกข์ตอนผมอายุ 25 ภาพเขียนชิ้นแรกที่ทำให้ผมเป็นที่รู้จักในวงการศิลปะก็คือภาพเขียนท่านพุทธทาสภิกขุ ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากการอ่านคำสอนของท่านจนเกิดปะทุขึ้นมาเป็นผลงานที่เราเขียนภาพใบหน้าของท่านคู่กับงานศิลปะจัดวางที่ได้แรงบันดาลใจจากโต๊ะทำงานของท่านขึ้นมา

หน้าดำ

หรือภาพวาดในชุดหญิงสาวใบหน้าเปื้อนสี ก็เป็นเรื่องราวที่ทำขึ้นในยุคที่คุณปวีณา หงสกุล ลงหนังสือพิมพ์บ่อยมาก จากเหตุการณ์ที่ผู้หญิงโดนภัยคุกคามเยอะมาก ทั้งถูกกระทำอนาจาร ข่มขืนเยอะแยะมากมายไปหมด เราก็เลยสร้างงานชุดที่เกี่ยวกับการแปดเปื้อนขึ้นมา

ผลงานที่แสดงในนิทรรศการนี้เป็นผลงานที่ทำขึ้นใหม่ เป็นการทำงานย้อนรอยผลงานที่ผมเคยทำ เพื่อให้เห็นเส้นทางการทำงานที่ผ่านมาของผม อาจจะไม่เหมือนงานชุดเดิมเป๊ะๆ แต่ก็มีความคล้ายคลึงกันอยู่”

นอกจากผลงานจิตรกรรมสองมิติและงานจิตรกรรมจัดวางกึ่งสามมิติแล้ว ในนิทรรศการนี้ยังมีงานประติมากรรมจัดวางเชิงปริศนาธรรม รูปใบหน้าหญิงชราขนาดใหญ่ติดตั้งอยู่ในงานด้วย

ความจริงแท้

“งานชิ้นนี้เป็นประติมากรรมชิ้นแรกที่ผมทำขึ้นหลังจากที่เราทำงานจิตรกรรมมานานจนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก ซึ่งงานชิ้นนี้ก็มีเนื้อหาเดียวกันกับงานจิตรกรรมชิ้นที่ได้รางวัลเหรียญทองจากงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาตินั่นแหละ แต่ทำออกมาในรูปแบบของงานประติมากรรมแทน เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธศาสนา การปลงสังขาร การมองเห็นความตาย รวมถึงการมองเห็นแก่นของพุทธะ ว่าเป็นสิ่งที่จะมาช่วยเราจากความทุกข์ได้”

กับคำถามที่ว่า ในยุคแห่งศิลปะร่วมสมัยทุกวันนี้ การประกวดทางศิลปะยังเป็นสิ่งที่จำเป็นอยู่หรือไม่ ประดิษฐ์ตอบเราว่า

“สำหรับผม แม้ในปัจจุบันการประกวดศิลปะยังเป็นสิ่งจำเป็นอยู่ สำหรับนักศึกษาหรือคนทำงานศิลปะหลายคนที่ต้องการโอกาสแต่ไม่มีทุนทรัพย์ ไม่มีเส้นสาย ตัวผมเองก็สร้างตัวขึ้นมาจากการประกวด ผมส่งประกวดมาทั้งชีวิตโดยที่ไม่มีเส้นสายที่ไหน คุณค่าของงานประกวด สำหรับผมมันอยู่ที่ประสบการณ์ การฝึกฝน และสิ่งที่เราเรียนรู้จากครูบาอาจารย์ แต่พอผมได้ตำแหน่งศิลปินชั้นเยี่ยม ผมก็เลิกส่งงานประกวดแล้ว เพราะผมคิดว่าเราอิ่มตัวแล้ว พอกับตรงนั้นแล้ว ที่เหลือเราทำงานศิลปะไปเรื่อยๆ จนกว่าจะทำไม่ไหวนั่นแหละ”

นิทรรศการ “บนเส้นทางการทำงานศิลปะของ ประดิษฐ์ ตั้งประสาทวงศ์” จัดแสดงที่ 333 Gallery ศูนย์การค้าริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก (River City Bangkok) ตั้งแต่วันที่ 5-31 ตุลาคม 2562

สอบถามรายละเอียดได้ที่ อีเมล [email protected], โทรศัพท์ 09-7123-0106 หรือ facebook @333bababagallery