คนของโลก : อาบีย์ อาห์เหม็ด นายกฯ เอธิโอเปียผู้คว้ารางวัลโนเบลสันติภาพ

อาบีย์ อาห์เหม็ด นายกรัฐมนตรีเอธิโอเปีย วัย 43 ปี กลายเป็นเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2019 จากบทบาทในการยุติสงครามบริเวณชายแดนที่เป็นความขัดแย้งระหว่าง “เอธิโอเปีย” และเพื่อนบ้านอย่าง “เอริเทรีย” ที่กินเวลายาวนาน 20 ปีลงได้สำเร็จ

อาบีย์ได้รับยกย่องใน “ความพยายามเพื่อสันติภาพและความร่วมมือระหว่างประเทศ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การริเริ่มอันเด็ดเดี่ยวเพื่อแก้ไขปัญหาขัดแย้งบริเวณชายแดนกับเพื่อนบ้านอย่างเอริเทรีย”

ความพยายามซึ่ง “ควรค่าแก่การยอมรับและจำเป็นที่จะต้องได้รับการสนับสนุน” คณะกรรมการโนเบลแห่งนอร์เวย์ ระบุในการประกาศรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ที่กรุงออสโล เมื่อวันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา

อาบีย์ผู้ที่ได้รับการคาดหมายจากสำนักพนันถูกกฎหมายว่าเป็นผู้มีโอกาสคว้ารางวัลโนเบลสันติภาพ เป็นอันดับที่สอง รองจาก “เกรต้า ธุนเบิร์ก” สาววัย 16 นักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมผู้โด่งดังที่สุดในเวลานี้

นับเป็นชาวแอฟริกาที่ได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพติดต่อกันเป็นปีที่ 2 หลังจากปีก่อนหน้า นายเดนิส มุกเวกี สูตินรีแพทย์ชาวคองโก ได้รางวัลร่วมกับนาเดีย มูราด นักเคลื่อนไหวชาวยาซีดี

 

อาบีย์รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเอธิโอเปียในเดือนเมษายน 2018 หลังจากนั้นไม่นาน ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2018 อาบีย์เดินทางไปร่วมหารือกับ “อิไซอาส อัฟวาร์กี” ประธานาธิบดีเอริเทรีย ที่กรุงแอสมารา เมืองหลวงของประเทศเอริเทรีย ทำข้อตกลงสันติภาพยุติความขัดแย้งยาวนาน 20 ปีลงได้สำเร็จ

นอกจากบทบาทในการยุติความขัดแย้งระหว่างเอธิโอเปียและเอริเทรียแล้ว อาบีย์ยังมีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวกลางเจรจาแบ่งสรรอำนาจในวิกฤตการเมืองประเทศเพื่อนบ้านอย่างซูดานด้วย

นั่นทำให้อาบีย์กลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่ทำให้เกิดสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค “จะงอยแอฟริกา” อย่างไม่เคยมีมาก่อน

อาบีย์ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเอธิโอเปียคนแรกที่มาจากกลุ่มชาติพันธุ์โอโรโม่ กลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มใหญ่ที่สุดในประเทศที่ยังไม่มีใครเคยก้าวถึงตำแหน่งที่มีอำนาจในประเทศได้

 

อาบีย์เข้าร่วมองค์กรประชาธิปไตยของชาวโอโรโม่ตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น และมีความใกล้ชิดกับประชาชนแม้ในช่วงเวลาที่อาบีย์ได้รับชัยชนะในการเลือกหัวหน้ากลุ่มพรรคแนวร่วมปฏิวัติประชาธิปไตยของประชาชนเอธิโอเปีย พรรครัฐบาลที่ครองเสียงข้างมากในเอธิโอเปีย ส่งผลให้อาบีย์ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในประเทศที่มีประชากร 100 ล้านคนแห่งนี้ไปด้วยในเวลาเดียวกัน

หลังเข้ารับตำแหน่ง อาบีย์เริ่มงานด้วยวิสัยทัศน์ก้าวหน้า มีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองเป็นอิสระจำนวนมาก ด้วยเหตุผลว่านักโทษเหล่านี้ต้องทุกข์ทรมานจากการถูกทารุณกรรม และมีการปล่อยนักข่าวที่ถูกคุมขังก่อนหน้านี้ด้วย

โดยอาบีย์ตอบเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าการปล่อยตัวนักโทษเหล่านี้อาจขัดกับรัฐธรรมนูญด้วยมุมมองที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในภูมิภาคแอฟริกายุคปัจจุบัน

“จับกุมคุมขังทารุณกรรม สิ่งที่เราทำนั้นก็ขัดกับรัฐธรรมนูญเช่นกัน รัฐธรรมนูญบอกไว้หรือว่า ผู้ที่ถูกตัดสินจำคุกโดยศาลสามารถถูกทารุณกรรมได้ จับขังห้องมืดได้ สิ่งเหล่านี้ก็เป็นพฤติกรรมก่อการร้ายของเราเช่นกัน”

อาบีย์ระบุ

 

นอกจากนี้ อาบีย์ยังเปิดโอกาสให้มีการพบปะพูดคุยกับฝ่ายเห็นต่างทางการเมือง ภาคประชาสังคม มีการเชิญพรรคการเมืองที่ลี้ภัยต่างประเทศกลับเอธิโอเปีย นอกจากนี้ ยังเปิดให้มีการปฏิรูปสถาบันต่างๆ ในประเทศ เช่น ฝ่ายความมั่นคง และกระบวนการยุติธรรม เป็นต้น

นอกจากนี้ อาบีย์ยังเปิดโอกาสให้มีผู้หญิงในคณะรัฐมนตรีแบบครึ่งต่อครึ่ง ยิ่งกว่านั้นรัฐสภาเอธิโอเปียยังเลือกประธานาธิบดีหญิงคนแรกอย่าง “ซาห์เล-เวิร์ก เซวเด” รวมไปถึง “เมอาซา แอชเอนาฟี” เป็นประธานศาลสูงสุดหญิงคนแรกของประเทศด้วย

การบริหารงานของอาบีย์ เป็นสิ่งที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการบริหารงานของพรรครัฐบาลเอธิโอเปียก่อนหน้านี้ มีตัวอย่างจากการเข้าฟังเสียงเรียกร้องของผู้ประท้วงที่มีผู้เข้าร่วมนับหมื่นคน เป็นการเน้นย้ำวิสัยทัศน์และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของการเมืองเอธิโอเปียได้เป็นอย่างดี

สะท้อนชัดจากสิ่งที่อาบีย์ เจ้าของรางวัลโนเบลคนล่าสุดเคยประกาศไว้หลังรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเอธิโอเปียว่า

“ในระบอบการปกครองประชาธิปไตย รัฐบาลจะเปิดทางให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นอย่างเสรีโดยปราศจากความหวาดกลัว” อาบีย์ระบุ