สมหมาย ปาริจฉัตต์ : สานพลังเครือข่าย ครูผู้สร้างแรงบันดาลใจ (2)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

เปิดฉากตอนแรกสัปดาห์ที่แล้ว ผมเล่าถึงกิจกรรมต่อยอดหลังครูผู้มีจิตวิญญาณได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี 4 ระดับ แล้วครูเหล่านั้นไปทำอะไรกันต่อ

มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีไม่หยุดอยู่เพียงเท่านั้น ยังคงดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อให้ครูทั้งสามรุ่น ทั้งสิ้น 489 คน มีโอกาสพัฒนาตัวเองต่อไป

ด้วยรูปแบบและเนื้อหาสาระที่หลากหลาย ทั้งการจัดประชุมวิชาการประจำปี สัมมนาย่อย ศึกษาดูงานด้านการศึกษาและด้านอื่นๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม

ที่สำคัญคือ กิจกรรมหรือโครงการถอดบทเรียน ประสบการณ์ ความรู้ของครูเหล่านั้นออกมา นำไปใช้ในการพัฒนาครูของครู ผู้สอนนักศึกษาในสถาบันผลิตครูและตัวนักศึกษาครูอีกด้วย

หัวใจของการทำงานก็คือ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือ สานพลังของแต่ละฝ่ายเข้าด้วยกัน ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียน

โครงการพัฒนาเครือข่ายครูนักสร้างแรงบันดาลใจในสถาบันฝึกหัดครู เป็นกิจกรรมหนึ่งในหลายๆ โครงการที่ว่านั้น

ภายใต้ความร่วมมือสนับสนุนจากภาคีต่างๆ ได้แก่ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมอบหมายให้สถาบันรามจิตติ เป็นแกนในการประสานงานและขับเคลื่อนงาน

จัดเวที รายการ กิจกรรม ให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างครูผู้ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กับอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ครู และผู้บริหารโรงเรียน ชุมชนที่ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าปฏิบัติงานอยู่ นำนักศึกษาครูไปเรียนรู้ ซึมซับประสบการณ์จริงในห้องเรียน นอกห้องเรียนจากครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้า และปราชญ์ชาวบ้าน

 

เริ่มแรกนำร่องมีมหาวิทยาลัยที่ตกลงความร่วมมือ 3 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี จังหวัดลพบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2561 กำหนดเวลา 1 ปี

ดร.จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ ออกปากชวนผมไปร่วมติดตามกิจกรรมที่เธอและคณะ ทำร่วมกันระหว่างครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กับมหาวิทยาลัยแหล่งผลิตครูทั้งสามแห่ง

เพิ่งมีโอกาสตามไปดูจริงจังเมื่องานเดินหน้าผ่านไปหนึ่งปีเต็มแล้ว สาระ บรรยากาศ แหล่งที่ไปพบ ภาพที่เห็น คำพูดเสียงสะท้อนที่ได้ยิน เป็นอย่างไร น่าปลาบปลื้ม ประทับใจแค่ไหน ไว้ค่อยฉายภาพให้รับรู้กันต่อไป

ส่วนผลการดำเนินการหนึ่งขวบปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างไร กับใครบ้าง ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติในฐานะหน่วยงานด้านวิชาการ สรุปรายงานผลไว้อย่างเป็นระบบ แยกแยะว่าแต่ละฝ่ายได้อะไรกับการร่วมโครงการนี้บ้าง เป็นรายมหาวิทยาลัยทีเดียว

ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในทุกระดับ ว่างั้นเถอะ ตั้งแต่ ระดับนักศึกษา ระดับอาจารย์คณะทำงาน ระดับปฏิบัติการสอน

ระดับความร่วมมือกับเครือข่ายครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีในพื้นที่ และระดับการขับเคลื่อนต่อยอดในเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเป้าหมาย

 

ว่ากันสามระดับแรกก่อน ระดับนักศึกษา เกิดการเรียนรู้ที่ดี เกิดแรงบันดาลใจ เกิดกระบวนการทำงานคิดต่อยอดโครงการเพื่อสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ร่วมกับครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าในพื้นที่ โดยมีนักศึกษาครูรุ่นใหม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากกระบวนการเรียนการสอนที่มีเครือข่ายครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีเป็นครูต้นแบบ

นักศึกษา 200 คนได้รับประสบการณ์ตรงจากการเรียนรู้ และกว่า 600 คนได้เรียนรู้จากการแบ่งปันประสบการณ์ของครูและนักศึกษาที่ได้เรียนรู้ร่วมกัน และเกิดการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองของนักศึกษาครูรุ่นใหม่

ระดับอาจารย์คณะทำงานและระดับปฏิบัติการสอน รวมแล้วกว่า 25 คนจาก 3 มหาวิทยาลัยได้เข้ามาร่วมเป็นคณะทำงาน เกิดการออกแบบกระบวนการพัฒนานักศึกษาครูใหม่ โดยเน้นให้ผู้เรียนได้ประสบการณ์ตรงกับครูประจำการหรือครูผู้สร้างแรงบันดาลใจในลักษณะหลากหลายรวมถึงปรับกระบวนการเรียนรู้และการวัดและประเมินนักศึกษาที่สอดคล้องกับสภาพจริงเป็นรูปธรรม

“มีนักศึกษาอยู่กลุ่มหนึ่งอาจารย์พาไปสังเกตุการณ์สอน การปฏิบัติงานของครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีในโรงเรียน ปรากฏว่าครูท่านนั้นเคยเป็นครูของอาจารย์คนที่พาไปมาก่อน อาจารย์เลยได้ประโยชน์สองต่อ ได้พาเด็กมาเรียนรู้กับครูผู้สร้างครูตัวจริง เสียงจริง และได้กลับมาไหว้ครูของครูในคราวเดียวกัน”

“ทำให้เด็กประทับใจมากเลย เพราะได้รับประสบการณ์ตรงจากครูของครู ผู้เป็นแบบอย่าง สั่งสอนอบรมอาจารย์ของพวกเขามาก่อน” ดร.จุฬากรณ์เล่าเรื่องราวส่วนหนึ่งที่พบเจอระหว่างดำเนินโครงการ

 

ส่วนผลที่เกิดในระดับความร่วมมือกับเครือข่ายรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้า ในพื้นที่ มีเครือข่ายครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้า 20 คนจาก 15 จังหวัดใน 3 ภูมิภาค ที่มหาวิทยาลัยมีเขตบริการอยู่เข้ามาร่วมเป็นครูผู้สร้างแรงบันดาลใจในกระบวนการผลิตครูรุ่นใหม่ เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้า เป็นพลังสร้างการเรียนรู้ให้กับนักศึกษาครูรุ่นใหม่ และเชื่อมโยงกลับไปสู่ปราชญ์ชาวบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่น และชุมชนอีกหลายพื้นที่

ครับ ยังมีเรื่องเล่า ความรู้สึกดีๆ จากนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการนี้ ฟังแล้วน่าดีใจ มีความหวัง ทั้งนักศึกษา อาจารย์และครูของครูทุกคน ว่าครูรุ่นใหม่ จะเรียกจิตวิญญาณความเป็นครูของครูส่วนใหญ่กลับคืนมาได้ เมื่อพวกเขาเริ่มต้นที่ตัวเองได้ก่อน

ถามว่า ปัญหาอุปสรรค จุดอ่อนมีบ้างไหม ในการดำเนินโครงการต่างๆ คำตอบคือมีแน่นอน

มีอย่างไร ไว้รอไปฟังเวทีที่ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้า กับครูของครูในมหาวิทยาลัย แลกเปลี่ยนบทเรียนเพื่อหาบทสรุปแนวทางที่จะก้าวเดินต่อไป