วิรัตน์ แสงทองคำ : บทบาทใหม่ บัณฑูร ล่ำซำ

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

นายธนาคารผู้หนึ่งซึ่งมีชื่อเสียงและเชี่ยวกรำ ตัดสินใจวางมือจากการบริหารอย่างเข้มข้น คงไม่ใช่เรื่องเล็กๆ

บัณฑูร ล่ำซำ ถูกวางตัวไว้แต่แรกเลย ให้เป็นผู้บริหารธนาคารกสิกรไทย ภาพลักษณ์ของเขากับธนาคารจึงดูแยกกันไม่ออก ภาพซึ่งค่อยๆ สร้าง จนมาถึงวันนี้ เขาทำงานกับธนาคารแห่งนี้อย่างยาวนานถึง 4 ทศวรรษเต็ม ด้วยวัย 66 ปี

เรื่องราวข้างต้นมีที่มา จากเอกสารธนาคารกสิกรไทย (ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2562) ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารซึ่งประชุมเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2562 มีมติแต่งตั้ง “นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการและกรรมการผู้จัดการ เป็นกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สืบแทนนายบัณฑูร ล่ำซำ ที่ครบกำหนดตามสัญญา”

ขณะเดียวกัน ได้แต่งตั้งให้ “นายบัณฑูร ล่ำซำ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ ประเภทกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร อีกทั้งยังดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาแก่คณะจัดการ โดยมีผลนับตั้งแต่วันประชุมสามัญผู้ถือหุ้นปี 2563 เป็นต้นไป”

เป็นการประกาศแผนการล่วงหน้า จะมีผลอย่างเป็นทางการ ในอีกประมาณ 6 เดือนข้างหน้า

(ปกติการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี จะมีขึ้นต้นเดือนเมษายน)

 

บัณฑูร ล่ำซำ กับบทบาทบริหารธนาคารเปิดฉากขึ้นแทบจะทันทีเมื่อเข้าทำงานในปี 2522 โหมโรงด้วยการปรับตัวครั้งแรกๆ ของระบบธนาคาร เข้าหาเทคโนโลยีระดับโลก เมื่อเปิดบริการเอทีเอ็มครั้งแรก (ปี 2527) และเข้าสู่การบริหารเต็มตัวในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ (ปี 2535) ในจังหวะหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ

โฉมหน้าธนาคารไทยค่อยๆ มีความสัมพันธ์กับระบบธนาคารโลกมากขึ้นๆ เป็นลำดับ ท่ามกลางโอกาสที่มีมากขึ้นด้วย

ภายใต้ระบบธนาคารไทยซึ่งสถาปนาขึ้นอย่างแท้จริง ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ตลอดช่วง 4 ทศวรรษต่อจากนั้น เป็นความพยายามอย่างยิ่งยวด อยู่กับนิยาม “ธนาคารไทย” ท่ามกลางยุคสงครามเวียดนาม ภายใต้อิทธิพลสหรัฐ กระแสธุรกิจตะวันตกและญี่ปุ่น ธนาคารไทยส่วนใหญ่ถือหุ้นใหญ่โดยครอบครัว กลายเป็นตระกูลธุรกิจทรงอิทธิพล มีบทบาทเป็นกลไกสำคัญทางเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐพยายามปกป้องไว้

บัณฑูร ล่ำซำ รับภาระหนักตั้งแต่เริ่มต้นซึ่งก็สามารถนำพาธนาคารผ่านอุปสรรคสำคัญๆ มาได้ ในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลง มีอิทธิพลต่อการปรับตัวของธนาคารไทยดั้งเดิมทั้งระบบ ท่ามกลางการเผชิญมรสุมระบบการเงินและเศรษฐกิจ ทั้งภายในและระดับโลก

ถือกันว่า เขาเป็นนักบริหารรุ่นใหม่ มีความมุ่งมั่นและเชื่อว่าธนาคารไทยสามารถแข่งขันกับธนาคารระดับโลกได้ ด้วยความพยายามในการเปลี่ยนแปลงธนาคารกสิกรไทย จากระบบธนาคารครอบครัว สู่ความเป็นธนาคารลักษณะสากลมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 2 ช่วงที่สำคัญ ทั้งก่อนและหลังวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของไทย

–ก่อนวิกฤตการณ์ปี 2540 ธนาคารกสิกรไทยเปิดฉากปรับกระบวนการการทำงาน ตามแบบฉบับอเมริกันและธนาคารในโลกตะวันตก พร้อมๆ กับโลดแล่นไปกับโอกาสที่เปิดกว้างอย่างมากๆ

–เมื่อเผชิญวิกฤตการณ์ กสิกรไทยเป็นธนาคารไทยแห่งแรกๆ สามารถเอาตัวรอด วิ่งเข้าหา เข้าถึงมาตรฐานระบบธนาคารโลกได้ก่อนใครๆ ท่ามกลางการพลิกโฉมหน้าระบบธนาคารในประเทศไทยไปอย่างไม่หวนกลับ ได้ทำลายกำแพงปกป้องอันแน่นหนาเดิมลง

บัณฑูร ล่ำซำ ได้รับการยอมรับว่าเป็นนายธนาคารผู้มียุทธศาสตร์อันหลักแหลม บรรลุภารกิจสำคัญยิ่งกว่ายุคใดของธนาคารกสิกรไทยเสียอีก แม้จะผ่านร้อนหนาวมาก่อนหน้ามากว่า 4 ทศวรรษ

ภาพผู้นำผู้มั่นใจ กับแผนการใหญ่ และยุทธศาสตร์ใหม่ๆ เดินหน้าไป อย่างกรณีบัณฑูร ล่ำซำ ได้กล่าวถึงอีกยุทธศาสตร์หนึ่งที่สำคัญอย่างจริงจัง ราวๆ ปี 2546 เขาเคยเรียกว่า “China card” ขณะภาพอิทธิพลจีนยังมองไม่เห็นนัก ขณะนั้นคงไม่มีใครคาดคิดว่ามีพลังโดดเด่นเช่นทุกวันนี้

บัณฑูร ล่ำซำ และธนาคารกสิกรไทย ใช้ความพยายามอันยาวนานถึง 15 ปีทีเดียว กว่าจะได้บรรลุแผนสำคัญ–การเปิดธนาคารท้องถิ่นจีน ธนาคารกสิกรไทย (ประเทศจีน) เมื่อ 1 ธันวาคม 2560 ณ นครเสิ่นเจิ้น ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน

 

ผู้นำคนหนึ่งซึ่งสามารถก้าวผ่านอุปสรรคสำคัญๆ มาได้อย่างที่กล่าวมาข้างต้น ด้วยเวลาที่ใช้มาเกือบๆ 2 ทศวรรษ นับเป็นช่วงเวลาอันมหัศจรรย์ กับช่วงวัยอันกระฉับกระเฉง และมุ่งมั่น ยากที่จะคิดว่ามีสิ่งใดสำคัญกว่านั้นรออยู่ข้างหน้า

ประจวบกับช่วงเวลากว่าทศวรรษที่ผ่านมา ธนาคารกสิกรไทยได้เดินไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง ตามกำลังด้วยผลประกอบการอันมั่นคง ในปัจจุบัน สิ่งที่ผู้คนตื่นเต้นกับการบริการทางการเงินใหม่ ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ของระบบธนาคารไทย ที่มากับสิ่งที่เรียกว่า Digital transformationนั้น ล้วนเป็นพัฒนาการที่ต่อเนื่องมานานพอสมควร

กรณีธนาคารกสิกรไทยคงต้องย้อนกลับไปเมื่อทศวรรษ 2530 จนมาถึงแผนการซึ่งขยายใหญ่มากขึ้นๆ โดยเฉพาะการลงทุนครั้งใหญ่ในช่วงหลังวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ลงลึกมากขึ้น ขยายมิติมากขึ้น จนตกผลึกระดับหนึ่ง

“ภายใต้ยุทธ์ศาสตร์ที่มุ่งเน้นการยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centricity) และการตอบสนองความต้องการของลูกค้าด้วยผลิตภัณฑ์และบริการที่ครบวงจร…มิติของวัฒนธรรมองค์กร ผ่านการบริหารจัดการงานทรัพยากรบุคคล และความพร้อมด้านเทคโนโลยี ภายใต้โครงการ K-Transformation อย่างต่อเนื่อง อันจะส่งผลให้ธนาคารมีความได้เปรียบทางการแข่งขัน ตลอดจนสามารถสร้างผลตอบแทนที่มั่นคงในระยะยาวให้แก่ผู้ถือหุ้นและนักลงทุน…” ดังข้อความซึ่งกล่าวไว้เมื่อทศวรรษที่แล้ว (บทสรุปผู้บริหารของรายงานคำอธิบายและการวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการสำหรับปีสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2553)

ปัจจุบันคำว่า “ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centricity)” ยังเหมือนเดิม มีการเพิ่มเติมมิติให้เจาะจงมากขึ้นสู่บริการที่เป็นจริงเป็นจังมากขึ้น อย่าง “กำหนดเป้าหมายการเป็นแพลตฟอร์มที่ลูกค้าเลือกเพื่อตอบโจทย์ทุกด้านของชีวิต (Customer”s Life Platform of Choice)” (อ้างจากสารจากคณะกรรมการธนาคาร รายงานประจำปี 2561)

 

ช่วงเวลาทศวรรษที่ผ่านมาข้างต้น เป็นจังหวะเวลาที่บัณฑูร ล่ำซำ ให้ความสนใจมิติอื่นๆ มากขึ้น อาจเป็นไปได้ว่า มีความสัมพันธ์กับยุทธศาสตร์สำคัญที่วางไว้ลงตัวมากขึ้น มีทีมงานที่มีความสามารถอย่างที่ควร

ขณะที่มิติตัวตนของบัณฑูร ล่ำซำ เป็นที่น่าสนใจในวงสังคมมากขึ้น ในอีกด้านที่มิใช่นายธนาคารทั่วไป ทั้งนี้ เชื่อมโยงภูมิหลังกับบรรพบุรุษของเขาด้วย

บัณฑูร ล่ำซำ เป็นรุ่นที่ 5 ของตระกูลเก่าแก่ของคนไทยเชื้อสายจีน เข้ามาเมืองไทยสมัยรัชกาลที่ 5 มีความสัมพันธ์กับระบบสัมปทานป่าไม้ยุคอาณานิคมด้วย ขณะเดียวกันทางสายมารดาเป็นราชนิกุล สืบเชื้อสายมาจากกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ต้นสกุลเทวกุล สะท้อนความภูมิใจ และมีอิทธิพลทางความนึกคิดของเขาไม่น้อย

จนเชื่อมมาถึงวังเทวะเวสม์ (สร้างเสร็จในปี 2461) ซึ่งอาคารหลังเล็กในอนาณาบริเวณนั้น เป็นที่อยู่ ม.จ.ปรีดิเทพพงษ์ บิดาของ ม.ร.ว.สำอางวรรณ เทวกุล (มารดาของบัณฑูร ล่ำซำ) ด้วย เมื่อวังเดิมของ ม.จ.ปรีดิเทพพงษ์ถูกรื้อ บัณฑูร ล่ำซำ ได้นำบางชิ้นส่วนมาประกอบ ย่อส่วน สร้างใหม่ บนที่ดินที่ “บ้านสามญาณ” โดยให้ชื่อ “เรือนเทวะเวศม์” (ปี 2544) อยู่ใกล้ๆ กับวัดญาณสังวราราม ซึ่งเป็นวัดของสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่แล้ว มีความสัมพันธ์โดยตรงบทบาททางสังคม ในฐานะบัณฑูร ล่ำซำ เป็นประธานกรรมการและผู้จัดการมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ และไวยาวัจกร วัดบวรนิเวศวิหาร และวัดญาณสังวรารามด้วย

เรื่องราวทำนองนั้นอาจตีความถึงกรณีต่อมา ในฐานะเจ้าของโรงแรมไม้สักทองเก่าแก่ที่จังหวัดน่าน เปิดบริการมาตั้งแต่ปี 2477 ปลายยุคสัมปทานป่าไม้ภาคเหนือภายใต้ระบบอาณานิคม เริ่มต้นอย่างจริงจังราวปี 2552 บัณฑูร ล่ำซำ เข้าไปมีบทบาทสำคัญทางสังคม ขยายวงเพื่อชุมชนน่านในวงกว้างมากขึ้นๆ

ไม่เพียงแค่นั้น บทบาทบัณฑูร ล่ำซำ ขยายสู่มิติอื่นๆ อีก ปรากฏความเกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจยุคปัจจุบันอย่างชัดเจนตั้งแต่แรก ด้วยปรากฏชื่อในคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ แต่งตั้งโดย คสช. หรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (มิถุนายน 2557) ในช่วงเวลาเดียวกันกับตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ

ในโปรไฟล์ซึ่งปรากฏในรายงานประจำปี 2561 ธนาคารกสิกรไทย บัณฑูร ล่ำซำ ตั้งใจนำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องข้างต้นอีกบางตำแหน่ง อย่างกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน กรรมการคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงตามนโนยาย THAILAND 4.0

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า บัณฑูร ล่ำซำ กับธนาคารกสิกรไทยคงมีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก

 

ในมหากาพย์ใหม่ของระบบธนาคารไทย ว่าด้วยโครงสร้างการบริหาร เพื่อความคล่องตัวมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ท่ามกลางสถานการณ์ซึ่งเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้วยอัตราเร่ง

เช่น เรื่องที่เคยนำเสนอไว้ (โปรดอ่านเรื่อง “เกี่ยวเนื่องเรื่องสองแบงก์” ว่าด้วยผู้คนในสังคม จำต้องขยับ ปรับตัว ตามสัญญาณการปรับตัวธนาคารไทย ในมติชนสุดสัปดาห์ กุมภาพันธ์ 2562) ธนาคารกสิกรไทยได้ปรับตัวเช่นนั้นมาก่อนธนาคารอื่นใด สัก 5 ปีที่แล้ว

เมื่อพิจารณาโครงสร้างกรรมการ และคณะจัดการ ซึ่งปรับเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างมาก เป็นคนรุ่นใหม่ เป็นทีมงานที่ผนึกด้วยกันอย่างแนบแน่น

บัณฑูร ล่ำซำ ในฐานะประธานกรรมการธนาคารกสิกรไทย คงดูแลยุทธศาสตร์ใหญ่ๆ อย่างที่เป็นมาต่อไป