เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ : เว้นวรรคได้ประสบการณ์ “ไอ้เณร”

ก่อนนิตยสารรายเดือนช่อฟ้าจะหยุดพิมพ์ เป็นห้วงก่อนโรงพิมพ์พิฆเณศจะเริ่มกิจการ ผมต้องเข้ารับราชการเป็นทหารกองประจำการด้วยเหตุสองประการ คืออายุที่ขอผ่อนผันเนื่องจากการศึกษาในวิทยาลัยครูสวนสุนันทาในชั้นปีที่ 2 (อีกปี) ครบกำหนด ประการหนึ่ง และเมื่อถึงกำหนดวันคัดเลือก (ที่เรียกว่าเกณฑ์ทหาร) ต้องไปรับการคัดเลือก ณ ที่วัดเวฬุราชิน สถานที่คัดเลือกของอำเภอธนบุรี จังหวัดพระนคร ประการหนึ่ง

ทราบมาก่อนหน้านั้นแล้วว่า การเข้ารับเกณฑ์ทหารมีนอกมีใน มีราคาสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการเป็นทหาร

ช่างเถอะ เวลาล่วงพ้นมานานแล้ว เอาเป็นว่า วันที่ผมไปรับการเกณฑ์พร้อมกับเพื่อนรุ่นอ่อนกว่าและรุ่นราวคราวเดียวกันบางคน สัสดีและเจ้าหน้าที่ชุดนั้นไม่ใส่ใบดำไว้ให้จับสักใบ ผู้ที่ถูกขานชื่อล้วนแล้วแต่ผ่านเกณฑ์ “ดีหนึ่งประเภทหนึ่ง” ทั้งสิ้น

ทุกคนที่นั่งกับพื้นรอขานชื่อจับใบดำใบแดงต่างจับได้ใบแดงทั้งนั้น ต่างกันเพียงแต่ว่าเป็นใบแดงทหารบกหรือทหารอากาศ ผลัดหนึ่งหรือผลัดสอง

ก่อนจะครบคน ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่นับจำนวนผิดเกินไปคนหนึ่ง จึงต้องใส่ใบดำเพิ่มเข้าไปใบหนึ่ง ผ่านไปอีกสองสามคนมีชายฉกรรจ์คนหนึ่งจับได้ใบดำนั้น ร้องเฮกันลั่น

การเกณฑ์ทหารรุ่นนั้นและก่อนนั้น ผู้ที่จับได้ใบแดงผลัดหนึ่ง ต้องไปขึ้นรถส่งเข้ากรมกองตามกำหนดในบัญชี ส่วนผู้ที่จับได้ใบแดงผลัดสองตามบัญชีกำหนดต้องไปเข้ากรมกองในต้นเดือนพฤศจิกายน

รู้ตัวแน่นอนว่าต้องได้ใบแดง ภาวนาขอเป็นผลัดสอง เพราะต้องสอบในเดือนเมษายน

คงจะต้องเป็นทหารเกณฑ์ ถึงคิวผมล้วงลงไปในภาชนะหยิบกระดาษขึ้นมาส่งให้เจ้าหน้าที่ขาน “ใบแดง ผลัดหนึ่ง”

ทุกอย่างเป็นไปตามระเบียบระบบ ผมต้องไปลงทะเบียนก่อนจะดำเนินการต่อไป ผมแจ้งกับเจ้าหน้าที่ว่าขอเปลี่ยนเป็นไปผลัดสองได้ไหม เจ้าหน้าที่ตอบอย่างธรรมดาที่สุดว่า “ไม่ได้ครับ” แล้วแนะนำว่าต้องไปขอเปลี่ยนกันเอง ได้ช่องอย่างนั้นพอดีกับเพื่อนนักเรียนเก่าเป็นเจ้าหน้าที่อำเภอ และเป็นผู้ลงทะเบียนใบดำใบแดง เห็นหน้าผมพูดเบาๆ ว่า ปีนี้เขาไม่มาเกณฑ์กันหรอก อ้าว ผมร้องเบาๆ เห็นว่าไม่มีการเรียกเงินกันแล้ว เพื่อนยิ้ม ถามว่า จะให้ทำอะไร ผมบอกว่าจะขอเปลี่ยนไปเป็นผลัดสอง เพื่อนบอกว่ารอเดี๋ยว

ระหว่างนั้น มีผู้เกณฑ์รุ่นเดียวกันมาลงทะเบียน ได้ผลัดสอง ทบ. ผมจึงร้องขอเปลี่ยนผลัดได้ไหม ผมได้ผลัดหนึ่ง ชายฉกรรจ์คนนั้นไม่พูดสักคำ ยื่นใบแดงผลัดสอง ทบ. ให้ผม แล้วไปลงทะเบียน

เป็นอันว่า ผมได้ไปเป็นทหารผลัดสอง เพื่อจะได้เรียนวิชาการหนังสือพิมพ์ในภาคเรียนนั้นต่อ

 

ระหว่างก่อนไปรับราชการทหารกองประจำการ หนังสือช่อฟ้ายังออกเป็นปกติ มีผู้ที่มารับผิดชอบอีกคนนอกจาก สุจิตต์ วงษ์เทศ ขรรค์ชัย บุนปาน เป็นเพื่อนรุ่นเดียวกับสุจิตต์ที่เรียนโรงเรียนวัดมกุฏกษัตริยาราม คือ ประเสริฐ สว่างเกษม มาช่วยอีกแรง เพื่อให้ผมเข้าประจำการเป็นทหารเกณฑ์ไม่ต้องกังวล

ระหว่างไปเป็นทหารเกณฑ์ ได้รู้จักกับ “รงค์ วงษ์สวรรค์ ที่เพิ่งกลับจากสหรัฐอเมริกา ขรรค์ชัยเป็นผู้ที่แนะนำให้ผมรู้จัก ครั้งแรกก็ได้เรื่อง ด้วยเหตุที่ผมดื่มแล้วชอบอภิปราย คืนนั้นจึงอภิปรายมากไปหน่อย ซ้ำรุ่งขึ้นมีนัดกับพี่เขาที่สำนักงานสยามรัฐ ถนนราชดำเนิน

มีโอกาสพบกันอีกครั้งหนึ่ง พี่ปุ๊ทักผมตามประสาผู้ใหญ่พี่เชื้อเอ็นดูเด็กว่า “ว่าไง ทหารเกเร”

จากนั้นมาผมมีโอกาสติดตามพีปุ๊มาอีกหลายปี รวมทั้งมีโอกาสเขียนเรื่องสั้นชุด “ไอ้เณร” ลงพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ที่ “รงค์ วงษ์สวรรค์ ดูแล จากเรื่องสั้นเรื่องแรกของผมที่ได้ตีพิมพ์คือ “นิทานงานศพ” ได้รับเกียรติขึ้นชื่อบนหน้าปกด้วย

ก่อนหน้าที่พี่ปุ๊จะมาดูแลคัดเลือกเรื่องสั้นลงตีพิมพ์ “คุณมูล” ประมูล อุณหธูป “อุษณา เพลิงธรรม” เป็นผู้ดูแลคัดเลือก มีการกล่าวถึงกันว่า เรื่องสั้นของใครที่ผ่านการตรวจและลงพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์

จาก “คุณมูล” รับรองว่าเป็นประกาศนียบัตรเรื่องสั้น เขียนส่งไปนิตยสารรฉบับไหนไม่มีบรรณาธิการคนไหนไม่รับลงตีพิมพ์ ผู้ที่นำเรื่องนี้มาบอกกล่าวกับพวกเราคือ ณรงค์ จันทร์เรือง ที่ได้รับการพิจารณาตีพิมพ์เรื่องสั้นในสยามรัฐสัปดาหพิจารณ์หลายเรื่องแทบว่าติดต่อกัน

ณรงค์เล่าว่า คุณมูลทั้งอ่านเรื่องสั้น ทั้งแก้เรื่องสั้น ชนิดที่เรียกว่า “แดงเถือกไปทั้งเรื่อง” เรื่องไหนเห็นว่าแก้แล้วพอลงพิมพ์ได้จะพิจารณาลงให้เป็นเรื่องแรก ส่วนเรื่องที่สองที่สามต้องเข้มจริงๆ จึงจะลงให้

ผมเคยอ่านเรื่องสั้นของสุจิตต์ ที่เขียนเพื่อให้ลงพิมพ์ใน “ช่อฟ้า” อ่านจบ ผมจัดแจงตัดท่อนจบออกไปสองบรรทัด แล้วจัดการม้วนห่อส่งไปให้สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ อีกไม่กี่นาน ชื่อ สุจิตต์ วงษ์เทศ พิมพ์หราบนหน้าปกพร้อมบอกกล่าวผู้อ่านว่า “เรื่องสั้นที่ต้องแนะนำให้อ่านเป็นพิเศษ” – ขุนเดช ทำนองนั้น

หนังสือบันทึกเรื่องของนักเขียนหลากรุ่นหลายวัย ณรงค์ จันทร์เรือง เขียนและพิมพ์ไว้หลายเล่ม ตั้งแต่ “มิตรน้ำหมึก” ระเรื่อยมาเกือบ 10 เล่ม ลงท้ายด้วยชุดปากกา 3 เล่ม ตั้งแต่ “ปากกาแก้ว-ปากกาเงิน” และสุดท้ายที่ “ปากกาทอง” อยากรู้เรื่องนักเขียนต้องอ่านเรื่องจากความทรงจำของ ณรงค์ จันทร์เรือง

เมื่อได้รู้จักมักคุ้นกับพี่ปุ๊ “รงค์ วงษ์สวรรค์ ผมจึงมีโอกาสไปร่วมทีมกับ “เพื่อนหนุ่ม” ที่บ้านบางซ่อนอยู่หลายปี เป็นระหว่างที่พี่ปุ๊มาออกหนังสือชื่อเดือนมีนามสกุล เล่มแรกคือ “พฤษภาคม อุไร” มีตราปลาตะเพียน อยู่หน้าชื่อหนังสือ ช่วง มูลพินิจ ออกแบบและเขียน

“รงค์ วงษ์สวรรค์ บอกไว้ใน “คำนำ” เฟื่องนคร ถึงที่มาของหนังสือชุดนี้ ว่า

“เราได้คิดว่าน่าจะทำมหรสพบนหน้ากระดาษประดับไว้บนถนนหนังสือ – ถนนแห่งความรักของเรา ถนนซึ่งเราต่างพากเพียรจะไปให้ถึงปลายทางเพื่อลูบสัมผัสเปลวแดดสีทอง ถนนแห่งความหวัง

“พฤษภาคม อุไร”

พฤษภาคม อุไร ผลงานจากความเพียรของ “รงค์ วงษ์สวรรค์ / ขรรค์ชัย บุนปาน / ประเสริฐ สว่างเกษม / เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ และ ช่วง มูลพินิจ เพื่อสาระและบันเทิงในรสนิยมวิไล

หน้าปกเล่มแรก พฤษภาคม อุไร เป็นแถบสี 3 สีเรียงซ้อนพิมพ์ชื่อผู้เขียนไว้บนแถบสี ตั้งแต่ชื่อหนังสือ พฤษภาคม อุไร ลายเซ็น “คึกฤทธิ์ ปราโมช” “นายรำคาญ” อุษณา เพลิงธรรม นพพร บุณยฤทธิ์ “รงค์ วงษ์สวรรค์ (และ) ขรรค์ชัย บุนปาน

หนังสือชื่อเดือนมีนามสกุลจัดพิมพ์ติดต่อออกมาอีกหล่ายเล่ม จนถึงเล่มสุดท้าย พฤศจิกายน ชารี รวม 18 เล่ม

การเปลี่ยนแปลงระหว่างนั้นเป็นอย่างไร โปรดติดตาม