ปิยบุตร แสงกนกกุล : ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาปฏิวัติฝรั่งเศส (4)

ในตอนที่แล้ว เราได้บรรยายถึงประวัติศาสตร์นิพนธ์ของฝ่ายที่เห็นว่าการปฏิวัติฝรั่งเศสไม่ใช่การปฏิวัติกระฎุมพีเท่านั้น แต่เป็นการปฏิวัติประชาชน

ในตอนนี้ จะกล่าวถึงข้อถกเถียงของอีกฝ่ายหนึ่งที่นำโดย FranÇois Furet

นักประวัติศาสตร์ฝ่ายซ้ายจำนวนมากพยายามอธิบายให้การปฏิวัติฝรั่งเศสเชื่อมโยงกับบทบาทของประชาชนคนทั่วไป ชนชั้นล่าง เกษตรกร ชาวนา และผู้ใช้แรงงาน เพื่อยืนยันว่าปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงโดยประชาชน

แรกเริ่ม มันคือการต่อสู้ทางชนชั้นระหว่างพวกกระฎุมพีกับพวกเจ้าและขุนนาง

ต่อมา ได้พัฒนากลายเป็นการต่อสู้ของชนชั้นล่าง

คำอธิบายตามแนวทางนี้ได้ส่งต่อถ่ายทอดไปยังการปฏิวัติสังคมนิยมที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ เช่น รัสเซีย ยุโรปตะวันออก และจีน เป็นต้น

เมื่อลัทธิคอมมิวนิสต์เริ่มตกต่ำอยู่ในช่วงขาลง ประกอบกับประเทศที่นำลัทธิคอมมิวนิสต์ไปปกครองกลับแปลงรูปกลายเป็นรัฐเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ เช่นนี้แล้ว ยามใดที่เราต้องการประณามรัฐเผด็จการเหล่านี้ ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องตำหนิการปฏิวัติฝรั่งเศสด้วย

โดยเฉพาะในช่วงที่ฝ่าย Jacobin เรืองอำนาจในยุค La Terreur

บริบทนี้เองที่ทำให้นักประวัติศาสตร์ที่ไม่เห็นด้วยกับคำอธิบายตามแนวทาง “ปฏิวัติประชาชน” กลับมาเป็นที่สนใจมากขึ้น

ประวัติศาสตร์นิพนธ์ปฏิวัติฝรั่งเศสสำนัก Jacobino-Marxist ถูกตอบโต้ท้าทายจากประวัติศาสตร์นิพนธ์สำนักใหม่ ซึ่งเราเรียกกันว่า “สำนักเสรีนิยม” บ้าง เรียกกันว่า “ลัทธิแก้” บ้าง

หมุดหมายสำคัญของประวัติศาสตร์นิพนธ์สำนักนี้ คือ การตีพิมพ์หนังสือ La Révolution franÇaise ในปี 1965 เขียนโดย FranÇois Furet และ Denis Richet

นอกจากหนังสือ La Révolution franÇaise แล้ว ยังมีงานอีกสองชิ้นของ FranÇois Furet ที่สำคัญ และถือเป็น “อนุสาวรีย์” ของเขา ชิ้นแรก คือ Penser la Révolution ตีพิมพ์ในปี 1978

งานชิ้นนี้แบ่งเป็นสองภาค ได้แก่ La Révolution franÇaise est termin?e (การปฏิวัติฝรั่งเศสสิ้นสุดลงแล้ว) และ Trois histoires possibles de la Révolution franÇaise (สามประวัติศาสตร์อันเป็นไปได้ของการปฏิวัติฝรั่งเศส)

ส่วนชิ้นที่สอง คือ Dictionnaire critique de la Révolution fran?aise (พจนานุกรมเชิงวิพากษ์ของการปฏิวัติฝรั่งเศส) ตีพิมพ์ในปี 1988

งานชิ้นนี้ มีนักประวัติศาสตร์จำนวนมากร่วมกันเขียนคำอธิบายความคิด บุคคล เหตุการณ์ สถาบันการเมือง ตลอดจนประวัติศาสตร์นิพนธ์ของปฏิวัติฝรั่งเศส

โดย FranÇois Furet เป็นบรรณาธิการร่วมกับ Mona Ozouf

ประวัติศาสตร์นิพนธ์สำนักเสรีนิยมรับอิทธิพลทางความคิดมาจาก Fernand Braudel นักประวัติศาสตร์ต้นตำรับวิธีวิทยาแบบ “La longue durée” ที่เน้นศึกษาประวัติศาสตร์ในลักษณะช่วงระยะเวลายาวนานหลายศตวรรษ

โดยไม่พิจารณาเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจง เพื่อแสดงให้เห็นถึงปัจจัยทางสังคม เศรษฐกิจ และภูมิศาสตร์ที่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์

Braudel มีบทบาทสำคัญในวงวิชาการประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศส และมีอิทธิพลต่อนักวิชาการรุ่นหลัง โดยมี École des hautes Études en sciences sociales (EHESS) และวารสาร Annales. ?conomies, Sociétés, Civilisations (Annales ESC) เป็นฐานที่มั่นสำคัญ เราจึงเรียกกันว่าประวัติศาสตร์สำนัก Annales

ประวัติศาสตร์นิพนธ์สำนักเสรีนิยมที่นำโดย FranÇois Furet ขึ้นมาครอบงำวงวิชาการประวัติศาสตร์อย่างสูงสุดเมื่อปี 1989 ซึ่งเป็นช่วงของการเฉลิมฉลองครบรอบ 200 ปีปฏิวัติฝรั่งเศส

การถกเถียงเรื่องการตีความปฏิวัติฝรั่งเศสในช่วงนั้น ไม่ใช่การถกเถียงระหว่างนักประวัติศาสตร์ฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวาหรือฝ่ายขวาจัดหรือฝ่ายต่อต้านปฏิวัติ

แต่กลับกลายเป็นการถกเถียงระหว่างฝ่ายซ้ายด้วยกัน ฝ่ายหนึ่ง คือ ฝ่ายซ้ายดั้งเดิมแบบ อีกฝ่ายหนึ่ง คือ ฝ่ายซ้ายใหม่ค่อนไปทางเสรีนิยมที่ผิดหวังกับลัทธิคอมมิวนิสต์

นอกจากการเฉลิมฉลอง 200 ปีปฏิวัติฝรั่งเศสแล้ว ในช่วงปี 1989 ยังเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองสำคัญที่เกื้อหนุนคำอธิบายของประวัติศาสตร์นิพนธ์สำนักเสรีนิยมและลดทอนความน่าเชื่อถือของคำอธิบายตามแนวทางประวัติศาสตร์นิพนธ์สำนัก Jacobino-Marxist

ไม่ว่าจะเป็นการทลายกำแพงเบอร์ลิน ประเทศคอมมิวนิสต์เริ่มเปลี่ยนผ่าน เหตุการณ์เทียนอันเหมิน และแนวนโยบายของพรรคสังคมนิยมที่ขยับออกไปในแนวทางเสรีนิยมมากขึ้นภายใต้รัฐบาลของ Michel Rocard

กล่าวกันว่า ความตกต่ำของลัทธิคอมมิวนิสต์และความโหดร้ายทารุณของเผด็จการเบ็ดเสร็จในรัสเซียและนาซี ได้กลายเป็น “ชนวน” สำคัญของการปฏิเสธคำอธิบายแบบดั้งเดิม

จากชัยชนะดังกล่าวนี้เอง ทำให้ประวัติศาสตร์นิพนธ์สำนักเสรีนิยม ซึ่งมี École des hautes Études en sciences sociales (EHESS) หรือวิทยาลัยการศึกษาชั้นสูงในทางสังคมศาสตร์เป็นฐานที่มั่น ได้กลายเป็นศูนย์กลางทางความคิดและวิชาการแหล่งใหม่ขึ้นเคียงคู่ (หรืออาจแทนที่) ไปกับ Institut d”Histoire de la Révolution franÇaise (IHRF) หรือสถาบันประวัติศาสตร์การปฏิวัติฝรั่งเศส มหาวิทยาลัย Paris I Sorbonne ของประวัติศาสตร์นิพนธ์สำนัก Jacobino-Marxist

เราอาจสรุปความคิดของสำนักเสรีนิยมของ FranÇois Furet ที่มีต่อการปฏิวัติฝรั่งเศส

ได้ดังนี้

1.การปฏิวัติฝรั่งเศสไม่ใช่ผลพวงของการต่อสู้กันระหว่างชนชั้นกระฎุมพีเสรีนิยมกับพวกขุนนางอนุรักษนิยม

การปฏิวัติฝรั่งเศสไม่ใช่สิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ หรือเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนตามกงล้อประวัติศาสตร์

เพราะเอาเข้าจริงแล้ว ระบบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญที่ออกแบบในปี 1790-1791 ก็คือ ผลแห่งการประนีประนอมระหว่างกระฎุมพีกับพวกเจ้าและขุนนาง

ข้อเท็จจริงนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่า เราสามารถหลีกเลี่ยงการปฏิวัติได้

ความคิดนี้ คือ การตอบโต้กับสำนัก Jacobino-Marxist ที่ยืนยันว่า การปฏิวัติ คือ การต่อสู้กันระหว่างชนชั้น กรณีปฏิวัติฝรั่งเศส เริ่มต้นจากการต่อสู้ระหว่างกระฎุมพีกับขุนนาง

จากนั้นชนชั้นล่าง ชาวนา คนชนบท ได้ผลักดันให้การปฏิวัติรุดหน้ามากขึ้นและไปทางซ้ายมากขึ้น

แต่สุดท้ายพวกขวาและเสรีนิยมก็เอากลับไป

ดังนั้น การปฏิวัติจึงยังไม่ยุติ

2.การปฏิวัติฝรั่งเศสที่รุนแรงมากขึ้นในช่วงปี 1791-1793 จนไปสู่การประหารชีวิต Louis XVI เข้าสู่สาธารณรัฐ และยุค La Terreur นั้น เป็น “การลื่นไถล” (dérapage) ที่ไม่ได้คาดคิด

Furet อธิบายไว้ใน La Révolution franÇaise (1965) เพื่อตอบโต้ความคิดดั้งเดิมที่อธิบายว่า La Terreur นั้น เป็นความจำเป็นของสถานการณ์ในช่วงเวลานั้นที่การปฏิวัติฝรั่งเศสถูกคุกคามจากเหตุภายในและภายนอกประเทศ

และการปฏิวัติฝรั่งเศสตั้งแต่ 1789-1793 เป็น “mouvement ascendant” หรือกระบวนการที่ต้องเกิดขึ้นและก้าวหน้าขึ้นไปตามลำดับ

3.ในงานชิ้นหลัง คือ Penser la Révolution Furet (1978) Furet ได้เปลี่ยนความคิดใหม่

เขายืนยันว่า La Terreur เป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์ปฏิวัติ เพราะขึ้นชื่อว่าการปฏิวัติแล้ว ย่อมไม่มีแนวทางประนีประนอมหรือ moderate ได้

ดังนั้น มาตรการในยุค La Terreur คือ กระบวนการนำพาปฏิวัติไปให้สุดทางและ radical

ในนัยนี้เอง มันจึงไม่ใช่ “การลื่นไถล” ที่ไม่ได้คาดคิดและควบคุมไม่อยู่ และมันก็ไม่ใช่ “ความจำเป็น” ที่ต้องเกิดขึ้นเพื่อตอบโต้กับภัยคุกคามสาธารณรัฐ

แม้ Furet ไม่ได้นำยุค La Terreur การปฏิวัติฝรั่งเศสไปเปรียบเทียบกับเผด็จการเบ็ดเสร็จของฮิตเลอร์และสตาลิน

แต่ด้วยบริบททางการเมืองในเวลานั้น ทำให้คนจำนวนมากที่ได้อ่านงานชิ้นนี้ ต่างพากันจินตนาการเปรียบเทียบความโหดร้ายทารุณของเผด็จการเบ็ดเสร็จเข้ากับมาตรการในยุค La Terreur คนฝรั่งเศสที่เคยภาคภูมิใจกับปฏิวัติฝรั่งเศส เปลี่ยนเป็นละอายใจ และสนับสนุนว่าการปฏิวัติฝรั่งเศสสิ้นสุดลงแล้ว ความรุนแรงใดๆ ที่เกิดขึ้นในปฏิวัติสังคมนิยมในที่อื่นๆ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับปฏิวัติฝรั่งเศส

4.Furet นำงานของ Augustin Cochin (1876-1916) นักประวัติศาสตร์อนุรักษนิยม-กษัตริย์นิยม กลับมาตีความใหม่ เขาให้เครดิตว่า Cochin เป็นนักประวัติศาสตร์ปฏิวัติฝรั่งเศสที่คนรู้จักน้อยที่สุด เพราะเสียชีวิตไปเมื่ออายุได้ 40 ปีเท่านั้น

ทั้งๆ ที่งานของเขาเป็นงานที่จัดระบบความคิดของการปฏิวัติฝรั่งเศสได้อย่างดี

Furet อธิบายผ่านงานของ Cochin ถึงบทบาทของพวก Franc ma?onnerie ในฐานะเป็นกำลังสำคัญในการทำงานทางความคิดและบ่มเพาะจนเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส

5.ด้วยอิทธิพลของวิธีการแบบ “La longue durée” ทำให้ Furet อธิบายว่า การปฏิวัติฝรั่งเศสไม่ได้เป็นเหตุการณ์ที่ “โดด” ออกมาจากเหตุการณ์อื่นๆ

แต่มันเป็นเหตุการณ์หนึ่งตามสายธารประวัติศาสตร์อันยาวนาน

การปฏิวัติฝรั่งเศสไม่ใช่ “หมุดหมาย” สำคัญมากถึงขนาดที่อะไรๆ ก็ต้องเริ่มต้นที่การปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งกลายเป็นมายาคติที่ฝังอยู่ในสังคมฝรั่งเศส และเราควรพิจารณาเรื่องราวต่างๆ อย่างรอบด้าน โดยไม่จำเป็นต้องยึดติดกับการปฏิวัติฝรั่งเศสในทุกเรื่อง

Furet กำหนดช่วงเวลาการศึกษาปฏิวัติฝรั่งเศสโดยย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยระบอบเก่า (l”Ancien Régime) ในปี 1770 ไปจนถึงปี 1880 ซึ่งเป็นสมัยสาธารณรัฐที่ 3 เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์สืบเนื่องกันของระบอบเก่าและปฏิวัติฝรั่งเศส

และยืนยันว่าการปฏิวัติฝรั่งเศสได้สิ้นสุดลงเมื่อสาธารณรัฐที่ 3 ก่อตั้งขึ้นได้อย่างมั่นคงตามรูปแบบประชาธิปไตยและเสรีนิยม

นอกจากนี้ Furet ยังได้หยิบยืมความคิดของ Claude Lévi-Strauss เพื่อชี้ว่า ในยุคปัจจุบันนี้ การปฏิวัติฝรั่งเศสเป็น “objet froid” หรือ “ของเย็นชืด” ไปแล้ว

ผู้เขียนเห็นว่า การตีความและอธิบายปฏิวัติสยาม 2475 ของ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ หยิบยืมความคิดของ Fran?ois Furet มาใช้ไม่มากก็น้อย