วรศักดิ์ มหัทธโนบล : ศึกรวมแผ่นดินของตระกูลหลี่

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

การตั้งตนเป็นกบฏของหลี่ยวนใน ค.ศ.617 ดังกล่าวจึงมิได้หมายความว่ากองกำลังที่ตั้งขึ้นคือกองกำลังที่แข็งแกร่งหรือยิ่งใหญ่ที่สุดในขณะนั้น กองกำลังที่สำคัญที่สุดในขณะนั้น คือกองกำลังหวากั่งของหลี่มี่ ซึ่งหลี่ยวนเองก็รู้ดีว่ายากที่กองกำลังของตนจะเทียบได้

หลี่ยวนจึงไม่ปรารถนาที่จะเปิดศึกกับกบฏอื่นๆ หลายด้าน ด้วยการใช้แผนหลีกเลี่ยงที่จะเป็นศัตรูกับกองกำลังของหลี่มี่

แผนของเขาคือ การพยายามติดต่อกับหลี่มี่อย่างสม่ำเสมอ และทุกครั้งของการติดต่อ เขาได้แสดงให้หลี่มี่เห็นว่า ตัวเขานั้นสนับสนุนให้หลี่มี่ได้ขึ้นมาเป็นใหญ่ ดังจะเห็นได้จากสารฉบับหนึ่งที่เขามีไปถึงหลี่มี่ที่มีข้อความตอนหนึ่งว่า

“สวรรค์ได้สร้างราษฎรผู้ซึ่งปรารถนาการดูแลปกป้องขึ้นมา แลบัดนี้, ผู้ใดเล่าคือผู้ดูแลปกป้องที่แท้จริง หากมิใช่ท่าน”

ข้อความเชิงยกย่องและสนับสนุนทำนองนี้ได้ผลเป็นที่ยิ่ง ด้วยหลี่มี่เชื่อว่านั่นคือน้ำใสใจจริงของหลี่ยวน และทำให้ละเว้นที่จะนับหลี่ยวนเป็นศัตรูคู่แข่งของตน และทำให้หลี่ยวนมีเวลาที่จะมาจัดการกับกองกำลังของสุยหรือกบฏขบวนการอื่นที่อ่อนแอกว่า

แต่ก็ในระหว่างนี้เองที่กองกำลังของหลี่มี่เกิดรบแพ้กบฏอื่น จนเป็นเหตุให้ต้องหันมาพึ่งหลี่ยวนในที่สุด และทำให้หลี่ยวนได้กองกำลังที่เหลือของหลี่มี่มาเป็นของตนเองไปด้วย ส่วนฐานที่มั่นของหลี่ยวนก็ยังคงเป็นเมืองไท่หยวนต่อไป

 

อนึ่ง การใช้ไท่หยวนเป็นฐานที่มั่นนี้มีประเด็นที่น่าสนใจที่พึงกล่าวด้วยว่า ไท่หยวนเป็นเมืองเก่าแก่ที่ปรากฏชื่อมาตั้งแต่ยุคตำนานแล้ว โดยเชื่อกันว่าผู้ปกครองเมืองนี้คืออดีตกษัตริย์ปราชญ์ที่มีชื่อว่าเหยา

เหยา มาจากชนเผ่าเถาถัง จากที่มานี้ทำให้เหยามีอีกชื่อหนึ่งว่าถังเหยา ซึ่งสื่อความหมายว่า เหยาแห่งชนเผ่าถัง (Yao of Tang) เหยาได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งใน “สามกษัตริย์ ห้าจักรพรรดิ” ในยุคตำนาน คุณูปการของเขาในด้านคุณธรรมการปกครองเป็นที่อ้างอิงของชนรุ่นหลังเสมอมา ซึ่งในที่นี้เห็นควรที่จะกล่าวถึงเหยาโดยสังเขป ดังนี้

เหยาได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ (กษัตริย์) ในยุคตำนานด้วยวัยเพียง 16 ปี กล่าวกันว่า เขาเป็นหลานคนหนึ่งของฮว๋างตี้ ผู้ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นบรรพชนของชาวจีน เมื่อเป็นผู้นำ เหยาได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ที่มีชีวิตสมถะและความสามารถในการปกครอง

โดยในด้านที่สมถะนั้นกล่าวกันว่า เหยาอาศัยอยู่ในบ้านพักที่สร้างอย่างง่ายๆ นั่นคือ ทั้งเสาและคานบ้านเป็นเพียงท่อนไม้ธรรมดาๆ ที่ไม่มีการขัดแต่งหรือระบายสีใดๆ หลังคาก็มุงด้วยหญ้าเหมือนบ้านของราษฎรทั่วไป บันไดขึ้นบ้านก็ประกอบขึ้นจากอิฐและหินเก่าที่ไม่สู้จะสะอาด

และอาหารการกินก็เป็นอาหารหยาบและน้ำแกงต้มผักสมุนไพรเท่านั้น

ส่วนทางด้านการปกครองนั้น เหยาได้จัดให้มีผู้กำกับดูแลเรื่องฟ้าดินเป็นการเฉพาะ แล้วส่งผู้ปกครองเข้าไปบริหารตามพื้นที่ด้วยการแบ่งเป็นพื้นที่ทางทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก

นอกจากนี้ก็ยังได้กำหนดให้มีการใช้ปฏิทินโดยแบ่งเป็นหนึ่งปีมี 366 วัน แบ่งฤดูกาลออกเป็นสี่ฤดูคือ ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว

จากนั้นก็ให้ราษฎรของตนทำการเกษตรตามฤดูกาล เป็นต้น

 

เรื่องพิสดารของเหยาที่ขึ้นชื่อและถูกเล่าสืบต่อกันมาเรื่องหนึ่งคือ ครั้งหนึ่งดวงตะวันบนฟ้าจู่ๆ ก็ให้เกิดขึ้นสิบดวง ทำให้พืชผลและต้นไม้ใบหญ้าต่างๆ แห้งตายไปหมด ทั้งยังมีสัตว์ดุร้ายออกอาละวาดอีกด้วย ส่งผลให้ผู้คนล้มตายกันมากมาย

ข้างที่ยังมีชีวิตอยู่ก็อยู่ไปอย่างอดอยากหิวโหย

วิกฤตนี้ทำให้เหยาต้องเลือกให้โฮ่วอี้เป็นคนมาแก้ โฮ่วอี้เป็นผู้องอาจและฉมังธนูเป็นที่ยิ่ง เขายิงธนูขึ้นฟ้าดับดวงตะวันไปเก้าดวงจนเหลือหนึ่งดวงมาจนทุกวันนี้ ส่วนสัตว์ดุร้ายก็ถูกโฮ่วอี้กำจัดขับไล่ไปเสียสิ้น ความสงบสุขของราษฎรจึงกลับมาอีกครั้งหนึ่ง

จากเรื่องราวของเหยาดังกล่าวข้างต้น ต่อมาได้ทำให้เหยาเป็นแบบอย่างของผู้นำที่ทรงธรรม จนเป็นที่อ้างอิงและเจริญรอยตามของกษัตริย์หรือจักรพรรดิในชั้นต่อมา โดยเฉพาะในยุคประวัติศาสตร์ของจีน ที่จักรวรรดิจีนดำรงอยู่ภายใต้ฐานคิดของลัทธิขงจื่อ อันเป็นลัทธิเดียวที่ยกย่องเหยาให้เป็นหนึ่งในผู้นำที่มีอยู่ไม่กี่คนในยุคตำนาน

ดังนั้น การอ้างอิงใดๆ เกี่ยวกับเหยาจึงนอกจากจะเป็นอ้างอิงในแง่ที่เป็นแบบอย่างที่ดีแล้ว ก็ยังเป็นการอ้างอิงในแง่ที่เป็นสิริมงคลอีกด้วย ดังกรณีของหลี่ยวนที่กำลังกล่าวถึงอยู่นี้

กล่าวคือ ในกรณีที่หลี่ยวนมีไท่หยวนเป็นฐานที่มั่นที่ถูกโยงให้สัมพันธ์กับเหยาก็คือว่า หลี่ยวนนำเอายศศักดิ์ของตนคือเจ้าพระยาแห่งรัฐถัง มาสัมพันธ์กับไท่หยวนที่เคยอยู่ใต้การปกครองของเหยาหรือถังเหยา

ว่าการที่มีคำว่า “ถัง” สอดคล้องต้องกันโดยบังเอิญเช่นนี้นับเป็นนิมิตมงคลจากสวรรค์ และนิมิตมงคลนี้ทำให้เขากล่าวกับบุตรคนที่สองของเขาคือหลี่ซื่อหมิน ว่า

“ถังคือชาติแห่งเราโดยแท้ แลไท่หยวนคือพรมแดนแห่งเรา การมาสถิตอยู่ ณ ที่แห่งนี้ของข้าในบัดนี้จึงเสมือนกับสวรรค์ได้วิสาสะด้วย หากแม้นเราไม่ใส่ใจในวิสาสะนี้แล้วไซร้ หายนะจักตกอยู่แก่เรา”

การโยงความสัมพันธ์เช่นนี้ถือเป็นเรื่องปกติของผู้ตั้งตนเป็นใหญ่ ซึ่งในเวลานั้นความเชื่อในโชคลางหรือคำพยากรณ์ถือเป็นกิจหนึ่งที่ถือปฏิบัติกันโดยทั่วไป

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อการลุกฮือขึ้นก่อกบฏของหลี่ยวนเป็นเช่นที่กล่าวมาแล้ว หลี่ยวนจึงได้ประกาศขับสุยหยังตี้ออกจากบัลลังก์ในปลายปี ค.ศ.617 แล้วอุปโลกน์ให้เจ้าชายองค์หนึ่งของสุยเป็นจักรพรรดิหุ่นของตนเอง ส่วนสุยหยังตี้ก็ยกให้เป็นบรมราชชนก (ไท่ซั่งฮว๋าง, Retired Emperor)

ครั้นเมื่อทราบข่าวการสิ้นพระชนม์ของสุยหยังตี้ในปีถัดมา หลี่ยวนจึงได้ปลดจักรพรรดิหุ่นออกจากการเป็นจักรพรรดิ จากนั้นก็ตั้งตนเป็นจักรพรรดิภายใต้ราชวงศ์ใหม่ในกลาง ค.ศ.618 โดยมีพระนามว่าเกาจู่ ซึ่งในที่นี้จะเรียกขานว่าถังเกาจู่ (ครองราชย์ ค.ศ.618-626)

ส่วนชื่อราชวงศ์นั้นตั้งตามยศศักดิ์ของตนว่า ถัง จากนั้นจึงเลือกให้ต้าซิงเฉิงอันเป็นหนึ่งในเมืองหลวงเดิมของสุยให้เป็นเมืองหลวง แต่ให้เปลี่ยนชื่อเมืองไปใช้ชื่อเดิมที่เคยใช้มายาวนานว่า ฉังอัน

แม้ราชวงศ์ถังจะถือกำเนิดขึ้นแล้ว แต่ไฟสงครามกลางเมืองไม่เพียงยังมิได้ดับมอดเท่านั้น หากยังถูกโหมกระพือให้หนักยิ่งขึ้น เหตุฉะนั้น หากถังมิอาจดับไฟสงครามนี้ได้ การตั้งตนเป็นราชวงศ์ก็ย่อมไร้ความหมาย

 

การรวมแผ่นดินกับการเมืองภายใน

ทั้งก่อนและหลังที่ถังถูกสถาปนาเป็นราชวงศ์นั้น สงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นจากการลุกฮือของกบฏขบวนการต่างๆ ไม่เพียงยังมิได้สงบลงเท่านั้น หากยังแผ่ขยายจากที่มีอยู่หลายสิบขบวนการมาเป็นมากกว่า 200 ขบวนการ

จากเหตุนี้ หากถังปรารถนาที่จะเป็นราชวงศ์เพียงหนึ่งเดียวแล้วก็หมายความว่า ถังพึงต้องปราบกบฏเหล่านี้ให้สิ้นไป แต่จำนวนกบฏที่มีมากถึงเพียงนั้นย่อมมิใช่เรื่องง่าย การใช้นโยบายที่แยบยลนอกเหนือจากการใช้กำลังจึงเป็นสิ่งที่ถังนำมาใช้ประกอบกัน

นโยบายที่ว่านี้มีหลากหลาย เช่น การใส่ใจในการปูนบำเหน็จแก่ทหารที่มีความดีความชอบในการศึก (เพื่อซื้อใจไม่ให้ตีตัวออกห่าง) การให้แกนนำกบฏที่ยอมสวามิภักดิ์ต่อตนใช้สกุลหลี่ซึ่งเป็นสกุลเดียวกับจักรพรรดิ หรือแสดงความเคารพนบนอบด้วยการให้แกนนำเหล่านี้มีบรรดาศักดิ์ในระดับเดียวกับเชื้อพระวงศ์ เป็นต้น

ที่สำคัญ นโยบายเหล่านี้แฝงเอาไว้ซึ่งภาพลักษณ์ที่ดีของถังเกาจู่ ว่าทรงเป็นจักรพรรดิที่มีจิตใจกว้างขวางน่าเชื่อถือ เป็นจักรพรรดิที่เต็มไปด้วยอภัยธรรมที่พร้อมจะลืมความเป็นศัตรูของเหล่ากบฏ และพร้อมที่จะฟื้นฟูสันติภาพให้เกิดแก่จักรวรรดิอีกครั้งหนึ่ง

จนเวลาผ่านไประยะหนึ่ง นโยบายเหล่านี้ได้ทำให้เห็นว่าเป็นยุทธวิธีที่ได้ผลเป็นอย่างดี