เทศมองไทย : ค่าเงินบาท เมื่อไทยตกเป็นเหยื่อตัวเอง

ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นสูงมากและเร็วมาก นั่นคือสิ่งที่ปรากฏให้เห็นแก่ตาอยู่ในเวลานี้

แต่ที่ชวนให้คิดก็คือ คำถามซึ่งเกิดขึ้นตามมาหลังคำบอกเล่าดังกล่าวนั้นว่า ทำไม?

คำถามนี้อาจหาคำตอบได้ง่ายกว่า ถ้าหากสถานะเศรษฐกิจของไทยกำลังดี การส่งออกขยายตัวน่าทึ่ง การลงทุนในประเทศเบ่งบาน การท่องเที่ยว การบริโภคภายในประเทศคึกคัก

ปัญหาคือสภาพเศรษฐกิจของไทยเป็นอะไรอย่างอื่น ที่แทบจะตรงกันข้ามกับหลายอย่างที่ว่านั้น

เศรษฐกิจภายนอกประเทศก็อึมครึม กดดันต่อความเชื่อมั่นทั้งของนักธุรกิจและผู้บริโภค ผลที่เกิดขึ้นก็คือ 90 เปอร์เซ็นต์ของทั้งโลกตกอยู่ในสภาวะชะลอตัว

กระนั้น เงินบาทก็ยังแข็งค่ามาก “ผิดปกติ” อยู่ดี…ทำไม?

 

ในระบบปริวรรตเงินตราแบบลอยตัวอย่างที่เมืองไทยใช้กันอยู่ ค่าเงินย่อมแข็งค่าได้แล้วก็อ่อนค่าได้ เป็นเรื่องปกติธรรมดา

อาการ “ผิดปกติ” ที่ว่านี้สามารถเห็นได้ชัดเมื่อนำเอาค่าเงินของประเทศหนึ่งๆ ไปเทียบเคียงกับค่าเงินของประเทศเพื่อนบ้านในละแวกเดียวกัน ที่มีเศรษฐกิจขนาดและรูปแบบใกล้เคียงกัน ถ้าสัดส่วนการแข็งค่าของเงินของประเทศทั้งสองใกล้เคียงกัน ย่อมไม่ใช่เรื่องผิดปกติ

ในช่วงหลายเดือนของปีนี้ ค่าเงินบาทของไทยเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์แข็งค่ามากขึ้น 7 เปอร์เซ็นต์แล้ว สูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียทั้งหมด ค่าเงินที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ในช่วงเวลาเดียวกันของปีนี้เป็นอันดับสองคือ เงินรูเปียะห์ของอินโดนีเซีย

ปีนี้รูเปียะห์แข็งค่าขึ้นไปเพียงแค่ 1 เปอร์เซ็นต์เศษๆ เท่านั้นเอง

นี่คืออาการ “แข็งค่าผิดปกติ” อย่างมากของเงินบาทครับ

 

แดเนียล มอสส์ คอลัมนิสต์ของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก เขียนบทความแสดงความคิดเห็นเอาไว้เมื่อ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา ตอบคำถามว่าทำไมค่าบาทถึงแข็งค่าขึ้นทุกที

พร้อมกับหยิบยกเอาคำแนะนำเพื่อแก้ปัญหาของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) มานำเสนอไว้ด้วยชวนให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้นไปอีก

ในความเห็นของแดเนียล มอสส์ ปัญหาค่าเงินบาทของไทยเกิดจากการ “เรียนรู้บทเรียน” จากวิกฤตการณ์ทางการเงินครั้งสำคัญที่เป็นประวัติศาสตร์ของประเทศในช่วงปี 1997-1998 ช่วงเวลาที่ค่าเงินบาท “ล่มสลาย” เศรษฐกิจพังพาบ ส่งผลสะเทือนไปไกลจนกลายเป็นภาวะวิกฤตร้ายแรงที่สุดของเอเชียหลังสงครามโลกครั้งสองเลยทีเดียว

การถอดบทเรียนและเรียนรู้บทเรียนครั้งนั้นกลายเป็น “วาระสำคัญ” ของหลายชาติในเอเชีย

ปัญหาก็คือบางประเทศ โดยเฉพาะไทยยึดถือบทเรียนแน่วแน่มั่นคง “มากเกินไป”

จนถึงบัดนี้นโยบายทางการเงินการคลังของประเทศยังคงยึดกุมแบบแผนดังกล่าวแนบแน่นชนิด “พร้อมสูงสุด” สำหรับการรับมือกับ “วิกฤตร้ายแรงที่สุด”

จนไม่หลงเหลือช่องว่างสำหรับปรับจูน วางมาตรฐานเพื่อการเติบโตในระยะยาว

 

นั่นคือเหตุผลที่ว่า ทำไมหลังจากคณะตัวแทนของไอเอ็มเอฟเสร็จสิ้นการตรวจเยี่ยมเพื่อทบทวนสถานะประจำปีที่ไทยแล้ว ถึงได้ยกย่องการตัดสินใจของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาสู่ระดับ 1.5 เปอร์เซ็นต์เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

กระนั้น ทีมไอเอ็มเอฟยังบอกเพิ่มเติมไว้ว่า สถานะของไทยในการรับมือกับปัจจัยภายนอกนั้น “ถือว่าแข็งแกร่งกว่าที่จำเป็นเพื่อรองรับนโยบายพื้นฐานระยะกลางและนโยบายที่ต้องการอย่างมีนัยสำคัญ”

เพราะความแข็งแกร่งของสถานะทางการเงินของไทยในรูปของทุนสำรองที่แข็งแกร่งและการที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลอยู่สูงมาก ส่งผลให้เงินบาทกลายเป็นเงินที่ทุกคนต้องการถืออยู่ในมือในยามที่ยังไม่แน่นอนว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจโลกในอีกไม่กี่เพลาข้างหน้า

แต่ไอเอ็มเอฟแจกแจงให้เห็นว่า ในขณะที่สถานะทางการเงินของไทยดี “จนเกินไป” นั้น ปัญหาหลายอย่างดำรงอยู่ในระบบเศรษฐกิจ ภาวะเงินเฟ้อแทบไม่ขยับขึ้น จนถึงต้นกันยายนนี้ยังคงอยู่ที่ 0.3 เปอร์เซ็นต์เทียบกันปีต่อปี, ผลิตภาพยังคงอยู่ในระดับต่ำ แต่ค่าแรงกลับทรงตัวอยู่ในระดับสูง, ประเทศย่างเข้าสู่สภาวะสังคมสูงอายุอย่างรวดเร็วแทบถอดแบบมาจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ มากกว่าที่จะไปเหมือนกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ รวมทั้งมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ หรืออินโดนีเซีย, ภาวะว่างงานต่ำ

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกลุ่มประชากรวัยทำงานลดขนาดลง

 

สภาวะทางการเมืองกลับย้อนหลังไปเหมือนยุคทหารในเกาหลีใต้ ไต้หวัน อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ที่ทุกชาติเหล่านั้นพยายามจนแทบสามารถลืมเลือนไปได้แล้ว

สภาวะทางเศรษฐกิจก็ชะลอ อืดช้า เหมือนคนงัวเงียง่วงงุน กำลังต้องการกาเฟอีนขนาดรุนแรง

ถึงเวลาที่จะต้องควักกระเป๋า ผ่อนปรนนโยบายทางการเงินและเริ่มใช้นโยบายด้านการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจรุดหน้าอย่างคึกคักกันได้แล้ว

ก่อนที่จะวนเวียนอยู่ในวังวนภาวะเงินฝืดอย่างที่ญี่ปุ่นยังหาทางออกไม่เจออยู่ในเวลานี้ครับ