อย่าดึงนักวิชาการและประชาสังคม ร่วมตะลุมบอน ในศึกผู้เห็นต่าง!

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

จากกรณี พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้ชำนาญการสำนักงาน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับแกนนำพรรคฝ่ายค้านและนักวิชาการรวมทั้งประชาสังคมด้านสันติภาพชายแดนใต้จำนวน 12 คน (ในนี้มี ผศ.ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ รองหัวหน้าภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อาจารย์อสมา มังกรชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อาจารย์ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการและสื่อมวลชน และนายรักชาติ สุวรรณ นักเคลื่อนไหวสันติภาพชายแดนใต้ชาวพุทธ) ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ในข้อหาร่วมกันกระทำความผิดด้วยการยุยงปลุกปั่น ด้วยวาจาในเรื่องที่ละเอียดอ่อน และเป็นการยุยงปลุกปั่นที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ และการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากการจัดเสวนา “พลวัตแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่นับหนึ่งรัฐธรรมนูญใหม่” ที่บริเวณลานวัฒนธรรมจังหวัดปัตตานี

อันเนื่องมาจากมีการตีความว่า “ผศ.ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ เสนอแก้ไขมาตรา 1 แห่งรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่า ราชอาณาจักรไทยจะแบ่งแยกมิได้ด้วย และ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า “ก็ในเมื่อนั่งอยู่ด้วยกัน ก็ต้องคัดค้านกันสิ” แม้ ผศ.ดร.ชลิตาออกมาตอบโต้ถึงกรณีดังกล่าวว่ามีการตัดตอนเนื้อหา (อ้างอิงใน https://www.khaosod.co.th/politics/news_2942763)

ในขณะที่ กอ.รมน.ยืนยันเหตุผลที่ฟ้องนั้นปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่มีการกลั่นแกล้งทางการเมือง (อ้างอิง https://www.innnews.co.th/politics/news_505788/)

สำหรับ “มาตรา 116 ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต

(1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย

(2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ

(3) เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี”

สำหรับทัศนะของนักวิชาการใหญ่อย่างอาจารย์พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ว่าไม่สามารถฟ้องนักวิชาการได้ เพราะละเมิดสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น

โดยท่านกล่าวว่า

“การบังคับใช้ ป.อาญา มาตรา 116 (ความผิดฐานปลุกปั่นยุยง) ต้องไม่เป็นการทำลายล้างสาระสำคัญของเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 34 การกล่าวโดย ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ ว่า แม้แต่รัฐธรรมนูญมาตรา 1 (ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรที่แบ่งแยกไม่ได้) ก็ควรพิจารณาแก้ไขได้ หากเป็นสาเหตุที่ทำให้แก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ไม่ได้ ไม่เข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 116(1) เพราะตราบใดที่ยังมิได้มีการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นอันเป็นผลโดยตรงจากการกล่าวเช่นนั้น และในการกล่าวเช่นนั้น มิได้มีการใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้ายผู้อื่นให้ยอมกระทำตามที่กล่าวแต่อย่างใด กรณีย่อมไม่เข้าข่ายเป็นความผิดตามองค์ประกอบที่กำหนดไว้ในมาตรา 116(1) นั้น

การที่ กอ.รมน.ร้องทุกข์กล่าวโทษ ดร.ชลิตา ว่ากระทำความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 116 จึงเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของ ดร.ชลิตา ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของเธอตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 เพราะเป็นการมุ่งทำลายสาระสำคัญของการใช้สิทธิเสรีภาพดังกล่าว ด้วยการใช้กฎหมายอาญา มาตรา 116 ปิดปากไม่ให้มีการแสดงความคิดเห็นใดๆ ในเรื่องดังกล่าวโดยสิ้นเชิง”

หลังจากนั้นเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) เรียกร้องให้รัฐบาลยุติการข่มขู่คุกคามนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมืองและประชาธิปไตย และแสดงความกังวลเรื่องการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของนักวิชาการพร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการต่อไปนี้

1. ผู้ที่ทำร้ายนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ จะต้องถูกจับกุมดำเนินคดี และรัฐบาลจะต้องให้หลักประกันว่าการละเมิดนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนคนอื่นๆ จะต้องหมดสิ้นไป

2. ยกเลิกการดำเนินคดีต่อผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์กองทัพ ธุรกิจ และความชอบธรรมทั้งหลายโดยสุจริตใจ

3. ยกเลิกการไต่สวนขณะเดินทางเข้าประเทศและการล่วงละเมิดอื่นๆ ต่อนักวิชาการนานาชาติและนักกิจกรรมทางสังคมนานาชาติเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.)

(อ้างอิง https://www.facebook.com/ThaiAcademicNetworkforCivilRights/posts/1341018499394852?__tn__=K-R)

สําหรับชายแดนใต้แล้วมีการเสวนาระหว่างนักวิชาการกับประชาสังคมซึ่งมีความคิดเห็นตรงกันว่าการฟ้องร้องนักวิชาการและประชาสังคมคนทำงานด้านการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพอย่างคุณรักชาติ สุวรรณนั้นสะท้อน

“การไม่เปิดพื้นที่ทางการเมืองจะไม่เอื้อต่อการสร้างภาวะแวดล้อมกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้”

4 ตุลาคม 2562 ผู้เขียนและตัวแทนประชาสังคมชายแดนใต้และบางส่วนนักวิชาการ ได้ประชุมปรึกษาหารือถอดบทเรียนและกำหนดท่าทีเรื่องนี้ (สถานที่วันเวลาไม่ขอเปิดเผย) มองว่า การฟ้องร้องนักวิชาการและตัวแทนประชาสังคมชายแดนใต้ของ กอ.รมน.ในครั้งนี้นั้นไม่เป็นผลดีต่อปัจจัยเอื้อต่อการหนุนสริมกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้หรือปัจจัยเอื้อต่อการสร้างภาวะแวดล้อมกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้

ขนาดคนอย่างรักชาติ สุวรรณ อยู่ในคณะอนุกรรมการหลายชุดที่รัฐตั้งโดยเฉพาะคณะพูดคุยในระดับพื้นที่ยังโดน แล้วรัฐจะเปิดเวทีการพูดคุยในระดับพื้นที่จะได้ความจริงหรือ

การเปิดพื้นที่เหล่านี้คือส่วนหนึ่งของการเปิดพื้นที่ทางการเมือง ซึ่งมองว่าการเปิดพื้นที่ทางการเมืองคือส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง จชต. ที่สอดคล้องกับทัศนะ ดร.นอร์เบิร์ต รอปเปอร์ส (Dr.Norbert Ropers) (โปรดดู https://deepsouthwatch.org/dsj/th/11128) ในทัศนะนักวิชาการในการแก้ความขัดแย้งโลก ถือว่าการยุติสงครามด้วยวิถีทางการเมือง เป็นหนทางที่ใช้ต้นทุนต่ำที่สุดหากเทียบกับงบประมาณด้านการทหารที่ทุ่มลงไป

หลังจากนั้น วันที่ 9 ตุลาคม ที่อาคารเรียนรวม 19 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ประมาณ 100 คน เปิดกิจกรรมแสดงเจตจำนง และแสดงออกการมีส่วนร่วมเรื่อง รัฐธรรมนูญและความเป็นประชาธิปไตย เพื่อให้กำลังใจอาจารย์อัสมา มังกรชัย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี หนึ่งในนักวิชาการผู้ที่ถูกฟ้องในการแสดงความคิดเห็นบนเวทีของ 7 พรรคฝ่ายค้าน เมื่อวันที่ 28 กันยายน (โปรดดู https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_2959518)

หลังจากนั้น 12 ตุลาคม 2562 ที่ห้องมะปรางค์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี คณะทำงานเตรียมงานสมัชชาสันติภาพชายแดนใต้ 2019 และตัวแทนกรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้ นำโดยนายมุฮัมมัดอายุป ปาทาน ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ร่วมให้กำลังใจนายรักชาติ สุวรรณ นักเคลื่อนไหวสันติภาพชายแดนใต้ชาวพุทธและดำรงตำแหน่งรองประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้

พร้อมติด #อิสรภาพการแสดงออกของ CSO คือปัจจัยเอื้อบรรยากาศการพูดคุยสันติภาพ และ #มาตรา 116 ความท้าทายของนักสร้างสันติภาพบนข้อต่อสันติวิธีและความรุนแรง ในระลอกประชาธิปไตยใหม่

จากปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวดังกล่าวตีความได้ว่ารัฐต้องไม่ดึงนักวิชาการและประชาสังคมเข้าไปให้ตะลุมบอนความขัดแย้งทางการเมืองและการกำจัดศัตรูทางการเมืองของผู้เห็นต่าง

และเมื่อดูปฏิกิริยา (สื่อโซเชียล) หลังการฟัง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก บรรยายพิเศษในหัวข้อเรื่อง “แผ่นดินของเราในมุมมองด้านความมั่นคง” ที่พูดอย่างมีอารมณ์ เผ็ดร้อน โดยใช้คำว่าหนักแผ่นดิน แบ่งแยกดินแดน ไม่รักชาติ การก่อการร้ายและคอมมิวนิสต์ ยิ่งหดหู่

ในขณะที่ฟังรองศาสตราจารย์ ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล ในหัวข้อการสร้างชาติร่วมกัน ที่เน้นคำว่าการออกแบบชาติ ผ่านประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เคารพความแตกต่างทางศาสนา วัฒนธรรม ชาติพันธุ์ ได้อารมณ์ต่างกันมาก