ธงทอง จันทรางศุ | สร้างมูลค่าเพิ่ม ให้งานบุญกฐิน

ธงทอง จันทรางศุ

เพิ่งเข้าพรรษาไปหยกๆ เผลอเพียงครู่เดียววันออกพรรษาก็มาถึงตัวเข้าแล้ว

จากนี้ไปจนถึงวันลอยกระทงคือวันเพ็ญเดือน 12 เป็นเทศกาลงานบุญประจำปีสำคัญของคนไทย

คือการทำบุญทอดกฐิน ซึ่งเป็นการทำตามพระวินัยบัญญัติที่มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้ว

เมื่อออกพรรษาแล้วพุทธศาสนิกชนย่อมน้อมนำผ้ากฐิน คือไตรจีวรหนึ่งไตร ไปถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ ที่จำพรรษาถ้วนสามเดือนตามวัดวาอารามต่างๆ

พระภิกษุทั้งหลายก็จะประชุมกันแล้วลงมติมอบให้พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเป็นผู้ได้ครองผ้ากฐินนั้น

สำหรับชาวบ้านทั่วไป เราถือกันมาตั้งแต่โบราณกาลแล้วว่า การทำบุญทอดกฐินนี้เป็นบุญสำคัญ

เพราะทำได้เฉพาะช่วงเวลาหนึ่งเดือนนี้เท่านั้น

แถมวัดแต่ละวัดก็รับผ้ากฐินได้เพียงครั้งเดียว

จึงเห็นว่าการทำบุญทอดกฐินเป็นงานบุญพิเศษ

ผู้ที่เป็นเจ้าภาพก็ดี ผู้ที่ร่วมทำบุญก็ดี ย่อมมีความชื่นอกชื่นใจมากกว่าการทำบุญทั่วไป

พูดถึงเรื่องวัดในเมืองไทยของเรา ตามข้อมูลของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติแจ้งว่าเป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำนวน 41,310 วัด

เป็นวัดราษฎร์ประมาณ 41,000 วัด

เป็นพระอารามหลวงอีก 310 วัด

วัดราษฎร์นั้นคือวัดที่พี่น้องประชาชนทั้งหลายมีจิตศรัทธาสร้างขึ้น ทั้งเก่าทั้งใหม่นับรวมจนถึงปัจจุบันก็ได้สี่หมื่นกว่าวัด

ส่วนพระอารามหลวงนั้นคือวัดที่พระมหากษัตริย์หรือเจ้านายทรงสร้างขึ้น หรือข้าราชการผู้ใหญ่สมัยก่อนสร้างขึ้นถวายเป็นพระราชกุศล

และอีกอย่างหนึ่งคือวัดที่เป็นวัดราษฎร์มาแต่เดิมแล้วมีประชาชนนับถือเลื่อมใสจนเป็นปึกแผ่นสำคัญ

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ยกฐานะจากวัดราษฎร์ขึ้นเป็นวัดพระอารามหลวง

พระอารามหลวงที่เป็นวัดราษฎร์มาแต่ก่อน แล้วยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงในภายหลัง นิยมที่จะนำคำว่าพระอารามหลวงไปต่อท้ายชื่อวัดที่มีมาแต่เดิม

เช่น วัดบัวขวัญ พระอารามหลวง วัดหัวลำโพง พระอารามหลวง หรือวัดธาตุทอง พระอารามหลวง

ส่วนวัดที่เป็นพระอารามหลวงมาแต่แรกสร้าง เป็นธรรมเนียมนิยมที่ไม่ต้องต่อท้ายชื่อแสดงความเป็นพระอารามหลวง เห็นจะเป็นเพราะฟังดูชื่อก็รู้อยู่แล้วว่าเป็นพระอารามหลวงมาตั้งแต่ไหนแต่ไร

ลองนึกดูก็แล้วกันครับว่า ถ้าเราเกิดจะเรียกว่า “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พระอารามหลวง”

ฟังดูก็จะแปร่งหูอย่างไรไม่รู้

วัดราษฎร์ที่มีจำนวน 40,000 กว่าวัดนั้น ผู้ใดคณะใดประสงค์จะเป็นเจ้าภาพทอดกฐินในแต่ละปีก็ไปติดต่อโดยตรงกันกับเจ้าอธิการของวัดนั้น

ถ้าไม่มีใครไปแจ้งความจำนงไว้ก่อน ทุกอย่างก็คงจะสำเร็จเรียบร้อยตามเจตนา

แต่สำหรับวัดที่เป็นพระอารามหลวงนั้น มีกติกากำหนดว่า พระอารามหลวงทุกวัดจะได้รับผ้าพระกฐินของหลวง

แต่แน่นอนว่า เมื่อพระอารามหลวงมีกำหนดตั้ง 300 กว่าวัด แถมกำหนดเวลาที่ทอดกฐินก็ยังกำหนดไว้เพียงแค่หนึ่งเดือนเท่านั้น ธรรมเนียมปฏิบัติจึงมีว่า พระมหากษัตริย์จะได้ทรงสงวนวัดพระอารามหลวงจำนวนหนึ่งไว้สำหรับเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินด้วยพระองค์เอง

หรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้เจ้านายหรือท่านผู้ใดแทนพระองค์ไปถวายผ้าพระกฐิน

เราเรียกวัดเช่นนี้ว่าเป็นวัดที่รับพระกฐินหลวง

ส่วนพระอารามหลวงนอกจำนวนดังกล่าว พระมหากษัตริย์พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้บุคคล คณะบุคคลหรือองค์กรใดก็ตาม เชิญผ้ากฐินพระราชทานไปทอดถวายในวัดต่างๆ เหล่านั้นได้

โดยติดต่อขอรับพระบรมราชานุญาตที่กรมการศาสนา

และในทางปฏิบัติก็สมควรต้องเลียบเคียงสอบถามกับเจ้าอาวาสของพระอารามหลวงนั้นๆ ด้วยว่า ปีนี้มีเจ้าภาพขอรับกฐินพระราชทานแล้วหรือยัง

ถ้าประสานคู่ขนานกันไปอย่างนี้ทุกอย่างก็น่าจะเรียบร้อยครับ

วัดที่ทรงสงวนไว้สำหรับพระกฐินหลวงมีจำนวนไม่ถึงยี่สิบวัด

ส่วนมากก็เป็นวัดที่เราคุ้นชื่อกันอยู่แล้ว ได้แก่ วัดพระเชตุพนฯ วัดบวรนิเวศฯ วัดราชบพิธฯ วัดมหาธาตุฯ วัดสุทัศน์ วัดอรุณฯ วัดเบญจมบพิตรฯ วัดราชประดิษฐ์ วัดราชโอรส วัดราชาธิวาส วัดมกุฏกษัตริย์ วัดเทพศิรินทร์

วัดที่อยู่ต่างจังหวัดก็มีนะครับ ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยามีสองวัด คือ วัดสุวรรณดาราราม กับวัดนิเวศธรรมประวัติ

ที่จังหวัดนครปฐมก็มีวัดพระปฐมเจดีย์

และจังหวัดพิษณุโลกก็ได้แก่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าวัดหลวงพ่อ เพราะเป็นวัดที่ประดิษฐานพระพุทธชินราช

สำหรับปีนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กำหนดวัดโสมนัสวิหารและวัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี อยู่ในบัญชีรับพระกฐินหลวงเพิ่มเติมขึ้นด้วย

การได้โดยเสด็จพระราชกุศลในการถวายผ้าพระกฐินหลวงก็ดี การถวายผ้าพระกฐินพระราชทานก็ดี คนไทยเราถือว่าเป็นเรื่องที่เป็นสิริมงคล และเป็นพระมหากรุณาที่พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เราได้ทำบุญโดยเสด็จพระราชกุศลกับพระองค์ท่าน

ด้วยความเป็นมาและความคิดอย่างนี้ การเสด็จพระราชดำเนินด้วยพระองค์เอง หรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านพระองค์ใด ผู้ใดแทนพระองค์ไปถวายผ้าพระกฐินก็ดี

จึงเห็นกันว่าเป็นการพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์แก่พระอารามนั้นๆ โดยตรง

เพราะเป็นโอกาสที่จะชักจูงโน้มน้าวให้มีผู้มาทำบุญกับวัดแห่งนั้นโดยเสด็จพระเจ้าแผ่นดิน วัดก็ดีใจ คนก็ชื่นใจครับ

นอกจากนั้น ผมยังมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า กรณีพระกฐินหลวงตามแบบธรรมเนียมเช่นนี้ ยังเป็นอุบายอันแยบคายที่ทำให้ผู้เกี่ยวข้องต้องช่วยกันดูแลความสะอาดและความมั่นคงเรียบร้อยของอาคารสถานที่ในพระอาราม ให้งดงามสมกับโอกาสพิเศษ จะปล่อยให้ชำรุดหักพังรกร้างคาตาอยู่ได้อย่างไร

ในสมัยรัชกาลที่สี่ เวลาพระองค์ท่านเสด็จฯ ไปตามวัดต่างๆ ผู้เกี่ยวข้องต้องดูแลแม้กระทั่งตุ๊กแกที่เกาะอยู่ตามฝาผนัง อย่าให้มีตกค้างจนถึงเวลาเสด็จฯ ได้

ผู้ใหญ่แต่ก่อนท่านดูละเอียดจนถึงขนาดนั้น

แม้กฐินพระราชทานที่บุคคลหรือกระทรวงทบวงกรม หรือหน่วยงานรับพระราชทานไป ก็เกิดผลทำนองเดียวกัน คือเป็นเครื่องชักจูงให้คนโดยเสด็จพระราชกุศลมาบำรุงวัด และเป็นโอกาสที่จะได้สอดส่องดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยภายในพระอาราม อย่างน้อยก็ปีละหนึ่งหนครับ

ว่าไปทำไมมี เรื่อยไปจนถึงกฐินตามวัดราษฎร์ทั้งหลาย ผมก็อยากชักชวนให้ทำอย่างเดียวกัน

คือนอกจากถวายผ้ากฐินและถวายปัจจัยบำรุงวัดแล้ว ถ้าชาวเราจะช่วยกันปัดกวาดแผ้วถางซ่อมบำรุงวัดแต่ละวัด ให้สะอาดสะอ้าน เป็นที่เจริญศรัทธา ก็เห็นจะดีไม่น้อย

วัดของเรา เราก็ต้องดูแลนะครับ

ช่วยกันสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับงานบุญกฐินหน่อยดีไหมครับ