วงค์ ตาวัน : คำพิพากษา-ชายชุดดำ

วงค์ ตาวัน
Thai security forces stand alert during an anti-government protest led by Red Shirt supporters of ousted premier Thaksin Shinawatra in Bangkok on April 10, 2010. At least six people have been killed and almost 500 injured after violent clashes in Bangkok between security forces and anti-government protesters, emergency services said. AFP PHOTO/PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2560 ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษา คดีที่อัยการยื่นฟ้องจำเลย 5 คน ในความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธ เครื่องกระสุนปืน และวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้ และข้อหาพาอาวุธปืนไปในเมือง ที่ชุมชนหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต

ภาพรวมของคดีนี้ เรียกกันว่าเป็นคดีกลุ่ม “ชายชุดดำ” อันเป็นกลุ่มคนปริศนาที่ปรากฏตัวในคืนวันที่ 10 เมษายน 2553 คืนแรกที่เกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐภายใต้คำสั่ง ศอฉ. กับฝ่ายผู้ชุมนุมเสื้อแดง ที่เรียกร้องให้รัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภา

“ทำให้เรื่องราวของชายชุดดำ เป็นที่กล่าวขวัญกันอีกครั้ง”

AFP PHOTO / THAI GOVERNMENT HOUSE / THAI GOVERNMENT HOUSE

คำพิพากษาของศาลตอนหนึ่งระบุว่า

เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้ชุมนุมกันตั้งแต่ช่วงสะพานปิ่นเกล้า แยกคอกวัวไปจนถึงสะพานผ่านฟ้า โดยเมื่อเวลา 14.00 น. วันดังกล่าวทางการได้สั่งให้กำลังทหารเข้าขอคืนพื้นที่

ระหว่างนั้นมีกลุ่มชายชุดดำสวมหมวกไหมพรม ซึ่งมีอาวุธยิงใส่กลุ่มเจ้าหน้าที่ กลุ่มผู้ชุมนุมและพลเรือน กระทั่งมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ไปตรวจที่เกิดเหตุพบเศษปลอกกระสุนเอ็ม 79 ปลอกกระสุนปืนกลเล็กขนาด 5.5 ม.ม.

“ต่อมามีผู้แจ้งว่าพบรถยนต์ฮอนด้าสีขาวจอดไว้อยู่ที่บ้านริมน้ำนานผิดสังเกต กระทั่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบกระทั่งสืบทราบกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่ทหารจึงได้ควบคุมตัวจำเลยทั้งห้าคนมาสอบถาม”

โจทก์มีทหารม้าเป็นพยาน เบิกความว่า วันเกิดเหตุขับรถฮัมวี่พวงมาลัยซ้าย เพื่อพากำลังทหารไปในพื้นที่ตามคำสั่งสลายการชุมนุมและรอรับกลับ ระหว่างจอดรถรออยู่หัวรถหันไปทางกองทัพบก ท้ายรถหันมาทางอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ได้เห็นรถตู้โตโยต้าสีขาวขับผ่านมา แล้วชะลอความเร็ว โดยมีชายคนหนึ่งผลักประตูรถเลื่อนออกมาแล้วตะโกนด่าพยาน ภายหลังทราบว่าเป็นจำเลยที่ 1

โดยระหว่างนั้นก็เห็นอาวุธปืนอยู่ในรถคันดังกล่าวด้วย แม้คำเบิกความของพยานดังกล่าวจะเป็นช่วงเวลารวดเร็วที่มองเห็นบุคคลซึ่งไม่เคยรู้จักมาก่อน แต่ได้ความว่ารถตู้ได้ชะลอความเร็ว ประกอบกับพยานเป็นทหารน่าจะมีความสามารถพิเศษในการจดจำบุคคล

“นั่นเป็นส่วนหนึ่งในคำพิพากษา ซึ่งสรุปได้ว่า ในคืนวันที่ 10 เมษายน ได้มีกลุ่มชายชุดดำใช้อาวุธยิงใส่เจ้าหน้าที่และฝ่ายผู้ชุมนุม จากนั้นเจ้าหน้าที่ทหารได้พบเห็นรถตู้โตโยต้าสีขาว ผ่านมาและชะลอความเร็ว แล้วเห็นจำเลยที่ 1 ผลักประตูรถเลื่อนออกมาแล้วตะโกนด่าทหาร ทำให้สามารถมองเห็นอาวุธปืนภายในรถ”

ขณะเดียวกันมีคำให้การของพยานปากอื่นๆ อีก จนนำไปสู่การออกติดตามจับกุมจำเลยในภายหลัง

จำเลยทั้ง 5 ให้การปฏิเสธในชั้นศาล ต่อสู้ดคีอย่างยาวนาน จนกระทั่งล่าสุดมีคำพิพากษาออกมา

โดยชี้ว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธ เครื่องกระสุนปืน และวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้ ให้จำคุกคนละ 8 ปี และฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง ที่ชุมชน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 2 ปี รวมจำคุกคนละ 10 ปี

ส่วนจำเลยที่ 3-5 นั้น พิพากษายกฟ้อง

Image result for สรรเสริญ แก้วกำเนิด มติชน

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาล และในช่วงเกิดเหตุปี 2553 นั้น ทำหน้าที่เป็นโฆษกของ ศอฉ. ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ทันทีว่า คำพิพากษาดังกล่าว เป็นสิ่งที่ยืนยันแน่ชัดว่าชายชุดดำที่ถูกพูดถึงมาโดยตลอดนั้น ได้กระทำความผิดจริงตามข้อเท็จจริงและหลักฐานที่ปรากฏ ซึ่งสามารถหักล้างการกล่าวอ้างของกลุ่มการเมืองที่ว่าทหารยิงกันเอง จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายราย

“การที่กลุ่มการเมืองระบุว่า การชุมนุมในช่วงวันที่ 10 เมษายน 2553 เป็นการชุมนุมที่สงบปราศจากอาวุธนั้น จึงสวนทางกับความเป็นจริง หรือต้องการบิดเบือนการกระทำของตน เพราะศาลได้พิเคราะห์แล้วพบอาวุธปืนหลายประเภท และเครื่องยิงระเบิด ซึ่งหมายถึงการมีเจตนาประสงค์ร้ายต่อชีวิตของผู้อื่น โดยเฉพาะการใช้ยิงเจ้าหน้าที่ทหารที่ขอคืนพื้นที่การชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและบริเวณใกล้เคียง ทำให้สังคมได้ประจักษ์ชัดขึ้นในเรื่องนี้”

แต่หากพิจารณาตามข้อเท็จจริงตามคำพิพากษานั้น จำเลยที่ถูกจับกุมกลุ่มนี้ มีเจ้าหน้าที่ให้การว่า พบเห็นขณะขับรถตู้ชะลอแล้วตะโกนด่า ทำให้เห็นว่ามีอาวุธปืนในรถ และเจ้าหน้าที่อีกส่วนซึ่งเป็นพยานในคดีนี้ระบุว่า เห็นใส่ชุดดำและมีอาวุธปืน รวมทั้งมีพยานบางรายพบเห็นว่ากลุ่มจำเลยพร้อมรถตู้สีขาว นำรถไปจอดไว้ที่บ้านหลังไหน

“อีกทั้งคำพิพากษาของศาลนั้น เป็นการตัดสินความผิดในข้อหา ร่วมกันมีอาวุธ เครื่องกระสุนปืน และวัตถุระเบิด และฐานพากพาอวุธปืนไปในเมือง ที่ชุมนุม หรือทางสาธารณะ!!”

ถ้าพูดกันตามเนื้อผ้าก็ต้องบอกว่า ทั้ง 5 คนนี้ ซึ่งศาลชี้ว่าผิด 2 คน ยกฟ้อง 3 คน เป็นข้อหาว่ามีอาวุธและนำอาวุธเข้าไปในบริเวณนั้น

“เพราะคดีนี้โจทก์พิสูจน์ได้แค่นี้ โจทก์ไม่อาจพิสูจน์ได้ว่า จำเลยกลุ่มนี้เป็นพวกที่ใช้อาวุธยิงถล่มในคืนนั้นหรือไม่!?”

ประการหนึ่ง จำเลยกลุ่มนี้ ยังมีสิทธิ์ต่อสู้ดคีอีก 2 ศาล คดียังไม่ถึงที่สุด

ประการต่อมา กลุ่มชายชุดดำที่มีคลิปเห็นยิงอาวุธปืนในคืนวันที่ 10 เมษายนนั้น เป็นใครบ้าง ยังไม่มีอะไรยืนยันมากกว่านี้ และจำเลยชุดนี้ถูกตัดสินว่าผิดในข้อหานำอาวุธสงครามเข้ามาในบริเวณนั้น ขณะที่การยิงฆ่าผู้ชุมนุมเกิดขึ้นตั้งแต่คืนวันที่ 10 เมษายน ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553

รวมมีคนตาย 99 ศพ

“กลุ่มชายชุดดำที่มีคลิปยิงปืนในคืนวันที่ 10 เมษายน และจำเลยที่ถูกจับชุดนี้ จะเหมารวมว่า ยิงฆ่าไปเรื่อยๆ อีกนับเดือนได้หรือไม่!?”

อีกประการ กลุ่มเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งมีนายทหารผู้ใหญ่ด้วย ที่เสียชีวิตอย่างน่าเศร้าสลดบริเวณแยกคอกวัวนั้น มีข้อเท็จจริงที่ปรากฏภายหลังว่า น่าจะโดนถล่มด้วยระเบิดมือ ซึ่งหมายความว่า ผู้ลงมือต้องอยู่ไม่ไกลจากจุดเกิดเหตุ และต้องรู้ดีว่าบริเวณนั้นคือ บก.ส่วนหน้า

การค้นหาความจริง ต้องอิงพยานหลักฐานและข้อเท็จจริง ถ้าใช้อคติและความเชื่อนำ เราก็จะไม่อาจหาข้อสรุปของเหตุการณ์นี้ได้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว

AFP PHOTO / ROSLAN RAHMAN

กรณีชายชุดดำ และกรณีคำพิพากษาจำเลยทั้ง 5 ที่ปรากฏออกมานี้ เป็นเหตุการณ์เพียงแค่เฉพาะคืนวันที่ 10 เมษายน 2553 เท่านั้น ต้องไม่ลืมว่าการฆ่ามีต่อเนื่องอีกนับเดือน ไปสิ้นสุดในวันที่ 19 พฤษภาคม รวมเสียชีวิต 99 ศพ

ในจำนวนนี้นอกจากกลุ่มเจ้าหน้าที่ทหารที่สูญเสียในคืน 10 เมษายนแล้ว ที่เหลืออีกกว่า 80 ศพ ล้วนเป็นผู้ชุมนุมและประชาชน โดยทั้งหมดไม่มีศพไหนที่เป็นชายชุดดำเลย ไม่มีศพไหนที่พกพาอาวุธปืนยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่เลย

“ประเด็นคือ ข้ออ้างของ ศอฉ. ที่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ติดอาวุธจริงได้ เพื่อใช้ป้องกันตัว เนื่องจากมีผู้ก่อการร้ายและชายชุดดำใช้อาวุธนั้น แต่คนที่ตายไม่มีชายชุดดำเลย”

มีพยานหลักฐานภาพเคลื่อนไหว ภาพนิ่ง จำนวนมาก เห็นได้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐตามคำสั่ง ศอฉ. ใช้อาวุธปืนยิงใส่ฝ่ายผู้ชุมนุม

มีหน่วยซุ่มยิงหลายจุด โดยเฉพาะที่สนามมวยลุมพินีเดิม มีเสียงสั่งยิงและลงมือยิงของพลแม่นปืน อย่างจะแจ้ง

มีวิดีโอที่ตำรวจถ่ายได้จากตึกสูง เห็นเจ้าหน้าที่ ศอฉ. เล็งยิงเข้าในวัดปทุมวนาราม ซึ่งต่อมามีผู้เสียชีวิต 6 ศพ และศาลชี้ผลไต่สวนชันสูตรศพแล้วว่า ทั้ง 6 ตายด้วยปืนของเจ้าหน้าที่บนรางรถไฟฟ้าและบนพื้นราบ

“ตำรวจ ตชด. ที่ถ่ายวิดีโอ เบิกความในฐานะผู้ผ่านการสู้รบมาว่า เจ้าหน้าที่บนรางรถไฟฟ้ายิงอย่างเดียว ไม่มีการก้มหลบเลย แปลว่า ไม่มีการยิงต่อสู้จากอีกฝ่าย”

AFP PHOTO / CHRISTOPHE ARCHAMBAULT

ขณะเดียวกัน ศาลได้ชี้ไปก่อนหน้านี้แล้วว่า ผู้เสียชีวิต 17 ราย ถูกยิงด้วยอาวุธจากฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติการตามคำสั่ง ศอฉ.

น่าเสียดายที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเสียก่อน การพิสูจน์ผู้เสียชีวิตรายอื่นๆ ก็เงียบหายไป แถมคดีอาญาก็มีการต่อสู้ให้กลายเป็นคดีที่ต้องส่งให้ ป.ป.ช. พิจารณาแทน

แต่แน่นอน การเรียกหาความเป็นธรรมให้กับ 99 ศพ คงไม่จบง่ายๆ!

AFP PHOTO / ROSLAN RAHMAN