หนุ่มเมืองจันท์ เล่าถึง “เฉินหลง” พระเอกผู้ยิ่งใหญ่ กับคำว่า “โลกจะมาหาเรา” ยึดถือพี่น้อง

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ผมเป็นแฟนหนัง “เฉินหลง” ตั้งแต่ “ไอ้หนุ่มหมัดเมา”

555 เห็นชื่อหนังก็รู้วัยทันที

จำได้ว่าเป็นหนังเรื่องหนึ่งที่ชอบมาก เพราะเป็นหนังกำลังภายในแนวใหม่

แอ๊กชั่นคอเมดี้

พระเอกไม่ใช่จอมยุทธ์ที่เก่งกาจแบบใครชกไม่เจ็บ

แต่เป็นพระเอกที่ชกคนอื่นแล้วเจ็บมือ

สะบัดมือแล้วร้อง “โอ๊ย”

เป็น “ฮีโร่” แนวใหม่ ที่ดูแล้วหัวเราะทั้งเรื่อง

วันก่อน “เฉินหลง” มาเมืองไทย มาโปรโมตหนังเรื่องใหม่ของเขา

“กังฟูโยคะ”

มีเรื่องราวน่ารักเกิดขึ้นมากมาย นอกเหนือจากการบริจาคเงินช่วยน้ำท่วมภาคใต้ 2.4 ล้านบาท

หรือตอนที่ให้สัมภาษณ์นักข่าว

ผมเพิ่งอ่านเฟซบุ๊กของ “ผิง” สุดคะนึง

“ผิง” เป็นลูกสาวของ “พี่ชุ” รุ่นพี่ที่เคารพที่เคยทำงานมติชนร่วมกันมายาวนาน

เธอทำหน้าที่เป็น “ล่าม” ให้กับ “เฉินหลง” ในวันนั้น

“ผิง” เขียนบันทึกได้สนุกและน่ารักมาก

เธอเล่าบรรยากาศวันนั้นตั้งแต่นั่งรอสัมภาษณ์กับน้องเบสท์ จากไลน์ทีวี

จบการสัมภาษณ์ “เฉินหลง” ยกนิ้วให้และบอกว่า “เก่งมาก”

“แต่ช่วงเวลาที่ดีที่สุด คือ ตอนที่นั่งอยู่ในห้องแถลงข่าว มีนักข่าวรวมตากล้องเป็นร้อยชีวิต”

ทำไมหรือครับ

ผมได้ดูคลิปวันนั้นที่ “ข่าวสด” เฟซบุ๊ก ไลฟ์ ถ่ายทอดสดด้วย

มีอยู่คำถามหนึ่ง เกี่ยวกับรางวัลออสการ์เกียรติยศที่ “เฉินหลง” เพิ่งได้รับ

“เฉินหลง” เล่าว่าเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ฮอลลีวู้ดไม่ยอมรับการแสดงของเขา ที่เป็นแอ๊กชั่น คอเมดี้

แล้วเขาก็ทำท่าให้ดู ทั้งการต่อสู้แบบเร็วๆ

และลีลาแบบชกคู่ต่อสู้แล้วเจ็บมือ

ฮอลลีวู้ดมองว่าแบบนี้ไม่ใช่ “ฮีโร่” ที่แท้จริง

ของจริงพระเอกต้องไม่เจ็บ ท่าต้องเท่ๆ

วันนั้น ฮอลลีวู้ดมองว่าหนัง “เฉินหลง” เป็นแค่หนังแอ๊กชั่นเกรดบี

แต่วันนี้ฮอลลีวู้ดชื่นชมกับสิ่งที่เขาทำ

“รางวัลออสการ์ไม่ได้เกิดขึ้นจากสิ่งที่ผมทำในวันนี้ แต่มาจากที่ผมทำมานาน 30-40 ปี”

และตบท้ายด้วยคำคม

“ขอให้ทุกคนทำในสิ่งที่ตัวเองยึดถือ ทำในแนวทางของตัวเอง แล้ววันหนึ่งโลกจะมาหาคุณเอง”

“เฉินหลง” ใช้คำว่า “The world will come to you”

ตอนที่เขาอธิบายความรู้สึกช่วงนี้ยาวมาก

“ผิง” ก็ก้มหน้าก้มตาจดอย่างตั้งใจ

และเมื่อถึงตอนที่แปล เธอก็แปลได้ครบถ้วนกระบวนความ

ระหว่างที่เธอกำลังแปล เห็นเลยว่า “เฉินหลง” ตั้งใจมองการทำงานของ “ผิง”

พอแปลจบ “เฉินหลง” ปรบมือ ชมเป็นภาษาไทยว่า “เก่งมาก”

และลุกขึ้นมากอดเธอ

ก่อนที่จะให้สัมภาษณ์ต่อ “เฉินหลง” ชม “ผิง” ต่อหน้านักข่าวเรื่องความตั้งใจในการทำงาน

และยกตัวอย่างเรื่องช่างภาพคนหนึ่งที่มาสัมภาษณ์เขา

ช่างกล้องคนนี้ถ่ายไปก็เล่นโทรศัพท์มือถือไป

ไม่ใส่ใจในงานของตัวเอง

“เฉินหลง” บอกว่าตลอดชีวิตของช่างกล้องคนนี้ไม่มีทางเป็นอย่างอื่นได้นอกจาก “cheap camera man”

“เพราะเขาไม่ใส่ใจในสิ่งที่เขาทำ เราควรจะทำงานของเราให้ดีที่สุด”

แล้ว “เฉินหลง” ก็ชี้ไปที่ “ผิง”

“วันหนึ่ง คุณจะเป็น somebody”

“ผิง” เล่าถึงช่วงนี้ว่า “ตอนนั้นต้องแปลต่อก็เลยไม่ทันได้รู้สึก แต่พอมองย้อนกลับไป ความรู้สึกมันท่วมท้นมาก มันเอ่อล้น

มันไม่ใช่แค่ความดีใจจากที่เราทำงานได้ดี แต่มันคือการที่คนคนหนึ่งที่มีชื่อเสียงระดับโลก ผ่านล่ามมาไม่รู้กี่ร้อยกี่พันคนแล้วได้แรงบันดาลใจจากสิ่งที่เราทำ จากงานที่เราทำ

แค่เขาฟังในสิ่งที่เราแปลแล้วทำให้เขาเกิดความรู้สึกอยากมากอด และเล่าเรื่องเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในชีวิตเขา เพื่อที่จะบอกว่า hard work มัน pay off นะ”

ในบันทึกของ “ผิง” ไม่ได้เล่าว่าจริงๆ แล้วไม่ใช่แค่ครั้งเดียวที่ “เฉินหลง” ชมเธอ

เพราะมีอีกช่วงหนึ่งที่เขาพูดยาวเหยียด และ “ผิง” ก็แปลได้ครบถ้วน

นอกจากชมว่า “เก่งมาก” อีกครั้ง

เขายังคุกเข่า ส่งน้ำให้เธออีก

ถ้าคุณเป็น “ผิง”

คุณจะปลื้มไหมครับ

“เฉินหลง” เป็นคนทำงานจริง

ครับ “คนทำงานจริง” ย่อมชื่นชม “คนทำงานจริง” ด้วยกัน

ผมนึกถึงวันก่อนที่ดูคลิป “เฉินหลง” ในรายการโทรทัศน์ของฮ่องกง

พิธีกรสัมภาษณ์ “เฉินหลง” เกี่ยวกับทีมสตั๊นต์แมน แจ๊กกี้ ชาน ของเขา

และมีการเปิดวีทีอาร์บทสัมภาษณ์ลูกน้องเก่าๆ เมื่อ 30-40 ปีก่อน

ทุกคนชื่นชม “เฉินหลง” มาก

และเรียกว่า “ลูกพี่” ตลอด

เขาบอกว่าลูกพี่คนนี้ไม่สนใจว่าคุณจะเก่งขนาดไหน แต่ถ้าไม่รักพี่น้อง “เฉินหลง” ก็ไม่เอาคุณไว้

“ซื่อสัตย์ กตัญญู คุณธรรม” คือสิ่งที่เขายึดถือ

ฟังแล้วเหมือนจอมยุทธ์ในหนังกำลังภายในเลย

อีกคนหนึ่งบอกว่าตอนที่เป็นผู้ช่วย “เฉินหลง” สมัยเพิ่งเข้าวงการใหม่ๆ ยังไม่ดัง

เงินเดือนของ “เฉินหลง” 12,000 เหรียญฮ่องกง

มีลูกน้อง 2 คน

เขาแบ่งเงินเดือนให้ทุกคนเท่ากัน

คือ คนละ 4,000 เหรียญ

พอฉายวีทีอาร์เสร็จ พิธีกรก็ขอให้ “เฉินหลง” พูดถึงความผูกพันกับลูกน้องเก่าๆ

ช่วงนั้นเอง ลูกน้องในวีทีอาร์ก็แอบเข้ามาในห้องส่ง ยืนอยู่ข้างหลังพระเอกทั้งในจอและนอกจอคนนี้

“เฉินหลง” บอกว่าเขาไม่เจอน้องๆ กลุ่มนี้มาหลายปีแล้ว แต่ยังระลึกถึงเสมอ เพราะเคยร่วมเป็นร่วมตายกันมา

ที่ใช้คำว่า “ร่วมเป็นร่วมตาย” เพราะในอดีตยังไม่มีคอมพิวเตอร์กราฟิก

ฉากบู๊ในหนัง “เฉินหลง” จึงเป็นการแสดงแบบ “เล่นจริง-เจ็บจริง”

เพราะถ่ายซีนเดียวยาวเหยียด

“วันที่ผมได้รางวัลออสการ์ รางวัลนี้จึงไม่ใช่ของผมคนเดียว แต่เป็นของพวกเขาด้วย”

จังหวะนี้เองที่เขาเหลือบเห็นลูกน้องเก่าๆ ที่ยืนอยู่ข้างหลัง

“เฉินหลง” อึ้ง แล้วเอามือปิดหน้า

ครับ เขาร้องไห้

“ลูกพี่…”

คือประโยคแรกที่ลูกน้องทุกคนเรียก “เฉินหลง”

เขาเดินไปกอดน้องๆ ทุกคน

ผมชอบตอนจบของรายการ ที่ลูกน้องคนหนึ่งถือเสื้อหนังเก่าๆ ตัวหนึ่งมาโชว์ “เฉินหลง”

ข้างหลังเสื้อเขียนว่า “we do movies better “cos movies are all we do”

“เราจะทำภาพยนตร์ให้ดียิ่งขึ้น เพราะภาพยนตร์คือทุกสิ่งทุกอย่างของเรา”

เป็นประโยคที่แสดงความมุ่งมั่นของ “เฉินหลง” ที่ชัดเจนยิ่ง

ลูกน้องคนนี้บอกว่าเขาได้เสื้อตัวนี้ตอนที่ไปถ่ายหนังที่ไต้หวัน

ระหว่างที่เดินข้ามถนน “เฉินหลง” เห็นเขาหนาว ก็เลยถอดเสื้อหนังตัวนี้ให้กับเขา

“เฮ้ย ไอ้น้อง พี่ให้”

ที่เขาซาบซึ้งมาก เพราะหลังจากถอดเสื้อหนังตัวนี้ “เฉินหลง” มีเพียงเสื้อยืดแขนสั้นตัวเดียว

“เพื่อพี่น้อง ลูกพี่ไม่กลัวหนาว ขอให้พี่น้องได้อบอุ่น”

คือ คำสรุปของลูกน้องคนนี้ที่มีต่อ “เฉินหลง”

ผมดูคลิปนี้จบ แล้วรู้สึกกับ “เฉินหลง” เหมือนกำลังดูกระจก

คนอะไร …หล่อจริงๆ