กระบวนการยุติธรรมบ้านเรามีปัญหา? คุยกับอดีตผู้พิพากษา สะท้อนมุมมองจากอดีต-ปัจจุบัน พวกท่านไม่ควรโกรธสังคม

ในชีวิตทำงานมา 36 ปี ในสถาบันศาลยุติธรรม ไม่เคยได้ยินเลยที่สังคมจะมากล่าวตำหนิติเตียนองค์กรของเรา ได้ฟังข้อเท็จจริงที่เขาพูดบางครั้ง เสมือนกับว่าความไม่กระจ่างแจ่มชัดในการใช้ดุลพินิจในบางคดี ทำให้สังคมเกิดความระแวง-สงสัย ซึ่งข้อเท็จจริงอาจจะไม่ได้เป็นอย่างนั้น เราอาจจะไม่ได้ทุจริตหรือทำผิด แต่การทำงานที่ปรากฏออกมาอาจจะทำให้เกิดข้อสงสัยได้ในสังคม ฉะนั้น ก็ต้องแก้ไข การจะแก้ไขได้ก็ต้องรู้ปัญหาที่แท้จริงว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วอธิบายให้สังคมฟังให้ได้ แล้วอย่าไปโกรธสังคม”

สมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา-กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงภาพรวมสังคมที่อาจยังสงสัยหน่วยงานด้านความยุติธรรม

พร้อมย้ำว่า หน้าที่ของคนในองค์กรคือการทำความกระจ่างให้ชัด ให้สิ้นสงสัย


อ.สมลักษณ์อธิบายเพิ่มเติมว่า แม้แต่ตัวเองที่มีโอกาสได้อ่านคำพิพากษาบางเรื่อง พวกเราจะมีหลักของการพิจารณาพิพากษาคดี ซึ่งเราใช้ระบบกล่าวหา ศาลจะนั่งฟังคู่ความที่ต้องหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ข้อเท็จจริง ถ้าโจทก์หามาไม่ได้ โดยเฉพาะในคดีอาญา กฎหมายบัญญัติไว้ว่า ถ้ามีกรณีที่สงสัยให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย

สมัยเราเป็นผู้พิพากษา ถ้ามีกรณีสงสัย เราก็จะยกฟ้อง

ซึ่งที่ผ่านมามันมีคำพิพากษาบางเรื่อง ที่เราเองก็ยังสงสัยว่าเป็นเพราะอะไรท่านถึงลงโทษ โดยเขียนทำนองว่าเรื่องนี้มันเป็นความรู้เห็นของฝ่ายจำเลย แล้วทำให้ประจักษ์แจ้งไม่ได้ ซึ่งในความเป็นจริงก็คือยังเป็นเหตุให้สงสัยนั่นแหละ แต่ศาลพิพากษาให้ลงโทษ ก็เลยอาจจะทำให้เป็นข้อทำให้เกิดความสงสัย

อย่างเราเขียนคำพิพากษามามากมายมันก็จะมีระบบของการสืบพยานข้อเท็จจริงต่างๆ ก็ต้องเรียนว่าความสงสัยของสังคมได้เป็นปัญหาสำคัญในปัจจุบันจริงๆ

ซึ่งการสงสัยในความบริสุทธิ์ยุติธรรม เราต้องไม่ไปโกรธสังคม เรียนตรงๆ ว่าเราเองก็สัมผัสได้ว่า ความนิยม ความศรัทธา ความนับถือชื่นชอบของผู้คนค่อนข้างจะเปลี่ยนแปลงไปจากในอดีต

แต่ต้องย้ำว่าอย่าไปโกรธสังคม ต้องยืนยันตรงนี้อีกครั้งหนึ่ง ฉะนั้น เราต้องรีบแก้ไข

ขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นการใช้คำว่าวิกฤต ยังสามารถแก้ไขได้ แต่อย่าปล่อยให้มันเป็นอย่างนี้ไปนานๆ เพราะว่าสังคมยิ่งจับตา ยังมีหนทางแก้ไข ยังมีความหวังสำหรับการเปลี่ยนแปลง แล้วคิดว่าค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน

อดีตอาจารย์เองเคยถูกถามเสมอว่าตอนเป็น ป.ป.ช. เคยมีนักการเมืองหรือข้าราชการหรือผู้มีอำนาจใดๆ มาขอหรือไม่ในการทำคดี

ก็ต้องเรียนตามตรงว่าไม่มี ไม่มีใครเข้ามาก้าวก่ายหรือยุ่ง ก็คิดว่าเพราะเป็นผลของงานออกมาแล้วว่าที่ผ่านมาการทำงานของเราเป็นอย่างไร เคยมีคดีที่สรุปสำนวนชี้มูลความผิดเพื่อนสนิทตัวเอง เราดูสำนวน ดูพยานหลักฐานที่ปรากฏ

ผิดก็คือผิด ต้องว่าไปตามนั้น

อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาได้ชวนมองประเด็นเรื่องความเป็นอิสระและความเป็นกลางว่า ที่จริงในแง่ของกฎหมาย-รัฐธรรมนูญทุกฉบับของประเทศไทยจะมีบทบัญญัติรับรองความเป็นอิสระในการทำงานของผู้พิพากษา บัญญัติไว้เลยว่าการพิจารณาคดีเป็นไปโดยอิสระตามกฎหมายในพระปรมาภิไธย จะไม่มีใครที่เข้ามาเกี่ยวข้องได้เลยแม้แต่ประมุขฝ่ายตุลาการ (ท่านประธานศาลฎีกา) จะมาใช้ดุลพินิจ-เข้ามาเกี่ยวข้องไม่ได้เลย

เพราะการทำงานของผู้พิพากษาต้องทำงานด้วยความเป็นกลาง บริสุทธิ์ยุติธรรม

และความบริสุทธิ์ยุติธรรมนี้ต้องสัมผัสได้ แม้ท่านผู้พิพากษาจะไปคิดว่าตัวเองบริสุทธิ์ยุติธรรม แต่ถ้าสังคมสัมผัสไม่ได้ว่ามีความบริสุทธิ์ยุติธรรมจริง เราต้องรับฟังด้วย ต้องมองสังคมที่เขามองมาว่าสถาบันตุลาการนั้นเป็นที่พึ่งเขาได้จริงๆ หรือไม่ ดังคำที่ว่า ศาลจะเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน ต้องเรียนจริงๆ ว่าต้องทำให้เป็นอย่างนั้น

เมื่อพูดถึงความอิสระและความเป็นกลาง ต้องบอกว่าอำนาจหน้าที่ของผู้พิพากษาหลักของความเป็นกลางเป็นสิ่งสำคัญมากที่สุด ต้องรักษาความเป็นกลางและความเป็นอิสระไว้ให้มั่น และ 2 สิ่งนี้ต้องเป็นสิ่งที่สัมผัสได้

กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระบิดากฎหมายไทยเคยเขียนเอาไว้ว่า “ข้าพระพุทธเจ้า จ้างให้เขามาเป็นกลาง เขาต้องใช้ปัญญา ใช้ความรู้ที่ถูกต้อง ไปควบคุมเขาไม่ได้ ต้องให้เขาเห็นความสำคัญของตัวเขาเอง เงินเดือนจึงมากกว่าคนอื่น”

เป็นหลักว่าผู้พิพากษาต้องมีความเป็นอยู่ที่ดีพอสมควรที่จะไม่เดือดร้อน เพราะถ้าเดือดร้อนจะทำให้เกิดการหารายได้พิเศษ ซึ่งอำนาจหน้าที่เขานั้นมีทั้งพระเดชและพระคุณ ตอนเช้าอยู่ศาล ตอนเย็นจะไปเปิดคลินิกรับปรึกษากฎหมายไม่ได้ เพราะว่าจะเกิดปัญหาขึ้นทันที จะมีเสียงติฉินนินทา

ฉะนั้น มองว่าสิ่งสำคัญจะต้องแก้คือเรื่องของ “ตัวบุคคล” ต้องอธิบายว่าอย่างในอดีต เมื่อเราเข้ามาเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาก็ต้องมีการเรียนรู้ทั้งภาควิทยาการและภาคปฏิบัติ

ภาควิทยาการก็จะสอนให้รู้ถึงการเขียนคำพิพากษา-ความคิดในเรื่องการทำคดี

ภาคปฏิบัติก็คือการขึ้นบัลลังก์กับอาจารย์ที่เป็นผู้พิพากษาผู้ใหญ่ เดิมทีผู้พิพากษาผู้ใหญ่จะเป็นติวเตอร์ให้ทุกคน

ซึ่งระยะหลังๆ เราก็อาจจะมองเห็นว่าบางท่านอาจจะไม่ถนัดในการมาสอนคน ตัวอาจารย์เองก็เคยพูดกับลูกศิษย์ที่เป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาว่า ผู้พิพากษาก็เป็นคนธรรมดา ท่านมีความคิดความอ่าน มีความรู้ความสามารถที่สามารถถ่ายทอดให้ความรู้ได้ ซึ่งถ้ายังคงระบบแบบเดิมไว้ มีติวเตอร์โดยผู้ใหญ่เข้ามาช่วยดู ให้ความรู้ถ่ายทอดออกมาให้กับผู้ช่วย ต้องย้ำว่าประสบการณ์การทำงานเป็นเรื่องสำคัญมาก

บางคนเป็นเรื่องของประสบการณ์การทำงาน การวินิจฉัยอาจจะยังอ่อน ทำให้ในระบบจำเป็นต้องมีผู้ที่เหนือกว่า เช่น มีอธิบดีมาตรวจสำนวน ซึ่งในผู้ใหญ่ถ้ามีอะไรผิดพลาดเขาจะเป็นคนรับผิดชอบให้เอง

นอกจากให้ความเป็นธรรมแล้ว สำนวนถูกต้องทุกประการแล้ว สังคมได้รับความเป็นธรรมแล้ว เวลาเกิดปัญหาตัวเจ้าของสำนวนก็ได้รับการรับรองและผ่านการตรวจตราจากผู้พิพากษาที่มีประสบการณ์สูงมาแล้ว

อ.สมลักษณ์มองว่า ในเรื่องระบบระเบียบทางกฎหมาย ส่วนตัวคิดว่าเป็นเรื่องที่สมบูรณ์แล้ว แต่อาจจะมีปัญหา ที่จะต้องนำมาพิจารณากันก็คือเรื่องของตัวบุคคลอย่างที่เรียนไว้ อดีตเวลาเราอบรมในภาค สมัยเราเป็นผู้ช่วย สมัยก่อนเขาจะบอกแม้กระทั่งเรื่องของเมื่อเราสวมครุยแล้วเดินไปในบริเวณศาล (อดีตศาลเก่า เขาจะไม่แยกทางเดินผู้พิพากษากับคนทั่วไป) เราก็จะเดินแทรกไปกับผู้คน การอบรมสั่งสอนเขาจะบอกว่า ถ้าท่านเจอเพื่อนอาจจะเป็นเพื่อนร่วมรุ่น ที่อาจจะเป็นทนาย ห้ามท่านทักทายและยิ้มไม่ได้เด็ดขาด! เพราะถึงแม้ว่าเราจะไม่มีอะไรกัน เพียงแต่ยิ้มทักทายในฐานะเพื่อน แต่ถ้าคู่ความอีกฝ่ายมาเห็นเขาก็จะระแวงทันที ว่าเราเป็นเพื่อนกับอีกฝ่ายหนึ่ง เพราะฉะนั้น พฤติกรรมของผู้พิพากษาจึงสำคัญมาก

ในอดีตเขาสอนและอบรมอย่างละเอียดมาก ทั้งการพูดจา การวางตัว การทักทายผู้คน

คนธรรมดาอาจจะนึกไม่ถึงว่าทำไมต้องระวังตัวมากขนาดนี้ มีระเบียบมากขนาดนั้น

ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่ส่งผลต่อเรื่องของความศรัทธาของประชาชน

ส่วนมุมมองของ อ.สมลักษณ์ ต่อข่าวผู้พิพากษายิงตัวเองนั้น ก็ยอมรับว่าตกใจมาก แต่อยากจะอธิบายเรื่องของการส่งคำพิพากษาให้ท่านอธิบดีภาคตรวจมันเป็นระเบียบของศาลอยู่แล้ว แต่ท่านจะไม่ได้ตรวจทุกคดี เขาจะมีระเบียบเขียนไว้ว่า คดีที่ประหารชีวิต-จำคุกตลอดชีวิต หรือโทษกี่ปีขึ้นไปต้องส่งให้ภาคตรวจ พระธรรมนูญศาลก็จะมีบัญญัติไว้ว่า ท่านอธิบดีก็มีอำนาจตรวจสำนวนและสามารถทำความเห็นแย้งได้ ซึ่งบางทีการที่อธิบดีภาคก็ทำความเห็นแย้งได้ หลายคดีก็คลี่คลาย สามารถคืนความยุติธรรมให้ประชาชนได้

พูดถึงความรู้สึกต่อคำว่า “คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน” ลึกๆ อาจารย์ไม่รู้ว่าท่านมีความนัยของความหมายอันนี้ว่าอย่างไร ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เราไม่อาจจะเถียงได้

ความรู้สึกของอาจารย์เมื่อดูตามถ้อยคำ-อักษรที่เขียน ท่านคณากรอาจจะมีเจตนาที่ดีและมุ่งมั่นมาก แต่เมื่อเราไม่รู้ข้อเท็จจริงเราก็ไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้

แต่จากประสบการณ์ พูดได้อย่างเดียวว่า การที่มีกระแสของบางคนออกมาว่าไม่ควรจะมีการให้อธิบดีภาคหรือผู้อาวุโสมาตรวจคำวินิจฉัยเพราะว่าอาจจะเป็นเหมือนกับเข้ามาก้าวก่ายหน้าที่ความเป็นอิสระ ก็อยากจะอธิบายความเป็นมาว่า เรามีท่านผู้ใหญ่มาตรวจแล้วบางทีก็เหมือนการช่วยเราในหลายๆ เรื่อง

ยกตัวอย่าง ส่วนตัวเคยมีประสบการณ์คดีสำคัญคือเรือบรรทุกน้ำมันชนกับเรือท่องเที่ยว ตอนนั้นมีผู้พิพากษา 3 คน ซึ่ง 2 คนมีความเห็นตรงกันว่าควรพิพากษายกฟ้อง ก็เขียนเหตุผลประกอบไว้ในคำวินิจฉัยอย่างละเอียดมาก แล้วหลักของการพิพากษาคดีก็ต้องใช้เสียงข้างมาก ถ้าอาจารย์จะดึงดันว่าไม่ได้ เรา 2 คนเห็นตรงกัน อีกท่านหนึ่งเป็นเพียงเสียงเดียวก็ทำความขัดแย้งขึ้นมา

แต่คนที่ไม่เห็นด้วยกลับเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ซึ่งท่านเป็นผู้ใหญ่ จึงให้เราเอาสำนวนไปปรึกษาหารืออธิบดีภาค ถ้าอธิบดีเห็นด้วยอย่างไรก็จะเซ็นให้ดำเนินการ ปรากฏว่าอธิบดีเห็นด้วยกับเราก็เอาสำนวนกลับมา ปัญหาก็จบ นี่คือการแก้ปัญหาอย่างหนึ่งโดยมีผู้ใหญ่คืออธิบดีภาคในการให้ความเห็นมาก็อ่านคำพิพากษาได้โดยไม่ต้องมีปัญหากัน