ต่างประเทศ : 8 ปีที่สูญเปล่าของเคิร์ด

ไม่มีมิตรแท้ ศัตรูถาวร อาจใช้ได้กับสถานการณ์ความเป็นไปที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในสมรภูมิแห่งความขัดแย้งในประเทศซีเรียตอนนี้

หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นพวกลมเพลมพัด เอาแน่เอานอนไม่ได้ ประกาศจะถอนกำลังทหารสหรัฐที่เหลืออยู่ราว 1,000 นายออกไปจากซีเรีย

หลังถูกส่งเข้าไปร่วมกวาดล้างเหล่านักรบจากกลุ่มกองกำลังรัฐอิสลาม (ไอเอส) ที่เริ่มเคลื่อนไหวก่อความรุนแรงในซีเรียและอิรักตั้งแต่เมื่อ 8 ปีก่อนด้วยหวังที่จะสถาปนาดินแดนคอลิฟะห์หรือนครรัฐอิสลามขึ้นในดินแดนของทั้งสองประเทศนี้

ก่อนจะแผ่ขยายอำนาจยึดครองของกลุ่มไอเอสออกไปในภูมิภาคอื่น

การประกาศถอนทหารดังกล่าวของผู้นำสหรัฐยิ่งทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งในซีเรียที่ซับซ้อนวุ่นวายหนักอยู่แล้วเนื่องจากมีคู่ขัดแย้งหลายตัวแสดงซึ่งเกี่ยวข้องโยงกันไปโยงกันมา ให้ยิ่งปั่นป่วนยุ่งยากหนักมากขึ้นไปอีก

เพราะเป็นการเปิดทางให้ตุรกีลงมือปฏิบัติการบดขยี้ได้ง่ายขึ้นต่อชาวเคิร์ดเขตยึดครองของชาวเคิร์ดในทางตอนเหนือของซีเรียที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลังประชาธิปไตยซีเรีย (เอสดีเอฟ)

ซึ่งตุรกีมองว่าเป็นปฏิปักษ์ศัตรู เนื่องจากเชื่อว่ามีความเกี่ยวโยงกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนชาวเคิร์ดในตุรกี

 

การประกาศถอนทหารพ้นซีเรียของทรัมป์ ถูกมองเป็นการทรยศหักหลังและเป็นการลอยแพชาวเคิร์ดและกองกำลังติดอาวุธชาวเคิร์ด ที่เป็นพันธมิตรร่วมสู้รบเคียงบ่าเคียงไหล่กับสหรัฐในการกวาดล้างกลุ่มไอเอสในซีเรียมานานถึง 8 ปีเต็มๆ นอกจากที่กองกำลังติดอาวุธชาวเคิร์ดซึ่งรวมถึงกลุ่มเอสดีเอฟต้องรับมือกับศึกอีกด้านจากกองกำลังรัฐบาลซีเรียของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด ที่ทำการปราบปรามกองกำลังติดอาวุธชาวเคิร์ดในซีเรียที่ต้องการอำนาจปกครองตนเองอย่างหนักแล้ว

ปฏิบัติการของตุรกีในการบุกถล่มโจมตีในพื้นที่ยึดครองของชาวเคิร์ดทางตอนเหนือของซีเรียในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งกองกำลังตุรกีสามารถยึดพื้นที่ทางตอนเหนือของซีเรียมาได้ประมาณ 109 ตารางกิโลเมตร

รวมถึงเมืองราส อัล-อิน ที่เป็นเขตควบคุมของกลุ่มเอสดีเอฟ

ผลจากปฏิบัติการโจมตีดังกล่าวก่อความสูญเสียให้กับชาวเคิร์ดในพื้นที่ ซึ่งองค์กรสังเกตการณ์ซีเรียเพื่อสิทธิมนุษยชน (เอสโอเอชอาร์) ระบุว่าการโจมตีของตุรกีเป็นผลให้มีพลเรือนเสียชีวิตกว่า 50 ราย

รวมถึงนักรบเคิร์ดอีกกว่า 100 คน

 

เมื่อสิ้นพันธมิตรสำคัญที่คิดว่าพึ่งพิงได้และสู้จนหลังพิงฝาแล้ว เห็นว่าไม่อาจต้านทานกำลังอันแข็งแกร่งของกองทัพตุรกีได้ กลุ่มเอสดีเอฟจึงต้องหันหน้าไปจับมือเป็นพันธมิตรกับศัตรูที่เคยห้ำหั่นกันมาแทน

นั่นก็คือ กองกำลังรัฐบาลซีเรียของประธานาธิบดีอัสซาด ที่ยังมีรัสเซียอีกชาติมหาอำนาจที่ให้การหนุนหลังรัฐบาลอัสซาดอยู่ ให้ช่วยต่อกรกับตุรกีแทน

มาซลูม อับดี หัวหน้ากลุ่มเอสดีเอฟยอมรับว่าการร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลอัสซาด ต้องแลกมาด้วยข้อต่อรองอันเจ็บปวดในการประนีประนอมกับรัฐบาลอัสซาดและรัสเซีย แต่ข้อต่อรองเหล่านั้นก็ยังดีกว่าการทำให้ชาวเคิร์ดต้องถูกล้างเผ่าพันธุ์!

โรเบิร์ต มัลลีย์ ผู้เชี่ยวชาญจากกลุ่มอินเตอร์เนชั่นแนล ไครซิส กรุ๊ป ซึ่งเป็นองค์กรศึกษาหาแนวทางแก้ไขความขัดแย้ง ให้ความเห็นที่มีต่อการตัดสินใจครั้งนี้ของทรัมป์ว่า แม้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้จะเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ล่วงหน้า

แต่สิ่งนี้ได้ถูกทำไปในทางที่จะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่เลวร้ายที่สุดที่น่าหวั่นกลัวได้ และยังทำให้เกิดคำถามต่อมาถึงความน่าเชื่อถือของสหรัฐในสายตาของชาติพันธมิตรในภูมิภาคว่าจะสามารถไว้เนื้อเชื่อใจสหรัฐในฐานะเป็นหุ้นส่วนหรือพันธมิตรกันได้ต่อไปหรือไม่

 

ขณะที่เอลิซาเบธ เดนต์ นักวิชาการประจำสถาบันตะวันออกกลางศึกษา มองถึงความเสี่ยงภัยที่น่าหวั่นกลัวจากการถอนทหารสหรัฐออกไปจากซีเรียว่า อาจจะเป็นการเปิดช่องให้กลุ่มหัวรุนแรงสุดโต่งอย่างไอเอสที่ถูกกวาดล้างไปจำนวนมากและสูญเสียพื้นที่ยึดครองไปแล้ว จะฟื้นคืนชีพกลับมาก่อภัยคุกคามรุนแรงเหมือนในช่วงหลายปีที่ผ่านมาอีกหรือไม่ ท่ามกลางรายงานข่าวว่าการบุกโจมตีของตุรกีในพื้นที่ยึดครองของชาวเคิร์ดทางตอนเหนือของซีเรียตั้งแต่กลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งโดนค่ายพักพิงและคุกคุมขังนักรบไอเอสหลายแห่ง ได้ทำให้เหล่านักรบไอเอสและครอบครัวรวมเกือบ 800 ชีวิตหลบหนีออกมาจากค่ายและคุกคุมขังเหล่านั้นได้

เดนต์ยังมองอีกว่า การตัดสินใจครั้งนี้ของทรัมป์ยังอาจส่งผลลัพธ์เชิงลบในระยะยาวสำหรับสหรัฐเองที่อาจทำให้สูญเสียดุลอำนาจในภูมิภาคตะวันออกกลางไปให้กับคู่ปรับของสหรัฐในภูมิภาคนี้ได้นั่นคือ รัสเซียและอิหร่านมีประวัติความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับซีเรียมานาน

ส่วนเจเรมี โบเวน บรรณาธิการข่าวประจำภูมิภาคตะวันออกกลางของบีบีซีมองว่าการประกาศถอนทหารออกจากซีเรียของทรัมป์ อาจเป็นจุดเปลี่ยนอีกครั้งสำหรับตะวันออกกลาง หลังจากสงครามกลางเมือง 8 ปีในซีเรียได้เกิดขึ้นและเปลี่ยนโฉมการเมืองความขัดแย้งในภูมิภาคนี้ไปแล้ว

และนี่ยังอาจเป็นความล้มเหลวของนโยบายในภูมิภาคตะวันออกกลางของสหรัฐที่ผลักไสพันธมิตรของตนเองอย่างกองกำลังเคิร์ดให้ไปยืนข้างศัตรูของตนเอง ทั้งรัฐบาลอัสซาด รัสเซียและอิหร่าน

และนี่ยังจะถือเป็นชัยชนะที่สำคัญของกองทัพซีเรียและชาติพันธมิตรอีกด้วย

ส่วนที่น่าเห็นใจคงไม่พ้นชาวเคิร์ดกับความสูญเปล่าที่ได้รับกลับคืนมาจากสหรัฐใน 8 ปีที่ร่วมกวาดล้างไอเอส!