นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ : ฟุตบอลไม่ได้เป็นแค่กีฬา แต่คือศาสนา

เคยสงสัยไหมครับว่าทำไมแฟนทีมฟุตบอลจึงจงรักภักดีต่อสโมสรหนึ่งหรือทีมชาติหนึ่งได้มากขนาดนั้น

เราเชียร์ เราสนับสนุน เราศรัทธา

เราติดตามถ่ายทอดสดทุกนัด อดตาหลับขับตานอนเพื่อจะได้ชมทีมที่เรารักลงเตะ หลายครั้งที่เมื่อทีมเราแพ้ ก็เหมือนเราจะแพ้ไปด้วย เราตีอกชกหัวโทษโชคชะตาหัวใจสลาย และหลายครั้งที่ทีมเราชนะ ก็ราวกับชีวิตเรากำลังประสบความสำเร็จตามไปด้วย

เราอ่านข่าวสารทีมที่รักอย่างละเอียด ทั้งข่าวทั่วไป ความเคลื่อนไหวการฝึกซ้อม บทสัมภาษณ์โค้ชหรือนักเตะ ไปจนถึงข่าวการซื้อขาย ติดตามราวกับมันคือสิ่งที่สำคัญมากของชีวิต

เรามีนักฟุตบอลเป็นไอดอลในดวงใจ ซื้อเสื้อมาสวมใส่แล้วภาคภูมิใจ ซื้อโปสเตอร์มาติดไว้ที่ห้อง เอารูปมาใช้เป็นหน้าจอโทรศัพท์ กดฟอลโลว์ในอินสตาแกรม กดไลก์ในเฟซบุ๊ก หรือเมื่อเขามาเยือนเมืองไทย ก็กุลีกุจอทำป้ายไฟและเอาเสื้อที่ซื้อไว้ไปให้เซ็นถึงสนามบิน

ไม่เพียงเท่านั้น เรายังเอาตัวเองไปผูกติดอยู่กับทีมนั้นๆ จนกลายเป็นตัวตนของเรา ใครมาด่า มาทับถม มาเยาะเย้ย มาเสียดสี เราไม่พอใจและตอบโต้ ราวกับใครมาด่าพ่อแม่เรา ในขณะเดียวกัน เราก็ถากถาง สาปแช่ง กวนบาทา เกรียนใส่กับทีมที่เป็นคู่แข่งเช่นเดียวกัน

ทำไมฟุตบอลจึงมีอิทธิพลกับคนได้มากขนาดนั้น

 

ถ้าเป็นแฟนบอลในพื้นที่ เติบโตในท้องถิ่นนั้นๆ หรือมีบางสิ่งบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับสโมสรฟุตบอลนั้นก็ยังพอเข้าใจได้

เช่น คุณเป็นคนไทยก็ต้องเชียร์ทีมชาติไทย หรือคุณเป็นคนอังกฤษที่เติบโตในเมืองลิเวอร์พูลก็คงต้องเชียร์ลิเวอร์พูล ไม่ก็เอฟเวอร์ตัน

หรือคุณมีพ่อเป็นคนบาร์เซโลนาแล้วเขาพาคุณไปเชียร์บาร์เซโลนาทุกสุดสัปดาห์ คุณก็อาจจะถูกปลูกฝังให้เป็นแฟนบอลทีมบาร์เซโลนาไปโดยปริยาย

ความสัมพันธ์ระหว่างแฟนบอลกับทีมฟุตบอลนั้นมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ตั้งแต่อดีตกว่าร้อยปีที่แล้วในยุโรป การสนับสนุนทีมฟุตบอลไม่ใช่เรื่องแค่การเชียร์ แต่คือความรู้สึกเหมือนคุณเป็นเจ้าของทีม

เช่น คุณเป็นคนเมืองแมนเชสเตอร์ แล้วไปดูเพื่อนๆ หรือคนในเมืองลงเตะในนามของสโมสรแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด สิ่งที่จะทำให้สโมสรนี้ยังคงอยู่ได้ คือการที่คุณซื้อของที่ระลึก จ่ายค่าตั๋วเข้าไปดูการแข่งขันทุกนัด

พูดง่ายๆ คือการลงเงิน ระดมทุน สนับสนุนค่าใช้จ่าย เพื่อให้ทีมประจำเมืองของคุณมีเงินหมุนเวียน และสู้ทีมอื่นๆ ได้

ฟุตบอลจึงไม่ใช่แค่กีฬา แต่คือไลฟ์สไตล์ คือส่วนหนึ่งของชีวิตที่แทรกซึมอยู่ในทุกอณูของวิถีชีวิต

เช่น ทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ กิจกรรมยอดฮิตของคนอังกฤษ (หรือประเทศอื่นๆ ที่ฟุตบอลเป็นที่นิยม) ก็คือการพาครอบครัว เพื่อน คนรัก ไปดูฟุตบอล

หลังจบการแข่งขันก็คงยังพูดคุย พบปะ สังสรรค์ ลากยาวไปจนถึงเย็นก็เข้าผับ ดวดเบียร์และคุยเรื่องฟุตบอลกันต่อ

ฉะนั้น จึงไม่เกี่ยวว่าทีมของคุณจะได้แชมป์ หรือมีเกียรติยศมากแค่ไหน สิ่งที่ทำให้คุณเชียร์ทีมนั้นเพราะว่าคุณรู้สึกเหมือนเป็นเจ้าของทีมต่างหาก

 

นั่นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานับร้อยปีจนถึงปัจจุบัน แฟนบอลหลายคนในแต่ละพื้นที่ของยุโรป (รวมถึงภูมิภาคอื่นๆ) ก็ยังมีความรู้สึกนั้นอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง เราจะเห็นได้ว่าในแต่ละสนาม แฟนบอลยังคงพาลูกพาหลานมาชมเกมในวันหยุด ภาพของคุณปู่จูงหลานตัวน้อยไปดูทีมที่รักจึงเป็นภาพที่คุ้นตาคนทั่วไป

นั่นเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสโมสรฟุตบอลและแฟนบอล ที่ผูกพันกันด้วยพื้นที่หรือเรื่องราวทางประวัติศาสตร์

คำถามสำคัญก็คือว่า แล้วคนที่เป็นชาติอื่นๆ ที่ไม่ได้มีภูมิลำเนา เชื้อชาติ หรือองค์ประกอบใดๆ เกี่ยวกับสโมสรนั้นเลยล่ะ ทำไมจึงจงรักภักดีได้ขนาดนั้น

ทำไมคนไทยตาดำๆ ผมสีดำๆ ที่เติบโตในอีกซีกโลกจึงกลายเป็นแฟนบอลที่เหนียวแน่นได้ขนาดนั้น คนนั้นเด็กแมนยู คนนั้นเด็กลิเวอร์พูล คนโน้นเด็กปืน หนักเข้าก็ถึงขั้นเถียงจะเป็นจะตายเพราะเรื่องของทีมฟุตบอลที่แทบไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับตัวคุณเลยแม้แต่น้อย

ทำไมฟุตบอลจึงมีอิทธิพลกับคนทั่วโลกได้ขนาดนั้น

 

การจะตอบคำถามนี้ได้ ผมคิดว่าเราต้องเปลี่ยนเลนส์ในการมองฟุตบอลเสียใหม่ เพราะถ้าหากเรามองฟุตบอลว่าเป็นกีฬา หรือเป็นเกมทั่วๆ ไปเหมือนกับเวลาเราดูวอลเลย์บอล หรือเทนนิส ก็จะตอบได้ยากทีเดียว

ผมคิดว่าฟุตบอลเป็นมากกว่ากีฬา ฟุตบอลคือไลฟ์สไตล์ ฟุตบอลคือความบันเทิง ฟุตบอลคือซอฟต์เพาเวอร์

และถึงที่สุด ฟุตบอลคือศาสนา และฟุตบอลคือเลือดเนื้อของตัวคุณเอง

ทำไมฟุตบอลถึงเป็นได้มากถึงขนาดนั้น ค่อยๆ ดูไปทีละประเด็นนะครับ

 

เหตุผลที่ผมมองว่าฟุตบอลคือไลฟ์สไตล์ เพราะเจ้าลูกกลมๆ นี้ได้แทรกซึมอยู่ในวิถีชิวิตของเรา ตั้งแต่ตื่นจนนอน คุณอาจจะไม่ได้เกิดและโตที่ลิเวอร์พูล แต่คุณก็มีวิถีชีวิตราวกับเป็นเช่นนั้น

เราไม่ได้ดูฟุตบอลแล้วจบแค่ 90 นาที แต่เราตื่นเช้ามาอัพเดตข่าวฟุตบอล ตอนเที่ยงก็คุยกับเพื่อนเรื่องโค้ชใหม่ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่ง ตกกลางคืนเรานัดเพื่อนไปดูฟุตบอลที่ร้านอาหารหรือสปอร์ตบาร์ เราใช้เคสมือถือรูปตราสโมสร ห้องของเรามีโปสเตอร์นักฟุตบอลที่ชื่นชอบ เราซื้อเสื้อใหม่ทุกครั้งที่เริ่มฤดูกาลใหม่

หายใจเข้าออกเป็นฟุตบอล คือวลีที่ตรงที่สุด

ผมมองไม่ค่อยเห็นเลยว่าจะมีกีฬาอื่นใดที่มีพลังมากมายได้เท่านี้ จะมีกีฬาไหนอีกไหมที่เวลาคุณเชียร์ต้องใส่เครื่องแบบนั้นด้วย

คุณดูวอลเลย์บอลแล้วใส่เสื้อวอลเลย์ไหม ดูวิ่ง 100 เมตรแล้วใส่ชุดวิ่งไหม คุณดูอเมริกันฟุตบอลแล้วใส่หมวกกันน็อกด้วยไหม

หรือดูว่ายน้ำแล้วต้องใส่กางเกงว่ายน้ำด้วยไหม (ฮา)

แต่ฟุตบอลมันเป็นอะไรหนักหนา ต้องใส่เสื้อฟุตบอลเวลาเชียร์ เสื้ออย่างเดียวไม่พอ ยังต้องมีผ้าพันคอ สายรัดข้อมือ หรือเครื่องประดับอื่นๆ ด้วยแน่ะ

เหตุผลที่มันทำได้ขนาดนั้น เพราะแฟนบอลมองว่าฟุตบอลคือไลฟ์สไตล์หนึ่งของเขา มันคือส่วนหนึ่งของชีวิตเขา เขาจึงไม่เคอะเขินที่จะโอบกอดฟุตบอลเข้ามาอยู่ในวิถีชิวิตประจำวันของเขา

เผลอๆ บางคนยังใส่เสื้อฟุตบอลในชีวิตปกติด้วยอีกต่างหาก

 

ถัดจากไลฟ์สไตล์ ผมมองว่าฟุตบอลคือความบันเทิง คือ entertainment ที่ไม่ต่างจากเพลง หนัง หนังสือ หรือศิลปะแขนงอื่นๆ

เปรียบเทียบให้เห็นภาพคือละครหลังข่าวที่สาวๆ ไทยติดงอมแงม ดูแล้วอินเหลือเกิน อินไม่พอต้องเล่นทวิตเตอร์ไปด้วย “มุนินแกร้ายมาก” หรือ “วันนี้เวียร์กล้ามแน่นมาก” พอตื่นเช้ามาก็ยังเม้าธ์มอยเรื่องละครเมื่อวานกันต่อที่ออฟฟิศหรือโรงเรียน

เมื่อเทียบละครของคุณผู้หญิง ฟุตบอลก็ไม่ต่างอะไรกัน ฟุตบอลคือละครของคุณผู้ชายนั่นเอง เราเฝ้ารอสุดสัปดาห์ที่จะได้ชมเกมที่เรารัก ดูไปก็เล่นไลน์ โพสต์เฟซบุ๊ก หรือทวีตข้อความไปด้วย จบเกมก็ยังเกรียนกันไม่หยุด

ถ้าถามว่าทำไมคนถึงร้องห่มร้องไห้กับ เดวิด โบวี่ ทั้งที่ไม่ใช่พ่อเรา

ทำไมคนทั้งโลกจึงเสียใจกับการจากไปของ ไมเคิล แจ๊กสัน ทั้งที่ก็ไม่เคยเจอหน้า

หรือทำไมคนจึงผูกพันกับ The Beatles ทั้งที่ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวกับเราเลย

แล้วเราได้คำตอบว่าก็เพราะบุคคลเหล่านี้คือต้นแบบและเป็นแรงบันดาลใจให้กับเรา เราชื่นชมในผลงานและความสามารถของเขา หรือผลงานของเขาเปลี่ยนชีวิตเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ฟุตบอลก็คือสิ่งเดียวกัน มันเป็นความบันเทิงที่ส่งผลต่อผู้เสพ ทั้งความคิด แรงบันดาลใจ และถึงขั้นทำให้เราลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง

ยิ่งฟุตบอลคือกีฬาที่มีความดรามาราวกับหนังฮอลลีวู้ดอยู่แล้ว ก็ยิ่งทำให้คนอีกซีกโลกอินฟุตบอลมากขึ้นไปอีก

 

ถึงที่สุด สำหรับผม ฟุตบอลคือศาสนา

ที่ผมมองว่าฟุตบอลเป็นได้ถึงขั้นนั้นเพราะผมรู้สึกว่า แฟนบอลทุกคนศรัทธากับฟุตบอล และมีฟุตบอลเป็นที่พึ่งทางใจ ยึดเหนี่ยวจิตวิญญาณไม่ต่างจากการนับถือศาสนา และเราก็ยินดีที่จะปวารณาตัวเองเป็นสาวกผู้ภักดี

ลองเปรียบเทียบดูนะครับ ทุกๆ ศาสนามักจะมีองค์ประกอบคล้ายกัน แต่ถ้าง่ายที่สุดก็คือศาสนาพุทธที่ประกอบไปด้วย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

ทีมที่คุณเชียร์คือพระพุทธ

คุณเลือกทีมเชียร์ไหน มีใครเป็นศาสนาสูงสุด หรือเชื่อในต้นกำเนิดแนวคิดนั้นก็แล้วแต่จริตและความชอบส่วนบุคคล แต่อย่างน้อยถ้าคุณศรัทธาในทีมๆ นั้นแล้วก็มักจะติดตัวไปตลอด

ฟุตบอลคือพระธรรม

คุณติดตามศาสนาของคุณด้วยการชมเกมการแข่งขันของทีมที่คุณรัก คุณศึกษาวิธีการเล่น แท็กติก เทคนิคทุกๆ อย่าง และจดจำราวกับมันคือพระธรรมคำสอนของคุณ

นักฟุตบอลคือพระสงฆ์

คุณชอบนักเตะที่นำพระธรรมนั้นมาเผยแผ่ นักเตะคนนั้นอาจจะดุดันแข็งแกร่งและเป็นตัวยิงประตู ในขณะที่อีกคนก็อาจจะเป็นกองหลังที่เล่นฟุตบอลสุขุม เข้าสกัดบอลเด็ดขาด เหมือนกันกับการที่คุณชอบพระสงฆ์แต่ละรูปที่มีแคแร็กเตอร์แตกต่างกัน และมีวิธีการเผยแผ่ธรรมะต่างกัน พระพยอม กัลยาโณ อาจจะเทศน์สนุก พระธัมมชโยอาจจะ… (เอ่อ…ไม่เล่นดีกว่าครับ) รักใครชอบใคร ศรัทธาคนไหน ก็ติดตามคนนั้น แล้วแต่รสนิยมและความชอบส่วนบุคคล แต่โดยสรุป นักฟุตบอลก็คือซูเปอร์สตาร์ที่ถ่ายทอดความเป็นฟุตบอลในแบบที่คุณรักให้กับคุณ

ลองเปรียบเทียบองค์ประกอบอื่นๆ อีกหน่อย การเข้าถึงฟุตบอลก็ไม่ต่างอะไรจากพิธีกรรมทางศาสนา คุณชมเกมทุกวันหยุด อ่านข่าวติดตามทีมที่คุณรัก 3 เวลาหลังอาหาร ราวกับการกราบไหว้บูชา คุณเข้าถึงศาสนาด้วยวิธีใดได้บ้าง คนที่ติดตามฟุตบอลก็มีพิธีกรรมเช่นนั้น

เท่านั้นยังไม่พอ คุณยังต้องมีเครื่องรางของขลัง ศาสนามีชุดห่มขาว สายสิญจน์ พระเครื่อง ฟุตบอลก็มีเสื้อฟุตบอล ผ้าพันคอ โปสเตอร์ นี่คือเครื่องรางของขลังที่แสดงออกว่าคุณคือสาวกของทีมนี้ และคุณจะใช้มันในการกราบไหว้บูชา

หนักไปกว่านั้นคือ สถานที่ที่ควรไปเยือนก่อนตาย หรือฝันจะไปได้สักครั้งในชีวิตจะเป็นบุญกุศล ชาวมุสลิมควรจะไปนครเมกกะ ชาวพุทธก็อาจจะไปแสวงบุญที่อินเดียหรือเนปาล ชาวคริสต์ก็อยากจะไปยลนครรัฐวาติกัน

เช่นเดียวกันครับ แฟนฟุตบอลแมนยูก็อยากจะไปโอลด์แทรฟฟอร์ดสักครั้ง แฟนบาร์เซโลนาก็อยากจะไปคัมป์ นู สักครั้ง บางครั้งเขาถึงเรียกสนามฟุตบอลว่า “เมกกะ” ด้วยซ้ำไป

ถ้าเรามองด้วยกรอบแบบนี้ว่า “ฟุตบอล = ศาสนา” มันก็จะตอบคำถามข้างต้นที่ว่า “ทำไมคนที่ไม่ได้อะไรเกี่ยวข้องกับสโมสรนั้นจึงจงรักภักดีได้ขนาดนั้น” ได้ง่ายมาก

ก็เพราะฟุตบอลคือไลฟ์สไตล์ คือความบันเทิง คือศาสนา ที่ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับพื้นที่หรือประวัติศาสตร์ใดๆ กับคนที่เชียร์เลย แต่มีความผูกพันบางอย่างที่คนทั่วโลกเข้าถึงได้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

 

ท้ายที่สุด ผมอยากจะยกคำพูดของนักฟุตบอลคนหนึ่งที่ผมชอบมาก เขาคือ เดนนิส เบิร์กแคมป์ อดีตนักฟุตบอลทีมชาติเนเธอร์แลนด์ และอาร์เซนอล ผมคิดว่าคำพูดของเขาตอบคำถามข้างต้นในอีกมุมหนึ่งได้เป็นอย่างดี

เขาบอกว่า

“ความรู้สึกครั้งแรกที่คุณเริ่มเชียร์ทีมรัก คุณไม่ได้เชียร์เพราะถ้วยรางวัล ผู้เล่น หรือประวัติศาสตร์ คุณเชียร์เพราะคุณได้ค้นหาตัวเองเจอแล้ว และได้ค้นพบพื้นที่ของคุณในนั้น”

ผมเห็นด้วยกับคำพูดนี้มากๆ ผมไม่รู้ว่าแฟนบอลคนอื่นเป็นเหมือนผมหรือเปล่า แต่ผมเชียร์อาร์เซนอล ผูกพันกับทีมอาร์เซนอลก็ด้วยเหตุผลนี้

ผมคิดว่า การที่คุณจะเริ่มเป็นแฟนบอลทีมใดทีมหนึ่ง ก็เหมือนกับการที่คุณเลือกซื้อสินค้าสักยี่ห้อ คุณต้องชื่นชอบใน “แบรนด์” หรือ “คาแรกเตอร์” ของสินค้านั้น เช่น คุณชอบแอปเปิ้ลเพราะความเท่ความคูล คุณชอบรถเบนซ์เพราะความหรูหรา ความปลอดภัย คุณชอบหลุยส์วิตตองเพราะคุณภาพและประวัติศาสตร์อันยาวนานของแบรนด์

ผมเริ่มต้นเชียร์อาร์เซนอล ก็เพราะในช่วงเวลานั้นมีแต่คนเชียร์แมนยูและลิเวอร์พูลครับ คนทั้งห้องเรียนผมมีแค่แฟนบอล 2 ทีมนี้ ผมซึ่งมีบุคลิกไม่ค่อยชอบเหมือนใคร อินดี้หน่อยๆ จึงเลือกทีมที่สามที่มีคนเชียร์ไม่มาก แต่ก็ยังมีโอกาสลุ้นแชมป์อยู่

จนเมื่อเริ่มเชียร์ไปเรื่อยๆ จากความชอบ กลายเป็นความรัก และตกผลึกเป็นความศรัทธา ผมพบว่าเวลาดูอาร์เซนอล ผมเหมือนกำลังดูตัวเอง อาร์เซนอลคือกระจกที่สะท้อนตัวตน บุคลิก หรือความเชื่อของผมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ยกตัวอย่างเช่น การเป็น underdog ที่ไม่ได้เก่งมากเหมือนทีมใหญ่ๆ หรือการที่ทีมไม่ค่อยใช้เงินซื้อนักเตะแพงๆ แต่ชอบปั้นเด็กดาวรุ่งมากกว่า หรือสไตล์การเล่นของทีมที่เน้นเอ็นเตอร์เทนคนดู เอาสนุกไว้ก่อน ก็เหมือนกับผมที่เน้นว่าจะทำอะไรต้องสนุกกับมันก่อน ไม่งั้นไม่ทำ

มันอาจจะไม่ใช่ทั้งหมด แต่ผมรู้สึกว่าผมค้นพบตัวเองเจอในนั้นเหมือนกับที่ เดนนิส เบิร์กแคมป์ ว่าไว้จริงๆ และผมคิดว่าแฟนบอลท่านอื่นๆ ก็เป็นเหมือนกัน

ผมเพิ่งได้คุยกับ ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน ที่เป็นแฟนบอลทีมชาติอิตาลี แกก็บอกว่า สิ่งที่เหมือนกันระหว่างตัวแกกับอิตาลีคือความเป็นศิลปิน หรือความขี้เกียจหน่อยๆ แต่มักจะแสดงออกถึงความสามารถต่อเมื่อเจอวิกฤตจริงๆ สิ่งนั้นทำให้แกยังคงรักและเชียร์อิตาลีเรื่อยมา

หากมองในมุมนี้ บางทีฟุตบอลอาจเป็นมากกว่าศาสนาก็เป็นได้

ศาสนาคุณยังเปลี่ยนได้ แต่ทีมฟุตบอลที่คุณเชียร์มันเปลี่ยนไม่ได้!

ในยุโรป หากแฟนบอลทีมไหนเปลี่ยนทีมเชียร์ คนร่วมเมืองอาจจะมองว่าคุณเป็นไอ้พวกทรยศเลยด้วยซ้ำ

 

ผมเคยอ่านเจอสุภาษิตโปรตุเกสที่ว่า

“มี 2 สิ่งในโลกเท่านั้นที่คุณเปลี่ยนไม่ได้ หนึ่งคือแม่ และสองคือทีมฟุตบอลที่คุณเชียร์”

อ่านประโยคนี้ผมก็ได้แต่พยักหน้าหงึกๆ เห็นด้วย

ฉะนั้น ไม่ว่าทีมที่คุณรักจะพ่ายแพ้หมดรูป ชนะจนได้แชมป์ ตกชั้นไปอยู่อีกลีก หรือล้มละลาย มันก็ไม่มีผลที่จะทำให้คุณเลิกเชียร์ คุณอาจจะเบื่อๆ ขี้เกียจดู หรือรำคาญบ้าง แต่อย่างน้อยทีมนั้นก็จะอยู่ในใจคุณจนวันตาย

ก็คุณจะเปลี่ยนทีมฟุตบอลที่คุณเชียร์ได้อย่างไร

ในเมื่อมันคือความบันเทิง คือไลฟ์สไตล์ คือศาสนา และคือเลือดเนื้อและชีวิตของคุณ