อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : 7 วันสำคัญเดือนตุลาคมที่ปฏิทินไทยไม่บันทึก

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

ทีมข่าวการเมืองสำนักข่าวประชาไท (1 ตุลาคม 2562) ได้รายงาน 7 วันสำคัญเดือนตุลาคมที่ปฏิทินไทยไม่ได้บันทึกเอาไว้อย่างน่าสนใจ นั่นคือ

6 ตุลาคม 2519 : เหตุการณ์ 6 ตุลาคม

7 ตุลาคม 2551 : สลายการชุมนุมพันธมิตร 2551

7 ตุลาคม : วันงานที่มีคุณค่า

11 ตุลาคม 2540 : วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญประชาชน

14 ตุลาคม 2516 : วันมหาวิปโยค

25 ตุลาคม 2547 : วันสลายการชุมนุมที่ตากใบ

31 ตุลาคม 2549 : วันเสียชีวิตลุงนวมทองที่ต่อต้านการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

 

เหตุใดจึงไม่มีการบันทึก

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีความเชื่อมโยงกันในหลายแง่มุม อันสะท้อน “ความรุนแรงโดยรัฐ” หรือการใช้ความรุนแรงจากรัฐ ถึงแม้ว่ารัฐในแต่ละยุคสมัยจะไม่ได้เป็นคนกลุ่มเดียวกัน แต่ความรุนแรงของรัฐก็ใช้อย่างเต็มที่ ป่าเถื่อน ใช้อาวุธและการทำร้ายจากบุคคลหลายกลุ่ม

เหตุที่ปฏิทินไทยไม่ได้บันทึกเอาไว้ หาใช่เกรงว่าไทยหรือสยามเมืองยิ้ม สังคมเอื้ออาทร สังคมที่มีความผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมดังที่หลายคนโพนทะนากันมายาวนานและต่อเนื่องจะถูกกล่าวหาว่า บิดเบือนและไม่จริง

ตรงกันข้าม เหตุการณ์ที่ปฏิทินไทยไม่บันทึก เป็นทั้งความจงใจและปิดบังความจริงของความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมืองและสังคมที่เปิดเผยดังกล่าว

 

สิ่งที่เหมือนกัน

จริงๆ แล้วสังคมการเมืองไทยยุคใหม่ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 เป็นสังคมการเมืองที่มีความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างฝ่ายอำนาจที่แข่งขันและต้องการโค่นล้มอีกฝ่ายหนึ่งอยู่ตลอดเวลา

ฝ่ายอำนาจได้สูญเสียอำนาจไประดับหนึ่งในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เมื่อสังคมไทยเปลี่ยนแปลงอย่างมากทั้งทางเศรษฐกิจ การขยายตัวทางการศึกษาก่อ ให้เกิดคนรุ่นใหม่ที่จบจากมหาวิทยาลัย การเติบโตทางความคิดของปัญญาชนหลังจากที่ถูกกดมานานรวมทั้งการไม่เห็นด้วยต่อรัฐบาลไทยขณะนั้นที่ร่วมกับสหรัฐอเมริกาในการทำสงครามเวียดนาม

ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเมื่อการแย่งชิงอำนาจในตำแหน่งสำคัญทางทหาร ซึ่งในที่สุดฝ่ายอำนาจเดิมก็สูญเสียอำนาจ

อย่างไรก็ตาม ในไม่ช้า รัฐบาลใหม่ซึ่งอ่อนแอบริหารประเทศไปด้วยความยุ่งยาก นับเป็นช่วงเวลาที่เกิดความร่วมมือระหว่างฝ่ายอำนาจเก่าเพื่อสลายพลังของฝ่ายสังคมนิยมและนิสิต-นักศึกษา

ดังนั้น การปลุกกระแสขวาจัดและการสร้างพลังมวลชนเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ก็นำมาสู่เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เกิดการยึดอำนาจโดยฝ่ายอำนาจก็ยังนำโดยผู้นำทหาร

ความจริงแล้ว พัฒนาการด้านประชาธิปไตยโดยเฉพาะการเลือกตั้ง บทบาทของนักการเมืองและการปฏิรูปการเมืองได้ดำเนินมาตลอด ต่อเนื่องบ้าง ไม่ต่อเนื่องบ้าง แต่พลังภาคประชาชนและองค์กรพัฒนาเอกชนได้ผลักดันให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปี 2540 ซึ่งให้บทบาทของนักการเมืองพลเรือนเพิ่มมากขึ้น

มีการผลักดันองค์กรอิสระหรือองค์กร เช่น ด้านสื่อมวลชนด้านการเลือกตั้ง ด้านกระบวนการยุติธรรม แต่ก็ให้บทบาทต่อพรรคการเมืองขนาดใหญ่

ในช่วงนี้เอง บทบาทของนักการเมืองรุ่นใหม่ที่มาจากภาคธุรกิจ นักการเมืองท้องถิ่นมีมากขึ้นอันนำมาซึ่งการต่อสู้กันระหว่าง ฝ่ายอำนาจเก่า ที่สูญเสียอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ดังนั้น ความรุนแรงโดยรัฐ ที่นำโดยฝ่ายกองทัพได้ทำรัฐประหารถึง 2 ครั้งคือ 2549 และ 2557 ทั้งนี้ การต่อสู้ทางการเมืองระหว่าง 2 ฝ่ายอาจเปลี่ยนแปลงไปบ้าง

เช่น ฝ่ายอำนาจรัฐขณะนั้นก็ใช้อำนาจบริหาร รัฐสภาและกลไกอำนาจนิยม อีกฝ่ายหนึ่ง ก็สร้างพลังมวลชนทั้งโดยผ่าน สื่อมวลชน และการเมืองมวลชนบนท้องถนน

การต่อสู้ของทั้ง 2 ฝ่ายดูเหมือนจะจบลงที่ฝ่ายอำนาจที่นำโดยกองทัพจะชนะโดยการยึดอำนาจ ตั้งพรรคการเมือง สร้างพันธมิตรกับมวลชน สร้างพันธมิตรกับนักธุรกิจขนาดใหญ่ แต่นี้ก็เป็นเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น

ทั้งนี้ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

 

ประการแรก ฝ่ายอำนาจยังมีแกนกลางอยู่ที่ผู้นำกองทัพกลุ่มหลักหลังปี 2547 ซึ่งเริ่มถูกท้าทายจากกลุ่มอื่นๆ ภายในกองทัพเอง

ประการที่สอง พันธมิตรที่เป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่นำเสนอ Platform ทางเศรษฐกิจของตัวเองโดยใช้กลไกและระบบราชการของรัฐ แต่ความเป็นพันธมิตรนี้ยังอยู่ระหว่างผู้บริหารนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลและกลุ่มธุรกิจมากกว่าผู้นำรัฐบาลฝ่ายความมั่นคง ปัญหาคือ ความสัมพันธ์ดังกล่าวจะราบรื่นนานแค่ไหน

ประการที่สาม ศัตรูของชาติและความมั่นคงของชาติเคลื่อนไปที่ความแตกต่างทางวัฒนธรรม ความเชื่อและศาสนา โดยเฉพาะปัญหาชายแดนภาคใต้ ซึ่งจริงๆ อาจเป็นเรื่องของการสร้างอุตสาหกรรมความมั่นคงมากกว่าปัญหาความแตกต่างทางวัฒนธรรมและศาสนา

ประการที่สี่ ศัตรูของชาติและความมั่นคงของชาติกำลังถูกผลักไปที่ผู้ที่มีความคิดเห็นต่าง อีกทั้งกลุ่มก้อนที่เห็นต่างที่มีบทบาทและพลังตอนนี้คือพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งจริงๆ แล้วผลการเลือกตั้งที่พรรคอนาคตใหม่ได้รับอาจเป็นเพียงความต้องการหยุดบทบาทของฝ่ายอำนาจเดิมเป็นหลัก

ดังนั้น การใช้กฎหมายเดิม กฎหมายใหม่ นักรบไซเบอร์ สื่อและรายการวิเคราะห์สถานการณ์จึงก่อตัวและทำงานอย่างแข็งขัน

แต่ประเด็นความมั่นคงก็ยังคงซ้ำๆ อยู่ที่ฝ่ายล้มล้างการปกครอง ส่วนในอดีตคือลัทธิคอมมิวนิสต์ซึ่งใช้ไม่ได้อีกแล้ว

 

สิ่งที่แตกต่าง

สิ่งที่แตกต่างอย่างสำคัญหาใช่นักธุรกิจขนาดใหญ่ที่ท้าทายอำนาจอย่างทักษิณ ชินวัตร

ในอดีต ธุรกิจขนาดใหญ่เหล่านี้วางบทบาทของตัวเองเป็นเพียง “ท่านเจ้าสัว” ซึ่งน้อมรับบทบาทของผู้นำ รวมทั้งไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันทางเทคโนโลยีหรือ Technology disruption

แต่ที่สำคัญมากกว่านั้นคือ สังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของประวัติศาสตร์ไทย อันสัมพันธ์กับโครงสร้างอำนาจใหม่และความสัมพันธ์เชิงอำนาจอีกแบบหนึ่ง

คงต้องติดตามต่อไป