ในประเทศ : สารพัด “ความเมือง” รุมเร้า อนาคตใหม่งัดทุกวิธีตั้งรับ หวังอยู่รอด

“ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” และ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เคยให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อหลายครั้งว่า พวกเขาประเมินไว้แล้วตั้งแต่ก่อนก่อตั้ง “พรรคอนาคตใหม่ (อนค.)” ถึงบรรดาแรงเสียดทานและความเสี่ยงที่ต้องเผชิญจากการทำงานการเมือง

คิดไปถึงขั้นเลวร้ายสุดๆ ว่าอาจมีแกนนำของพรรคถูกดำเนินคดีและติดคุก

แต่สิ่งที่ทั้ง 2 คนไม่ได้ประเมินไว้คือ ไม่ได้คิดว่าสถานการณ์เหล่านั้นจะเกิดขึ้นภายในเวลาอันรวดเร็วเพียง 1 ปีกว่าของการตั้งพรรค อนค.เท่านั้น

ไม่เพียงหลายสิบคดีความที่วิ่งรอกเข้าสู่สารบบกับข้อกล่าวหาต่างๆ ที่รอวันชี้ชะตาพรรค อนค.

พรรค อนค.ยังเผชิญวาทกรรมที่ฝ่ายตรงข้ามชี้หน้าว่า “ล้างสมอง-ชังชาติ-ล้มล้างการปกครอง” จนต้องชี้แจงต่อสังคมแบบไม่เว้นวัน

 

อุปสรรคหนักหนาเช่นนี้ ทำให้เกจิทางการเมืองหลายคนออกมาฟันธง “อนาคตใหม่ไม่รอดแน่”

เดือดร้อนแกนนำพรรค โดยเฉพาะเลขาธิการอย่าง “นายปิยบุตร” ต้องแถลงครั้งแล้วครั้งเล่า สร้างความมั่นใจแก่ผู้สนับสนุนว่า แม้จะมีคดีความมากมายรุมเร้าอยู่ แต่ไม่มีคดีใดที่เอาผิดถึงขั้นยุบพรรคได้

“ทำไมสังคมถึงเชื่อและลือกันไป โดยที่ไม่ดูว่าคำร้องหรือข้อกฎหมายคืออะไร การกระทำแบบนี้คือการประเมินจากประวัติศาสตร์การเมืองแบบเก่า ผมบอกกับสมาชิกพรรคว่าอย่าหวั่นไหว ขอให้เดินหน้าทำงานอย่างสร้างสรรค์ต่อไป” ปิยบุตรกล่าวเมื่อ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา

พร้อมเปิดเผยว่า ณ เวลานั้น พรรคมีคดีความทั้งสิ้น 22 รายการ

แต่เรื่องที่ถูกจับตาคือคดีถือหุ้นสื่อบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ที่ส่งผลให้หัวหน้าพรรค อนค.ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ได้ตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ

นอกจากนั้น ยังมีกรณีที่นายธนาธรปล่อยเงินกู้จำนวน 191.2 ล้านบาทให้แก่พรรคเพื่อดำเนินกิจกรรมในช่วงการเลือกตั้ง ซึ่งถูก “นายศรีสุวรรณ จรรยา” ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่านิติกรรมดังกล่าวไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 โดย กกต.มีมติเห็นชอบส่งเรื่องไปยังอนุกรรมการวินิจฉัยฯ เพื่อพิจารณารายละเอียด โดยเฉพาะประเด็นเรื่องรายได้และรายจ่ายของพรรคการเมือง

หลุดจากเรื่องเงินๆ ทองๆ ยังมีประเด็นอ่อนไหวทางการเมือง คือคดีล่าสุดที่ พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้ชำนาญการสำนักงานกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า รับมอบอำนาจจากแม่ทัพภาคที่ 4 เข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมืองปัตตานี ให้ดำเนินคดีกับ 12 บุคคล ประกอบด้วย แกนนำฝ่ายค้านที่รวมถึงนายธนาธรและนักวิชาการ ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 หรือข้อหายุยงปลุกปั่น จากกรณีการจัดเสวนา “พลวัตแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่นับหนึ่งรัฐธรรมนูญใหม่” ที่จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 28 กันยายน ซึ่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบว่าเวทีเสวนามีการพูดคุยนำเสนอข้อมูลในลักษณะบิดเบือนข้อเท็จจริงให้ประชาชนทั่วไปหลงเชื่อ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่อง ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบภายในราชอาณาจักร

แม้ข้อเท็จจริงจะตรวจสอบได้ว่า “การนำเสนอข้อมูลในลักษณะบิดเบือนข้อเท็จจริง” ดังกล่าวนั้น ไม่ได้หลุดมาจากปากของนายธนาธรหรือแกนนำฝ่ายค้าน

แต่เป็น “การแสดงความเห็นส่วนตัว” เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 1 เฉพาะของนางชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 12 คนที่ถูกดำเนินคดี

กระนั้นฝ่ายรัฐโดยเฉพาะ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กลับให้เหตุผลของการแจ้งความแบบเหมารวมในทำนองว่า “ในเมื่อนั่งอยู่ด้วยกัน (หากไม่เห็นด้วย) ก็ต้องคัดค้าน”

ในที่สุดวันที่ 6 ตุลาคม แกนนำฝ่ายค้านจึงตัดสินใจแจ้งความกลับในความผิดฐานแจ้งความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานอันอาจทำให้ประชาชนหรือผู้อื่นเสียหาย

 

ลําพังต่อสู้ใน “สมรภูมิกฎหมาย” ก็เหนื่อยยากพอตัว แต่อย่างน้อยยังมีกระบวนการที่ชัดเจน คัดง้างด้วยพยานหลักฐานที่พิสูจน์ได้ แตกต่างกับ “สมรภูมิความคิด” ที่ “อนาคตใหม่” พาตัวเองมาเป็นคู่ขัดแย้งหลักในการเมืองไทยปัจจุบัน นั่นก็เพราะ “สมรภูมิความคิด” มีรูปแบบวิธีการที่เลื่อนไหลไร้ขนบ ต้องอาศัยช่วงชิงจังหวะเวลาและอารมณ์ร่วมของคนในสังคม

เห็นได้จากเหตุการณ์ล่าสุดที่เขย่าการเมืองไทย คือการบรรยายพิเศษหัวข้อ “แผ่นดินของเราในมุมมองด้านความมั่นคง” ของ “บิ๊กแดง” พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ที่เลือกบรรยายในวันที่ 11 ตุลาคม เพียง 1 วันหลังจากเฟซบุ๊กของเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยเผยแพร่ข้อความที่มีเนื้อหาตอนหนึ่งกล่าวถึง “นักการเมืองไทยบางคน” ว่ามีการติดต่อกับกลุ่มที่คิดจะแบ่งแยกฮ่องกงออกจากประเทศจีน มีท่าทีเชิงสนับสนุน เป็นการกระทำที่ผิดอย่างร้ายแรงและไร้ความรับผิดชอบ

มิต้องลำบากสืบหาว่า “นักการเมืองไทย” คนนั้นคือใคร เพราะในระหว่างบรรยาย “บิ๊กแดง” ได้เฉลยผ่านภาพเงาบุคคลปริศนาที่ถ่ายคู่กับ “โจชัว หว่อง” นักการเมืองเยาวชนชาวฮ่องกง ซึ่งเจ้าของเงานั้นคือนายธนาธร โดย ผบ.ทบ.ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการพบกันเพื่อสมคบคิดอะไรหรือไม่

พร้อมโยนคำถามไปยังนักเรียน นักศึกษาที่ร่วมรับฟังภายในหอประชุมกิตติขจรว่า “ถ้าวันหนึ่งมีคนใช้โซเชียลมาโฆษณาชวนเชื่อ ปั่นสมองให้ออกมาประท้วงแบบฮ่องกง น้องๆ จะออกมาหรือไม่”

ทำให้ในช่วงเย็นของวันเดียวกัน นายธนาธรต้องชี้แจงว่าภาพดังกล่าวเป็นการพบกันครั้งแรกและครั้งเดียวระหว่างเขากับโจชัว โดยทั้งคู่เจอกันในงานเสวนาที่ฮ่องกง และพูดคุยกันเพียง 5 นาทีเท่านั้น

พร้อมยืนยันว่าเขาและพรรคอนาคตใหม่มีภารกิจสร้างประชาธิปไตยและความก้าวหน้าในสังคมไทย โดยไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มการเมืองใดๆ ในฮ่องกง

อีกหนึ่งคีย์เวิร์ดในการบรรยายวันนั้น คือคำว่า “สงครามลูกผสม” ซึ่ง พล.อ.อภิรัชต์ขยายความว่า เป็นการผสมผสานระหว่าง

1. ความคิดของ “พวกอดีตคอมมิวนิสต์ที่หลงผิดเข้าป่า” ปัจจุบันเป็นอาจารย์ นักการเมือง

กับ 2. การใช้เครื่องมืออย่างโซเชียลมีเดียเพื่อสร้างโฆษณาชวนเชื่อให้ประชาชนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่คล้อยตาม

ฟังแค่นี้ไม่จำเป็นต้องศึกษาการเมืองลึกซึ้ง ก็ทราบได้ทันทีว่านี่คือการเล็งตรงไปที่พรรคสามเหลี่ยมสีส้ม

ทำให้ในช่วงสายของวันที่ 12 ตุลาคม เลขาธิการพรรค อนค.ต้องเปิดบรรยายพิเศษโต้กลับในหัวข้อ “แผ่นดินของเราในมุมมองประชาธิปไตย” โดยระบุว่าประเทศไทยไม่ได้เผชิญสงครามลูกผสม

แต่เป็น “ระบอบลูกผสม” ที่มี “การเลือกตั้งเป็นเพียงเครื่องมือของการสืบทอดอำนาจ”

และหาก ผบ.ทบ.ยังมี “ลักษณะลูกผสม” ปากบอกไม่ยุ่งการเมือง แต่ตบเท้าแสดงความเห็นการเมืองได้บ่อยๆ เช่นนี้ ในอนาคตอาจสร้างปัญหาได้

 

ท้ายที่สุด กิริยาและปฏิกิริยาจากขั้วต่างๆ จะเคลื่อนการเมืองไทยไปสู่จุดไหน จะเป็นไปตามความเห็นของนายธีรยุทธ บุญมี ที่ระบุว่าสังคมไทยกำลังกลายจาก “การเมือง” ไปเป็น “ความเมือง” ซึ่งเป็นบรรยากาศของความหวาดระแวง แบ่งแยกพวกเรา-พวกเขาอย่างเบ็ดเสร็จหรือไม่

การตั้งรับและตอบโต้ทางการเมืองของพรรค อนค. นับจากนี้จึงเป็นจังหวะก้าวที่น่าจับตาว่า “พรรคสามเหลี่ยมสีส้ม” จะอยู่รอดในสารบบการเมืองได้หรือไม่