ศัลยา ประชาชาติ : อภิสิทธิ์ประเมินเศรษฐกิจไทย วิพากษ์ประกันรายได้-บัตรคนจน และการเมืองเรื่องน้ำผึ้งหยดเดียว

กว่า 4 เดือน “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หายหน้า-หายตาไปจากข่าวการเมือง

40 ครั้งเป็นอย่างน้อยที่ “อภิสิทธิ์” อยู่ในห้องเล็กเชอร์ให้กับหลายสถาบันวิชาการ-ธุรกิจชั้นนำทั้งใน-ต่างประเทศ

“อภิสิทธิ์” ไม่พลาดที่จะเล็กเชอร์ประเด็นใหม่ๆ ทางเศรษฐกิจ ว่าด้วยเมกะโปรเจ็กต์ และเรียลเซ็กเตอร์

เขาเริ่มต้นด้วยบทวิเคราะห์ความท้าทายเศรษฐกิจไทย-เศรษฐกิจโลกในระยะสั้น-ระยะยาว ว่า มีทั้งความท้าทายเฉพาะหน้า-เชิงโครงสร้าง และเรื่องเฉพาะหน้าที่จะลุกลามเป็นเรื่องเชิงโครงสร้างคือ สงครามการค้า

“แม้คนจะมองว่าการเกิดสงครามการค้าทำให้เราได้ประโยชน์บ้าง แต่คงยากที่จะชดเชยกับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการหดตัวของเศรษฐกิจโดยรวมของโลก เพราะปัจจุบันห่วงโซ่อุปทานเชื่อมโยงกันหมด ไม่สามารถหยิบจากที่หนึ่งไปวางอีกที่หนึ่งได้โดยง่าย”

ภายในสิ้นปีนี้กรณีของเบร็กซิทยังส่งผลกระทบต่อเนื่องทั้งในอียูและอังกฤษเอง และความไม่แน่นอนของสงคราม ไม่ใช่สงครามทางการค้า แต่เป็นสงครามจริงๆ ที่มีความละเอียดอ่อนอยู่หลายๆ จุดในปัจจุบัน

“โดยเฉพาะในตะวันออกกลางและกรณีของทรัมป์เอง ทำให้เกิดความไม่แน่นอนขึ้นรวมถึงจีน เช่น การประท้วงในฮ่องกง ขณะที่เงินบาทแข็งค่า ส่งผลต่อการส่งออกและการท่องเที่ยวค่อนข้างชัด”

 

ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศเอง การบังคับใช้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ต้องล่าช้าออกไปถึงต้นปี 2563 และความคุกรุ่นทางการเมืองที่มีอยู่ตลอดเวลา

ขณะที่เศรษฐกิจเชิงโครงสร้างเป็นเรื่องที่หนักกว่า ทั้งปัญหาการลดลงของอัตราการเจริญเติบโต ซึ่งเกิดจากการสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน หรือผลกระทบที่ยืดเยื้อจากกำลังซื้อกับหนี้สินครัวเรือนเป็นตัวถ่วง สังคมสูงวัยและเรื่องแรงงาน รวมถึงแรงกดดันจากค่าใช้จ่ายจากเรื่องสวัสดิการ สุขภาพ และความเหลื่อมล้ำ

“คนส่วนใหญ่ของประเทศยังมีความรู้สึกว่าความเป็นอยู่ไม่ได้ดีขึ้นมาสักระยะหนึ่งแล้วและหลายพื้นที่อาจจะแย่ลงในรอบหลายปีที่ผ่านมา ยิ่งจะทำให้ภาพรวมตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ไม่ดีอยู่แล้ว ยิ่งไม่สะท้อนขนาดของปัญหาที่แท้จริง”

คนรวยที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์เป็นอย่างมากยังคงไปได้ดี ทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจที่ดีอยู่กับกลุ่มนี้เท่านั้นและนโยบายหลายอย่างของรัฐบาลเองที่ออกแบบมาลงไปไม่ถึงคนที่เดือดร้อน

“บัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่ได้ถูกทำให้เป็นระบบที่จะเป็นสวัสดิการที่เชื่อมโยงกับเรื่องระบบภาษี เช่น ระบบภาษีติดลบ negative income tax ยังถูกมองเป็นโครงการแบบประชานิยมมากกว่า”

“โครงการชิมช้อปใช้ ถูกมองแค่ว่าเป็นส่วนหนึ่งของประชานิยม เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากระตุ้นให้คนใช้จ่ายเป็นครั้งเป็นคราว มากกว่าที่จะทำให้เขารู้สึกว่ากำลังซื้อเพิ่มขึ้นอย่างมั่นคง”

 

“อภิสิทธิ์” ชี้จุดอ่อนของ ครม.พล.อ.ประยุทธ์-รัฐบาลผสมที่มี 3 รองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ที่มาจาก 3 พรรคการเมืองว่า ปัญหาใหญ่ที่สุดในขณะนี้คือ สภาพการทำงานไม่ได้ถูกมองว่าเป็นการทำงานของรัฐบาล แต่เป็นลักษณะรัฐมนตรีแต่ละกระทรวง พรรคแต่ละพรรค ต่างคนต่างทำ

“รัฐบาลไม่สามารถสื่อออกมาได้เลยว่า ทิศทาง วิสัยทัศน์การนำของรัฐบาลนำไปสู่ทิศทางไหนและอย่างไร การตอบโจทย์ปัญหาเฉพาะหน้าออกมาแบบเป็นโครงการชั่วครู่ชั่วยามและหายไป ไม่ได้เป็นคำตอบ”

สำหรับการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่ได้ถูกผลักดันไปสู่นโยบาย 4.0 อย่างแท้จริง รูปแบบการดึงดูดการลงทุน ยังเป็นยุคอุตสาหกรรม ไม่ได้เป็นยุคหลังอุตสาหกรรม

“กฎหมาย ระเบียบล้าสมัย บทบาทราชการ รวมศูนย์อำนาจ กระทบไปถึงคนต่างชาติที่ทำงานอยู่ เช่น กฎหมายตรวจคนเข้าเมือง (ตม.30) ทำให้ศักยภาพในการพลิกเชิงการปรับโครงสร้างไปสู่เศรษฐกิจใหม่เกิดขึ้นได้น้อย”

“บางส่วนก็มีความชอบธรรมในการถูกตั้งคำถาม แต่พอมันสะดุดลง เช่น การประมูลโครงการลงทุน ยิ่งทำให้ไม่เกิดความมั่นใจมากขึ้น”

 

“อภิสิทธิ์” ไม่ได้มองว่าการเปลี่ยนรองนายกรัฐมนตรีคุมเมกะโปรเจ็กต์แสนล้านอาจทำให้การลงทุนต้องสะดุด-นับ 1 ใหม่ แต่เขาแนะนำว่า บางโครงการที่มีปัญหาในขั้นตอนการประมูลต้องเร่งให้เกิดความชัดเจนว่าจะไม่กระทบกระเทือนทิศทางหลักและอยากให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐบาลลดปัญหาอะไรที่ทำให้กระทบกับความเชื่อมั่นในขณะนี้

“ต้องคุยกันให้ชัด ยิ่งเป็นรัฐบาลผสม ยิ่งต้องอาศัยบารมีของผู้นำรัฐบาลเท่าที่ทำได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งไม่ใช่นายกรัฐมนตรียิ่งทำยาก”

“อภิสิทธิ์” พยากรณ์เศรษฐกิจเรียลเซ็กเตอร์ของชาวบ้านในปีหน้าว่า “ความจริงชาวบ้านเดือดร้อนมาสักระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งอาจจะน่ากลัวกว่าการเกิดวิกฤตแรงๆ เพราะเหมือนว่าเศรษฐกิจค่อยๆ ซึม แต่ดิ่งลงไป จมลงไป เพราะไม่มีแผนที่ชัดว่าจะนำเศรษฐกิจไทยออกจากจุดนี้อย่างไร”

“อภิสิทธิ์” ประเมินผลสำเร็จจากโครงการประกันราคาสินค้าเกษตร 1 ในนโยบายหัวหอกของพรรคประชาธิปัตย์-ต้นสังกัดว่า เป็นนโยบายที่จำเป็น อย่างน้อยช่วยกำลังซื้อให้กับเกษตรกร แต่เรื่องปาล์มกับยางพาราเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยทำ คงต้องจับตาดูว่าจะมีอุปสรรคหรือปัญหาใดบ้าง เช่น เรื่องการขึ้นทะเบียนเกษตรกรและเอกสารสิทธิ์

“ลำพังประกันรายได้ไม่พอ ถ้ารัฐบาลไม่เร่งมีมาตรการยกระดับราคาขึ้นมา นอกจากเป็นภาระงบประมาณเองแล้วยังมีปัญหาเรื่องการทุบราคาของตลาดเพื่อผลักภาระไปที่รัฐบาล”

“ผมอยากให้ผนวกนโยบายประกันรายได้กับนโยบายประกันสวัสดิการเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างระบบกึ่งสวัสดิการ กึ่งความมั่นคงของรายได้ให้กับประชากรโดยทั่วไป”

“อภิสิทธิ์” ทิ้งท้ายแง่คิดคมๆ ระหว่างปัจจัยทางเศรษฐกิจกับปัจจัยทางการเมืองต้องเตรียมตั้งรับอะไรก่อน-หลัง?

“ตอบยาก เพราะการเมืองบางเรื่องอาจเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว เกิดการจุดประกาย แต่เศรษฐกิจพอไม่ดี หรือเกิดความเหลื่อมล้ำสูง จะเป็นเหมือนเชื้อที่ติดได้ง่าย และสุมเข้าไปได้ง่าย”