ฉัตรสุมาลย์ : เส้นทาง(อีกยาวไกล)ของภิกษุณีไทย หลังยุคนรินทร์กลึง

เมื่อฉบับที่ 2040 ได้เล่าถึงการเกิดขึ้นของภิกษุณีสงฆ์ไทย ตั้งแต่ พ.ศ.2471 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ในฐานะนักวิชาการ ผู้เขียนโน้ตย่อๆ ไว้ 3-4 เรื่อง ว่าอะไรเป็นอุปสรรคสำคัญ

ถ้าให้พูดกันชัดๆ คุณนรินทร์กลึงนั่นเองที่เป็นอุปสรรคโดยตรงต่อความพยายามที่จะให้เกิดภิกษุณีขึ้นในประเทศไทย

คุณนรินทร์กลึงเปิดศึกหลายด้าน ทั้งกับทางการ ทั้งกับฝ่ายศาสนา และรัฐบาล

ฝ่ายศาสนานั้น คุณนรินทร์กลึงและคณะวิพากษ์วิจารณ์ความย่อหย่อนของวงการคณะสงฆ์

และที่สำคัญเมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจซบเซา คุณนรินทร์กลึงออกปากเป็นลายลักษณ์อักษรว่าสมเด็จพระสังฆราชควรทำตัวเป็นตัวอย่างในการบริจาคทรัพย์ส่วนตนที่ประชาชนถวายกลับคืนสู่สังคม

วิธีการที่คุณนรินทร์กลึงต่อสู้นั้น ต้องเรียกว่าทันสมัยมาก คือ พิมพ์หนังสือทั้งในรูปเล่มและใบปลิว

เราต้องไม่ลืมว่า การพิมพ์เพิ่งเข้ามาแพร่หลายในประเทศไทยในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.4)

จึงต้องเรียกว่า คุณนรินทร์กลึงใช้สื่อทันสมัยล้ำยุค มีการโฆษณาทั้งขาย ทั้งแจก ทั้งแถม

แม้จะเป็นที่ไม่ชอบพอของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แม้กระนั้น ก็ต้องระมัดระวัง เพราะนรินทร์กลึงเป็นคนที่มีความรู้

จนพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.7) เตือนข้าราชการที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับนรินทร์กลึงว่า ให้ระมัดระวังและทำอย่างรอบคอบ เพราะนรินทร์กลึง “หัวหมอ” ในความหมายว่า หมอความ รู้ตัวบทกฎหมาย ประมาณนั้น และให้ระวังว่าจะถูก (นรินทร์กลึง) หัวเราะเยาะเอา

ด้วยบริบทเช่นนี้เอง เมื่อนรินทร์กลึงมาสนับสนุนเรื่องภิกษุณี ผู้ที่ไม่ชอบนรินทร์กลึงอยู่แล้ว ก็หาทางเพ่งเล็งเรื่องภิกษุณี และหาช่องโหว่ที่จะทำลายภิกษุณีไปด้วย

 

ตัวอย่างนี้ เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เมื่อศึกษาประวัติศาสตร์แล้วต้องระมัดระวังอย่าให้มีประเด็นอื่นเข้ามาเป็นเงื่อนไขในการรื้อฟื้นเรื่องภิกษุณี

ตัวภิกษุณีเอง คือ ทั้งคุณสาระและจงดี ไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในเรื่องพระธรรมวินัย ทั้งหมดเป็นการเล่นไปตามบทที่บิดากำกับ

โจทย์ที่ต้องมาแก้ไขในอนาคตก็คือ ภิกษุณีเองต้องมีความรู้ทั้งพระธรรมและพระวินัย

เมื่อโลกก้าวไปข้างหน้า โลกเปิดกว้าง จะจำกัดอยู่กับภาษาไทยอย่างเดียวไม่ได้ การอุปสมบทภิกษุณีเป็นเรื่องที่ต้องรับสายการอุปสมบทมาจากศรีลังกา

ภาษาอังกฤษเป็นเรื่องจำเป็นที่จะสืบทอดการอุปสมบท ผู้แสวงหาการบวชต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้

กับทั้งมีความตระหนักในเรื่องที่จะต้องสื่อกับมวลชนเสมอ

การต่อสู้กับสิ่งที่เป็นวัฒนธรรมที่ฝังรากมาหลายร้อยปี จะต้องยืนหยัดอยู่บนความถูกต้องโดยพระธรรมวินัย

วิธีการรุนแรงดังเช่นที่นรินทร์กลึงทำ การจ้วงจาบกันมิใช่วิถีทางของชาวพุทธ เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง

การใช้ความรุนแรงทางภาษากับคณะสงฆ์ที่ครอบครองอำนาจมายาวนานจะไม่สามารถนำไปสู่ความสำเร็จได้

ความเคารพพระธรรมวินัยเท่านั้น ที่จะนำมาซึ่งชัยชนะระยะยาว

มิใช่ชัยชนะของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่เป็นชัยชนะของพระศาสนา

ฐานกำลังทางพระศาสนา คือพระธรรมวินัย สังคม วิชาการ เศรษฐกิจ ล้วนเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ภิกษุณีสงฆ์มีความเป็นจริงได้มากขึ้นในอนาคต

 

เป็นอันว่า คลื่นลูกแรก คือ สมัยของคุณสาระและจงดี จมหายไปกับฝั่ง

มาพิจารณาคลื่นลูกที่สอง

นั่นคือการออกบวชของคุณครูวรมัย กบิลสิงห์ เมื่อ 2 พฤษภาคม 2499

ข้อมูลหนึ่งที่เรามองข้ามไม่ได้ คือ คุณครูวรมัย กบิลสิงห์ เกิด พ.ศ.2451 ก่อนคุณสาระที่อยู่ในคลื่นลูกที่ 1 อยู่ 1 ปี

ท่านทั้งสองเป็นคนยุคเดียวกัน มีหรือที่คุณครูวรมัยจะไม่ได้ยินเรื่องราวอันแสนจะโด่งดังที่นรินทร์กลึงบวชลูกสาวทั้งสองคนในสมัย 2471

นรินทร์กลึงเรียกสถานที่ที่สร้างให้ภิกษุณีอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดนนทบุรี ว่า วัตร์นารีวงศ์

เมื่อคุณครูวรมัย กบิลสิงห์ ออกบวชครั้งแรก พ.ศ.2499 เรียกที่พำนักของนักบวชสตรีว่า วัตรทรงธรรมกัลยาณี

นี่ไม่น่าจะใช่ความบังเอิญ

พ.ศ.2562 นี้เองที่ผู้เขียนบังเอิญไปเห็นลายมือของพ่อที่เขียนใต้ภาพว่า “วัตร์นารีวงศ์ ๑๑ สค.๒๔๗๒” ภาพหลุดหายไป มีแต่คำอธิบายใต้ภาพเช่นนี้

ตรงนี้เองที่ยืนยันว่า ทั้งพ่อและแม่ของผู้เขียน รู้เรื่องราวของนรินทร์กลึงที่บวชลูกสาวทั้งสองคน และน่าจะเป็นเรื่องที่ท่านลุ้นอยู่ในใจของท่าน ถึงกับว่า ไปเยี่ยมวัตร์นารีวงศ์เอง จนมีภาพถ่ายสถานที่มาด้วย

เมื่อครูวรมัย กบิลสิงห์ ออกบวชใน พ.ศ.2499 นั้น ท่านได้ทิ้งชีวิตทางโลกที่ค่อนข้างมีสีสัน

ครูวรมัยเป็นสตรีไทยคนแรกที่เรียนพละศึกษา และมีฝีมือทั้งยูยิตสู และดาบฝรั่ง พ.ศ.2475 เดินทางด้วยจักรยานสองล้อจากกรุงเทพฯ ไปสิงคโปร์ ใช้เวลา 29 วัน เป็นสถิติที่ยังไม่มีสตรีใดทำลาย

เมื่อนายก่อเกียรติ ษัฏเสน สามีเป็นนักการเมือง ครูวรมัย กบิลสิงห์ ก็ผันตัวเองเป็นนักข่าว รายงานข่าวจากรัฐสภา

ทั้งหมดนี้ เป็นคุณภาพของชีวิตที่จะสร้างฐานสำคัญสำหรับการเริ่มต้นภิกษุณีต่อไปสู่อนาคต

 

ครูวรมัยตอบโจทย์ที่ผู้หญิงที่จะออกบวชต้องมีความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม ท่านเป็นผู้ที่มีความคุ้นเคยกับพระผู้ใหญ่ที่เป็นกรรมการมหาเถรสมาคมแทบทั้งสิ้น

สมเด็จพระวันรัต วัดเบญจมบพิตรฯ เคยแวะเยี่ยมชมกิจการที่วัตรทรงธรรมกัลยาณี พ.ศ.2501 ต่อมาท่านขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 14 เคยเขียนบันทึกไว้ในสมุดเยี่ยมของวัตรทรงธรรมกัลยาณี ว่า “เห็นว่าเรียบร้อยดี”

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยาราม ต่อมาเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 16 ก็เคยแวะมาเยี่ยม และเขียนบันทึกให้กำลังใจ และให้แนวทางในการปฏิบัติไว้อย่างชัดเจน

สำหรับองค์หลังนี้ ก่อนที่ผู้เขียนจะเดินทางไปศึกษาระดับปริญญาตรีที่ประเทศอินเดีย พ.ศ.2505 มารดาได้พาไปกราบขอพร ท่านถามผู้เขียนว่า “สิงห์เหมือนแม่รึเปล่า”

ผู้เขียนไปไม่เป็น ด้วยความเป็นเด็ก ไม่ได้ตอบท่าน ได้แต่พนมมือรับฟัง

ถ้าถามตอนนี้ ก็คงตอบได้ว่า “เจ้าค่ะ”

 

ย้อนไป พ.ศ.2499 เมื่อบิดาของข้าพเจ้าเห็นมารดาบวชครั้งแรก ท่านก้มลงกราบ และว่า “พุทธบริษัท 4 ครบแล้ว”

มาถึงตรงนี้ ก็สามารถเชื่อมโยงได้ว่า ความคิดเรื่องพุทธบริษัท 4 นี้ นรินทร์กลึงเป็นคนหว่านเมล็ดพืชแห่งความสำคัญไว้นั่นเอง

พระผู้ใหญ่ที่มีความสำคัญมากในการบวชของครูวรมัย กบิลสิงห์ คือ ท่านเจ้าคุณพรหมมุนี (ผิน สุวโจ) รองเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร

ท่านให้ศีลแก่มารดาของผู้เขียน วันที่ 2 พฤษภาคม 2499 มารดาของผู้เขียนครองผ้าขาวเหมือนแม่ชีทั่วไป แต่ได้นำผ้าสีเหลืองดอกบวบไปให้ท่านพิจารณา และเรียนท่านว่า จะใส่สีนั้น ท่านก็มิได้ว่ากระไร

ผู้เขียนถามมารดาว่า ทำไมไม่ใส่สีเหลืองดอกบวบไปเลย ท่านอธิบายว่า หากมีคนโจมตีพระอาจารย์ของท่าน พระอาจารย์ของท่านจะพูดได้เต็มปากว่า ตอนที่ให้ศีลนั้น มารดาผู้เขียนนุ่งขาว

นี้เป็นวิธีการที่ท่านจะปกป้องอาจารย์ของท่านไว้ล่วงหน้า

 

แต่ในที่สุดก็เป็นเรื่องจนได้ เมื่อมีผู้ฟ้องไปทางจังหวัดว่า มารดาของผู้เขียนใส่สีเลียนแบบพระภิกษุให้มหาเถรสมาคมพิจารณาว่าเป็นการเสื่อมเสียต่อพระศาสนาหรือไม่

เมื่อเรื่องขึ้นมาถึงกรรมการมหาเถรสมาคม ท่านเจ้าคุณพรหมมุนี (ผู้บวชให้ครูวรมัย) และเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมด้วย ถามที่ประชุมเบาๆ ว่า “สีนั้น (หมายถึงสีเหลืองดอกบวบ) พวกเราใส่ได้ไหม?” กรรมการทุกรูปพูดตรงกันว่า “ไม่ได้”

อธิบายเพิ่มนิดนะคะ สีเหลืองที่พระใส่ได้ต้องเจือแดง จะเป็นเหลืองล้วนๆ ใช้ไม่ได้

เมื่อกรรมการทุกท่านเห็นพ้องกันว่า พระใส่ไม่ได้ ท่านเจ้าคุณพรหมมุนี ท่านถามต่อไปว่า “แล้วเราจะหวงไว้ทำไม”

ในที่สุดที่ประชุมเห็นว่า “ไม่เป็นการเสียหายต่อคณะสงฆ์”

จบเรื่องตอนนั้น

ครูวรมัยรับศีลเช่นนี้ต่อมานาน 15 ปี และถือสังกัดอยู่กับท่านเจ้าคุณพรหมมุนี วัดบวรนิเวศฯ จนท่านปลงสังขาร

ยังไม่ได้เป็นภิกษุณีเลยค่ะ