ต่างประเทศอินโดจีน : ผู้หญิงแกร่งที่เวียดนาม

Hanoi Girls Scooter Helmet Three Vietnam Mask

รายงานชิ้นใหม่จากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) แสดงให้เห็นว่า ในบรรดา 10 ชาติอาเซียนด้วยกัน เวียดนามเป็นชาติที่มีผู้หญิงทำงานเต็มเวลาอยู่ในอัตราส่วนสูงสุด

สัดส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 48.5 เปอร์เซ็นต์ คือเกือบครึ่งหนึ่งของแรงงานสตรีทั้งหมดของประเทศ ถัดมาคือลาว 46.5 เปอร์เซ็นต์ ต่อด้วยไทย 45.6 เปอร์เซ็นต์ สิงคโปร์ 45.5 เปอร์เซ็นต์

ประเด็นที่น่าสนใจสำหรับเวียดนามก็คือ สัดส่วนดังกล่าว “คงที่” ในช่วงหลายปีหลังมานี้

 

การจำกัดคุณลักษณะทางเพศในสังคม เมื่อถูกเสริมด้วยความลำเอียงที่ปรากฏในกฎเกณฑ์ข้อบังคับต่างๆ และสำทับด้วยขนบประเพณีที่เป็นแบบฉบับ คืออุปสรรคสำคัญสำหรับผู้หญิงในเวียดนาม

เช่นเดียวกับในหลายประเทศอาเซียน ผู้ชายยังคงเป็นผู้ทำมาหาเงินสำหรับเลี้ยงครอบครัว ผู้หญิงถูกจำกัดบทบาทอยู่แค่การเลี้ยงดูลูกและทำงานบ้าน

รัฐบาลบัญญัติกฎหมาย ตรากฎข้อบังคับเพื่อส่งเสริมสถานะสตรีในสังคมไว้ก็จริง แต่กลับไม่มีการบังคับใช้ เมื่อมีบริษัทธุรกิจซึ่งมีพฤติกรรมว่าจ้างที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้หญิงก็ไม่มีการลงโทษตามบทบัญญัติแต่อย่างใด

ในเวลาเดียวกันโครงการสนับสนุนจากภาครัฐก็ไม่มีให้เห็น ผลก็คือ อคติทางเพศที่ปลูกฝังกันมาจนเป็นขนบประเพณีกลายเป็นเครื่องกีดขวางสำคัญไม่ให้ผู้หญิงเวียดนามไต่บันไดทางการเมืองจนสามารถเป็นปากเป็นเสียงให้เกิดนโยบายที่มองการณ์ไกลขึ้นมาได้

ผู้หญิงเวียดนามถูกผลัก ถูกกีดกัน กดดันให้ใช้เวลาต่อวันไปกับการทำงานเลี้ยงดูลูก ดูแลความสะดวกสบายในครัวเรือนให้กับผู้ชาย อันเป็นงานที่ไม่มีค่าตอบแทนใดๆ เท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ผู้สังเกตการณ์จึงคาดหมายได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า การเป็นผู้นำในการจ้างงานสตรีของเวียดนามในกลุ่มชาติอาเซียนไม่น่าจะดำรงอยู่ได้เนิ่นนานนัก

ในทางตรงกันข้าม การที่สตรีวัยทำงานในเวียดนามมีงานทำเต็มเวลาเป็นสัดส่วนสูงที่สุดในหมู่ชาติอาเซียนด้วย แสดงให้เห็นถึงการดิ้นรนต่อสู้ ที่สะท้อนถึงจิตวิญญาณของการเป็นผู้ประกอบการที่แข็งแกร่งของผู้หญิงในประเทศนี้

ไม่เช่นนั้นตัวเลขนี้จะไม่ปรากฏออกมาให้เห็นเป็นอันขาด

 

ในการสำรวจล่าสุดเช่นกัน สัดส่วนการเป็นเจ้าของกิจการเองในเวียดนามเปรียบเทียบระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย สะท้อนข้อเท็จจริงเรื่องนี้ออกมาอย่างชัดแจ้ง

เวียดนามเป็นประเทศที่มีผู้หญิงเป็นเจ้าของกิจการเองมากกว่าผู้ชายอยู่ที่อัตรา 1.14 ต่อ 1 คน

แม้ว่าจะเป็นแม่คน ผู้ประกอบการสตรีที่มีบุตรเหล่านี้ก็ยังสามารถยืดหยุ่นเวลาทำงาน หรือจัดสรรปันส่วนเวลางานกับการเลี้ยงดูลูกและการทำหน้าที่แม่บ้านที่เป็น “พันธะ” ซึ่งถูกคาดหวังได้เป็นอย่างดี

จุดอ่อนของผู้เป็นเจ้าของกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมเองด้วยการดิ้นรนต่อสู้เหล่านี้มีมากมาย

รายงานการสำรวจเชิงวิชาการ จัดทำโดย องค์การความคิดริเริ่มทางธุรกิจลุ่มน้ำโขง (เอ็มบีไอ) ไล่เรียงเอาไว้ชัดเจนว่า มีตั้งแต่การขาดองค์ความรู้ทางการเงิน, การขาดแหล่งสินเชื่อ, มักไม่ค่อยได้รับโอกาสให้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการส่งเสริมการค้าของภาครัฐ, ไม่ได้รับโอกาสในการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจเท่าที่ควร

สิ่งเหล่านี้ในเวลานี้ยังคงเป็นปัญหาที่จำกัดอยู่เฉพาะผู้หญิงแกร่ง ขยันขันแข็ง ที่ดิ้นรนทำมาหากินเพื่อสร้างโอกาสให้ตัวเองอยู่ในเวียดนามในเวลานี้

แต่อีกไม่ช้าไม่นาน ปัญหาเหล่านี้จะกลายเป็นปัญหาของประเทศ เมื่อการเมินเฉยต่อแรงงานสตรี ที่นับวันยิ่งกลายเป็นภาคแรงงานที่ทวีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของแต่ละชาติมากขึ้นเรื่อยๆ

งานวิจัยของแม็กคินซีย์ บริษัทที่ปรึกษาชื่อดัง สำรวจสถานะของแรงงานสตรีในชาติสมาชิกอาเซียนทุกชาติ ยกเว้นบรูไนและกัมพูชา แล้วประเมินเอาไว้ว่า

ถ้าหลอมรวมแรงงานสตรีเข้าไว้ในระบบการจ้างงานทั้งหมดเต็มที่ ชาติอาเซียนจะได้รับประโยชน์จากการนี้เพิ่มขึ้นเป็นมูลค่าสูงถึง 381,000 ล้านดอลลาร์

ตัวเลขที่มองข้ามไม่ได้เลยทีเดียว