หลังเลนส์ในดงลึก / ปริญญากร วรวรรณ / ‘เสือหนุ่มกับภูเขา’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
ลูกเสือโคร่ง - ช่วงเวลาอันดีที่สุดของพวกมัน คือ ช่วงที่ยังอยู่กับการดูแลของแม่...

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘เสือหนุ่มกับภูเขา’

 

ปลายฤดูฝน

บนสันเขาในผืนป่าเบญจพรรณ ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเล 450 เมตร

ผมก้าวเท้าขึ้นสันเขา พร้อมกับอาการเหนื่อยหอบ เหงื่อชุ่มใบหน้า

“นี่ให้คนแก่มาตามเสือหนุ่มซะแล้วนะครับ” ถาวร ผู้ชายร่างผอมเกร็ง ผู้ช่วยนักวิจัย พูดพลางหัวเราะ

ผมหัวเราะเห็นด้วยกับเขา

เช้าวันนั้น เราเริ่มเดินตั้งแต่ 7 โมงเช้า ตำแหน่งของเสือโคร่งที่เราต้องเข้าไปดู ห่างจากจุดที่เริ่มเดินราว 8 กิโลเมตร

8 กิโลเมตรในแผนที่ ซึ่งมีเส้นบอกสันเขาและหุบห้วยยิบๆ นั่น ทำให้รู้ว่าระยะทางซึ่งต้องเดินอาจเพิ่มอีกกว่าเท่าตัว

เสืออยู่ตรงนั้นมาร่วมสัปดาห์ โดยปกติเมื่อนักวิจัยพบเช่นนี้ ส่วนใหญ่หมายถึงเสือล่าเหยื่อได้ และใช้เวลากินซากอยู่ที่นั่น

แต่ครั้งนี้ข้อมูลแสดงว่าเสือไม่เคลื่อนที่เลย

เราจึงรีบเข้าไปเพื่อตรวจสอบ

เสือโคร่งตัวนี้เป็นตัวผู้ อายุราว 18 เดือน มันเพิ่งแยกตัวจากแม่ไม่นาน

เป็นไปได้ว่า มันอาจถูกเล่นงานจากเจ้าถิ่น

เสือซึ่งยังไม่มีประสบการณ์มาก เพิ่งออกจากการดูแลของแม่ หลีกเลี่ยงการพบกับความก้าวร้าวจากเสือเจ้าถิ่นผู้ครอบครองอาณาเขตที่มันเข้าไปไม่พ้น

นักวิจัยพบว่า มีเสือหนุ่มๆ ต้องบาดเจ็บ หรือถึงขั้นเสียชีวิตจากกรณีนี้

เสือหนุ่มจึงเลือกที่จะเดินไปตามพื้นที่อันเป็นสันเขา หลีกเลี่ยงพื้นที่ราบ ซึ่งเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ มีเจ้าถิ่น

เป็นเสือหนุ่ม ดูเหมือนว่าหนทางเดินไม่ง่ายดาย

 

ผมปลดเป้ลงจากหลัง ทรุดตัวลงนั่ง หลังพิงต้นไม้ ถาวรนั่งเยื้องไปทางขวา

ฝูงยุงเข้ารุมตอม ถาวรมวนยาเส้นพ่นควันโขมง ช่วยไล่ยุงได้บ้าง

ต่ำลงไป ไม่ไกลจากด่านที่เราเดิน ถาวรพบเศษชิ้นส่วนกวาง ซึ่งคงถูกฆ่ามา 4-5 วันแล้ว

นอกจากนั้น ถาวรยังรับสัญญาณวิทยุจากเครื่องส่งที่อยู่กับปลอกคอที่เสือสวมอยู่

“เดินอยู่ครับ” ถาวรพูดน้ำเสียงดีใจ

นั่นหมายความว่า เสือหนุ่มตัวนี้ปลอดภัย และล่าเหยื่อได้

เสือผ่านบททดสอบบทแรกๆ ไปได้

แต่กว่าจะถึงวันที่มันเข้มแข็ง แกร่งพอที่จะเบียดเจ้าถิ่นเดิม เพื่อครอบครองพื้นที่ มีอาณาเขตของตัวเองได้

หนทางของมันยังอีกยาวไกล

 

“งานยังไม่เสร็จนะครับ” ถาวรลุกขึ้นยืน ยกเป้ขึ้นสะพายหลัง

“มีตำแหน่งที่ต้องขึ้นไปตรวจสอบอีก ไม่ไกลครับ จากนี่แค่ 400 เมตร” ถาวรล้วงแผนที่ในเป้ออกมาตรวจสอบกับจีพีเอส

“บนโน้น” เขาชี้มือขึ้นไปที่สันเขาลาดชันราว 45 องศา

แหงนหน้ามองสันเขาที่กำลังจะไป ถาวรเดินนำไปแล้ว ผมก้าวเท้าตาม

จุดหมายเบื้องหน้าไม่มีใครช่วยให้ไปถึงได้ นอกจากสองเท้า

ทุกครั้งที่เดินอยู่ในป่า ผมนึกถึงความจริงนี้เสมอ

 

บนสันเขาอากาศสดชื่น ลมพัดแรง ยอดต้นเต็ง ต้นรัง เอนลู่

ถาวรเดินสำรวจรอบๆ ไม่พบซากเหยื่อ แต่พบร่องรอยการนอนของเสือ ถาวรเก็บเศษขนใส่ถุง

ด่านบนสันเขามีรอยตีนกระทิงฝูง เดินมุ่งหน้าไปทางทิศใต้

มีรอยตีนกระทิงรุ่นๆ อยู่ในฝูงด้วย นี่คงเป็นเป้าหมายของเสือหนุ่มตัวนี้

มันใช้เวลาซุ่มรอบริเวณนี้หลายวัน

กระทิงรุ่นๆ ยังไม่โตเต็มวัยนั้น เสือหนุ่มมีโอกาส ส่วนกระทิงที่เติบโตเต็มวัยแล้ว ยังเป็นงานที่ยากเกินไป

จากร่องรอยการซุ่มรอที่นี่ ไม่ประสบผล มันจึงลงต่ำไปด้านล่าง ไม่ไกลจากลำห้วยสายเล็กๆ และล่ากวางได้

ซากกวางที่เราพบ กระจัดกระจาย มีรอยตีนหมีควายและหมูป่าเข้ามาร่วมวงด้วย

หมีควายและหมูป่า กินทั้งพืชและสัตว์ พวกมันเข้ามาจัดการกับซากที่เสือล่าได้

“เจ้าพวกนั้นไม่เกรงใจเจ้าของซากเลยนะครับ” ถาวรพูดเบาๆ ตอนสำรวจร่องรอย

หมีควายและหมูป่าสูงวัยพอที่จะรู้ว่า เสือหนุ่มคงต้องใช้เวลาอีกสักระยะ จึงจะน่าเกรงขามกว่านี้…

 

วิถีชีวิตของเสือหนุ่มกับเสือสูงวัย คล้ายจะไม่แตกต่างกัน

เริ่มต้นจากต้องอยู่ในพื้นที่กันดาร ไม่อุดมสมบูรณ์ หลีกเลี่ยงการปะทะกับเสือเจ้าถิ่นที่แกร่ง รวมทั้งมีประสบการณ์มากกว่า

อาจต้องใช้เวลาบ่มเพาะ กระทั่งแกร่งพอถึง 2 ปี จึงพร้อมจะเบียดเจ้าถิ่นออกไป และครอบครองพื้นที่แทนได้

ช่วงเวลานี้ไม่นานหรอก

เวลาที่จะครอบครองพื้นที่อุดมสมบูรณ์

เมื่อพละกำลังเริ่มโรยรา มันย่อมถูกเบียดออกไปโดยเสือหนุ่มซึ่งแกร่งพอแล้ว

ต้องกลับไปอยู่ในพื้นที่กันดารอีกครั้ง

คราวนี้ในสถานภาพของเสือชรา

สำหรับเสือ พวกมันรู้ดีว่า นี่คือวิถีซึ่งต้องเผชิญ

 

15.30 นาฬิกา

ท้องฟ้าครึ้ม สายฝนเริ่มปรอย ผมก้าวเท้าลงจากสันเขา เหลือระยะทางอีกไกลกว่าจะถึงแคมป์

เส้นทางลงลื่นไถล แม้จะมีรอยกระทิงย่ำไว้เป็นหลุม

มีเสือหนุ่ม ย่อมมีเสือชรา

นี่คล้ายเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องยอมรับ ไม่ว่าจะเป็นชีวิตซึ่งอยู่ในภาพใด

 

ว่ากันว่า เราทุกคนมี “ภูเขา” ของตัวเอง

ยิ่งเราสร้างภูเขาของเรา “สูง” มากเท่าไหร่

ยิ่งมีความยากอย่างมากในตอนลงจากสันเขา…