ทราย เจริญปุระ : หนังสือที่เปลี่ยนชีวิต

บทสนทนาหนึ่งเมื่อวันก่อน ทำให้ย้อนคิดถึงตัวเอง

“หนังสืออะไรที่เปลี่ยนชีวิต”

คำตอบฉันยังเป็นคำตอบเดิมไม่เคยเปลี่ยนแปลง

แต่คำถามที่ตามมากลับทำให้ต้องทบทวนอีกครั้ง

“ถ้ามาอ่านตอนนี้ จะมีความรู้สึกอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง”

 

ฉันค่อนข้างกลัวอะไรที่ดูดีสะอาดสะอ้านบริสุทธิ์ผุดผ่องมากๆ เพราะนอกจากความรู้สึกว่าตัวฉันจะไปทำให้เขาแปดเปื้อนแล้ว การที่ใคร หรืออะไรจะสามารถประกาศต่อโลกได้อย่างมั่นใจว่า “ดี” ว่า “ถูกต้อง” นั้น ต้องใช้ความละเอียดในการสำรวจตัวเองเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งฉันไม่มีวันกล้าถามหรอกว่า การประกาศว่าตัวเองดีและสมควรแก่ลำดับชั้นที่เหนือกว่าของผู้คนนั้น มันประกอบขึ้นมาจากความมั่นใจแบบไหน เราต่างก็รู้ดีว่าเราเติบโตมาแบบผสมผสาน มีทั้งสอนให้ทำดีและมีตัวอย่างแย่ๆ ให้ได้เห็นหรือลองทำตาม

ดังนั้น จึงออกจะไม่สบายใจอย่างน่าประหลาด กับการตัดสินถูกผิดหรือชี้หน้าพิพากษาใคร ลำพังบอกว่าตัวเองดีนั้นก็เรื่องหนึ่ง แต่การบอกว่าตัวเอง “ดีกว่า” นั่นหมายความว่าต้องมีคนที่ “แย่กว่า”

ซึ่งฉันคิดเสมอว่า คนที่คลั่งไคล้ในสิ่งที่เรียกว่า “ความดี” ในบางมาตรฐาน บางพื้นที่ มันช่างดูน่าขนลุก

 

โจ คอฟลิน เป็นลูกชายนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ที่ตัดสินใจเลือกเส้นทางต่างจากพ่อโดยสิ้นเชิง เขาเลือกที่จะเป็นผู้อยู่นอกกฎหมาย ใช้ชีวิตภายใต้เงามืดและช่องว่างของศีลธรรม

ในยุคที่อเมริกาห้ามซื้อขายเหล้า และการแบ่งแยกสีผิวยังคงรุนแรงอย่างยิ่ง โจตั้งตัวและร่วมมือกับผู้มีอิทธิพลเพื่อค้าเหล้าเถื่อนอย่างเป็นล่ำเป็นสัน

เขาใช้ชีวิตตามกติกาของเขาเอง

“นี่คือช่วงที่วิกฤตการเงินทั่วโลกแย่ลงเรื่อยๆ คลื่นกระแทกแต่ละครั้งตามติดด้วยคลื่นลูกใหญ่กว่า วันแล้ววันเล่า เดือนแล้วเดือนเล่า ผู้คนต้องการงาน พวกเขาก็ต้องการที่อยู่อาศัย และพวกเขาก็ต้องการความหวัง

เมื่อไม่มีสิ่งใดปรากฏให้เห็น พวกเขาก็แก้ปัญหาด้วยการดื่ม

เขาตระหนักว่าภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทำอะไรอบายมุขไม่ได้”*

หนังสือที่เปลี่ยนชีวิตฉันในทันทีที่ได้อ่านคือ “คำพิพากษา” ของ ชาติ กอบจิตติ

สำหรับเด็ก 7 ขวบ การได้รู้ว่าผู้ใหญ่นั้นไม่ได้ดีทุกคน และคนคนหนึ่งจะมีชีวิตที่ตกต่ำจากเสียงกระซิบกระซาบเล่าลือทั้งที่ตัวเองไม่ได้ทำนั้นเป็นเรื่องแปลกใหม่อย่างยิ่ง และค้านกับการได้รับการสั่งสอนว่าถ้าไม่ได้ทำผิด–อย่าไปกลัว

แล้วในนวนิยายนั่นคืออะไร ชะตากรรมที่โบยตีไอ้ฟักไม่ต่างจากหมาจรจัดตัวหนึ่งทำเอาฉันตกใจ โลกอันสะอาดสะอ้านในรั้วโรงเรียนหญิงล้วนของฉันถูกสั่นคลอน

ในวันนั้นและวัยนั้น ฉันยังคงมองโลกเป็นสีดำกับขาว แต่พอ 30 ปีผ่านไป, พื้นที่สีเทาในชีวิตของฉันก็มากขึ้น กับบางเรื่องฉันก็เป็นไอ้ฟัก บางคราวฉันก็ตัดสินใจแบบครูใหญ่

และในหลายๆ จังหวะของชีวิต, ฉันก็อยากกลายเป็นสมทรง

 

ในหนังสือ Live by Night มีทั้งเรื่องของสมาคม KKK (กลุ่มชนผิวขาวหัวรุนแรง) แล้วก็เรื่องของคนที่ผ่านความตกต่ำของชีวิต จนกลับมาฝักใฝ่ในศาสนามากๆ มากจนรู้สึกว่าสิ่งที่ตัวเองทำถูกพิสูจน์แล้วโดยพระเจ้าหรืออะไรก็ตามที่เค้าเชื่อ

ซึ่งเมื่อคนอ่านอย่างฉัน ที่ลอยตัวอยู่เหนือหน้ากระดาษที่บรรยายชีวิตของพวกเขามองลงไป มันเหมือนได้เห็นคนที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของยากล่อมประสาทที่เรียกว่าความดีและความถูกต้องตลอดเวลา

และทั้งที่มันควรจะดี ฉันกลับรู้สึกว่ามันน่ากลัว

“สิ่งที่ฉันเรียนรู้ก็คือ ความรุนแรงออกลูกออกหลาน และลูกๆ ที่ความรุนแรงของแกผลิต ก็จะย้อนกลับมาหาแกในรูปแบบที่โหดเหี้ยมไร้เหตุผล แกจะจำไม่ได้ว่าพวกนั้นเป็นลูกของแก แต่พวกนั้นจะจำแกได้ พวกนั้นจะหมายหัวแกว่าสมควรได้รับการลงโทษ”*

ถ้าจะมีอะไรเปลี่ยนไปในวัยนี้หากฉันได้กลับมาอ่านคำพิพากษาอีกรอบก็คงเป็นเรื่องของการตัดสินคน

มนุษย์ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อยืนอยู่ในสีดำหรือขาวเพียงอย่างเดียว ยิ่งนานวัน พื้นที่สีเทาในชีวิตของฉันก็กว้างมากขึ้นเรื่อยๆ แม้จะรู้ว่าผู้ที่ใช้เวลาจ้องมองเข้าไปในความสลัวเลือนของสีเทานั้น สักวันหนึ่ง, ก็จะพบตนเองยืนอยู่ในดินแดนแห่งความอึมครึมนั้นเช่นกัน

แต่จะให้ทำอย่างไรได้เล่า การมีชีวิตอยู่เนิ่นนานพอก็เพื่อให้เราเข้าใจความหลากหลายของมนุษย์เช่นนี้มิใช่หรือ

“บุรุษรัตติกาล” (Live By Night) เขียนโดย เดนนิส เลอเฮน แปลโดย อนุตรา มหาเดชน์ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 โดยแพรวสำนักพิมพ์ มกราคม, 2560

*ข้อความจากในหนังสือ