การศึกษา / ‘ควบรวม ร.ร.เล็ก’ หมื่นโรง… ‘ยกคุณภาพ-ประหยัดงบฯ’ จริงหรือ??

การศึกษา

 

‘ควบรวม ร.ร.เล็ก’ หมื่นโรง…

‘ยกคุณภาพ-ประหยัดงบฯ’ จริงหรือ??

 

ผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปอย่างเงียบๆ เมื่อที่ประชุม ครม.วันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พิจารณาดำเนินการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กที่มีระยะทางห่างจากโรงเรียนในสังกัด สพฐ.ในตำบลเดียวกันน้อยกว่า 6 กิโลเมตร ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาให้เพิ่มสูงขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอน และลดภาระค่าใช้จ่ายงบประมาณด้านบุคลากร และการบริหารจัดการลง

โดยไม่มีสัญญาณมาก่อนหน้านี้ ว่ากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะเสนอเรื่องการ “ควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก” เข้าที่ประชุม ครม.

เพราะในยุคที่ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ เป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ก็มีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดหลายครั้งหลายครา ซึ่งก็มีทั้งกลุ่มที่สนับสนุนและคัดค้าน

แต่สุดท้ายเรื่องก็ถูกเก็บเข้าลิ้นชักไป

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2561 สพฐ.ได้ตัดสินใจยุบโรงเรียนขนาดเล็กกว่า 100 โรง เนื่องจากไม่มีนักเรียนเข้าเรียน จากโรงเรียนกว่า 3 หมื่นโรงที่สังกัด สพฐ. ในจำนวนนี้มีโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนน้อยกว่า 120 คน ประมาณ 1.5 หมื่นโรง และมีนักเรียนน้อยกว่า 40 คน ประมาณ 1 พันโรง

นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ระบุว่า ที่ ครม.เห็นชอบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ใกล้เคียงในตำบลเดียวกันน้อยกว่า 6 กิโลเมตร โดยให้มีจำนวนนักเรียนไม่น้อยกว่า 250 คน ยกเว้นโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่พิเศษ เสี่ยงภัย ทุรกันดาร ชนกลุ่มน้อย เกาะ ภูเขา และพื้นที่ชายแดน

การดำเนินการดังกล่าว จะเน้นคุณภาพผู้เรียนเป็นสำคัญ โดย สพฐ.มีแนวทางในการดำเนินการเบื้องต้นอยู่แล้ว แต่ขอดูรายละเอียด ศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับชุมชน ขณะเดียวกันโรงเรียนที่จะย้ายไปควบรวมต้องมีศักยภาพ ควบรวมแล้วสามารถบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพได้

ซึ่งขณะนี้มีโรงเรียนที่อยู่ใน “กลุ่มเป้าหมาย” ที่ต้องควบรวมประมาณกว่า 1 หมื่นโรง

โดยจะต้องหารือกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) เพื่อดูความเหมาะสม และจัดทำรายละเอียด ว่าระยะแรกจะเริ่มดำเนินการอย่างไร และจำนวนเท่าไร!!

 

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ ศธ.เสนอเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุม ครม.ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้มีฝ่ายที่สนับสนุน แต่ขณะเดียวกันก็มีผู้คัดค้านการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กจำนวนมาก เพราะมองว่ายังมีความจำเป็นในพื้นที่ห่างไกล

อาจมาจากคุณภาพการศึกษาที่ถดถอยลง ในขณะที่รัฐทุ่มเทงบประมาณเพื่อพัฒนาการศึกษาจำนวนมหาศาล

จากข้อมูลที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ได้มอบให้ธนาคารโลกประจำประเทศไทย เอเชียตะวันออก และแปซิฟิก (The World Bank) ในฐานะที่ปรึกษาโครงการเพื่อดำเนินโครงการทบทวนรายจ่ายด้านการศึกษา ไปศึกษาแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพของการศึกษาขั้นพื้นฐาน และลดการสิ้นเปลืองของงบประมาณ ได้สรุปข้อมูลสำคัญๆ เกี่ยวกับโรงเรียนขนาดเล็ก อาทิ

ความไร้ประสิทธิภาพในการใช้จ่ายด้านการศึกษาของไทย เกิดในโรงเรียนขนาดเล็กระดับประถม ที่มีห้องเรียนขนาดเล็กจำนวนมาก มีสัดส่วนนักเรียนต่อครู 17:1 แต่การบริหารจัดการด้านการศึกษาของประเทศ ทั้งครู และทรัพยากร กลับไม่เพียงพอ

หรือโรงเรียนขนาดเล็กเป็นสาเหตุของคุณภาพการศึกษาที่ถดถอย สัดส่วนโรงเรียนประถมที่มีนักเรียนน้อยกว่า 50 คน เพิ่มสูงขึ้นจาก 17.4% เป็น 23.7% ขณะที่โรงเรียนประถมของไทยมีขนาดห้องเรียนที่เล็กที่สุด เมื่อเทียบกับ 39 ประเทศในโลก เป็นสาเหตุของความถดถอยของคุณภาพ เพราะมีต้นทุนสูงในการบริหารจัดการ รับจัดสรรทรัพยากรไม่เพียงพอ และนักเรียนด้อยโอกาสส่วนใหญ่อยู่ในโรงเรียนขนาดเล็ก

โดยธนาคารโลกยังได้เสนอแนวทางแก้ปัญหา คือ สพฐ.ควรควบรวมโรงเรียนตามแผน และนโยบายที่กำหนด ให้ลดจาก 30,506 โรง เหลือ 17,766 โรง จาก 344,009 ห้อง เหลือ 259,561 ห้อง ขนาดห้องเรียนเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นจาก 14 คน เป็น 24 คน ในระดับประถม ทำให้ใช้อุปกรณ์การเรียนได้เหมาะสม และคุ้มค่า

นอกจากนี้ จะเพิ่มสมรรถนะการเรียนรู้ของนักเรียน และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการบุคลากร เพราะครูจะลดลง จาก 475,717 คน เหลือ 373,620 คน เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการศึกษาได้อย่างมหาศาล ช่วยรัฐประหยัดทรัพยากรที่ส่วนใหญ่เกิดจากการลดโรงเรียนประถมจาก 20,990 แห่ง เหลือ 8,382 แห่ง ช่วยลดภาระงบฯ มากถึง 49,000 ล้านบาทต่อปี

จะช่วยส่งเสริมคุณภาพการศึกษา แก้ปัญหาการขาดแคลนครูอย่างมีประสิทธิภาพ และยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ การควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ต้องได้รับการยอมรับในพื้นที่ โดยการควบรวม หรือลดจำนวนโรงเรียนขนาดเล็กในสังกัด สพฐ.เป็นเป้าหมายสำคัญที่สุดข้อหนึ่งในการปฏิรูปการศึกษาด้านประสิทธิภาพให้คุ้มค่ากับการลงทุน

ซึ่งในช่วงนั้น นพ.ธีระเกียรติระบุว่า ข้อมูลของธนาคารโลก เป็นข้อมูลเก่า และผิด แต่ก็มีส่วนที่ถูกบ้าง!!

 

หลัง ครม.มีมติดังกล่าว มีความเห็นจากนักวิชาการ อย่าง น.ท.สุมิตร สุวรรณ รองคณบดีคณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ระบุว่า ส่วนตัวเห็นด้วย แต่ต้องทำแบบมีขั้นตอน ไม่ทำให้ผู้ปกครอง ชุมชน ผู้อำนวยการโรงเรียน และครู เดือดร้อนเรื่องของการเดินทาง และตำแหน่ง โดยเรื่องการเดินทางของนักเรียน อาจมอบให้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จัดรถรับ-ส่ง ส่วนตำแหน่งผู้อำนวยการ ให้เลือกย้ายไปประจำในโรงเรียนที่มีผู้อำนวยการเกษียณอายุราชการ

ที่สำคัญ เมื่อควบรวมแล้ว ต้องไม่ปล่อยให้โรงเรียนอยู่ในสภาพแบบเดิมๆ หากโรงเรียนยังขาดแคลนครู จะไม่สามารถยกระดับคุณภาพการศึกษาขึ้นมาได้

นอกจากนี้ น.ท.สุมิตรยังเสนอให้มีเจ้าหน้าที่ธุรการในทุกโรงเรียน เพื่อรับผิดชอบงานเอกสาร การเงิน และพัสดุแทนครู เพื่อให้ครูมีเวลาสอนนักเรียนอย่างเต็มที่ รวมทั้งจัดสรรงบฯ ให้เพียงพอ

ขณะที่โรงเรียนที่ถูกควบรวม อาจมอบให้ อบต.หรือสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เข้ามาดูแลรับผิดชอบแทน โดยอาจเปลี่ยนวัตถุประสงค์ไปเป็นโรงเรียนผู้สูงอายุ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน การฝึกอบรมอาชีพ การออกกำลังกาย หรือการทำกิจกรรมต่างๆ ของคนในชุมชนแทนการสอนนักเรียน เพราะในปัจจุบันเด็กเกิดน้อยลง แต่มีผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้น

อีกทั้งจะทำให้คนในชุมชนไม่เกิดความรู้สึกว่าโรงเรียนของตนหายไปจากชุมชน

ขณะที่ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า ส่วนตัวค่อนข้างไม่เห็นด้วย เพราะยังไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ดี เป็นการควบรวมในมิติของการประหยัดงบฯ มองในเชิงเศรษฐศาสตร์จากบนลงล่าง และมีเรื่องของการลงทุนมากเกินไป

ฉะนั้น อยากให้มองมิติด้านชุมชนประกอบด้วย เพราะการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการย้ายถิ่นฐาน ทิ้งชุมชน และกลายเป็นปัญหาเพิ่มขึ้น

     ต้องติดตามว่า การ “ควบรวม” โรงเรียนขนาดเล็ก ตามมติ ครม.จะราบรื่น หรือมีอุปสรรคโผล่ขึ้นมาให้ได้ลุ้นกันอีก!!