กรองกระแส / ปฏิกิริยาต่อ ผบ.ทบ. สงคราม ตัวแทน ทางการเมือง ปะทะต่อระบอบ คสช.

กรองกระแส

 

ปฏิกิริยาต่อ ผบ.ทบ.

สงคราม ตัวแทน ทางการเมือง

ปะทะต่อระบอบ คสช.

 

ผลสะเทือนจากคำบรรยาย “แผ่นดินของเราในมุมมองด้านความมั่นคง” จาก พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ กว้างไกลไพศาลยิ่งในทางความคิด

มิใช่เรื่องสงครามไฮบริด อันเป็นเนื้อหาใจกลาง

ตรงกันข้าม การพาดพิงไปยังนักการเมืองซึ่งถ่ายรูปคู่กับโจชัว หว่อง ที่ฮ่องกง การพาดพิงไปยังนักการเมืองที่เคยเดินตามเพื่อนของบิดา การพาดพิงไปยังนักการเมืองซึ่งเป็นบุคคลประเภทฮ่องเต้ซินโดรม และนักการเมืองที่เจ้านายอยู่ในต่างประเทศต่างหาก

ที่กลายเป็นประเด็นไม่เพียงก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ ตรงกันข้าม นำไปสู่มติของบางคณะกรรมาธิการทำหนังสือเชิญ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ให้ไปแลกเปลี่ยนความเห็น นำไปสู่มติของที่ประชุมบางพรรคการเมืองที่อาจจะมีการฟ้องร้อง

ผลเฉพาะหน้าก็คือ การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ทวีความร้อนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกระทรวงกลาโหมและงบทางด้านความมั่นคงได้ตกเป็นเป้าขนาดใหญ่ของพรรคฝ่ายค้าน

ผลที่สุด ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่ว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ก็กลายเป็นตำบลกระสุนตก

ปลายหอกพุ่งเข้าใส่ทหาร พุ่งเข้าใส่ผู้นำทางทหาร

 

แสงแห่งสปอตไลต์

จับตากองทัพ ทหาร

 

บทบาทของกองทัพ บทบาทของทหาร มีความโดดเด่นโดยพลันที่ทหารตัดสินใจทำรัฐประหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐประหาร 2 ครั้ง

ไม่ว่าจะเป็นรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าจะเป็นรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

ด้านหนึ่ง ส่งผลให้ทหารเข้ามามีบทบาททางการเมืองทั้งในฐานะนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี บทบาทในทางรัฐสภา บทบาทในเกือบทุกปริมณฑลของสังคมทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกัน ด้านหนึ่งกองทัพและทหารก็ตกเป็น “เป้า” ในทางการเมือง

ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวผ่านอุทยานราชภักดิ์ ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวผ่านแหวนมารดา นาฬิกายืมเพื่อน ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปสอดสวมตำแหน่งใดๆ ในทางเศรษฐกิจและในทางการเมือง ล้วนอยู่ในความสนใจของชาวบ้าน กลายเป็นประเด็นในการวิพากษ์วิจารณ์

ยิ่งดำรงอยู่อย่างยาวนานตั้งแต่รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 กระทั่งหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 กองทัพและทหารยิ่งได้รับความสนใจ

ในที่สุดก็รวมศูนย์มาอยู่ที่งบประมาณและการบริหารงบประมาณ

 

ปัญหายุคถนอม

ปัญหายุคประยุทธ์

 

บรรยากาศทางการเมืองในเดือนตุลาคม 2562 ดำเนินไปเหมือนบรรยากาศทางการเมืองก่อนยุคเดือนตุลาคม 2516

เพียงแต่เป้าเปลี่ยนจากจอมพลถนอม กิตติขจร เป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

การดำรงอยู่ของ “ระบอบถนอม-ประภาส” แม้จะมีรายละเอียดแตกต่างกันบ้างกับ “ระบอบ คสช.” แต่พื้นฐานการได้อำนาจมาแทบไม่แตกต่างกัน นั่นก็คือ เป็นอำนาจอันมาจากปากกระบอกปืน นั่นก็คือกระบวนการรัฐประหาร

เมื่อรัฐประหารได้อำนาจมาแล้วก็ไม่ยอมอำลาจากไปตามวาระอันเหมาะสม ยังคงสืบทอดและครองอำนาจโดยที่ไม่มีกำหนดว่าจะอำลาจากไป

เมื่อพัฒนาการยึดอำนาจไปดำรงอยู่ภายใต้ “ระบอบ” เสียแล้วก็เป็นเรื่องที่คาดหมายไม่ได้

การแสดงออกของ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ก็เสมอเป็นเพียงการแสดงออกอันเป็นเงาสะท้อนแห่งอำนาจที่ดำรงอยู่ของ “ระบอบ คสช.” เหมือนกับการแสดงออกของ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ในยุคก่อนสถานการณ์เดือนตุลาคม 2516 เท่านั้น

แม้ว่าจะผ่านการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 มาแล้ว แต่ก็ยังชี้ชัดว่าอำนาจยังอยู่ภายใต้เครือข่ายของ “ระบอบ คสช.” ไม่เปลี่ยนแปลง

 

ปฏิกิริยาต่ออภิรัชต์

ปฏิกิริยาต่อระบอบ คสช.

 

ปฏิกิริยาอันเนื่องแต่การบรรยาย “แผ่นดินของเราในมุมมองด้านความมั่นคง” ไม่ว่าจะแสดงผ่านบทบาทของคณะกรรมาธิการ ไม่ว่าจะแสดงผ่านการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ

คือสัญญาณในทางการเมือง

สัญญาณชี้ให้เห็นว่า อย่างน้อยการมีรัฐธรรมนูญ การมีการเลือกตั้งก็นำสังคมไทยเข้าไปสู่บรรยากาศใหม่ในทางการเมือง

เท่ากับเป็นการเตือนไปยังรัฐบาล เตือนไปยังเครือข่ายแห่ง “ระบอบ คสช.”

เท่ากับเป็นการเตือนว่า มีความจำเป็นที่รัฐบาล มีความจำเป็นที่ภายใน “ระบอบ คสช.” จักต้องมีการปรับเปลี่ยนไปตามสภาพการณ์ใหม่ในทางการเมือง

  มิเช่นนั้นแล้วการปะทะในทางความคิด ในทางการเมือง ย่อมหลีกเลี่ยงได้ยาก