มองบ้านมองเมือง/ปริญญา ตรีน้อยใส /ความสุขมีทุกแห่ง

ปริญญา ตรีน้อยใส

มองบ้านมองเมือง/ปริญญา ตรีน้อยใส

ความสุขมีทุกแห่ง

 

ผมเคยเห็นภาพความสุขของเด็กเลือดข้นคนจาง เป็นการเดินทางโดยเครื่องบินไปต่างประเทศ ในวันหยุดเทศกาลต่างๆ

ผมเคยเห็นภาพความสุขของเด็กน้อยเดอะวอยซ์คิดส์ เป็นการเดินเล่น นั่งรถไฟเหาะตามสวนสนุกหรือศูนย์การค้า ในวันเสาร์-อาทิตย์

แต่ผมไม่ค่อยเห็นภาพความสุขของเด็กที่อยู่ตามชนบท ห่างไกลจากศูนย์การค้า ที่ไม่มีวาสนานั่งเครื่องบิน

จนเมื่อเร็วๆ นี้ ระหว่างออกภาคสนาม ไปสำรวจสถานีรถไฟที่อยู่ในแผนพัฒนารางรถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรีถึงนครสวรรค์ จึงได้เห็นภาพความสุขของเด็กเล็กสองคนที่สถานีรถไฟแห่งหนึ่งที่ลพบุรี

เป็นภาพชาวบ้านครอบครัวหนึ่ง คือมีเด็กเล็กสองคนกับแม่และยาย กำลังรอรถไฟที่ยังมาไม่ถึง

เด็กเล็กทั้งสองวิ่งไปมาบนชานชาลาอย่างสนุกสนาน คงจะตื่นเต้นที่จะได้นั่งรถไฟ

แม้ไม่ใช่รถไฟเหาะเหินตีลังกา แต่ก็เป็นรถไฟจริงๆ ไม่ใช่รถรางจำลองคันเล็กในสวนสนุก หรือศูนย์การค้าทั่วไป

โดยผู้เป็นแม่และยายนั่งเฝ้าดูเด็กทั้งสองด้วยความพอใจ

ยังเล่าให้ฟังอีกว่า วันนั้นเป็นวันหยุด เลยพาลูกหลานมานั่งรถไฟ ที่จริงอยากจะไปถึงสถานีลพบุรี จะได้พาลิงไปดูลิง แต่ทว่า มาไม่ทันเวลา เลยเปลี่ยนแผน จะไปแค่สถานีใกล้ๆ แล้วก็รอรถไฟอีกขบวน กลับมาส่งที่สถานีนี้ก่อนค่ำ

พร้อมกับชูตั๋วว่า เสียค่าเดินทางคนละ 5 บาท สำหรับผู้ใหญ่เท่านั้น อวดว่าเป็นการพักผ่อนวันหยุดแบบพอเพียงอีกด้วย

ระหว่างรอ ยังมีนายสถานีมานั่งคุย ในฐานะคนรู้จักกัน

 

ด้วยสถานีรถไฟแห่งนี้มีที่นั่งพักใต้ชานชาลาเย็นสบาย มีไม้กระถางไม้ดอกประดับสวยงาม หน้าสถานี ยังเป็นสนามเด็กเล่น และลานผู้ใหญ่ออกกำลังกาย พร้อมด้วยเครื่องเล่นเพื่อสุขภาพ ที่คนทั้งครอบครัวมาใช้ประจำ

ภาพแบบนี้ คงไม่ใช่เฉพาะผม หรือผู้คนที่แออัดอยู่ในเมืองจะนึกออก ยิ่งกระแสรถไฟหายไปจากความคิดของคนไทยในยุคปัจจุบัน ยิ่งมีทางหลวงให้เลือกหลายเส้นทาง การเดินทางโดยรถยนต์ก็สะดวกสบาย และรวดเร็ว รถไฟและสถานีรถไฟจึงกลายเป็นเพียงภาพจำเท่านั้น

แต่คงมีชาวบ้านอีกไม่น้อย ที่ชีวิตยังพึ่งพารถไฟประเภทรถธรรมดาและรถเร็ว ที่ยังจอดรับผู้โดยสารตามสถานีเล็กๆ ในขณะที่รถไฟประเภทรถด่วน รถด่วนพิเศษ จะวิ่งผ่านไปโดยไม่จอดรับผู้โดยสาร

ในแต่ละวัน คงจะมีรถไฟเพียงแค่สามสี่ขบวนที่จอดรับตามตารางเวลาที่กำหนด เมื่อจำนวนผู้โดยสารเหลือน้อยเท่าใด รายได้ของการรถไฟฯ จึงน้อยลง ไม่มีงบประมาณบำรุงรักษาอาคารและสถานที่

นายสถานีเล่าให้ฟังว่า ชาวบ้านใกล้เคียงเลยช่วยกันบริจาคเงิน เป็นค่าซ่อมแซมอาคารสถานี สำหรับใช้ประโยชน์ของชุมชน

เช่นเดียวกับห้องน้ำของสถานี ที่ชาวบ้านเป็นคนออกเงินและดูแล เพราะนอกจากจะอาศัยรถไฟไปในตัวเมืองนครสวรรค์หรือลพบุรีแล้ว ยังใช้สถานีรถไฟเป็นที่ชุมนุม พบปะสังสรรค์ ออกกำลังกาย พักผ่อน ยามเช้าและเย็น

ยิ่งอาคารสถานี มีอายุกว่าร้อยปี จึงมีความผูกพัน อีกทั้งตื่นเต้นว่า ต่อไปจะมีการก่อสร้างรางคู่แล้วเสร็จ ก็จะเดินทางสะดวกรวดเร็วอาจได้ไปกรุงเทพฯ บ่อยขึ้น

ภาพที่ปรากฏ เลยทำให้เข้าใจหลายเรื่องเพิ่มขึ้น

 

เข้าใจว่า เด็กๆ ในพื้นที่ที่แม้ไม่ได้อยู่ไกลโพ้น หากความเจริญแบบกรุงเทพฯ ยังไปไม่ถึง ก็มีความสุข อาจสุขกว่า สุขภาพดีกว่า และมีโอกาสสร้างเสริมประสบการณ์มากกว่าเด็กกรุงเทพฯ ที่วันๆ อยู่แต่ในห้องปรับอากาศ ไม่เคยได้ฟังรถไฟจริงๆ

เข้าใจว่า ชาวบ้านสร้างเสริมคุณภาพชีวิตด้วยตนเอง ช่วยกันรักษา ออกเงินซ่อมแซมสถานี เพื่อเป็นลานกิจกรรมของชุมชน ในขณะที่คนกรุงเทพฯ หรือคนเมืองอื่นๆ ไม่เคยมีความผูกพันกับสถานที่ใดๆ เพราะไปออกกำลังพร้อมเสียงเพลง ตามฟิตเนส หาความสุขตามศูนย์การค้า หรือไปท่องเที่ยวในต่างแดน

แต่พร้อมจะเรียกร้องที่ดินจากรถไฟมาทำสวนสาธารณะ และประท้วงส่งเสียงไม่พอใจได้ทุกเรื่อง

เข้าใจว่า นักวิชาการที่ขยันเสนอโครงการพัฒนาพื้นที่ไปทั่ว เสนอที่ไหนก็ได้ ให้เป็นสวนสาธารณะ จะได้เหมือนในตำราที่ไปเรียนมา หรือไปเห็นในต่างประเทศ โดยไม่คำนึงว่า ตนเองและคนอื่นในกรุงเทพฯ ไม่เคยใช้สอย และไม่ผูกพันกับพื้นที่ เหมือนอย่างชาวบ้านที่ผมไปเห็นมา