ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 - 17 ตุลาคม 2562 |
---|---|
คอลัมน์ | การเมืองวัฒนธรรม |
ผู้เขียน | เกษียร เตชะพีระ |
เผยแพร่ |
(เรียบเรียงจากบทวิเคราะห์เบื้องหลังสถานการณ์ขัดแย้งทางการเมืองในฮ่องกงระยะใกล้ของ ดร.หวังเฉาฮัว นักเขียนและนักวิจัยอิสระ อดีตแกนนำการชุมนุมประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินของนักศึกษาจีนเมื่อปี ค.ศ.1989 ที่ลี้ภัยการเมืองมาอยู่ตะวันตก เรื่อง “Hong Kong v. Beijing”, London Review of Books, 41:16 (15 August 2019), 11-12.)
“ทั้งสมุดปกขาวและมติ 8.31 เป็นปัจจัยชี้ขาดให้ขบวนการร่มปรากฏขึ้นมาในปลายเดือนกันยายน ค.ศ.2014” เมื่อนำมาพิจารณาร่วมกัน เอกสารทั้งสองชิ้นบ่งบอกว่า
ประการแรก ปักกิ่งได้บิดพลิ้วสัญญาของตนที่จะให้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั่วไป (universal suffrage) แก่ฮ่องกงอีกคำรบหนึ่ง
ประการที่สอง ด้วยการอนุมัติให้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั่วไปในความหมายแคบ ขณะเดียวกันก็ยัดเยียดเกณฑ์คัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งที่จำกัดจำเขี่ยอย่างหนักมาให้ ปักกิ่งกำลังปิดประตูขวางกั้นการปฏิรูปการเลือกตั้งสืบต่อไป และ
ประการที่สาม ปักกิ่งได้แอบเปลี่ยนแปลงบรรทัดฐานการประเมิน “สถานการณ์ที่เป็นจริง” ในฮ่องกงไป โดยการเน้นหนักหลัก “หนึ่งประเทศ” เหนือกว่าหลัก “สองระบบ”
เอกสารทั้งสองได้ตีความคำว่า “สถานการณ์ที่เป็นจริง” ของฮ่องกงจนเบี่ยงเบนเฉไฉไปจากเรื่องที่ว่าประชาชนของฮ่องกงพร้อมแค่ไหนที่จะกระทำการเยี่ยงพลเมืองผู้มีสมรรถนะทางการเมือง หรือพวกเขาเต็มใจแค่ไหนที่จะมีส่วนร่วมในชีวิตสาธารณะ ให้กลับกลายเป็นเรื่องที่ว่าพวกเขาพร้อมเพียงใดที่จะทำตามคำสั่งของปักกิ่งแทน
เป็นอันว่านับแต่นี้จะไม่มีกฎเกณฑ์หรือหลักการใดให้ยึดตาม ไม่มีกระบวนการถกเถียงหรือแสดงเหตุผลใดให้พึ่งพา ทว่า จะมีเกมการพยายามตีความสัญญาณต่างๆ ที่เจ้าหน้าที่ปักกิ่งส่งมาให้แทน นี่คือความเข้าใจอย่างใหม่ซึ่งเป็นรากเหง้าของบรรดาการประท้วงที่กำลังเกิดขึ้นทุกวันนี้
อย่างไรก็ตาม เมื่อปี ค.ศ.2014 นั้น ผู้คนมากหลายยังไม่ตระหนักถึงสภาพที่กลายเป็นความปกติธรรมดาอย่างใหม่นี้เต็มที่นัก
ขบวนการร่มเริ่มโดยนักศึกษาอย่างโจชัว หว่อง มิช้านานสามสหายแห่งขบวนการ “ยึดครองเซ็นทรัล” ก็เข้าร่วมด้วย (Occupy Central หมายถึงยึดครองย่านศูนย์กลางธุรกิจของฮ่องกง ผู้ริเริ่มทั้งสามได้แก่ เบนนี ไถ่ยุ่ยถิง ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายแห่งมหาวิทยาลัยฮ่องกง ชานคินมัน ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยา และสาธุคุณ จูยิวหมิง เพื่อเร่งรัดการสร้างประชาธิปไตยในฮ่องกง – ผู้แปล) และปฏิบัติการนาน 79 วันของพวกเขาก็ลากยาวไปถึงกลางเดือนธันวาคม ค.ศ.2014 เมื่อตำรวจบุกเข้าเอาตัวผู้ประท้วงกลุ่มสุดท้ายออกไปทีละคน
พวกผู้ประท้วงต้องเปลืองเนื้อเปลืองตัวไปมากกับการยึดครองครั้งนั้น
สหภาพนักศึกษามหาวิทยาลัยทั่วฮ่องกงซึ่งเป็นหนึ่งในบรรดาองค์การนำเบื้องหลังขบวนการร่มเกิดข้อพิพาททะเลาะเบาะแว้งเรื่องยุทธศาสตร์ยุทธวิธีลุกลามไปทั่วองค์กรและแรงสนับสนุนของสาธารณชนต่อสหภาพก็ลดน้อยถอยลง
สาขาสหภาพนักศึกษาหลายแห่งพากันถอนตัวจากสมาชิกภาพ พวกหนุ่มสาวที่มีแนวคิด “ขุดรากถอนโคน” ก็เริ่มพูดถึงขบวนการร่มว่าถือเป็น “ความล้มเหลว”
นี่อาจเป็นคำพิพากษาที่ออกจะแรงเกินไป เบื้องหน้าแรงกดดันจากปักกิ่ง องค์การใหม่ๆ หลายแห่งก็ปรากฏขึ้นมาภายใต้การนำของคนหนุ่มสาวที่ป่าวร้องสนับสนุนให้ฮ่องกงมีสิทธิอัตวินิจฉัยหรือเอกราชสมบูรณ์กันเลยทีเดียว
กลุ่มเหล่านี้เปิดฉากรณรงค์ที่มุ่งจะ “ทวงคืน” (??กวงฟู่) สถานที่ท้องถิ่นต่างๆ คนหนุ่มสาวผู้เคยร่วมเคลื่อนไหวในขบวนการร่มเริ่มเชื่อมโยงประเด็นสวัสดิการสังคมและข้อพิพาทเรื่องโครงการพัฒนาทั้งหลายเข้ากับการปฏิรูปการเมืองโดยรวม
พวกเขายังหันไปใส่ใจการเลือกตั้งสภาเขตต่างๆ ในปี ค.ศ.2015 รวมทั้งการเลือกตั้งซ่อมสภานิติบัญญัติและการเลือกตั้งทั่วไปในปี ค.ศ.2016 ด้วย โดยรู้สึกถึงแรงกดดันดังกล่าว พรรคทั้งหลายจึงพากันเสนอชื่อผู้สมัครหนุ่มสาวลงแข่งขันรับเลือกตั้งเข้าสภานิติบัญญัติ
ปรากฏว่าสมาชิกสภานิติบัญญัติ 26 จากทั้งสิ้น 70 คนเป็น ส.ส.หน้าใหม่
ค่ายนิยมประชาธิปไตยได้ที่นั่งเข้าสภาในเขตเลือกตั้งที่การเลือกตั้งเป็นไปโดยคะแนนเสียงมหาชน
ทางการตื่นตกใจกับแนวโน้มใหม่นี้ ซี.วาย. เลิง หัวหน้าผู้บริหารฮ่องกงตอนนั้นจึงจัดวางมาตรการใหม่ขึ้นมาชุดหนึ่ง กล่าวคือ นับเป็นหนแรกที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งหลายถูกร้องขอให้สัญญาว่าจะภักดีต่อบทบัญญัติต่างๆ ในกฎหมายพื้นฐานซึ่งเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ที่ฮ่องกงต้องตกเป็นรองขึ้นต่อสาธารณรัฐประชาชนจีนและรัฐบาลกลางของจีน
เป็นหนแรกอีกเช่นกันที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ป่าวร้องสนับสนุนให้ฮ่องกงเป็นเอกราชหกคนถูกเจ้าหน้าที่กำกับดูแลการเลือกตั้งตัดสินว่าขาดคุณสมบัติเนื่องจากความเห็นทางการเมืองของพวกเขา
เอ็ดเวิร์ด เลิงทินไค ผู้เป็นหนึ่งในหกคนนั้นทำให้รัฐบาลฮ่องกงตื่นตกใจเป็นพิเศษ เพราะเขาได้คะแนนเสียง 15 เปอร์เซ็นต์ในการเลือกตั้งซ่อมสภานิติบัญญัติปี ค.ศ.2016
และหนึ่งปีให้หลัง เขาก็ถูกตั้งข้อหา “ก่อจลาจล” หลังจากเข้าช่วยเหลือบรรดาผู้ค้าอาหารท้องถิ่นในการต่อต้านคำสั่งของตำรวจให้ย้ายออกไป
ตอนนี้เขากำลังติดคุกนานหกปี คำขวัญของเขาที่ว่า “ทวงคืนฮ่องกง การปฏิวัติแห่งยุคสมัยของเรา” (???? ???? กวงฟู่เซี่ยงกัง เสอไต้เก๋อมิ่ง) ก็กลับมาปรากฏตามท้องถนนอีกในฤดูร้อนตอนนี้
วิธีการคล้ายๆ กันก็ถูกใช้เล่นงานผู้คนที่มีจุดยืนทางการเมืองค่อนข้างไม่รุนแรงแข็งกร้าวอะไรด้วย
ตัวอย่างเช่น กลุ่มผู้ประท้วง 13 คนต่อโครงการพัฒนาซึ่งรัฐบาลให้ทุนส่งเสริมในทางตะวันออกเฉียงเหนือของเขตนิวเทร์ริทอรีได้บุกโจมตีอาคารสภานิติบัญญัติเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ.2014
ปรากฏว่าพวกเขาถูกตั้งข้อหาทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจในปี ค.ศ.2016 และศาลตัดสินลงโทษให้ทำงานบริการชุมชนเป็นเวลาตั้งแต่ 80 ถึง 150 ชั่วโมง
ฝ่ายรัฐบาลอุทธรณ์คดีนี้และชนะในชั้นอุทธรณ์ให้พวกเขาต้องโทษจำคุกแทน ก่อนที่ศาลฎีกาของฮ่องกงจะกลับคำพิพากษาอีกทีในปี ค.ศ.2018
คดีนี้สู้กันตรงประเด็นที่ว่าควรจะนำเจตนาของจำเลย – ซึ่งกระทำไปเพื่อภารกิจความเป็นธรรมทางสังคม – มาพินิจพิจารณาด้วยหรือไม่
ในทำนองเดียวกัน โจชัว หว่อง กับสหายทั้งหลายของเขาในขบวนการร่มถูกตั้งข้อหาชุมนุมโดยผิดกฎหมายและปลุกระดมคนอื่นให้เข้าร่วมในกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย
คดีของพวกเขาวิ่งรอกขึ้นลงไปมาระหว่างศาลอุทธรณ์กับศาลฎีกา
และคำตัดสินลงโทษก็กวัดแกว่งไปมาระหว่างค่อนข้างสถานเบากับโทษจำคุกซึ่งคงจะทำให้บรรดาผู้ประท้วงหมดโอกาสลงสมัครรับเลือกตั้งไปอย่างน้อยห้าปี
ปรากฏว่าเมื่อต้นปีนี้ ศาลฎีกาลดโทษจำคุกของโจชัว หว่อง ลงเหลือแค่สองเดือน
และบังเอิญที่เขาถูกปล่อยตัวประจวบกับวันถัดจากการชุมนุมมวลชนครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในฮ่องกงพอดี
ศาลซึ่งพิจารณาไต่สวนคดีฟ้องร้องสามสหาย “ยึดครองเซ็นทรัล” ได้ประกาศคำตัดสินลงโทษพวกเขารวมทั้งพรรคพวกอีกหกคนเมื่อเดือนเมษายนศกนี้
สาธุคุณจูยิวหมิงวัยเจ็ดสิบกว่าปีกล่าวกับศาลในคำแถลงปิดท้ายคดีของเขาว่า “ผมเป็นแค่คนตีระฆังเพื่อให้ผู้คนรู้ว่ามีความทุกข์ทรมานอยู่ในโลก”
สาธุคุณจูยิวหมิงผู้นี้ได้ใช้ชีวิตช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยากรวมทั้งตัวดิฉันเองเมื่อตอนหลบหนีออกมาภายหลังการสังหารหมู่เทียนอันเหมิน
ค่ำคืนแรกที่ดิฉันพลัดบ้านเกิดเมืองนอนมาอยู่นอกสาธารณรัฐประชาชนจีนนั้นก็ได้อาศัยบ้านของท่านที่ฮ่องกงนี่เอง
ชั่วสามสิบปีที่ผ่านมา เราได้พบกันบ้างเป็นครั้งคราวในอเมริกาหรือในไต้หวัน
การพบกันครั้งล่าสุดของเราเกิดขึ้นในวันหิมะตกที่กรุงลอนดอน ท่านกำลังเตรียมตัวเตรียมใจขึ้นศาลและติดคุกอยู่แม้ว่าภรรยาของท่านจะวิตกกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของท่านก็ตาม
ศาลตัดสินจำคุกทั้งสามสหาย “ยึดครองเซ็นทรัล” นาน 16 เดือน เบนนี ไถ่ และชานคินมันจะเริ่มถูกจำขังทันที ส่วนสาธุคุณจูยิวหมิงได้รอลงอาญาสองปี
อีกหกคนที่ถูกตัดสินลงโทษวันนั้นในฐานเกี่ยวข้องกับการประท้วงขบวนการร่มรวมถึงสมาชิกสภานิติบัญญัติปัจจุบันสองคนด้วย
นี่นับเป็นการฟาดตีค่ายประชาธิปไตยอีกทีหนึ่ง
นับรวมแล้วมีสมาชิกสภานิติบัญญัติที่ได้รับเลือกตั้งรวมหกคนถูกตัดสินว่าขาดคุณสมบัติในปี ค.ศ.2016 ภายหลังเข้ารับตำแหน่งไม่ถึงสองสัปดาห์
โทษจำคุกสำหรับผู้เข้าร่วมขบวนการยึดครองเซ็นทรัลและขบวนการร่มนั้นมีเจตนาจะเตือนสาธารณชนทั่วไปไม่ให้เอาเป็นเยี่ยงอย่าง
การตัดสินว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งและสมาชิกสภานิติบัญญัติดังกล่าวมาข้างต้นขาดคุณสมบัตินั้นมุ่งหมายจะจี้สกัดจุดสมรรถนะของค่ายประชาธิปไตยในการขัดขวางบรรดากฎหมายนิยมปักกิ่งทั้งหลายนั่นเอง
(ต่อสัปดาห์หน้า)