ภาพยนตร์/นพมาส แววหงส์ /JOKER ‘อภิมหาวายร้าย’

นพมาส แววหงส์

ภาพยนตร์/นพมาส แววหงส์

JOKER

‘อภิมหาวายร้าย’

กำกับการแสดง Todd Phillips

นำแสดง Joaquin Phoenix Robert DeNiro Zazie Beetz Frances Conroy Brett Cullen

 

รารู้จักตัวละครชื่อ “โจ๊กเกอร์” มานานแล้ว จากการ์ตูนและหนังซูเปอร์ฮีโร่ “มนุษย์ค้างคาว” หรือ Batman ของค่ายดีซี คอมิกส์

นักแสดงที่เล่นบทนี้ มีตั้งแต่ซีซาร์ โรเมโร แจ๊ก นิโคลสัน และฮีธ เลดเจอร์

คนสุดท้ายนี้ทำให้บทบาทของซูเปอร์วายร้าย กลายเป็นการแสดงยอดเยี่ยมในบทสมทบจากหนัง The Dark Knight อันยอดเยี่ยมของคริสโตเฟอร์ โนแลน หลังจากที่ตัวนักแสดงตัวจริงเสียงจริงในบทบาทนี้เสียชีวิตจากการเสพยาเกินขนาด

เป็นบทเรียนให้เห็นว่าความชั่วร้ายที่บ่มเพาะในใจคนเรานั้นมันเกาะกินกัดกร่อนให้ต้องทนทุกข์ทรมานเสียจนต้องหลีกหนีไปด้วยการเสพยา

หาไม่ก็คงต้องตกเป็นเหยื่อของอาการประสาทหลอนจนถึงขั้นวิกลจริตก็เป็นได้

นั่นคือบทบาทที่ตราตรึงสะกดคนดูไว้อยู่หมัดของฮีธ เลดเจอร์ ที่ลาจากวงการไปก่อนวัยอันควร ในหนังที่ทำให้หนังซูเปอร์ฮีโร่ผงาดขึ้นด้วยศักดิ์ศรีของดราม่าเข้มข้น ไม่ใช่เพียงแค่เป็น “หนังจากการ์ตูนคอมิก” ทั่วๆ ไป

บทที่เป็นตัวแทนของความทมิฬหินชาติที่นึกสนุกและเล่นสนุกอยู่กับความทุกข์ของมวลมนุษย์บทนี้ถูกขยายให้ใหญ่ขึ้นจนกลายเป็นตัวเอกของเรื่อง ไม่ใช่แค่ตัวผู้ร้ายที่มีบทบาทตรงข้ามกับพระเอกผู้เก่งกาจเหนือมนุษย์

ไม่ใช่แค่บทสมทบ แต่เป็นบทหลักตัวนำเรื่องเลยทีเดียว

 

กระแสข่าวลือที่แพร่กระจายไปว่า ฮัวคิน ฟีนิกซ์ นักแสดงเจ้าบทบาทผู้ทุ่มเททั้งกายใจให้แก่บทนี้ทรมานตัวเองด้วยการลดน้ำหนักฮวบฮาบลงไปยี่สิบกิโล จนผ่ายผอมซูบซีด ส่งผลต่อจิตใจและอารมณ์ที่แปรปรวนจนควบคุมไม่อยู่บ่อยๆ

ข่าวว่าเขา “วอล์กเอาต์” ระหว่างการถ่ายทำอยู่บ่อยครั้ง เพื่อไปสงบสติอารมณ์ พาให้นักแสดงอื่นๆ ที่ร่วมอยู่ในฉากงุนงงสงสัยและตกใจอยู่บ่อยๆ ว่าไปพูดอะไรหรือทำอะไรให้เขาโกรธขนาดนั้น

เห็นว่ามีเพื่อนร่วมแสดงอยู่เพียงคนเดียวเท่านั้นที่ฮัวคินไม่เคยผลุนผลันเดินหนีออกจากฉาก นั่นคือ โรเบิร์ต เดอนีโร ผู้เป็นไอดอลที่น่าเกรงขามยิ่งของวงการ

และบท “เมอร์รี่ แฟรงคลิน” พิธีกรรายการสัมภาษณ์สดทางโทรทัศน์ ประมาณเดียวกับ “จอห์นนี่ คาร์สัน โชว์” ก็เป็นแรงบันดาลใจมาจากบทบาทอันแหลมคมเสียดแทงใจที่เดอนีโรเคยเล่นใน Taxi Driver และ The King of Comedies

 

หนังเล่าเรื่องราวของอาร์เธอร์ เฟล็ก (ฮัวคิน ฟีนิกซ์) หนุ่มใหญ่วัยฉกรรจ์ที่ยังอาศัยอยู่กับเพนนี เฟล็ก (ฟรานเซส คอนรอย) ที่นอนป่วยกระเสาะกระแสะอยู่ มีลูกชายคอยดูแลอยู่คนเดียว

อาร์เธอร์ทำงานอยู่ในบริษัทจัดหาตัวตลก ชื่อบริษัทฮาฮา โดยแต่งตัวเป็นตัวตลกรับจ๊อบสารพัดสารพัน ไปเอ็นเตอร์เทนตามแต่จะมีคนเรียกหา

จ๊อบแรกที่เราเห็นเขาทำงานอยู่คือตัวตลกชูป้ายโฆษณาเรียกลูกค้าหน้าร้าน

และอาร์เธอร์โดนกลุ่มอันธพาลที่ไม่ชอบหน้าเขากลั่นแกล้งโดยวิ่งราวชิงป้ายที่เขาถือชูเดินอยู่หน้าร้านไปแบบซึ่งๆ หน้า ทำให้เขาวิ่งตามไปเอาคืน เพราะกลัวตกงาน จนต้องโดนรุมซ้อม รุมกระทืบเสียจนน่วม

นั่นคือความรุนแรงครั้งแรกที่เราเห็นว่าอาร์เธอร์ถูกสังคมรอบข้างกระทำโดยไร้เหตุผลและอยุติธรรม

อาร์เธอร์มีอาการทางประสาทแบบที่ปรากฏออกมาเป็นการหัวเราะเสียงดังโดยหยุดไม่ได้ โดยไม่มีปี่มีขลุ่ย ไม่มีเรื่องให้ขัน และแม้อยู่ในสถานการณ์คับขันด้วยซ้ำ

ครั้งที่สองที่เราเห็นเขาหัวเราะแบบนี้คือบนรถเมล์ขณะกำลังเล่นอยู่กับเด็กที่หันมาล้อเลียนเขา จนหวุดหวิดจะมีเรื่องวิวาทกับแม่ของเด็กที่ห้ามไม่ให้เขามายุ่งกับลูกของเธอ

ต่อเมื่ออาร์เธอร์ควักการ์ดที่เขียนข้อความชี้แจงว่าเขาเป็นโรคประสาทชนิดที่ออกอาการหัวเราะอย่างบ้าคลั่งไม่หยุดโดยไม่สามารถควบคุมตัวเองได้นั่นแหละ เรื่องวิวาทจึงไม่ได้ลุกลามบานปลายต่อไปถึงขั้นลงมือลงไม้

ตั้งแต่วัยเด็ก อาร์เธอร์ถูกแม่สอนให้มีความสุขกับชีวิต และยิ้มรับทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดแก่ชีวิต แม่เรียกเขาด้วยชื่อเล่นว่า “แฮปปี้” ด้วยซ้ำ แม้ว่าชีวิตของอาร์เธอร์ดูท่าจะไม่มีสิ่งที่จะสร้างความสุขให้ได้เลย

เขาแอบติดใจสาวเพื่อนบ้านร่วมอพาร์ตเมนต์ ซึ่งไม่ได้มีท่าว่าจะมีใจตอบสนองเขา

ชีวิตของอาร์เธอร์ดิ่งลงเหวต่อไป เมื่อเกิดเหตุการณ์รุนแรงครั้งแรกในรถใต้ดินที่พลิกให้ “เหยื่อ” กลับกลายเป็น “ผู้ล่า” บ้าง

เขาถูกไล่ออกจากงานเพราะกระทำสิ่งที่ร้ายกาจจนรับไม่ได้สำหรับงานสร้างเสียงหัวเราะให้แก่เด็กๆ ในโรงพยาบาล

และที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือ นักสังคมสงเคราะห์ที่บำบัดจิตให้เขาและให้ยาระงับประสาทแก่เขาเป็นประจำ แจ้งว่าโครงการถูกตัดงบประมาณจนต้องระงับไป และเขาไม่สามารถได้รับยาที่ควบคุมอาการทางประสาทของเขาได้อีกต่อไป

นอกจากนั้น อาร์เธอร์ยังไปพบความจริงอันน่าตกใจเกี่ยวกับกำเนิดและภูมิหลังของเขา อันเกี่ยวพันอยู่กับมหาเศรษฐี โทมัส เวย์น (เบรตต์ คัลเลน) แห่งเวย์นเอ็นเตอร์ไพรซ์

 

แฟนๆ แบทแมนคงจับแพะมาชนแกะและโยงได้เองแล้วว่า โทมัส เวย์น คือพ่อผู้ล่วงลับไปของบรูซ เวย์น มหาเศรษฐีเพลย์บอย ผู้เป็นหน้าฉากของ “มนุษย์ค้างคาว” ผู้คอยสอดส่องดูแลช่วยเหลืออ่อนแอให้พ้นจากเงื้อมมือของเหล่าอาชญากรในมหานครกอตแธมนั่นเอง

กาลเวลาของท้องเรื่องกำหนดไว้ราวต้นทศวรรษ 1980

และกอตแธมก็คือนิวยอร์กนั่นเอง

หนังยังให้พาเราไปรู้จักบรูซ เวย์น ในวัยเด็ก ที่อาร์เธอร์ไปเยี่ยม ณ คฤหาสน์เวย์นอันอัครฐาน โดยที่มีชายสูงวัยชาวอังกฤษผู้ทำหน้าที่เป็นพ่อบ้านหรือพี่เลี้ยงให้แก่บรูซ

ไม่ต้องบอกเราก็รู้แล้วว่านี่คือ อัลเฟรด พ่อบ้านคู่ใจของบรูซ เวย์น ที่ล่วงรู้ความลับประจำตระกูลมาตั้งแต่ต้น

แต่ในช่วงนี้ แบทแมนยังไม่ได้ถือกำเนิดขึ้น เพราะบรูซยังเป็นแค่เด็กชายในอ้อมอกอบอุ่นของพ่อแม่ผู้มั่งคั่งพรั่งพร้อมอยู่

หนังแสดงให้เราเห็นการเปรียบเทียบระหว่างความสมบูรณ์พูนสุขพรั่งพร้อมในชีวิตของเด็กชาย ตรงกันข้ามกับเด็กอีกคนที่ถูกทอดทิ้งและขาดแคลนไปเสียทุกสิ่งทุกอย่าง แถมยังโดนทารุณกรรมในวัยเด็กอันส่งผลต่อสมองและจิตใจที่วิปริตไปจากคนปกติทั่วไป

ท่ามกลางสภาพของสังคมในกอตแธมที่เน่าเฟะด้วยขยะและความสกปรกโสมม ผู้คนตกงาน และอาชญากรรมที่แพร่กระจายอยู่ทั่วเมือง

หนูขนาดยักษ์ออกอาละวาดทั่วไปหมด และเราเห็นหนูยักษ์วิ่งอยู่ในหลายฉาก

ปัญหาสังคมไม่มีใครจัดการแก้ไขและดูจะถูกเมินเฉย

เมืองจึงเกิดการจลาจลแทบทุกหย่อมหญ้า และมองหาฮีโร่ในที่ที่ไม่ควรมองหา

ผู้คนที่ยากไร้และอับจนหนทางพากันชูให้ตัวตลกผู้กระทำการอุกอาจต่อต้านสังคม ให้กลายเป็นไอดอลของตน

มองในแง่หนึ่ง สิ่งนี้น่าจะเป็น “สาร” ที่ผู้สร้างหนังต้องการสื่อออกมาต่อสังคม

 

นั่นคือการปล่อยให้ช่องว่างทางสังคมถ่างออกมากเกินไป ระหว่างคนรวย-คนจน ระหว่างคนมั่งมี-คนขาดแคลน ย่อมไม่ใช่สังคมอย่างที่พึงเป็น แต่จะเป็นหนทางที่นำไปสู่สภาพความวุ่นวายโกลาหลถึงขั้นจลาจลต่อไป

นี่เป็นหนังที่ดีมากถ้าวัดกันในเชิงศิลปะ เรื่องราวเปิดกว้างกระตุ้นให้คิดต่อถึงภาพของสังคมโดยรวม

และทำให้หนังได้รับการตอบรับจากเทศกาลหนังเวนิซให้เป็นหนังยอดเยี่ยมรางวัลสิงโตทอง

สร้างกระแสทั้งทางด้านบวกและลบมากมาย

แต่ต้องบอกว่าเป็นหนังที่รบกวนจิตใจอย่างมาก โดยเฉพาะในแง่ที่ชูตัวเอกที่เป็นอภิมหาวายร้าย สร้างความน่าเห็นใจให้แก่บุคคลที่ควรถูกสังคมประณาม

มีเนื้อหาที่ต้องดูด้วยวิจารณญาณที่ไตร่ตรองทุกอย่างด้วยความสุขุมรอบด้าน ไม่ใช่เฮละโลสาระพา ชูผู้ร้ายให้เป็นพระเอก

คำถามที่เกิดขึ้นในใจและยังค้างคาอยู่ คือ เหยื่อของการกระทำย่ำยีผู้น่าเห็นใจเหลือเกินนั้น มีสิทธิจะกระทำความรุนแรงเยี่ยงเดียวกันหรือยิ่งไปกว่า แก่ผู้อื่นด้วยหรือ

อาชญากรรมรุนแรงนั้นลบล้างกันไปได้ด้วยความรุนแรงที่กลายเป็นความสะใจกระนั้นหรือ