จีนกับไทย หลายพันปี | สุจิตต์ วงษ์เทศ

จักรวรรดิฉิน มีศูนย์กลางอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำฮวงโห มณฑลส่านซี (วงใหญ่สีแดง) เมืองหลวงของจักรพรรดิจิ๋นซี (พ.ศ.298-334) ตั้งอยู่ที่เมืองเสียนหยาง ส่วนสุสานของพระองค์ตั้งอยู่ในเขตเมืองเฟิงฮั่ว (ปัจจุบันเรียก เมืองซีอาน) เมืองเฟิงฮั่ว นอกจากจะเป็นที่ตั้งของสุสานจักรพรรดิจิ๋นซีแล้ว ต่อมาได้ถูกใช้เป็นเมืองหลวงของราชวงศ์ฮั่น โดยเปลี่ยนชื่อเมืองเป็น ฉางอาน (หมายถึง สันติภาพอันยาวนาน) ก่อนถูกเปลี่ยนชื่ออีกครั้งในยุคราชวงศ์หมิงเป็น ซีอาน นัยว่าเป็นการระลึกถึงการขับไล่พวกมองโกลออกไป เพราะคำว่า ซีอาน แปลว่า สันติภาพแห่งทิศตะวันตก (ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ อธิบาย) [แผนที่จากหนังสือ THE GENIUS OF CHINA ต้นกำเนิด 100 สิ่งแรกของโลก สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ.2554]

จีนเกี่ยวข้องกับไทยหลายพันปีมาแล้ว ตั้งแต่สมัยที่จีนยังไม่เรียกจีน และไทยยังไม่เรียกไทย

[ตรงนี้ไม่เกี่ยวกับไทยอยู่เทือกเขาอัลไตแล้วถูกจีนรุกราน เพราะนั่นเป็นนิยายน้ำเน่าปลุกใจคลั่งเชื้อชาติไทยสมัยแรกสุด]

 

หลักฐานจีน

ประวัติศาสตร์โบราณของไทย ในการศึกษาค้นคว้าให้ลึกเข้าไปส่วนสำคัญต้องพึ่งพาหลักฐานจีนนอกเหนือจากเอกสารต่างประเทศอื่นๆ หลักฐานจีนมีอย่างน้อย 2 ประเภท ได้แก่ โบราณวัตถุ และเอกสาร

โบราณวัตถุ “หลักฐานทางโบราณคดีบนผืนแผ่นดินไทยที่แสดงถึงการติดต่อสัมพันธ์กับผู้คนบนแผ่นดินจีน ปรากฏชัดขึ้นเมื่อกว่า 3,600 ปีมาแล้ว เช่น การพบหม้อสามขาในวัฒนธรรมบ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรีและใกล้เคียง ตลอดลงไปถึงภาคใต้ของไทย ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับหม้อสามขาในวัฒนธรรมแถบลุ่มแม่น้ำฮวงเหอ ภาคตะวันออกของประเทศจีนนับพันปีต่อมาความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยและจีนมีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในสมัยราชวงศ์ฮั่นจนถึงสมัยสาธารณรัฐ ดังปรากฏเครื่องมือเครื่องใช้ เช่น ภาชนะดินเผา หรือเหรียญกษาปณ์ของจีนบนแผ่นดินไทย”

[จาก สูจิบัตรนิทรรศการจิ๋นซีฮ่องเต้ฯ ของกลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร พ.ศ.2562 ไม่มีเลขหน้า]

เอกสารจีน มีเรื่องราวของบ้านเมืองและชุมชนโบราณในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่สมัยเก่าแก่ที่สุด และมีรายละเอียดมากกว่าหลักฐานอินเดีย และกรีก-โรมัน

[จากหนังสือ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก : กรณีศึกษาลุ่มแม่น้ำจรเข้สามพัน โดย ดร.สืบแสง พรหมบุญ และคณะ สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรังสิต พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2552 หน้า 74]

เครื่องใช้สำริด ราว 2,000 ปีมาแล้ว วัฒนธรรมลุ่มน้ำฮวงโห พบที่ อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ [ภาพจากหนังสือ เมืองราดฯ ของ พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2555 หน้า 74]
………………………………………………………………………………………………………………………………………..

จิ๋นซีฮ่องเต้ : จักรพรรดิองค์แรกของแผ่นดินจีนกับกองทัพทหารดินเผา

นิทรรศการพิเศษ ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร 15 กันยายน-15 ธันวาคม 2562

จิ๋นซีฮ่องเต้ประสูติในฐานะเจ้าชายแห่งแคว้นฉิน เมื่อพระชนมายุ 13 พรรษา ได้รับการสถาปนาขึ้นปกครองแคว้นฉินแทนพระบิดา และประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกเมื่อพระชนมายุ 22 พรรษา

จิ๋นซีฮ่องเต้ มหาราชองค์แรกในประวัติศาสตร์จีนสามารถผนวกแผ่นดินให้เป็นปึกแผ่น พร้อมกับการปฏิรูประบบการปกครองแบบรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง กำหนดมาตรฐานหน่วยชั่ง ตวง วัด ระบบเงินตรา ภาษาเขียน และพัฒนาระบบสาธารณูปโภคต่างๆ รวมถึงการเชื่อมต่อแนวกำแพงดินอัดของแคว้นต่างๆ เพื่อป้องกันการรุกรานจากข้าศึกศัตรู จนกลายเป็นกำแพงเมืองจีนที่มีความยิ่งใหญ่

ความก้าวหน้าเหล่านี้นับเป็นคุณูปการอย่างมหาศาลต่อประเทศจีนในยุคโบราณ ซึ่งส่งผลให้สาธารณรัฐประชาชนจีนในปัจจุบันเป็นแหล่งอารยธรรมอันน่าอัศจรรย์ของโลก

[สูจิบัตรนิทรรศการจิ๋นซีฮ่องเต้]

……………………………………………………………………………………………………………………….

หม้อสามขา ราว 3,000 ปีมาแล้ว ขุดพบครั้งแรกที่บ้านเก่า ต.จรเข้เผือก อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ปัจจุบันพบมากตั้งแต่ทิวเขาภาคตะวันตก ต่อเนื่องลงไปภาคใต้ของไทย และทางเหนือของมาเลเซีย